หญ้าแพรก ดอกมะเขือ และเรือน้อย


อ่านให้สนุก และมีความสุขกับการอ่าน

ประเมินค่า เรื่องหญ้าแพรก ดอกมะเขือ และเรือน้อย

ตัวละครที่ปรากฏในเรื่องให้ความสมจริงหรือไม่

      เรื่องหญ้าแพรก ดอกมะเขือ และเรือน้อย เล่มนี้เป็นผลงานของ “ว . วินิจฉัยกุล” ซึ่งท่านได้ถ่ายทอดเรื่องราวการฝึกสอนของนักศึกษาหนุ่มสาวที่มีอุดมการณ์ และต้องเผชิญกับปัญหานานาประการ อย่างเช่น นักเรียนที่เกเรไม่ยอมรับในความสามารถของครูฝึกสอน ไม่ยอมเชื่อฟังในสิ่งที่ครูฝึกสอนถ่ายทอดความรู้ในห้องเรียน แกล้งครูฝึกสอนต่าง ๆ นานา จนบ้างครั้งครูฝึกสอนก็ท้อ ปัญหาของนักเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ครูที่มีอุดมการณ์ต้องต่อสู้ และก็มีปัญหาเรื่องความรัก แต่ในที่สุด ความมานะ ความพยายาม ความอดทนอดกลั้น และความตั้งใจจริงก็ทำให้ครูฝึกสอนประสบความสำเร็จที่สามารถทำให้เด็กนักเรียนยอมรับ และเชื่อฟังในสิ่งที่ครูสอน และทำให้ครูกับนักเรียนได้รับรู้และมีประสบการณ์ที่ดีร่วมกัน นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งที่แต่งขึ้นเพื่อสะท้อนสังคมเล็ก ๆ ในมหาวิทยาลัยและโรงเรียน ซึ่งสะท้อนให้เห็นในด้านชีวิตที่ครูฝึกสอนทุกคนต้องเผชิญในยามที่ออกฝึกสอน เรื่องนี้ให้ความรู้และให้ความรู้สึกอบอุ่นกับผู้ที่อ่าน โดยเฉพาะคนที่ในอนาคตข้างหน้าจะไปเป็นครู

ตัวละครบัวบรรณ

          ตัวละครเอกตัวแรกที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องหรืออาจกล่าวได้ว่า ตัวละครตัวนี้มีบทบาทในการดำเนินเรื่องตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งเป็นตัวละครที่มีอุดมการณ์ที่จะเรียนครู และไปเป็นครูที่ดีในอนาคต และเธอก็เป็นตัวละครหญิงที่มีความเข้มแข็ง อดทด อย่างมากในการฝึกประสบการณ์ จนในที่สุดทำให้เธอประสบความสำเร็จในการก้าวผ่านปัญหาที่ถือว่าหนักสำหรับครูฝึกประสบการณ์ เธอชื่อว่า “บัวบรรณ” ตัวละครนี้จะดำเนินเรื่องมาตั้งแต่เริ่มเรื่อง ซึ่งจะกล่าวถึงนักศึกษาครูที่กำลังเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย จะกล่าวถึงการเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ในระหว่างการเป็นนักศึกษา ซึ่งช่วงที่ตัวละครเป็นนักศึกษานี้ก็เป็นช่วงเวลาที่การดำเนินเรื่องของตัวละครสมจริง แต่จะมีในบางตอนที่ไม่สมจริงบ้าง อย่างเช่นตอนรถพี่บู๊ตเฉี่ยวชนบัวบรรณในตอนนี้จะไม่สมจริงเท่าไหร่ เพราะเหตุการณ์ที่คนเราเดินนั้นก็ต้องระวังรถอยู่แล้ว และเป็นไปไม่ได้เลยที่บัวบรรณจะไม่ได้ยินเสียงรถเพราะเสียงรถดังมาก หรือจะเป็นในตอนผู้กองนนท์มาส่งบัวบรรณในที่มหาวิทยาลัยแล้วไปเจอพี่บู๊ทที่ร้านอาหารในตอนนี้มันดูบังเอิญมากเกินไปที่พี่บู๊ทจะมาพบบัวบรรณในยามมีปัญหาตลอด

          ชีวิตบัวบรรณที่เรียนผ่านมา จนมาถึงวันฝึกประสบการณ์ เธอได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต หรือการที่จะต้องปรับตัวเข้ากับใครหลาย ๆ คน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่เธอผ่านมาล้วนเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่เธอสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ บัวบรรณได้ฝึกประสบการณ์ที่โรงเรียนสาธิต ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ไม่มีใครอยากไปฝึกสอน เพราะได้ยินสิ่งที่พี่ ๆ เล่าสู่กันมาว่าคนที่ไปโรงเรียนนี้จะต้องร้องไห้ลาออกกันทุกคน แต่ในที่สุดบัวบรรณ และเพื่อนอีกสองคน คือ มนต์กับแตงกวา ก็ได้ฝึกระสบการณ์ที่โรงเรียนสาธิตด้วยกัน ในตอนที่ทั้งสามคนฝึกประสบการณ์ในวันแรก ทุกคนก็เจอปัญหาต่าง ๆ เช่น หอมไกลและฟ้าแลบกับกลุ่มเพื่อนอีกสองสามคนไม่ยอมเข้าห้องเรียน นี้ถือว่าเป็นปัญหาแรกที่บัวบรรณต้องเผชิญ เมื่อเวลาผ่านไปเธอก็สามารถทำให้เด็กนักเรียนกลุ่มนี้ก็เข้าเรียน จนในที่สุดก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ฟ้าแลบกับหอมไกลยอมรับคุณครูทั้งสามคน คือตอนที่ครูมนต์สอนหอมไกลรำ และตอนที่แตงกวาสอนฟ้าแลบพูดในงานของโรงเรียนสิ่งนี้ทำให้เด็กทั้งสองคนเปิดใจและยอมรับครู ในตอนนี้ที่ทั้งสามคนได้ฝึกประสบการณ์ ทุกเหตุการณ์มีความสมจริงไม่ว่าจะเป็นในตอนที่ครูฝึกประสบการณ์เข้าไปใหม่ ๆ เด็ก ๆ ก็จะไม่นับถือ แต่เมื่อครูพยายามในที่สุดเด็กก็จะยอมรับนับถือ

ตัวละครพี่บู๊ต

          ตัวละครพี่บู๊ทจะเป็นตัวละครเอกอีกตัวหนึ่งที่มีบทบาทตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครตัวนี้ผู้เขียนสร้างขึ้นเพื่อที่จะทำให้เรื่องดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยที่สอดแทรกเรื่องความรักเข้าไป แต่ในเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับเรื่องความรักจะเห็นได้ว่ามีเกือบตลอดทั้งเรื่อง ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้อ่านที่รับสารที่สื่อออกมาทำให้ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องความรักมีมากจนเกินไป ทำให้ความรักเด่นกว่าอุดมการณ์ของครู แต่ตัวละครพี่บู๊ตก็ถือได้ว่าเป็นตัวละครที่มีบทบาทและคอยแก้ปัญหาช่วยบัวบรรณตลอด แต่ในบ้างครั้งตัวละครตัวนี้ก็ไม่สมจริงสักเท่าไหร่ เพราะผู้เขียนสร้างความบังเอิญให้ตัวละครตัวนี้มากเกินไป

ตัวละครหอมไกลและฟ้าแลบ

           ตัวละครหอมไกล จะเป็นเด็กที่เก่งมาก และเก่งในเกือบทุกด้าน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เธอไม่ค่อยที่จะเชื่อฟังครูฝึกประสบการณ์ เพราะเธอคิดว่าครูฝึกประสบการณ์ไม่ใช่ครูจริง ๆ และไม่มีความรู้มากพอที่จะสอนพวกเธอได้ เธอจึงทำทุกวิธีที่จะทำให้ครูบัวบรรณ ครูมนต์ ครูแตงกวา อดทนอยู่ในโรงเรียนของเธอไม่ได้ ครูบัวบรรณจึงได้ถามพี่บู๊ตว่าหอมไกลไม่ถนัดในด้านใด จึงได้ข้อมูลว่าหอมไกลอยากรำแต่รำไม่เป็น บัวบรรณจึงนำสิ่งที่หอมไกลไม่ถนัดมาให้ครูมนต์เป็นผู้รับผิดชอบในการซ้อมรำให้หอมไกล และในที่สุดครูมนต์ก็ทำให้เธอรำออกมาได้อย่างสวยงาม จนหอมไกลก้าวผ่านการไม่กล้ารำไปได้จึงทำให้เธอยอมรับและนับถือครู ตัวละครหอมไกลตลอดทั้งเรื่องมีความสมจริง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์แกล้งครู ซึ่งในวัยเด็กข้าพเจ้าเชื่อว่าคนที่เก่งอยู่แล้วจะไม่ยอมฟังครูสักเท่าไหร่

          ตัวละครฟ้าแลบ เป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งที่เป็นเด็กเรียนเก่ง ฟ้าแลบจะเชื่อฟังหองไกลในทุก ๆ เรื่องเขาจึงเป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านครูบัวบรรณ ครูมนต์ และครูแตงกวา แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัวละครฟ้าแลบยอมรับครูทั้งสามคนนี้เป็นเพราะ ครูบัวบรรณได้หาจุดด้อยของฟ้าแลบเจอ และช่วยทำให้ฟ้าแลบสามารถข้ามผ่านอุปสรรคหรือความกลัวที่จะพูดบนเวทีหรือพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ จนในที่สุดฟ้าแลบก็ยอมรับนับถือในความพยายามและความอดทนที่ครูทุกคนทุ่มเทเพื่อเขา ตัวละครฟ้าแลบเป็นตัวละครที่สำคัญตัวหนึ่งและมีความสมจริงในการดำเนินเรื่องราวในแต่ละเหตุการณ์

ตัวละครมนต์และแตงกวา

          มนต์กับแตงกวามีบทบาทในการดำเนินเรื่องที่สมจริงตั้งแต่ต้นเรื่อง เพราะตัวละครสองตัวนี้เป็นเพื่อนที่เรียนด้วยกันกับบัวบรรณในมหาวิทยาลัย ซึ่งคอยช่วยเหลือกันมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย จนไปถึงการณ์ออกไปฝึกประสบการณ์ ทั้งสามคนก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน และช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการออกฝึกสอน ซึ่งทำให้ตัวละครสามตัวที่มีอุดมการณ์คล้ายกันได้ทำตามอุดมการณ์ของตนเอง และพัฒนาเด็กให้มีพัฒนาการมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ทั้งสามคนได้ทุ่มเทในการฝึกประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้ ได้เห็นว่าทุกคนมีจิตวิญญาณในการเป็นครูที่แท้จริง และข้าพเจ้าเชื่อว่าหากมีครูเช่นนี้ เด็กก็จะมีการพัฒนาและก้าวหน้าเท่าทันกับยุคสมัย

หมายเลขบันทึก: 688354เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2021 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2021 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท