BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

จริยศาสตร์คุณธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๑.


จริยศาสตร์คุณธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่

จริยศาสตร์คุณธรรม               

ในจริยศาสตร์ร่วมสมัย ประโยชน์นิยม ลัทธิคานต์ และจริยศาสตร์คุณธรรมมีรูปแบบพื้นฐานของทฤษฎีแตกต่างกันดังนี้ คือ ประโยชน์นิยมยึดถือหลักประโยชน์สูงสุดเนื่องจากนักประโยชน์นิยมจำนวนมากได้ปรับปรุงแก้ไขสืบต่อกันมาจนมีระบบชัดเจน ซึ่งแตกต่างกับลัทธิคานต์ เพราะผู้นิยมคานต์ทั้งหลายแม้จะยึดถือต้นฉบับตามแนวคิดของคานต์เหมือนกัน แต่การแปลความหมายและอธิบายแนวคิดของคานต์แตกต่างกัน ส่วนจริยศาสตร์คุณธรรมมีรากฐานมาจากนัก
จริยศาสตร์กรีกโบราณซึ่งมีแนวคิดของอริสโตเติลเป็นแกนสำคัญที่สุด และเพิ่งจะมีการนำมาฟื้นฟูใหม่ในช่วงเวลาประมาณห้าสิบปีที่ผ่านมาโดยพยายามปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน จริยศาสตร์คุณธรรมจึงขาดทั้งต้นฉบับเดิมและระบบที่ชัดเจน เพราะนักจริยศาสตร์คุณธรรมร่วมสมัยต่างคนก็เสนอความเห็นและพยายามสร้างระบบแตกต่างกันไป

แนวคิดจริยศาสตร์คุณธรรมเริ่มต้นจากบทความ “Modern Moral Philosophy” ในปี ค.. 1958 ของ อินส์คอมบ์ (Anscombe, G.E.M.)  ดังที่ คริสป์ (Crisp, Roger) ระบุไว้ว่าจริยศาสตร์คุณธรรมมีแหล่งกำเนิดมาจากโลกโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเขียนของพลาโตและอริสโตเติล ซึ่งได้รับการรื้อฟื้นจากอินส์คอมบ์ โดยเธอได้นำเสนอบทความเพื่อวิจารณ์จริยศาสตร์สมัยใหม่และบอกว่าควรกลับไปสู่คุณธรรม[1]

ส่วนโพจแมนชี้แจงว่า จริยศาสตร์คุณธรรมเริ่มต้นในปี ค.. 1958 โดยนักปรัชญา เช่น อินส์คอมบ์, ฟุต (Foot, Philippa)  แมกอินไทร์ (MacIntyre, Alasdair) มาโย, พินคอฟส์ (Pincoffs, Elizabbeth)  และ เทเลอร์ (Taylor, Richard) เสนอว่าให้เลิกเฟ้อฝันกับหลักการของแนวคิดจริยธรรมสมัยใหม่ และให้ความเห็นว่าควรกลับไปยัง ทฤษฎีฐานคุณธรรม (virtue-based theory) โดยระบุว่าจริยศาตรสมัยใหม่ซึ่งเป็น จริยศาสตร์ใช้กฎควบคุม (rule-governed ethics) มีข้อบกพร่อง 4 ประการ คือ

1) ขาดส่วนประกอบของแรงจูงใจ

2) มีพื้นฐานมาจากรูปแบบของกฎทางเทววิทยา จึงมีความเหมาะสมได้ไม่นาน

3) เพิกเฉยมิติทางใจของหลักศีลธรรม4) เน้นหลักการของภาวะอิสระเกินไปโดยละเลยบริบททางสังคมของหลักศีลธรรม[2]                

กล่าวโดยย่อ จริยศาสตร์คุณธรรมเกิดจากความบกพร่องของทฤษฎีจริยศาสตร์ที่ครอบคลุมด้วยกฎคือประโยชน์นิยมและลัทธิคานต์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้นักปรัชญาศีลธรรมกลุ่มหนึ่งแสวงหาทางออกของปัญหานี้ โดยการทบทวนวรรณกรรมก็พบว่าแนวคิดเรื่องคุณธรรมในจริยศาสตร์กรีกโบราณเหมาะสมที่จะเป็นทางออกของปัญหานี้ได้ ต่อมานักปรัชญาศีลธรรมร่วมสมัยโดยมากยึดถือว่าจริยศาสตร์คุณธรรมเป็นทางเลือกที่สามระหว่างประโยชน์นิยมกับลัทธิคานต์ แต่ทั้งสามทฤษฎีล้วนมีข้อเด่นและข้อด้อยแตกต่างกันไป ดังนั้น โบฌองพ์จึงได้เสนอแนวคิดเรื่องมาตรฐานศีลธรรมสองระดับเพื่อเชื่อมต่อช่องว่างของทฤษฎีทั้งสาม โดยแบ่งมาตรฐานศีลธรรมออกเป็นระดับข้อผูกพันและระดับอธิกรรม               

ผู้วิจัยจะนำเสนอความขัดแย้งของทฤษฎีเหล่านี้และวิเคราะห์มาตรฐานศีลธรรมสองระดับในบทต่อไป ส่วนหัวข้อนี้จะนำเสนอแต่เพียงความหมาย แนวคิดพื้นฐาน และมโนทัศน์ของอธิกรรมในจริยศาสตร์คุณธรรมเท่านั้น


[1] Concise Routledge Encyclopedia of philosophy (London : Routledge, 2000), p. 917.
[2] Louis P. Pojman. Ethics : Discovering Right and Wrong.(Belmont : Wadsworth Publishing Company, 1995), pp. 158-159.
หมายเลขบันทึก: 68845เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 08:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท