ชีวิตที่พอเพียง 3867. ศาสตร์แห่งการใช้พลังไร้ระเบียบ



ผมเขียนเรื่อง chaos, chaordic, complex-adaptive systems ไว้มากมาย ที่ (๑) รวมทั้งใช้ประโยชน์วิธีคิดและวิธีทำงานภายใต้หลักการของ complexity ในชีวิตของตนเอง    ได้ทั้งประโยชน์ต่องาน และได้รสชาติความสนุกในชีวิต   

บัดนี้พบเว็บไซต์ของ Human Systems Dynamics Institute    ที่บอกว่า เขาจะช่วยให้เราเห็นแบบแผน (complexity) ในความซับซ้อน (complexity)    โดยให้บริการ Adaptive Action Labs     ที่ผมมองว่าน่าสนใจคือ    เป็น working lab  ไม่ใช่ training lab    ซึ่งหมายความว่า เขาเน้นการเรียนรู้โดยการปฏิบัตินั่นเอง    ตรงกับชื่อ Action Lab  

ย้ำว่า การเรียนรู้ที่มีพลังและเรียนรู้ลึกและเชื่อมโยงได้จากการปฏิบัติ    ไม่ใช่จากการฟัง(และดู)     และ Adaptive Action Labs บอกว่า ผู้เข้ากิจกรรมของเขา   จะกลับบ้านด้วยผลประโยชน์ ๒ ประการคือ    ได้มุมมองใหม่  กับได้แผนปฏิบัติใหม่   

ผมเข้าเว็บไซต์นี้เมื่อเช้าวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ พบว่า adaptive action lab  ต่อไปเป็นเรื่อง Inquiry is the answer : Covid 19   เป็นบริการออนไลน์ฟรี    อ่านแล้วตีความว่า เขาเอาแว่นความไม่แน่นอนเข้าไปส่องเรื่อง โควิด ๑๙    โดยใช้เครื่องมือ inquiry   ที่ผมคิดว่าคำตอบไม่น่าจะเกิดขึ้นใน HSD Lab   แต่ผู้เข้าร่วมน่าจะได้มุมมองใหม่ ได้วิธีการใหม่    สำหรับใช้ในชีวิตจริง    ซึ่งคำตอบจะค่อยๆ โผล่ออกมาในตอนปฏิบัติจริง ในชีวิตจริง สถานการณ์จริง     ผมลองสมัครดู ก็ได้ความว่า สอนตอน 10.00 – 10.20 CST ซึ่งตรงกับ ๒๓ น. ทุกวันในวันจันทร์ถึงศุกร์   ซึ่งไม่เหมาะสำหรับผม    

ผมจึงเป็นนักเรียนเกเร ที่ลงทะเบียนแล้วไม่เข้าเรียน    แต่เช้าวันที่ ๑๒ เมื่อเข้าอีเมล์ ก็พบอีเมล์ส่งบันทึกของเมื่อคืนมาให้ จาก HSDI    ดูได้ที่ (๓)    จะเห็นว่า เขาบอกว่า คนเราประสบความสำเร็จได้เพราะมองเห็น pattern ชัดเจน   พยายามทำความเข้าใจมัน   และดำเนินการอย่างกล้าหาญ เพื่อเปลี่ยนความปั่นป่วนผันผวนและความไม่แน่นอน ให้กลายเป็นความเป็นไปได้    เขามีวิทยากรกล่าวนำสองสามนาที    ตามด้วยช่วงระดมความคิดในกลุ่มผู้เข้าร่วม    เริ่มจากมีคนตั้งโจทย์ปัญหาที่ตนประสบ    ผมจึงได้เห็นกระบวนการตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่ pattern ที่โผล่ขึ้นมา (ตามชื่อของ session : Inquiry IS the answer : Taming wicked issue)    ได้เห็นวิธี facilitate โดย Glenda Eoyang    ระดมความคิดราวๆ ๑๐ นาที    ก็ให้ผู้ตั้งคำถามบอกว่าตนได้แนวคิดอะไร    ตามด้วยช่วง reflection ของสมาชิกกลุ่ม    ซึ่งเป็นช่วงที่สนุกที่สุด    โดยเฉพาะเมื่อมีคนบอกว่า ในการมองปัญหาหรือสถานการณ์ เทคนิก zoom in and zoom out  เพื่อให้มองเห็นทั้งส่วนที่เป็นความสำเร็จ   และส่วนที่เป็นความสำเร็จ    เพื่อเรียนรู้จากทั้งสองสถานการณ์สู่สภาพ high performance    การเรียนนี้ใช้เวลาเพียง ๓๐ นาที    และผู้เข้าเรียนได้เรียนรู้มากทีเดียว 

การใช้พลังไร้ระเบียบต้องใช้ในลักษณะเดียวกันกับการต่อยมวย    คือต้องใช้ตามสถานการณ์จริงในขณะนั้น    ถึงแม้จะมีกลยุทธหรือแผน แต่ตอนปฏิบัติการจริงต้องดูคู่ต่อสู้    ว่ามาไม้ไหน และต้องออกอาวุธ หรือป้องกัน ให้เหมาะต่อแต่ละวินาทีนั้น    นั่นคือการอยู่กับความเป็นจริงอย่างยืดหยุ่น  

มีอีกรายการหนึ่งคือ Patterns of Facilitation : Leading Groups through Complex Decision Making (๒)    เป็น online course วันที่ ๒๐ กับ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๔  เวลา 12 pm – 3 pm CDT  ซึ่งตรงกับตี ๑ ในประเทศไทย    ไม่สะดวกอย่างยิ่งสำหรับคนแก่อย่างผม    ราคาก็ไม่เบา $ 300

อ่านจากเว็บไซต์ (๒)    เขาบอกว่า ผู้เข้า course จะได้เรียนรู้วิธี facilitate ให้เกิด  collaboration, conversation และ connection ในท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ในหลากหลายด้าน ของผู้คนที่เกี่ยวข้อง      

ค้นไปเรื่อยๆ พบหนังสือ Facilitating Organizational Change (2001)   ที่มีคนแนะนำไว้ที่ (๔)    เป็นหนังสือว่าด้วยการใช้ศาสตร์แห่งความไร้ระเบียบในการเปลี่ยนแปลงองค์กร    ที่พลังของการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ระดับจิ๋ว (micro level)   อยู่ที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ

เป็นการ facilitate ให้เกิด self-organization สู่ transformation    ที่เขาบอกว่า มีปัจจัยสำคัญ ๓ ประการคือ container (ผมตีความว่า หมายถึงระบบนิเวศ), significant difference, และ transforming exchanges   

ผมจึงตีความว่า กระบวนกรทำหน้าที่ใช้พลังของความไร้ระเบียบ  ผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ยู่ในระบบ    สู่ภพภูมิใหม่ของงานหรือขององค์กร    ผ่านการทำ ๓ สิ่งให้ชัดเจนร่วมกันคือ  (๑) เป้าหมายที่ทรงคุณค่า ที่ทุกคนยึดถือร่วมกัน  (๒) ความแตกต่าง ไม่เห็นพ้อง ความเชื่อ วิธีการที่ยึดถือ ฯลฯ   และ (๓) เลือกแนวทางร่วมกันดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายตาม (๑)     แล้วทำงานร่วมกันผ่านกระบวนการ PDCA   เป็นวงจรยกระดับผลลัพธ์  ยกระดับความเป็นทีมที่เข้มแข็ง  และยกระดับการเรียนรู้

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ธ.ค. ๖๓      


      

หมายเลขบันทึก: 688272เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2021 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2021 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท