อยู่ข้างล่างขว้างได้ขว้างเอา : เรื่องราวบนเกาะวานรที่สะท้อนความเป็นมนุษย์


เมื่อกล่าวถึงวงการภาพยนตร์ที่นำสัตว์อันเป็นบรรพบุรุษของเผ่าพันธุ์มนุษย์อย่าง “ลิง” มาเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญของเรื่องนั้นนับว่ามีเรื่องนับไม่ถ้วน อาทิ Planet of the Apes (1968) , กำเนิดพิภพวานร (2011) ซึ่งเนื้อเรื่องก็มีลักษณะเดียวกัน คือ ลิงมีความเฉลียวฉลาดเทียบเท่ากับมนุษย์ ก่อให้เกิดปมขัดแย้งที่มนุษย์ตกเป็นทาสของลิง หรือเกิดสงครามระหว่างมนุษย์กับลิง เป็นต้น โดยสิ่งที่ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องการนำเสนอ มิใช่เพียงต้องการสร้างเรื่องเหนือจริงเพื่อความบันเทิงแก่ผู้รับชมเท่านั้น แต่ยังอัดแน่นด้วยข้อคิดซึ่งถ่ายทอดผ่านตัวละครลิงที่สามารถสะท้อนสังคมได้อย่างแจ่มชัด

“อยู่ข้างล่างขว้างได้ขว้างเอา” เป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ จเด็จ กำจรเดช ได้นำ “ลิง” เข้ามาอยู่ ในงานเขียนของเขา โดยเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนเกาะปีนัง เกาะซึ่งเต็มไปด้วยลิงที่อาศัยอยู่ร่วมกับคนบนเกาะ โดยลิงนั้นมีความสามารถในการทำงานและใช้ชีวิตได้เช่นเดียว กับมนุษย์ ผู้แต่งใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบบรรยายผ่าน “ผู้เล่าเรื่อง” เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะปรากฏบทสนทนาแค่เพียงบางช่วงเท่านั้นแต่ในการเล่าเรื่องแบบบรรยายมักจะสร้างความเบื่อหน่ายแก่ผู้อ่านได้ง่าย ผู้แต่งจึงอุดช่องโหว่นี้โดยการให้ผู้เล่าเรื่องใช้ “สำนวน” ของตนในการเล่าเรื่อง อาทิ “ในที่สุดพอลก็ได้งาน (คิดว่านะถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด)” (หน้า 171) , “เรื่องมันเกิดตอนไหนนะ” (หน้า 177) เป็นต้น นักวิจารณ์อย่าง จรูญพร ปรปักษ์ประลัย กล่าวถึงผู้แต่งว่า สิ่งที่เขานำกลับมาเขียนไม่เหมือนแต่ก่อน แทบทั้งหมดเป็นแบบ Story Next Door เรื่องเล่าข้างบ้าน จากปากคำของคน ธรรมดา ๆ ที่บางเรื่องมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาเอง (จรูญพร ปรปักษ์ประลัย, 2563 : 66 ) ถือว่าเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งในการเพิ่มรสชาติไม่ให้การเล่าเรื่องจืดชืดและเสียอรรถรสแก่ผู้อ่านจนเกินไป

ในส่วนการดำเนินเรื่องจะเป็นแบบตัดสลับเหตุการณ์ไปมาเหมือนกับมุมมองของภาพยนตร์ ตั้งแต่การเปิดเรื่องด้วยเรื่องราวของตัวละคร “จูเลีย” กับ “ยาโกบ” รวมถึงเปิดประเด็นเรื่องที่จูเลียเคยมีสามีคนแรกเป็นลิงชื่อศรีราชา “ไอ้ลิงตัวแรกที่เธอเสียสาวให้ มันไม่หล่อพอให้เธอรัก” (หน้า 170) นอกจากจะเป็นการแนะนำตัวละครแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทของลิง เพื่อปูทางให้ผู้อ่านรับรู้ว่าลิงที่อยู่ในเรื่องนี้มีลักษณะต่างกับลิงในชีวิตจริงอย่างไร จากนั้นผู้เขียนก็ตัดสลับเหตุการณ์ไปที่ตัวละคร “พอล” ที่กำลังไปสัมภาษณ์งานกลวิธีในการดำเนินเรื่องถือว่ามีลักษณะที่แตกต่างจากงานเขียนทั่วไป นั่นคือ การเล่าเรื่องจะตัดสลับไปที่เหตุการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่ได้ต่อเนื่องกัน ดังที่ ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ กล่าวถึงหนังสือคืนปีเสือว่า งานเขียนในลักษณะต้านโครงเรื่อง (anti-plot) มักทำให้คนอ่านจับต้นชนปลายไม่ถูก เพราะไม่ได้ดำเนินเรื่องตามขนบที่ต้องการผูกปมและแก้ปม ซึ่งประกอบด้วยความขัดแย้งและจุดวิกฤติอันพลิกชะตาให้ผกผันก่อนจะคลี่คลายไปสู่จุดจบของเรื่อง เรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้อ่านรอบเดียวเอาไม่อยู่ เพราะหลงเพลินไปกับเรื่องเล่าที่ แทรกมาไม่ขาดระยะ (รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, 2563)

แต่เรื่องสั้นเรื่องนี้ยังคงแสดงถึงปมขัดแย้งของตัวละครและจุดวิกฤติของเรื่อง ถ้าพิจารณาเนื้อเรื่องโดยรวมจะเป็นเรื่องราวครอบครัวของจูเลีย กับเรื่องราวของ “พอล” ที่มาทำงานบนเกาะ โดยช่วงต้นเรื่องถึงกลางเรื่องจะเกี่ยวกับภูมิหลังและการกระทำของตัวละคร ผู้อ่านจะยังไม่เห็นความสัมพันธ์และปมขัดแย้งของตัวละครในเรื่อง แต่จะเห็นในช่วงกลางค่อนท้ายเรื่องซึ่งเป็นปมขัดแย้งระหว่างพอลกับ “โปรยมาลี” ลิงที่เป็นลูกสาวของจูเลีย ปมขัดแย้งมาจากโปรยมาลีชื่นชอบพอล แต่พอลชอบวิลาสีนีพี่สาวของเธอโดยปมขัดแย้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์พายุที่กำลังเข้าถาโถมเกาะปีนัง ซึ่งผู้แต่งใช้ ‘ฉาก’ ให้สอดคล้องกับความเข้มข้นของเรื่อง โดยค่อย ๆ ทวีความรุนแรงของพายุจากระดับสีเหลือง เป็นระดับสีส้ม และรุนแรงที่สุดคือเป็นระดับสีแดง ซึ่งประจวบเหมาะกับจุดวิกฤติของเรื่องคือเหตุการณ์ที่พอลพลาดได้เสียกับโปรยมาลีจนต้องตัดสินใจลาออกจากงานและหนีออกจากเกาะในที่สุดนอกจากนี้ผู้แต่งยังใช้บริบทของฉากมาเสียดสีสังคมไทยอีกด้วย ดังในฉากของ ‘หมู่บ้านคนพุทธ’ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่น้ำท่วมทุกปี แต่กระนั้นก็ยังไม่ทำบ้านยกพื้นสูง แม้กระทั่งตอนที่น้ำท่วมก็ยังไม่ทำอะไร นอกจากมั่วสุมอบายมุขและประพฤติแต่เรื่องชู้สาว ผู้อ่านจะเห็นได้ว่าสอดคล้องกับนิสัยของคนไทยที่มักจะเพิกเฉยต่อปัญหาของส่วนร่วมอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงเรื่องชู้สาวที่ยังคงเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของสังคมผู้แต่งนำเสนอสารัตถะของเรื่องผ่านพฤติกรรมของตัวละคร ลิงจัดว่าเป็นตัวละครที่แสดงให้เห็นพฤติกรรมได้อย่างเด่นชัด ทั้งความขยันในการทำงานได้อย่างขะมักเขม้น แตกต่างกับคนที่มักจะเลือกงานและเกียจคร้าน หรือศรีราชาที่ปลุกปล้ำกับจูเลียทั้งที่ยังตั้งท้อง “มีคนเล่าว่าแดดเที่ยงผ่าหัวศรีราชาก็ขึ้นทับจูเลียใต้ถุนนั่นเลย” (หน้า 186) จากเนื้อความข้างต้น ถือเป็นการเหน็บแนมสังคมไทยของผู้แต่งโดยการใช้สัญชาตญาณของลิงในเรื่องความเกียจคร้านและกิเลสตัณหาของมนุษย์ได้อย่างแยบยล 

อีกทั้งเหตุการณ์ที่ลิงประกาศหาคนให้เป็นเจ้าของกิจการ เพราะมีกฎหมายว่า ‘ไม่ให้ลิงเป็นผู้ประกอบกิจการ’ ยังสะท้อน ถึงเรื่องทุนนิยมของธุรกิจชาวต่างชาติ ผู้แต่งนำประเด็นข่าวที่ชาวต่างชาติใช้กล- อุบายเพื่อยืมมือคนไทยซื้อ อสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย เมื่อพิจารณาชื่อเรื่อง ‘อยู่ข้างล่าง’ อาจหมายถึงเหยื่อคนไทย หรือตาสีตาสาที่ถูกคนที่อยู่ด้านบนอย่างชาวต่างชาติหรือนายทุนที่ขว้างปาอำนาจหรือคำหลอกหลวง ใส่คนที่อยู่ข้างล่างเพื่อกดขี่ ข่มเหงให้ได้สิ่งที่ตนต้องการนอกจากนี้ผู้แต่งยังเสียดสีถึงการศึกษาของไทย ดังในตอนที่พอลเสนอเรื่องวิจัยต่ออาจารย์ แต่กลับได้คำตอบว่า “ทำแค่ให้มันจบก็พอ ไม่ต้องดี ไม่ต้องเลิศ เอาแค่ให้จบ” (หน้า 173) แสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจของอาจารย์ซึ่งพบเห็นได้จริงในสังคม ผู้แต่งยังแสดงทัศนะผ่านตัวละครพอลอีกว่า “พอลจึงเข้าใจว่าทำไมคนจบดอกเตอร์จึงมีเต็มบ้านเต็มเมือง” (หน้า 173)

นอกจากนี้ตัวละครอื่น ๆ ยังแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนถึงความเสื่อมของมนุษย์อีกด้วย ซึ่งพอลจัดเป็นตัวละครมนุษย์ที่มีพฤติกรรมโดดเด่นที่สุด พอลเป็นคนที่เย่อหยิ่งในศักดิ์ศรี การเล่าเรียนสูงส่ง แต่ยังเป็นลูกจ้างของลิง เพื่อจะทำวิจัยจบ อีกทั้งยังเป็นคนหมกมุ่นในกาม ดังในตอนที่พอลแอบดูวิลาสินีอาบน้ำ และยังมุ่งหมายที่จะมีเพศสัมพันธ์กัน “ถ้าจะมีอะไรกัน มันต้องมีอยู่แล้ว วิลาสินีเพิ่งสิบห้าก็จริงแต่มันไม่ใช่เด็กแล้ว สถิติของคนที่นี่มีผัวเร็วทั้งนั้น” (หน้า 217) จากที่กล่าวข้างต้น ผู้แต่งสื่อถึงเรื่องกามารมณ์และความวิตถารของมนุษย์ที่ไม่คำนึงถึงเรื่องศีลธรรม รวมถึงประเด็นการชิงสุกก่อนห่ามที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในสังคมไทย ผู้เขียนยังเน้นย้ำประเด็นนี้โดยวางบทบาทของตัวละครอย่างวิลาสินีซึ่งเป็นผู้หญิงที่สำส่อน และน้องสาวลิงโปรยมาลีที่ยั่วยวนความใคร่กับพอลจากพฤติกรรมของตัวละครทั้งสองแสดงให้เห็นว่าการที่ผู้แต่งนำลิงมาเป็นตัวละครเช่นนี้ อาจต้องการสื่อว่าเมื่อคนไม่รู้ผิดชอบชั่วดีก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ เดรฉาน.

เมื่อได้อ่านเรื่องสั้น “อยู่ข้างล่างขว้างได้ขว้างเอา” จะพบว่าจเด็จ กำจรเดช จิกกัดสังคมอยู่แทบตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งมีกลวิธีในการถ่ายทอดผ่านพฤติกรรมตัวละคร ฉาก หรือแม้แต่ลิงในเรื่อง ผู้แต่งสามารถดำเนินเรื่องได้อย่างสมจริง รวมทั้งใช้สถานที่จริงมาประกอบเป็นฉากของเรื่อง มีการหยิบยกประเด็นที่สดใหม่มาเสียดสี ยั่วล้อ เหน็บแนมได้อย่างเจ็บแสบ และผู้อ่านจะพบคำตอบว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนเกาะปีนังแห่งนี้สะท้อนความเป็นมนุษย์อย่างไรบ้าง..

หมายเลขบันทึก: 688388เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2021 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2021 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท