บึงหญ้าป่าใหญ่ : มิตรภาพของหัวใจชายหนุ่ม (ตอนที่ 2)


ไม่ร้องไห้อีกนะ

(ต่อ)

ตัวละคร

       ตัวละครสำคัญที่ปรากฏในเรื่องบึงหญ้าป่าใหญ่คือ ผมและโทน โดยตัวละครเอกของเรื่องนั้นคือ โทน ที่ผู้แต่งเล่าผ่านผมเป็นผู้ดำเนินเรื่อง 

       โทน เป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นศูนย์กลางของเรื่องทั้งหมด ปมขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่องส่วนใหญ่เป็นปมที่มาจากตัวละครโทนนี้ โทนนับได้ว่าเป็นตัวละครหลายลักษณะ คือผู้แต่งได้ให้ลักษณะของโทนมีทั้งด้านดีและไม่ดีปะปนกันไป ทำให้ตัวละครของโทนมีความสมจริงมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าโทนจะถูกสังคมมองว่าเป็นเด็กเกเร แต่แท้จริงแล้วนั้นโทนเป็นเพียงเด็กคนหนึ่งที่มีจิตใจดีไม่น้อยไปกลัวคนอื่น ๆ ลักษณะที่ผู้แต่งสร้างตัวละครของโทนมานั้น ถึงแม้ว่าโทนจะดูเป็นเด็กที่กล้าได้กล้าเสีย ก้าวร้าว ดูเป็นหัวหน้าที่พาผู้อื่นทำตามในทางที่ไม่ดี แต่แท้จริงโทนนั้นกลับเป็นคนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อ คอยหาของกินมาให้เด็กที่ยากจน ช่วยเหลือคนอื่น ๆ รวมถึงตัวละครผมอยู่เสมอ 

       อาจกล่าวได้ว่าลักษณะนิสัยของโทนนั้น อาจเกิดจากภูมิหลังที่โทนเป็นเด็กกำพร้าพ่อแม่ ขาดการได้รับการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน ทำให้โทนต้องรู้จักวิธีการเอาตัวรอด ถึงชะตาที่ชีวิตของโทนจะโหดร้าย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ตัวละครโทนนั้นโหดร้ายไปตามชะตาชีวิตที่พบเจอมา

       และสิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องของโทนคือ การตั้งชื่อ ชื่อของโทนมีความน่าสนใจตรงที่ว่า เมื่อหาความหมายของคำว่าโทนในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ มีความหมายว่า “มีจำเพาะหนึ่งเท่านั้น, ใช้แก่สิ่งที่ตามปรกติควรจะมีมากกว่าหนึ่ง แต่มีเพียงหนึ่งเท่านั้น” อาจหมายความได้ว่าอยู่เพียงลำพัง หรืออยู่เพียงคนเดียว เมื่อพิจารณาถึงภูมิหลังของโทนที่ต้องอาศัยอยู่คนเดียวแล้วนั้น จึงทำให้เรื่องการตั้งชื่อตัวละครของผู้แต่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

       ผม อีกหนึ่งตัวละครสำคัญของเรื่องที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดำเนินเรื่องนี้ ผู้แต่งได้ใช้สรรพนามบุรุษที่ ๑ คือ ‘ผม’ ในการเอ่ยถึงตัวละคร ทำให้ผู้อ่านไม่สามารถทราบได้ว่าตัวละครนี้แท้จริงแล้วมีชื่ออย่างไร 

       หากลองตั้งข้อสังเกตถึงการที่ผู้แต่งใช้สรรพนามบุรุษที่ ๑ ในการดำเนินเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย เพราะผู้แต่งอาจจะกำลังจินตนาการว่าตนเองนั้นเป็นตัวละครนี้อยู่ หรือผู้แต่งอาจจะตั้งใจให้ผู้อ่านรู้สึกได้ว่าตนเองกำลังเป็นตัวละครสำคัญของเรื่องที่กำลังดำเนินเรื่องไปเรื่อย ๆ 

       ตัวละครผมนั้น เป็นตัวละครหลายลักษณะเช่นเดียวกันกับโทน คือ เริ่มต้นผมเป็นเด็กที่เรียบร้อย เชื่อฟังพ่อแม่ ผู้ใหญ่อยู่เสมอ ทำให้ผมนั้นไม่กล้าที่จะยุ่งเกี่ยวและเชื่อว่าโทนนั้นเป็นเด็กไม่ดี แต่เมื่อผมได้รู้จักกับโทนทำให้ผมได้รู้ว่าแท้จริงแล้วโทนไม่ใช่เด็กเกเรอย่างที่ใคร ๆ ต่างกล่าวหา การที่ผมได้สนิทกับโทนทำให้ผมได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยลอง กล้าที่จะตัดสินใจทำอะไรด้วยตนเองมากขึ้น

       อาจกล่าวได้ว่าลักษณะนิสัยของผมนั้น อาจเกิดจากภูมิหลังตัวละครที่ครอบครัววางกฎเกณฑ์เอาไว้ให้ ทำให้ผมไม่กล้าที่จะเดินออกจากกรอบที่ผู้ใหญ่เป็นคนสร้างขึ้นมา ทำให้ผมอยู่ในธรรมเนียมที่ดีงามมาโดยตลอด แต่เมื่อผมได้รู้จักกับโทน ทำให้ผมกล้าที่จะลองคิดลองทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น และลองที่จะเสี่ยงทำในสิ่งที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์

       จะเห็นได้ว่าลักษณะของตัวละครสำคัญในเรื่องมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในหลาย ๆ ด้าน ผู้แต่งได้ใช้ความแตกต่างกันของตัวละครทำให้เนื้อเรื่องมีความสนุก เพราะตัวละครทั้งสองจะช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกันในสิ่งที่อีกคนขาด เกิดเป็นสายใยแห่งมิตรภาพที่สวยงามขึ้นมา นับว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียนที่ช่วยให้เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

       นอกจากตัวละครสำคัญในเรื่อง ยังมีตัวละครประกอบที่เข้ามามีบทบาทกับตัวละครหลักทั้งสองคนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเพื่อน เช่น เขียด บูด โหนก กีด แห้ง คุณครูลูกจันทน์ ยายแม้น ยายปิ่น ปู่บึง เป็นต้น ซึ่งตัวละครเหล่านี้มีส่วนสนับสนุนในการเข้ามาสร้างปมปัญหา เหตุการณ์ต่าง ๆ ให้เรื่องมีความเข้มข้น น่าสนใจ น่าติดตาม และยังช่วยให้การดำเนินเรื่องของตัวละครหลักมีความสมเหตุสมผลอีกด้วย

แนวคิดหรือแก่นของเรื่อง

       แนวคิดหรือแก่นของเรื่อง คือ ทรรศนะของผู้แต่งที่ต้องการถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รับรู้ ซึ่งแนวคิดหลักของเรื่องนี้ก็คือ มิตรภาพ ที่เกิดขึ้นระหว่างตัวละครเด็กผู้ชายสองคนที่ร่วมผจญภัยไปด้วยกัน แม้ว่าตอนแรกผู้แต่งจะวางตัวละครของทั้งสองมีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ทว่าเรื่องราวกลับทำให้ทั้งสองเข้าใจซึ่งกันมากยิ่งขึ้น เกิดเป็นมิตรภาพของเพื่อนที่สวยงาม ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้ว กาลเวลาจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไป แต่มิตรภาพของทั้งสองก็ยังคงอยู่ไปกับตัวละครของผมและโทนเสมอ

       นอกจากแนวคิดหลักของเรื่องที่กล่าวถึงมิตรภาพระหว่างเพื่อนแล้ว ยังมีแนวคิดอื่น ๆ ที่น่าสนใจคือ การศึกษาของคนไทยในสมัยก่อน เนื่องจากเนื้อเรื่องเป็นการดำเนินเรื่องของตัวละครเด็กที่กำลังเข้าเรียนหนังสือ ทำให้มีการกล่าวถึงการศึกษาภายในเรื่องอยู่มาก การศึกษาในสมัยก่อนนั้นจะเห็นได้ว่าวัดคือสถานที่สำคัญในการศึกษาเล่าเรียน แต่การศึกษาในสมัยก่อนไม่ได้เข้าถึงทุกคนอย่างปัจจุบัน ด้วยค่าใช้จ่ายกับรายรับที่ไม่สอดคล้องกัน เพราะส่วนใหญ่ประชาชนจะประกอบอาชีพทำไร่ทำนา ทำให้คนที่ได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาจึงเป็นลูกหลานของคนมีฐานะหรือประกอบอาชีพรับราชการเป็นส่วนใหญ่ 

       และแนวคิดที่ว่า อย่ามองคนที่ภายนอก ยังแฝงอยู่ในเรื่องนี้อีกด้วย เพราะจากตัวละครที่ถูกคนตัดสินว่าเป็นเด็กเกเร นิสัยไม่ดี เพียงเพราะจากลักษณะภายนอก เพราะที่จริงแล้วโทนเป็นเพียงเด็กคนหนึ่งที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว สู้กับชีวิตที่ยากลำบาก แต่เพียงเพราะคำตัดสินจากคนที่ไม่ได้รู้จักกับตัวโทนจริง ๆ จึงทำให้คนอื่น ๆ เชื่อไปตาม ๆ กัน สอดคล้องกับยุคสมัยในปัจจุบันเป็นอย่างที่คนเรามักจะตัดสินคนจากเพียงแค่การแต่งตัวหรือลักษณะภายนอก แล้วนำมาพูดต่อ ๆ กัน โดยไม่ได้ศึกษาหรือรู้จักกันอย่างแท้จริงเสียก่อน ทำให้เกิดเป็นกระแส Bullying ตามมาในสังคม

       วิถีชีวิตของชาวบ้าน เป็นอีกแนวคิดที่แฝงอยู่ในตลอดทั้งเรื่องไม่ว่าจะเป็นการถนอมอาหาร วิธีการทำข้าวเกรียบว่าว การทำเรือ ซึ่งในปัจจุบันเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามา ภูมิปัญญาของชาวบ้านก็เริ่มจางหายไป รวมไปถึงความเชื่อเรื่องบุญบาป ทำดีขึ้นสวรรค์ทำชั่วตกนรก ที่ถูกปลูกฝังมากับคนไทยโดยตลอด ซึ่งเป็นความเชื่อทางศาสนาที่ช่วยหล่อหลอมให้คนหมั่นทำความดี เกื้อหนุนซึ่งกันและกันมากกว่าที่จะทำความชั่ว เบียดเบียนกันไป

       แนวคิดหรือแก่นของเรื่องหลักนั้น เป็นตัวที่ทำให้เรื่องดำเนินไปตลอดทั้งเรื่องจนจบ และในระหว่างดำเนินเรื่องนั้น ยังมีแนวคิดอื่น ๆ เข้ามาแฝงอยู่ตลอด ช่วยให้เนื้อเรื่องมีความสมเหตุสมผล และสมจริงตามสภาพสังคมนั่นเอง

บทสนทนา

       บทสนทนาในเรื่องมีส่วนสำคัญในการดำเนินเรื่องอย่างยิ่ง เพราะมีการดำเนินเรื่องโดยการใช้บทสนทนาอยู่ตลอดทั้งเรื่อง เพื่อไม่ให้ผู้อ่านรู้สึกเบื่อหน่อยกับข้อความบรรยายยาว ๆ จนเกินไป และบทสนทนายังช่วยให้เรื่องดำเนินไปอย่างเข้มข้นมายิ่งขึ้น

       บทสนทนาในตอนก้อนไฟกับเงาฉายมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะในตอนนี้มีการดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนาเป็นหลักระหว่างตัวละครโทนและเพื่อน ๆ ที่ล้อมวงฟังเรื่องเล่าจากโทน ซึ่งบทสนทนาในตอนนี้ยังช่วยให้ผู้อ่านได้จินตนาการตามคำพูดของตัวละครได้เป็นอย่างดี เช่น “งั้นผมคนเราก็เป็นกลางคืนสิโทน” เด็กชั้น ๒ ถาม “ใช่ แต่พอแก่แล้ว ผมก็จะค่อย ๆ กลายเป็นกลางวัน” (น.๖๘) จากข้อความคือ เพราะกลางคืนมืดสนิท โทนจึงใช้จินตนาการของตนให้ที่ที่มีสีดำ หรือมืดเป็นกลางคืน อย่างเช่นผมของคนเราที่มีสีดำ แต่เมื่อชราผมก็จะกลายเป็นสีขาวที่เรียกกันว่าผมหงอก ที่โทนเรียกว่าเป็นกลางวันนั้นเพราะกลางวันเต็มไปด้วยแสงสว่าง สีขาวสดใส ทำให้โทนแทนผมหงอกของคนแก่เป็นกลางวัน ซึ่งบทสนทนาในตอนนี้จึงเหมาะกับเด็ก ๆ ในวัยที่กำลังมีความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก 

       นอกจากนี้บทสนทนายังบอกถึงลักษณะตัวละครอีกด้วย เช่น “แม่จ๋า บ้านเราอยู่ใต้วัดใช่ไหมจ๊ะ” (น.๑๘) ซึ่งบทสนทนานี้เป็นของผมที่กำลังพูดกับแม่ แสดงให้เห็นถึงความน่ารัก อ่อนน้อม พูดจาไพเราะของผม สื่อไปถึงการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ ซึ่งบทสนทนาถัดไปก็ช่วยสนับสนุนข้อความข้างต้นถึงการเลี้ยงดูผมนี้ว่า “ก็แม่คนสวยเขาอยากได้ลูกคนแรกเป็นลูกสาวไง ดันเกิดมาเป็นลูกชายเสียนี่” (น.๑๙) ซึ่งมาช่วยสนับสนุนลักษณะนิสัยของผมจากบทสนทนาได้เป็นอย่างดี

       แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยระหว่างผมกับโทนที่เกิดจากมิตรภาพของคนทั้งสอง เช่น “ไม่ร้องไห้อีกนะ” (น.๒๙๖) เป็นคำพูดของโทนที่พูดกับผมก่อนที่ทั้งคู่จะแยกจากกัน แสดงให้เห็นถึงความห่วงใย ความปลอบโยนระหว่างเพื่อนที่จะต้องห่างกัน ซึ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกไปกับตัวละครได้เป็นอย่างมาก ถึงแม้จะเป็นเพียงประโยคสั้น ๆ นี้

       จะเห็นได้ว่าบทสนทนามีความสำคัญต่อการดำเนินเรื่องเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่ทำให้เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจแล้ว ยังทำให้เนื้อเรื่องมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะบทสนทนาเป็นส่วนช่วยในการนำไปสู่เหตุการณ์ ปมปัญหา การคลี่คลายปมต่าง ๆ และยังช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจถึงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครยิ่งขึ้น

ฉากและบรรยากาศ

       ฉากที่สำคัญในเรื่อง คือ บึงหญ้าใหญ่ ผู้แต่งได้มีการใช้สถานที่แห่งนี้ในการเปิดเรื่องและดำเนินเรื่อง ตลอดจนการปิดเรื่อง เพราะบึงหญ้าใหญ่เป็นแหล่งน้ำที่อยู่มากับชุมชนแห่งนี้ โดยบึงน้ำแห่งนี้เปรียบเสมือนบ้านที่โทนอยู่อาศัย ผู้แต่งได้มีการเปิดเรื่องโดยที่ตัวละครพูดถึงบึงหญ้าใหญ่ “โอ๋ บึงหญ้าใหญ่ น้ำไปอยู่ที่นั่นทำไมแม่จ๋า มันอยากให้ปลาโตหรือ” (น.๑๖) และฉากบึงหญ้าใหญ่ยังเป็นฉากที่คลายปมปัญหาที่สำคัญของเรื่อง เมื่อเรื่องดำเนินไปถึงการปิดเรื่องผู้แต่งได้ใช้ฉากของบึงหญ้าใหญ่ในการจบ คือฉากที่ผมกลับมาโทนที่บึงหญ้าใหญ่อีกครั้ง และที่สำคัญบึงหญ้าใหญ่ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อเรื่องคือ บึงหญ้าป่าใหญ่ อีกด้วย

       ส่วนบรรยากาศภายในเรื่องจะเน้นไปที่ธรรมชาติ เพราะฉากหลังของบึงหญ้าป่าใหญ่นั้นส่วนใหญ่เป็นฉากที่เกี่ยวของกับธรรมชาติ บรรยากาศจึงเน้นไปทางธรรมชาติเสียส่วนใหญ่ เช่น “ต่อมาไม่นาน ฟ้าร้องครืน ๆ เมฆสูงขึ้น แล้วไม่ตกลงมา ฝนสั่งฟ้า สั่งปูสั่งปลาให้ลงที่ลึก ฤดูฝนจะผ่านไปแล้ว ลมหวนก็เริ่มพัด เป็นลมกระปรี้กระเปร่า” (น.๗๙) เป็นการบรรยายบรรยากาศก่อนที่ฝนจะตก เป็นต้น

       จะเห็นได้ว่าฉากและบรรยากาศนั้น มีความมสอดคล้องกันกับโครงเรื่อง เพราะบึงหญ้าป่าใหญ่เป็นเรื่องราวที่ดำเนินโดยเด็ก ๆ ในชนบท ซึ่งความเป็นชนบทนี้จะมีความใกล้ชิดกับธรรมชาติเป็นอย่างมาก ทำให้ฉากและบรรยากาศมีความสมเหตุสมผล

       เมื่อพิจารณาตามองค์ประกอบของงานเขียนประเภทบันเทิงคดีแล้วนั้น ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกคือ การตั้งชื่อตอน จะสังเกตได้ว่าชื่อทั้ง ๑๗ ตอนในเรื่องมีความสอดคล้องกับเรื่องเป็นอย่างมาก เช่น คดีขว้างแมว ภายในตอนจะเป็นการเล่าถึงเหตุการณ์ที่โทนและกลุ่มของเพื่อนของโทนกำลังช่วยแมวที่ปีนอยู่บนต้นไม้ แต่ครูจันทน์เข้าใจผิดว่าเด็ก ๆ กำลังจะทำร้ายลูกแมวจึงทำการลงโทษ แต่เมื่อเด็ก ๆ คนอื่น ๆ ก็มาช่วยยืนยันกับคุณครูว่าพวกเขากำลังช่วยแมวจริง ๆ คุณครูจึงยอมปล่อยเด็ก ๆ ไป หรือตอน แข่งกีฬา ที่เป็นเรื่องราวของการจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างโรงเรียน ซึ่งผมได้เป็นตัวแทนในการแข่งวิ่งผลัด แต่เขาดันแพ้จึงถูกเพื่อนเยาะเย้ย ซึ่งเกิดเป็นเหตุการณ์อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่นำไปสู่ตัวละครผมกับโทนให้ได้รู้จักกันมากยิ่งขึ้น

       ไม่เพียงแต่ ๒ ตอนที่ยกตัวอย่างมาเท่านั้น แต่อีก ๑๕ ตอนที่เหลือยังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น วันแรก ไอ้หมาบ้า สวนสัตว์ คดีตีมิ้น เยือนถิ่น เป็นต้น

       วรรณกรรมเรื่อง บึงหญ้าป่าใหญ่ นับว่าเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าอีกเรื่องหนึ่ง เหมาะสมแก่การสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้อ่าน เพราะไม่เพียงแต่เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับเด็กแล้ว แต่ภายในเรื่องยังชวยให้เด็กได้ลองจินตนาการไปตามเรื่อง เป็นการเสริมสร้างทักษะทางการคิดได้อย่างดี และไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้น วรรณกรรมเรื่องบึงหญ้าป่าใหญ่นี้ ยังเหมาะกับผู้ใหญ่ที่เคยใช้ชีวิตวัยเด็กในชนบทได้รำลึกนึกถึงความหลังครั้งยังวัยเยาว์อีกด้วย จึงเหมาะสมกับการได้รับการยกย่องให้เป็น ๑ ในหนังสือ ๑๐๐ เล่มที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน และไม่เพียงแต่ให้คุณค่าแก่ผู้อ่านแล้วนั้น ยังช่วยให้ผู้อ่านจรรโลงใจไปกับบันเทิงคดีเรื่องนี้อีกด้วย

- จบ -

หมายเลขบันทึก: 688358เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2021 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2021 23:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท