พุทธเศรษฐศาสตร์ : สะสมมูลค่า (store of value)


การสะสมมูลค่าตามแนววิถีพุทธก็คือ การอบรมบ่มอินทรีย์เพื่อสร้าง "บารมี" คือคุณความดีที่ควรสร้าง ควรกระทำ

บารมีตามหลักพุทธศาสนานั้นมีอยู่ ๑๐ อย่าง คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา

การสร้างบารมีเปรียบง่าย ๆ เหมือนกับการเอาไม้ไผ่มาสีกันเพื่อให้เกิดเป็นไฟ ต้องใช้ความติดต่อ ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ ไฟนั้นถึงจะเกิดได้  แต่หากสีแล้วหยุด สีแล้วหยุด ความร้อนที่กำลังเกิดขึ้นนั้นก็ย่อมมลายหายไป ฉันใดก็ฉันนั้น การสร้างบารมีของตัวเราต้องใช้ความติดต่อ ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ บารมีนั้นถึงจะเกิดได้

หากย้อนกลับไปนับตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของเรา ที่ใช้ความวิริยะ อุตสาหะ บากบั่นในการหักร้าง ถางพง ปรับพื้นดินด้วยจอมหรือเสียมด้ามเล็ก ๆ จนกระทั่งมาเป็นผืนนา เป็นไร่ เป็นสวน จนได้ชื่อว่าเป็นที่ "ทำมาหากิน"

นาในที่ลุ่มก็ดี นาในที่ดอนก็ดี น้ำมากก็ดี น้ำน้อยก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นปัญญาที่สะสมสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

ครั้นเมื่อเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า วิทยาศาสตร์เจริญเติบโต แต่ทำไมเรือก สวน ไร่ นาเหล่านั้นจึงหายจากครอบครัวเราไป

ในที่นี่คำว่า "หาย" จะหมายถึง การถูกยึด ถูกขาย ถูกเปลี่ยนถ่ายจากมือของเราไปสู่มือของบุคคลอื่น

สาเหตุหลัก ๆ ก็เพราะการเข้ามาซึ่งสิ่งแลกเปลี่ยนสินค้าหรือวัตถุดิบนั่นก็คือ "เงินตรา"

เราแทนค่าทุกอย่างด้วย "เงิน" 

จากการแลกเปลี่ยนสินค้าแบบของต่อของ (Barter system) ก็กลายเป็นว่า ต้องเอาของไปแลกเป็นเงิน แล้วจึงนำเงินนั้นไปแลกมาซึ่งสิ่งของตามที่เราต้องการ

การแลกเปลี่ยนทุกครั้งจะเกิดการสูญเสียไปซึ่งมูลค่าทางการตลาด ยิ่งซื้อมากก็ยิ่งเสียมาก มูลค่าทางการตลาดจึงเกิดประโยชน์เฉพาะต่อพ่อค้าคนกลาง

ในประเทศเราจะเห็นชาวนาน้อยคนที่รวย แต่เราเห็นเจ้าของโรงสีจำนวนมากที่รวย

ในประเทศเราจะเห็นชาวไร่น้อยคนที่รวย แต่เราจะเห็นโรงงานน้ำตาล หรือเจ้าของไซไลต่าง ๆ เหล่านั้นพากันร่ำรวย

สิ่งนี้เองที่เรียกว่า เป็นการผิดพลาดของระบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

ผู้ที่มีทุนมาก ย่อมมีอำนาจมากกว่าผู้ที่มีทุนน้อย ระบบนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นระบบ "ทุนนิยม"

นิยมทุน ต้องใช้ทุนจำนวนมากในการขับเคลื่อนและพัฒนา

ระบบการเรียนการศึกษา จึงอบรมสั่งสอนและบอกกล่าวเราว่า ใครสะสมได้มาก คนนั้น "ประสบความสำเร็จ"

คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต จะถูกตีค่าจาก "ทุน" ที่อยู่ในลักษณะต่าง ๆ เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร ทองคำ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ แม้แต่งานศิลปะ หรือวัตถุใด ๆ ที่มนุษย์ใช้เงินตีค่าออกมาได้

ด้วยระบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเช่นนี้ ทุกคนถึงมุ่งเป้าความหมายในการสะสมที่แข่งกันว่า "ใครจะสะสมได้มากกว่ากัน..."

การเรียน การศึกษา ก็เรียนวิชาที่จะสามารถทำงานให้ได้มาซึ่งเงินที่จะสะสมได้มากกว่าโอกาสในการทำความดี

การเกิดมาเป็นมนุษย์ที่ถือว่าเป็นผู้ประเสริฐ เพราะเราได้มีการให้ การเสียสละ ได้อบรมบ่มอินทรีย์ และสร้างบารมี การนับถือคุณค่ามนุษย์แบบนี้จึงค่อย ๆ เลือนหายไป

เพราะทุกคนต่างอยู่ในสังคมที่แข่งขันสะสม มีน้อยก็อยากได้มาก ไม่ทำงานก็อยากร่ำรวย ถูกหวย ถูกเบอร์ เพราะจิตใจเราสะสมและอุดมไปด้วยกิเลส อวิชชา นั่นคือ "ความหลง"

"สัมมาทิฏฐิ" ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ นับเป็นปฐมเหตุแห่งการเดินตามหนทางอันประเสริฐ นั้นคือ "อริยมรรคมีองค์ ๘"

พุทธศาสนา จึงเน้นการให้ การเสียสละ

พุทธศาสนา จึงเน้นการเว้นจากการทำบาปในเบื้องต้น ๕ ประการ นั่นคือ "ศีล ๕"

พุทธศาสนา จึงเน้นการเจริญภาวนาด้วยการลดอัตตา และตัวตน

พระพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าท่านก็ตั้งจิตอธิษฐานบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น ทั้งอย่างเบื้องต้น เบื้องกลาง และอย่างสูงสุด จนเรียกได้ว่าเป็นการบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ

ทุกอย่างล้วนเกิดต่เหตุ ถ้าเหตุดี ผลก็ย่อมดี

ดังนั้น พุทธเศรษฐศาสตร์จึงเน้นให้เรา "สะสมบารมี" ให้เป็นวิถีธรรมชาติในชีวิตประจำวัน

การปฏิบัติงานก็คือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมก็คือการปฏิบัติงาน ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเราในทุก ๆ อิริยาบถ


การสะสมบารมี จึงเป็นวิถีแห่งพุทธะ 

การสะสมบารมี จึงเป็นหนทางอธิฐานซึ่งสัจจะ

การสะสมบารมี จึงเป็นหนทางแห่งการละซึ่งตัวตน

ถ้าตัวมี ชีวิตนี้ ย่อมแสนทุกข์

จนกระจุก ทุกข์กระจาย ทั่วทุกผอง

ศาสตร์แห่งพุทธ คือทางแก้ เครื่องจำจอง

นั้นคือเงิน ที่ยึดครอง ซึ่งตัวตน

สะสมทุน สะสมดี เสียสละ

ตามวิถี แห่งพุทธะ คือการให้

ยิ่งให้มาก ยิ่งได้มาก คือได้ใจ

จิตสดใส กายยั่งยืน ย่อมสุขจริง


ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ

เราย่อมพบ ความสวยงาม ทั้งชายหญิง

ความสวยแท้ คือการให้ สุขใจจริง

ความสวยยิ่ง เสียสละ ซึ่งอัตตา


อันเงินตรา มีเพียงไว้ เพื่อทรงร่าง

อัตภาพ มีเพียงไว้ เพื่อตั้งมั่น

อุทาหรณ์ มีให้ไว้ เพื่อเตือนกัน

อุดมธรรม มีให้ไว้ เพื่อพันภ้ย

ภัยวัฏฏะ สงสาร เวียนตายเกิด

ทุกกำเนิด ล้วนเป็นทุกข์ ยากสนอง 

เกิดอยากได้ เกิดอยากมี น้ำตานอง

เปลื้องทุกข์ผอง คือปลดอยาก ออกจากใจ

อันความอยาก นำซึ่งทุกข์ มาสู่จิต

เริ่มจากคิด เห็นแก่ตัว และเพื่อนผอง

ครอบครัวฉัน ญาติพี่น้อง ทุกสิ่งปอง

ต่างสนอง เพิ่มบำเรอ กามคุณ


ความพอเพียง คือหนทาง อันประเสริฐ

ศาสตร์อันเลิศ ศาสตร์ของพ่อ ดำริให้

พ่อแนะพ้น ทางพ้นทุกข์ ให้ชาวไทย

ทางสดใส เศรษฐศาสตร์ ที่พอเพียง

เชิญสะสม ความดีเถิด เพื่อมนุษย์

เชิญสร้างสม บารมี นะเพื่อนเอ๋ย

เชิญสรรสร้างค์ มูลค่า อย่าละเลย

เชิญเอื้อนเอ่ย ทุกความดี มีให้กัน

ทุกชีวิต ย่อมต้องพบ มืดสว่าง

มีทางร้าง มีทางแยก ขึ้นลงบ้าง

อุปสรรค อันตราย คือหนทาง

สร้างจิตมั่น สร้างบารมี วิถีธรรม


ธรรมะ ธรรมชาติ อบรมจิต

ธรรมนำจิต ให้เข้มแข็ง ผ่านปัญหา

ธรรมนำกาย ให้ต่อสู้ ด้วยศาสตรา

ธรรมที่แท้ คือปัญญา พุทธรรม

หมายเลขบันทึก: 688385เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2021 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2021 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท