เรียนออนไลน์ ไร้ประสิทธิภาพ..สถานศึกษาหรือศธ.?


ตั้งแต่ประสบวิกฤตการณ์โรค รูปแบบการเรียนการสอนที่ศธ.นำมาใช้แก้ปัญหาหรือเข้ามาทดแทนการเรียนรู้ในชั้นเรียนคือระบบการเรียนออนไลน์ ซึ่งเริ่มทดลองใช้ตั้งแต่วันเปิดภาคเรียน(๑๖ พ.ค. ๒๕๖๓) ครั้นสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเปิดเรียนได้จริง(๑ ก.ค. ๒๕๖๓) การเรียนการสอนจึงกลับไปสู่ชั้นเรียนปกติอีกครั้ง พร้อมกับการเรียนออนไลน์ถูกลดบทบาท จนถึงหลายโรงเลิกใช้

เห็นความเคลื่อนไหวการจัดการศึกษาช่วงบ้านเมืองวิกฤติจากไวรัสโควิด-๑๙ ในยุครัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ที่ไม่ค่อยอยากเป็นเจ้ากระทรวงนี้มาแต่แรกแล้วเศร้าใจ แม้เป็นช่วงเวลายากลำบากที่เราต้องสู้กับความรวดเร็วและความรุนแรงของโรค แต่ถ้าผู้บริหารหรือเจ้ากระทรวงมีฝีมือ รักและมุ่งมั่นในงานของตน การจัดการศึกษาบ้านเราไม่ควรดูสิ้นหวังเช่นนี้

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการคนสำคัญ ระบุว่า"โรคโควิด-๑๙ ระบาดมาแล้ว ๑ ปี เราใช้ระบบการเรียนออนไลน์มาแก้ปัญหาการเรียนการสอน แต่ปรากฏว่าได้ผลเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ในเขตเมือง ส่วนโรงเรียนขนาดกลาง ขนาดเล็กทั้งที่อยู่ในเขตเมืองและชนบทห่างไกลไม่ได้ผล แม้จะใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมหรือดีแอลทีวีก็แทบจะไม่ได้ผล ซึ่งน่าเป็นห่วงมากว่า คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยปีนี้จะถดถอยลงมาก"

การระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ครั้งใหม่ ทำให้โรงเรียนในหลายจังหวัดต้องหยุดเรียน การเรียนออนไลน์ที่ศธ.เคยคุยฟุ้งประกาศถึงความพร้อมตั้งแต่การระบาดรอบแรก ยังตั้งหลักไม่ได้ ปัญหายังคล้ายเมื่อครั้งเริ่มดำเนินการอย่างฉุกละหุก เด็กๆที่ไม่พร้อมหรือขาดโอกาส โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กยังคงถูกทอดทิ้งตกหล่น

ก่อนหน้านี้ ศธ.ประกาศยกเลิกการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต) ในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ และมัธยมศึกษาปีที่ ๓ รวมทั้งการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา(วีเน็ต) ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.๓) แม้เป็นการทดสอบผู้เรียนว่ามีคุณภาพตามหลักสูตรหรือไม่ ขณะเดียวกันที่จะถูกประเมินคุณภาพไปด้วยอย่างไม่อาจปฏิเสธคือประสิทธิผลการจัดการศึกษาของรัฐ

ในภาวะที่โรคกำลังระบาดอย่างรวดเร็ว พบผู้ติดเชื้อใหม่มากมาย ผู้คนมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความวิตกกังวล กลัวทั้งโรคและพิษภัยทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ศธ.จะอธิบายเหตุผลการยกเลิกอย่างไรก็คงไม่มีใครข้องใจเหมือนภาวะปกติ แต่ที่แน่ ๆ การยกเลิกการทดสอบระดับชาติที่สำคัญทั้งสองรายการนี้ เป็นการยอมรับหรือยกธงขาวอย่างเป็นทางการจากศธ.หรือรัฐบาลแล้ว ว่าการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถจะทำให้เด็กๆในชาติบ้านเมืองเกิดความรู้ตามเกณฑ์ขั้นพื้นฐานได้

หากพิจารณาการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาที่เป็นปัญหาถึงกับต้องยกเลิกการทดสอบให้ละเอียดขึ้น พบว่าเรื่องระยะเวลาเปิดปิดภาคเรียนหรือเวลาเรียนไม่น่าใช่สาเหตุ เพราะแม้จะเปิดช้ากว่าปกติ(๑ ก.ค. ๒๕๖๓) แต่ได้ยืดเวลาปิดออกไปแล้ว การเรียนในเทอมถัดมาหรือภาคเรียนปัจจุบันก็ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ที่เป็นปัญหาจริงๆ จึงน่าจะมาจากรูปแบบการจัดการเรียนการสอน

ตั้งแต่ประสบวิกฤตการณ์โรค รูปแบบการเรียนการสอนที่ศธ.นำมาใช้แก้ปัญหาหรือเข้ามาทดแทนการเรียนรู้ในชั้นเรียนคือระบบการเรียนออนไลน์ ซึ่งเริ่มทดลองใช้ตั้งแต่วันเปิดภาคเรียน(๑๖ พ.ค. ๒๕๖๓) ครั้นสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเปิดเรียนได้จริง(๑ ก.ค. ๒๕๖๓) การเรียนการสอนจึงกลับไปสู่ชั้นเรียนปกติอีกครั้ง พร้อมกับการเรียนออนไลน์ถูกลดบทบาท จนถึงหลายโรงเลิกใช้

การจัดเรียนการสอนช่วงไวรัสระบาด ส่วนใหญ่จึงเป็นการจัดการเรียนในชั้นตามปกติ การเรียนออนไลน์ถูกนำมาใช้ทดแทนช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อเกิดการระบาดรอบแรกต้นปีที่แล้วกับเริ่มระบาดครั้งใหม่ต้นปีนี้ แต่กลับกลายเป็นการเรียนการสอนที่เป็นเหตุผลของศธ.ว่าสถานศึกษาไม่สามารถจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากเคยเงื้อง่าจะยกเลิกการสอบระดับชาติมาก่อนหน้านี้ แต่เพิ่งมาตัดสินใจเอาจริงๆเมื่อ ๒๒ ธ.ค. ๒๕๖๓ ซึ่งวันนั้นค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าไวรัสโควิด-๑๙ กลับมาระบาดระลอกใหม่

หมายถึงศธ.ก็รู้เห็นมาก่อนและตระหนักในข้อมูลดี ไม่ต่างจากนักวิชาการ ว่าระบบการเรียนออนไลน์มีปัญหา ไร้ประสิทธิภาพ จนต้องประกาศยกเลิกการทดสอบระดับชาติ ทั้งพื้นฐานและอาชีวศึกษาในเวลาต่อมา ที่น่าเศร้าใจและดูสิ้นหวังก็คือเจ้าของระบบการเรียนออนไลน์ตัวจริงเสียงจริงคือศธ.นั่นเอง ผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะกำหนดนโยบายและวางแผนดำเนินงาน รวมทั้งกำกับ เร่งรัด ติดตาม การดำเนินงานตามแผนและนโยบายที่กำหนดไว้

ทั้งที่มีเวลานานหลายเดือนหรือเกือบปีเลยทีเดียว ในการสะสางความด้อยประสิทธิภาพเหล่านั้น ด้วยการเร่งกำกับ ติดตาม เสนอแนะ และ/หรือสนับสนุนสถานศึกษา ถ้านับจากการเริ่มระบาดของโรค พร้อมๆกับริเริ่มระบบการเรียนออนไลน์ขึ้นมาด้วยตัวเอง เมื่อ ๑๗ มี.ค. ๒๕๖๓

นอกจากนั้น ถ้าว่ากันตามหลักการทำงานของคนทั่วๆไป ไม่ต้องถึงระดับกระทรวงหรือศธ. การประกาศยกเลิกการทดสอบระดับชาติทั้งสองรายการไม่ควรเกิดขึ้น กล่าวคือ “วิธีการไม่ดีก็ควรปรับแก้หรือพัฒนาที่วิธีการ ไม่ใช่วิธีการไม่ดี กลับไปยกเลิกกระบวนการตรวจสอบ” โบราณว่าอย่างนี้เกาไม่ถูกที่คัน แล้วจะหายคันได้อย่างไร

โดยเฉพาะยิ่งพบอุปสรรคปัญหามากมายในการดำเนินงาน ยิ่งควรต้องรู้ว่าการจัดการศึกษาของเรามีประสิทธิผลเพียงใด จากวิธีการที่ยากลำบากของผู้ปฏิบัติหรือสถานศึกษาได้ดำเนินการมาตามลำดับ เพื่อจะมีข้อมูลไว้เรียนรู้หรือปรับปรุงแก้ไขในโอกาสต่อไป

หรือเกรงว่าถ้าปล่อยให้เนิ่นนานไปถึงขั้นนั้น จะไม่ใช่สถานศึกษาอย่างเดียวแล้วที่จะถูกพิพากษาว่าไม่สามารถจัดการเรียนสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะเป็นความไร้ประสิทธิภาพของศธ.เองด้วย ในบทบาทหน้าที่กำกับ เร่งรัด ติดตาม

(พิมพ์ในมติชนรายวัน , 18 กุมภาพันธ์ 2564)

หมายเลขบันทึก: 688361เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2021 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2021 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท