ผลิตครูสู่เป้าหมายสูงส่ง



ในการประชุมเชิงปฏิบัติการสถาบันผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีที่ ๒ “ร่วมมือ ร่วมใจ สร้างครูรุ่นใหม่หัวใจรัก(ษ์)ถิ่น” โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสําหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ โรงแรม ที เค พาเลซ (แจ้งวัฒนะ) ผมได้รับมอบหมายให้กล่าวเปิด ในหัวข้อ

“ทำอย่างไรให้การผลิตครูไปสู่เป้าหมาย ไม่ใช่การแข่งขันแย่งชิงผู้เรียน”

  แต่ผมได้แปลงชื่อหัวข้อการบรรยายเป็น ผลิตครูสู่เป้าหมายสูงส่ง    และทางเจ้าหน้าที่ของ กสศ. ได้ถอดเทป เอามาให้ผมตรวจสอบ เพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็ก   จึงนำต้นฉบับที่ปรับปรุงแล้วมาเผยแพร่อีกทางหนึ่ง

      เป้าหมายสุดท้ายของการผลิตครูคือ คุณภาพการศึกษาของประเทศมีคุณภาพสูง    ซึ่งหมายถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนทุกคนเข้าเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ   เพื่อบรรลุเป้าหมายตามหัวข้อข้างบน   ควรพิจารณา ๖ ประเด็นคือ

  • การศึกษาคุณภาพสูง
  •  ครูคุณภาพสูง
  •  การผลิตครู 
  •  โรงเรียนกับการผลิตครู
  •  ครูกับการผลิตครู
  •  สถาบันผลิตครู 

การศึกษาคุณภาพสูง   (Worldclass Education)

    ในหนังสือ การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก ระบุไว้ว่า “ไม่มีระบบการศึกษาใดที่จะมีคุณภาพเกินคุณภาพครูที่ทำงานในระบบการศึกษานั้น”   ซึ่งหมายความว่า ครูเป็นตัวกำหนดคุณภาพการศึกษา และมีลักษณะร่วมของระบบการศึกษาคุณภาพสูง 8 ประการ ดังนี้

  1. วิสัยทัศน์และภาวะผู้นำ สู่การขับเคลื่อนระยะยาว   การศึกษาไทยยังคงบกพร่องในเรื่องนี้ ทั้งในระดับประเทศและระดับโรงเรียน มีความเป็นระบบเก้าอี้ดนตรี  การศึกษาที่ดีต้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่   ต้องอาศัยมิติด้านความเป็นธรรมทางสังคม โชคดีที่มีการก่อตั้ง กสศ. ขึ้น เพื่อจัดการเรื่องนี้โดยตรง
  2. กำหนดมาตรฐานสูงหรือท้าทาย (High Expectation) เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนา
  3. มุ่งสร้างความเท่าเทียม
  4. ครูและผู้นำการศึกษาคุณภาพสูง ในที่นี้หมายถึง ครู ผู้บริหาร ที่นั่งอยู่ในที่นี้ทุกท่านและประจำอยู่ทุกโรงเรียน
  5. มีเป้าหมายในทิศทางเดียวกันและสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับนโยบาย (Alignment)    นโยบายต้องประสานกันอย่างลงตัว และต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
  6.  แนวทางการจัดการและระบบรับผิดรับชอบ (accountability) ที่สะท้อนผลลัพธ์ที่ผู้เรียน   ซึ่งหมายถึงระบบการศึกษาที่เชื่อถือได้ว่าผู้เรียนจะเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพและเห็นผลสัมฤทธิ์
  7.  แรงจูงใจของผู้เรียน (Motivation)   หากสามารถสร้างแรงจูงใจได้ ก็จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) ได้ในขั้นต่อไป
  8. มุ่งเรียนเพื่อความเป็นพลโลก และเพื่ออนาคต   เราต้องรู้จักเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ในอนาคต    ในปัจจุบันเรากำลังเรียนรู้จากอดีต   และชีวิตในปัจจุบันไม่ได้อยู่แค่ในระดับ ตำบล อำเภอ   แต่มีผลกระทบถึงกันหมดในโลก    จึงต้องปรับตัวให้ได้ในบริบทโลก
  9.          ความท้าทายอยู่ที่ จะทำอย่างไรให้สามารถเชื่อมประสานปัจจัยทั้ง 8 นี้มาใช้กับการเรียนการสอนได้ ในลักษณะที่เกิดการเสริมพลังต่อกันและกัน

          

         หนังสืออีกเล่มหนึ่ง คือ World Development Report 2018 (WDR 2018)    ในชื่อ Learning to Realize Education’s Promises   ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้เพื่อทำให้การศึกษาส่งผลลัพธ์ตามคำมั่นสัญญา   โดยคำมั่นสัญญาคือ การเรียนรู้ของผู้เรียน (Learning)   สาระในหนังสือมาจากผลงานวิจัย   บอกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลก (รวมทั้งประเทศไทย) ไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญานั้น   มีผลให้การศึกษามีคุณภาพต่ำ   โดยได้นำเสนอผลการวิเคราะห์ 4 ปัจจัยหลักที่บกพร่อง

            1. ครูมีจิตวิญญาณที่ไม่ตรงตามความต้องการที่จะพัฒนาคน ไม่มุ่งมั่นในการสร้างการเรียนรู้

            2. นักเรียนไม่มีแรงจูงใจในการเรียน

            3. ปัจจัยภายในโรงเรียนไม่เอื้อต่อการเรียนรู้

            4. การจัดการโรงเรียน ไม่ได้มีผลส่งเสริมการสอนและการเรียน

         สาเหตุหลักคือปัจจัยทางเทคนิค  และปัจจัยทางการเมือง ดึงความสนใจของโรงเรียน  ครู  และครอบครัว ออกไปจากเรื่องการเรียนรู้    เป็นสภาพปัญหาที่หยั่งรากลึกจนคนในประเทศนั้นๆ (รวมทั้งประเทศไทย) ไม่รู้สึก

ครูคุณภาพสูง

        มีผู้เสนอว่า ครูแห่งศตวรรษที่ 21 ต้องการปัจจัยหลัก 2 อย่าง คือ

  • ความคล่องแคล่วในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Fluencies) ซึ่งประกอบด้วย ความคล่องแคล่วในการแก้ปัญหา  ความคล่องแคล่วด้านสารสนเทศ  ความคล่องแคล่วด้านความร่วมมือ  ความคล่องแคล่วด้านความสร้างสรรค์  และ ความคล่องแคล่วด้านสื่อ   
  • ความคล่องแคล่วด้านการประยุกต์ใช้หลักการศึกษา (Educational Literacies) ซึ่งประกอบด้วย ความสามารถประยุกต์ใช้การประเมิน  ความสามารถประยุกต์ใช้หลักสูตร  ความสามารถประยุกต์ใช้ศาสตร์ด้านการเป็นครู  ความสามารถในการจัดการอารมณ์  และ ความสามารถในการเรียนรู้     

ผมขอเพิ่มอีกปัจจัยหนึ่ง คือ

  • การทำงานอย่างประณีตลุ่มลึก (Critical Literacy) การรู้เท่าทันอย่างลุ่มลึก ประเมินอารมณ์ ความต้องการของเด็กอย่างฉลาดลึก จากนั้นนำมาประกอบกันอย่างฉลาดใช้   โดยต้องจัดการเรียนรู้สู่ระดับ Transfer Learning    คือ เรียนรู้อย่างรู้จักใช้ ปรับตัวตามสถานการณ์ ไม่ใช่เพียงเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง (Deep Learning) ที่อาจนำมาใช้ไม่ได้ ถึงแม้จะรู้เรื่องนั้นเป็นอย่างดีก็ตาม

            มีผู้เสนอว่า ครูที่ดีต้องมีคุณลักษณะ หรือสมรรถนะสำคัญ ๑๕ ประการ   และผมเพิ่มอีก ๑ รวมเป็น ๑๖ ประการ  ได้แก่

  1. จัดห้องเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง   และใจใส่ศิษย์เป็นรายคน
  2.  จัดการเรียนแบบสร้างความรู้ด้วยตนเอง  มากกว่ารับถ่ายทอดความรู้จากภายนอก
  3. รู้จักเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ
  4. พยายามใช้พลังจากห้องเรียนและเพื่อนครูในโลก เพื่อให้เด็กได้เป็น Producer และร่วมถ่ายทอด
  5. ฉลาดรู้และใช้โทรศัพท์มือถือให้เป็นประโยชน์
  6. ใช้เครื่องมือและแพลตฟอร์มออนไลน์เป็น
  7.  Paperless Learning ลดการใช้กระดาษและหันมาใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์
  8.  การร่วมมือกันระหว่างโรงเรียน
  9.  ใช้ Twitter
  10.  ติดต่อสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทั้งสังคมในโรงเรียน และนอกโรงเรียน
  11.  ออกแบบการเรียนรู้แบบโครงงาน (PBL – Project-Based Learning) เป็น
  12. สร้างประวัติการเข้าใช้สื่อดิจิตอลในเชิงบวก (positive digital footprint)
  13.  การเขียนโค้ด
  14. การคิดค้นนวัตกรรม สื่อการสอน เพื่อลดเวลาในการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพ
  15. ความใฝ่รู้ใฝ่เรียน
  16. การสร้างศักดิ์ศรีของความเป็นครู ผ่านการสร้างมาตรฐานทางวิชาชีพ

         

        สำหรับประเทศไทย ต้องเพิ่มทักษะ Content Literacy ไปด้วย ครูควรเข้าใจในเนื้อหาที่จะสอนเป็นอย่างดีและแม่นยำ    ครูต้องวิเคราะห์เนื้อหา สาระวิชาได้อย่างแตกฉาน เพื่อเอาไปทำ 2 สิ่ง คือ ออกแบบการเรียนรู้ และใช้สังเกตการเรียนรู้ของเด็ก ว่าเกิดการเรียนรู้จริงหรือไม่ (Formative Assessment)   ซึ่งจะตามมาด้วย Constructive Feedback แก่นักเรียน ที่จะทำให้ครูเป็นครูคุณภาพสูง          

            คุณสมบัติเพิ่มเติมของครูคุณภาพสูง

            17. มีจิตวิญญาณความเป็นครู

            18. สมรรถนะในการจัดการเรียนรู้

            19. ทักษะการสร้างแรงบันดาลใจ

            20. คาดหวังสูง สนับสนุนสูง

            21. ฟังศิษย์ เพื่อเข้าใจศิษย์

            22. เอาใจใส่เนื้อหาสาระ เพื่อใช้โค้ชให้ศิษย์ เรียนระดับผิว ระดับลึกและรู้ระดับเชื่อมโยง (Transfer)

            23. เรียนรู้จากการปฏิบัติงาน ผ่านการเรียนรู้ร่วมกับครู

            24. ใช้พ่อแม่ คนในชุมชน เป็นผู้ร่วมจัดการเรียนรู้ (Co-educator) ครูไม่ทำงานแบบโดดเดี่ยวในโรงเรียนเท่านั้น แต่ใช้ทรัพยากรจากครอบครัว ชุมชน เข้ามาร่วมด้วย

            25. ใช้นักเรียนเป็นผู้ร่วมจัดการเรียนรู้ (Co-educator) โดยการศึกษาหาข้อมูลมาร่วมแลกเปลี่ยนกันในชั้นเรียน

            26. เรียนรู้และพัฒนาทักษะในการประเมินสมรรถนะของนักเรียน

การผลิตครู

       “ประเทศที่มีการศึกษาคุณภาพสูงและครูมีคุณภาพสูง จะผลิตครูจำนวนจำกัดเท่าที่ต้องการเท่านั้น” ประโยคนี้เป็นผลชี้วัดจากการวิจัยในประเทศที่เป็นเลิศด้านการศึกษา    คำถามจึงกลับมาที่ประเทศไทยว่า วันนี้เราผลิตครูที่มีคุณภาพหรือไม่ และการผลิตที่เกินจำนวนที่ต้องการอย่างมากมายอย่างที่เป็นอยู่ ถือเป็นการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างสูญเปล่าหรือไม่   และที่ยิ่งกว่านั้น เป็นการทำลายศักดิ์ศรีของวิชาชีพครูหรือไม่

             จากหนังสือการศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก มีใจความสำคัญ 6 ประเด็นด้วยกัน

  1. ยกระดับคุณภาพการศึกษาของครู  เช่น ระดับปริญญาโท   ใน สิงคโปร์ ครูสาขาใดต้องจบปริญญาตรีสาขานั้น  และเรียนต่อปริญญาโทด้านครู  
  2. เสาะหานักศึกษาด้วยวิธีการเชิงรุก เช่น การลงพื้นที่ การใช้ ฐานข้อมูล  อย่างที่ กสศ. ทำอยู่ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น    เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมจริงๆ
  3. ดำเนินการเชิงรุก ดึงดูดคนในวิชาชีพอื่นมาเป็นครู เช่นที่ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 2008-2010 ที่เกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ทำให้คนในแวดวงธุรกิจต้องตกงาน กระทรวงศึกษาธิการของประเทศอังกฤษจึงดำเนินการสรรหาคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคารมาสร้างความรู้เท่าทันทางการเงิน (financial literacy) ในโรงเรียน   เพราะในความเป็นจริง คนที่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้นๆ สามารถเป็นครูที่ดีกว่า
  4. ให้ทุนการศึกษา  เพื่อคัดเลือกคนเหมาะที่จะเป็นครู และจะเติบโตไปเป็นครูที่มีคุณภาพสูง
  5. เลือกคนที่ความสามารถมาฝึกฝนอย่างดี
  6. บรรยากาศในที่ทำงานที่หนุนให้ครูเรียนรู้ต่อเนื่อง  และระบบความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ที่นำไปสู่กระบวนการทุ่มเท ฝึกฝนตนเองให้เป็นครูที่ดี

          ปัจจัยทั้งหมดจะส่งเสริมให้ระบบการศึกษาส่งมอบผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูง    ครูมีความก้าวหน้า รวมไปถึงยกระดับศักดิ์ศรีของความเป็นครูด้วย    ปัญหาคือ จะเข้าไปแก้ไขเชิงระบบเกี่ยวกับการศึกษาไทยอย่างไร

           แหล่งเรียนรู้หนึ่งคือ หนังสือ Finnish Lessons 2.0   ที่แปลเป็นไทยว่า  ปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ บทเรียนใหม่จากฟินแลนด์    มีข้อคิดที่น่าสนใจ ดังนี้

1. เลือกเฟ้นคนที่จะมาเป็นครู   การสมัครคัดเลือกมาเป็นครูอยู่ในอัตราการแข่งขันที่สูงมากถึง 10:1    โดยมีเกณฑ์สำคัญ 3 ประการคือ บุคลิกภาพ ความรู้ และความเหมาะสม

2. หลักสูตรฝึกหัดครูที่มีการค้นคว้าวิจัยเป็นฐาน (research-based curriculum) จะทำให้คุณภาพของครูสูง   หลักสูตรด้านการศึกษาของฟินแลนด์ประกอบด้วย ๓ ส่วนคือ  (๑) ทฤษฎีการศึกษา  (๒) ความรู้ในเนื้อหา ผนวกกับวิธีสอน  (๓) ศาสตร์การสอนรายวิชา และการฝึกปฏิบัติทางวิชาชีพ 

3.ครูคือนักวิจัย เพื่อที่จะได้มีท่าทีของนักตั้งคำถาม และการทำงานอย่างอิงข้อมูลหลักฐาน ติดตัวไปใช้ในการสอนด้วย

4.การพัฒนาทางวิชาชีพ (professional development)   ซึ่งหมายถึงการจัดให้การทำงาน หรือการทำหน้าที่ครู เป็นกระบวนการเรียนรู้ของครูไปในตัว   ที่เราเรียกว่า PLC – Professional Learning Community)

5. ครูคือผู้นำ ผู้นำโรงเรียนเองก็เป็นครู   ซึ่งหมายความว่า ครูเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน   และผู้อำนวยการโรงเรียนก็ต้องทำหน้าที่ครู มีจิตวิญญาณและความรับผิดรับชอบเหมือนครู    คือรับผิดรับชอบ (accountable) ต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน

6. ครูดี โรงเรียนเด่น ประกอบด้วยหัวใจ ๓ ข้อคือ (๑) ผู้มีพรสวรรค์และแรงจูงใจสูงจะเลือกอาชีพสอนหนังสือ  (๒) การฝึกหัดครู เป็นผลจากการร่วมมือกันระหว่างคณะศึกษาศาสตร์ กับภาควิชาสาขาอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยวิจัยของฟินแลนด์   คือคณะศึกษาศาสตร์ไม่ทำงานแบบแยกตัวจากศาสตร์อื่น   แต่ทำงานร่วมมือกัน  และ (๓) การฝึกหัดครูใช้การค้นคว้าวิจัยเป็นฐาน

โรงเรียนกับการผลิตครู

        เปรียบเทียบกับการผลิตหมอ และการผลิตพยาบาล มีความคล้ายคลึงกับระบบการผลิตครู   คือการผลิตแพทย์พยาบาลต้องมีโรงพยาบาลเป็นแหล่งฝึก   และการผลิตครูก็ต้องมีโรงเรียนเป็นแหล่งฝึก   เพราะการผลิตครูต้องเรียนทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติไปด้วยกัน   แต่ในประเทศไทยยังจัดการเรียนการสอนให้มีการเสริมแรงระหว่างทฤษฎีกับปฏิบัติได้ไม่ดีเท่าที่ควร   ยังขาดการปลูกฝังด้าน Transfer Learning เพื่อที่นำไปปรับใช้ตามสถานการณ์

        ด้วยเหตุผลดังกล่าว แพทย์จึงไม่ได้ไปฝึกงานในเฉพาะโรงเรียนแพทย์ แต่ต้องไปฝึกหัดในโรงพยาบาลในชนบทด้วย   เพื่อเรียนรู้จากผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ไม่ซับซ้อนเหมือนผู้ป่วยในโรงเรียนแพทย์   และที่สำคัญยิ่งกว่า คือ เพื่อฝึกการทำงานในสภาพที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ครบครันอย่างในโรงเรียนแพทย์    ซึ่งหมายความว่า นักศึกษาครูต้องได้รับการฝึกให้ปฏิบัติงานได้ในพื้นที่ขาดแคลน

        ทักษะวิชาชีพก็เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ซับซ้อน มีเรื่องคุณธรรม จริยธรรม สอดแทรกอยู่ในนั้นด้วย   รวมทั้งการฝึกความอดทนต่อความเห็นที่ต่าง การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

         ผมคิดว่าความเป็นครูซับซ้อนกว่าความเป็นหมอ เพราะในการรักษาคนไข้นั้นมีผลร้ายแรงที่สุดคือคนไข้เสียชีวิต แต่ครูมีผลทางปัญญา ที่จะส่งผลระยะยาว ต่อช่วงชีวิตของคนในสังคม

         ทักษะการทำงานร่วมกันกับคนในวิชาชีพเดียวกัน และร่วมกับคนต่างวิชาชีพ มีความสำคัญ   เพราะครูจะต้องทำงานโดยใช้ผู้อื่น ที่ทำงานหรือดำรงชีวิตในหลากหลายบริบท มาทำหน้าที่ผู้ช่วยครู (co-educator) เพื่อหนุนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง     

           การจัดการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการสนธิพลัง (synergy) ระหว่างความรู้เชิงทฤษฎีกับความรู้เชิงปฏิบัติ   เช่น การฝึกนำประสบการณ์ตรงของตนไปตีความด้วยทฤษฎี   นำสู่การเรียนรู้ลุ่มลึก และเชื่อมโยงยิ่งขึ้น

           การฝึกงานแนวใหม่ โดยใช้ reflective coaching ช่วย   อาจารย์ทำหน้าที่ โค้ช ช่วยให้นักศึกษาสะท้อนคิดเชิงทฤษฎี จากประสบการณ์การฝึกสอนของตน   โดยเขียนบทสะท้อนคิด (reflective journal) ใส่เข้าไปในระบบ โซเชี่ยลมีเดีย ของรายวิชา   ให้อาจารย์เข้าไปอ่านและตั้งคำถามเพื่อ โค้ช นักศึกษา   ให้นักศึกษาได้ทำความเข้าใจทฤษฎีในมิติที่ลึกขึ้น โดยอาศัยข้อมูลจากการฝึกงาน   โดยนัยนี้ อาจารย์ก็จะได้ฝึกการทำหน้าที่อาจารย์ผ่าน  coaching   เป็นแนวทางเพิ่มศักดิ์ศรีของวิชาชีพครูคืนมา    เพราะวงการฝึกหัดครูไทยจะได้ชื่อว่า ผลิตครูที่มีคุณภาพสูง  

  

           การปลูกฝังเจตคติที่ดี ต่อการทำงานในชนบท   เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นโดยตรง

           การมีโรงเรียนดีให้นักศึกษาครูใช้เป็นสถานที่ฝึกงาน  มีคุณค่านานัปการแก่นักศึกษาครู   ได้แก่

 

           โรงเรียนมีนักเรียนเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ (co-learner) ของนักศึกษาครู    สภาพเช่นนี้ จะก่อผลดีอย่างน้อย ๓ ประการคือ  (๑) นักเรียนได้ฝึกเรียนในฐานะผู้ร่วมสร้างความรู้   เน้นที่ “การเรียนรู้ขาออก” ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ถูกต้อง คือ active learning   (๒) นักศึกษาครูได้ฝึกทักษะการใช้นักเรียนเป็นผู้ร่วมทำหน้าที่เอื้ออำนวยการเรียนรู้   ซึ่งเป็นทักษะที่จะต้องใช้ตลอดชีวิตการเป็นครู  และ (๓) ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียน ยกระดับขึ้น  

           นักศึกษาครูได้ฝึกงานวิชาชีพครูโดยมีพี่เลี้ยงที่ดี   ซึ่งในที่นี้คือครูสอนดีในโรงเรียนนั้น เสริมด้วยอาจารย์ของสถาบันผลิตครู 

           นักศึกษาครูได้สังเกตชั้นเรียนของครูสอนดี (master teacher)  ได้เข้าวง PLC ที่มีเป้าหมายชัดเจน

           นักศึกษาครูได้ฝึกความท้าทายผ่านการสอนนักเรียนหลายรูปแบบ โดยมีที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ

       

           โดยหัวใจหลักที่สำคัญ คือต้องการครูแกนนำ หรือครูสอนดี จากโรงเรียนที่มีแรงบันดาลใจสูงและทุ่มเท ต้องลงแรงและนำทฤษฎีมาใช้ เพราะการเรียนรู้สายครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์นั้นมีทฤษฎีการเรียนรู้ค่อนข้างมาก   ต้องนำภาคปฏิบัติมาร่วมด้วย และค่อยๆ ทำ reflection เพื่อเรียนรู้ทฤษฎีในมิติที่ลึก ไปพร้อมๆ กันกับการฝึกทักษะการเป็นครู  


ครูกับการผลิตครู

                การมีครูดีที่มุ่งมั่นทำหน้าที่ครูเพื่อศิษย์ อย่างครูเรฟ เอสควิธ ในหนังสือ Teach like your hair’s on fire ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ ผ่านการสอนโรงเรียนในเมือง ลอส แอนเจลีส ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา ในชั้นเรียน ป. ๕  โดยผู้เรียนเป็นเด็กที่มีอายุ 9-10 ขวบ พร้อมกับปลูกฝังแรงบันดาลใจ การดึงพลัง เสริมทักษะในการใช้ชีวิต
มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • อ่านเพื่อชีวิต
  • การเขียน
  • คณิตคิดสนุก
  • ลองผิดลองถูก
  • คนรักศิลปะ
  • พลังเชคสเปียร์ การแสดงละครนวนิยายชื่อดัง
  • หนังสืออีกเล่มหนึ่งของครูเรฟ คือ ครูแท้แพ้ไม่เป็น: Real talk for real Teachers เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่อยากจะแนะนำ เพราะมีเนื้อหาใกล้เคียงกับการทำงานจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น
    • ดินแดนทุรกันดาร
    • ถ้าขมขื่นฝืนใจแล้วจะทำอะไรได้
    • ชักชวนจูงใจโดยไม่ต้องยัดเยียด
    • ทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
    • มองออกไปทางประตูหลัง
    • บันไดสู่สวรรค์

       

ขอแนะนำให้ครูของครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น อ่านหนังสือทั้งสองเล่มนี้    และนำมาปรับใช้ในการหาครูดีในโรงเรียน ที่มีแรงบันดาลใจสูง มีความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ครูเพื่อศิษย์   สำหรับเชื้อเชิญเป็นโค้ชให้แก่นักศึกษาครูในโครงการ

การผลิตครูร่วมกับครู

        มีประเด็นสำคัญดังนี้

  1. 1. ครูเพื่อศิษย์ร่วมสร้างครูเพื่อศิษย์
  2. 2. ทุกภารกิจต้องการกัลยาณมิตรร่วมอุดมการณ์
  3. 3. ทุกภารกิจมีอุปสรรค ต้องการพลังร่วมด้วยช่วยกัน พลังรวมหมู่
  4. 4. ครูสอนดีมีความรู้ปฏิบัติที่สั่งสมมานาน
  5. 5. แปลงความรู้ปฏิบัติเป็นความรู้วิชาการได้
  6. 6. จากความรู้ปฏิบัติสู่การสร้างครู ร่วมกับความรู้ทฤษฎี
  7. 7. สถาบันผลิตครูร่วมกับครูสร้างศักดิ์ศรีครู

สถาบันผลิตครู

   

ต้องผลิตครูอย่างมีเป้าหมายชัดเจน   ว่ามุ่งสร้างครูที่มีความสามารถแบบไหน เหมาะกับบริบทแวดล้อมแบบไหน

ผลกระทบของสถาบันผลิตครูต่อสังคมมีมากมายหลายด้านได้แก่

  • ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน คุณภาพการศึกษา / พลเมืองไทยในอนาคต
  • ศักดิ์ศรีของวิชาชีพครู
  • ผลประโยชน์ของวิชาชีพครู  ควรเป็นเป้าหมายรอง ต้องยกผลประโยชน์ให้กับผู้เรียนเป็นสำคัญ เมื่อไรก็ตามที่มองเห็นแต่ตัวเอง ก็จะเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของวิชาชีพครู 
  • ผลประโยชน์ของสถาบันผลิตครู   สถาบันได้ประโยชน์ในการผลิตครูที่มีคุณภาพ ได้รับความไว้วางใจและกลายเป็นต้นแบบในการสร้างครู
  • สถาบันผลิตครู ต้องผลิตครูโดยทำงานร่วมกับโรงเรียน อาศัยครูและบริบทชุมชนแวดล้อมเข้ามาช่วยปลูกฝังผ่านการเรียนการสอน
  • ผลิตครูที่ “ศิษย์เขียนจดหมายมาถึงจากตุรกี” แบบครูเรฟ   เป็นครูที่มีความเอาใจใส่ศิษย์ คอยแสดงความเป็นห่วง   ถึงแม้จะอยู่ไกลกันเพียงใดก็ตาม ครูเช่นนี้เมื่อคิดจะทำการใดก็จะมีแต่คนเกื้อหนุน ให้การสนับสนุน

สรุป การผลิตครูสู่เป้าหมาย

· ต้องพัฒนาศิษย์ทุกคน ครบด้าน เรียนรู้สู่ระดับลึก และเชื่อมโยง

· เปี่ยมวิญญาณครู ทุกคนมีจิตวิญญาณกระตือรือร้นในการทำหน้าที่ครู

· มีความรู้วิชา ทักษะครู และความเป็นมนุษย์  เคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน

· ครูรัก(ษ์)ถิ่น มีวิญญาณและทักษะนักพัฒนาชุมชน

· นักร่วมมือสิบทิศ ให้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอื่น เพราะความรู้ที่เรามีกับความรู้ที่ท่านอื่นมี ไม่เหมือนกัน   หากพึ่งพาอาศัยร่วมแรงร่วมใจกัน ก็จะช่วยทำงานที่ยากให้สำเร็จได้

· มีเป้าหมายชีวิตที่สูงส่ง อุดมการณ์ครู การวางเป้าหมายในอาชีพครูไว้เพื่อเป็นจุดมุ่งมั่นในการพัฒนาทั้งตนเองและนักเรียน

· ในที่นี้เราคุยกันด้วยภาษาที่เรียบง่าย คล้ายว่าจะทำได้สำเร็จไม่ยาก   แต่ถนนแห่งชีวิตจริงไม่ได้ราบเรียบ มีหลุมพรางที่เรามองไม่เห็นมากมาย    เราเองต้องช่วยกันประคองไม่ให้ทั้งตัวเราและลูกศิษย์ตกหลุมพรางเหล่านั้น และนี่ก็เป็นอีกความท้าทายของการผลิตครูในปัจจุบัน

           ผมนำเสนอเรื่องทำอย่างไรให้การผลิตครูไปสู่เป้าหมาย ไม่ใช่การแข่งขันแย่งชิงผู้เรียน โดยแปลงเป็นหัวข้อที่มีนัยยะเชิงบวก คือ ผลิตครูสู่เป้าหมายสูงส่ง    โดยเสนอทั้งเป้าหมายสูงส่ง  และแนวทางบรรลุเป้าหมายนั้น   ภายใต้แนวคิดว่า ภารกิจการสร้างครูที่ดีมีความซับซ้อน ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว    ต้องยึดเป้าหมายให้มั่น แล้วบากบั่นทำไปเรียนรู้ไปปรับปรุงไป    ผมเชื่อว่าสถาบันผลิตครูไทยที่ กสศ. เลือกสรรแล้วสามารถทำได้   และขอเป็นกำลังใจให้แก่ “สถาบันผลิตครูเพื่อศิษย์”

........................................

หมายเลขบันทึก: 688507เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2021 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2021 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท