ชุดเครื่องแบบ“ของแสลง”นักเรียนเลว..ความเหลื่อมล้ำ?


“คนรวยย่อมไม่รู้รสชาติความจน คนจนย่อมไม่รู้รสชาติความรวย” หากสนใจศึกษาจากตำราหรือคำบอกเล่าอาจเพียงเข้าใจ แต่ความรู้สึกจนหรือรวยไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้จริง หากไม่เคยลิ้มรสเหล่านั้นมาก่อน

ประเด็นแต่งเครื่องแบบนักเรียนซึ่งเป็นที่ถกเถียง อันที่จริงสังคมพูดถึงเรื่องนี้มาเป็นระยะๆ แต่ช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดเทอมใหม่นี้ (๒/๒๕๖๓) ม็อบนักเรียนเลวหยิบยกขึ้นมาเป็นคำถามต่อสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)และผู้ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการรณรงค์ต่อต้านกฎระเบียบให้สวมชุดไปรเวทไปโรงเรียนแทน คำถามและคำอธิบายที่ได้ยินเสมอๆ จากฝ่ายสนับสนุนหรือเห็นด้วย มักจะเป็นชุดนักเรียนมีผลต่อการเรียนของเด็กๆอย่างไรล่ะหรือ? อย่างไรความเหลื่อมล้ำในสังคมก็ยังมี ไม่ได้ลดลงด้วยชุดนักเรียนที่ชอบอ้างกัน

ถ้าเด็กๆหรือผู้ปกครองพูดคงไม่รู้สึก เป็นความปกติที่จะมองในมุมตัวเองก่อน ความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมมักถูกละเลย ต่างจากรัฐ โรงเรียน หรือครู ผู้ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาเด็กทุกๆคนอย่างเท่าเทียม แต่จากข่าวสารเรื่องนี้ตามสื่อต่างๆ อย่างนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะแม้แต่นักวิชาการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ทั้งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและมีหน้าที่สร้างสรรค์เยาวชนให้ชาติบ้านเมือง บางท่านก็พูดในทำนองเดียวกัน "วาทกรรมที่ว่าลดความเหลื่อมล้ำ คนละเรื่องเลย ความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่ตลอดเวลา เครื่องแบบไม่ได้ไปลดความเหลื่อมล้ำอะไรทั้งสิ้น"

ประการแรก แม้ไม่อยากพูดซ้ำอย่างที่ได้ยินประจำ แต่ก็จำเป็น เพราะวันนี้ได้ยินตรรกะแปลกๆจากเด็กๆ "การมียูนิฟอร์ม เข้าใจว่าจะทำให้การแยกคนข้างนอกกับนักเรียนง่ายขึ้น แต่ว่าการที่ใส่กฎระเบียบที่ทำให้เด็กไม่มีความมั่นใจ อย่างเช่น ห้ามใส่ต่างหู ห้ามใส่สร้อยคอ ห้ามใส่รองเท้าแบบนี้ ถุงเท้าแบบนี้ ผมต้องสั้นเท่านี้ อะไรแบบนี้ รู้สึกว่ามันทำให้เด็กเสียความมั่นใจ พอเด็กเสียความมั่นใจ เด็กจะไปโฟกัสรูปร่างหน้าตาตัวเองตลอดเวลา เพราะเราไม่มั่นใจ จะกลายเป็นว่าเด็กไม่สนใจเรียน เพราะว่ามาโฟกัสที่หน้าตาตัวเองมากกว่าที่เราได้แต่งแบบมั่นใจ และมีความมั่นใจเต็มที่ ที่จะโฟกัสสิ่งอื่น ไม่ต้องมายุ่งกับตัวเองแล้ว มันก็ทำให้เขามั่นใจตัวเองมากขึ้น กล้าออกมาทำอะไรมากขึ้น”

ฟังแล้วกลับขั้วกลับข้างกับประสบการณ์ครูตัวเองอย่างสิ้นเชิง นักเรียนที่มีพฤติกรรมอย่างนี้ ที่ชอบแหกกฎ กติกา โดยเฉพาะ ณ ปัจจุบัน โรงเรียนไม่สามารถจะจัดการหรือลงโทษอะไรได้มากมายอยู่แล้ว จนเรื่องพวกนี้กลายเป็นความธรรมดาไป สามารถพบเห็นนักเรียนลักษณะดังกล่าวได้เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นเขียนคิ้ว แต่งหน้า ทาปาก ทรงผม เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า ที่ไม่ถูกระเบียบ ที่สำคัญที่ต้องกล่าวถึง เพราะนักเรียนกลุ่มนี้ต่างหาก ที่มักจะโฟกัสอยู่กับความสวยความหล่อตัวเองตลอดเวลา จนเรื่องเรียนซึ่งเป็นหน้าที่หลักกลายเป็นเรื่องรอง หรือบางคนถึงขั้นไม่ใส่ใจเรียน

ตามหลักธรรม ยิ่งเรียบง่าย ลดการปรุงแต่ง ลดตัวกูของกูได้มากเท่าไหร่ กิเลสตัณหา ความทะยานอยาก ที่ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ขาดสมาธิ ก็จะลดลงได้มากเท่านั้น เช่นเดียวกันในแบบปุถุชนอย่างเราๆ หรือโรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่บ่มเพาะคน ระเบียบที่จะฝึกให้การดำเนินชีวิตมีความเป็นอยู่สอดคล้องกับความเป็นจริงยิ่งขึ้น มีสมาธิขึ้น ไม่ฟุ้งซ่าน วอกแวก จะมิเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้หรือการมีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืนในอนาคตดอกหรือ

ประการต่อมา ความเหลื่อมล้ำที่ว่าอย่างไรก็มีอยู่แล้ว มีอยู่ตลอดเวลา คงเป็นอย่างนั้นตามที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประเมินการพัฒนาประเทศไทยไว้ ที่ว่าเครื่องแบบนักเรียนไม่ได้ไปลดความเหลื่อมล้ำอะไร ก็คงใช่อีก แต่อยากยืนยันอย่างหนึ่งในทัศนคติครูผู้สอนว่า เครื่องแบบนักเรียนช่วยลดความรู้สึกแตกต่างเหลื่อมล้ำในหัวใจนักเรียนที่ยากจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้

เครื่องแบบนักเรียนเทียบกับเสื้อผ้าที่สวมใส่ปกติมีราคาถูกกว่า ความแตกต่างของราคาหรือคุณภาพไม่หลากหลายเท่า ความต่างในการใส่เครื่องแบบนักเรียนจึงไม่มากเท่าใส่เสื้อผ้าปกติ ความต่างส่วนใหญ่ของเครื่องแบบมาจากอายุการใช้งานหรือความเก่าความใหม่ ผู้ใหญ่อย่างเราที่ผ่านชีวิตมามาก อาจไม่รู้สึกรู้สากับความเก่าใหม่นั้น แต่ถ้าเด็กๆเขารู้สึกเรื่องพวกนี้ไม่เหมือนผู้ใหญ่แน่ แม้แต่ชุดนักเรียนที่ว่าเหมือนกัน เก่าใหม่ไม่เท่ากันยังสร้างความเหลื่อมล้ำได้เลย นับประสาอะไรกับความจนความรวยของแต่ละครอบครัวหรือความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ จะไม่ยิ่งสร้างความต่างในเรื่องเสื้อผ้าปกติหรือ เนื่องจากมีความหลากหลายกว่ามาก ไม่ว่าจะรูปแบบหรือราคา

เครื่องแบบนักเรียนโรงเรียนเดียวกันแต่ไม่เหมือนกันอีกอย่าง ที่ทำให้เกิดรอยร้าวในใจเด็กๆ ผู้ใหญ่หรือนักการศึกษาที่แสร้งโง่หรือไม่รับผิดชอบ เพื่อตักตวงประโยชน์จากกลุ่มคนที่มีอำนาจซื้อเหนือกว่า หรือจากความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ บางโรงกำหนดให้นักเรียนห้องเรียนพิเศษใส่เครื่องแบบอย่างหนึ่ง ขณะที่ห้องปกติใส่อีกอย่างหนึ่ง เหล่านี้เป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นแล้วในโรงเรียน ขนาดใส่เครื่องแบบนักเรียนที่ว่าคล้ายๆกันก็ตาม 

การเรียนรู้ของคนเราบางอย่างอาศัยการปฏิบัติหรือประสบการณ์ตรงเท่านั้น “คนรวยย่อมไม่รู้รสชาติความจน คนจนย่อมไม่รู้รสชาติความรวย” หากสนใจศึกษาจากตำราหรือคำบอกเล่าอาจเพียงเข้าใจ แต่ความรู้สึกจนหรือรวยไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง หากไม่เคยลิ้มรสเหล่านั้นมาก่อน ความเหลื่อมล้ำก็เช่นกัน ไม่ใช่เป็นเรื่องปัจเจกที่เกิดขึ้นมาลอยๆ เด็กที่มาจากครอบครัวมีฐานะ มีความพร้อมทุกอย่าง จะให้เขารู้สึกว่ามีความเหลื่อมล้ำก็คงยาก ขณะเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน ขาดความพร้อมไปแทบทุกอย่าง จะห้ามไม่ให้เขารู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำคงเป็นไปไม่ได้ 

โดยสรุปชุดนักเรียนน่าจะช่วยให้เด็กๆ ลดความฟุ้งเฟ้อ ฟุ้งซ่าน มีสมาธิหรือเอาใจใส่ต่อการเรียนได้มากกว่า แม้เครื่องแบบจะไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำที่สูงลิ่วในบ้านเรา แต่อย่างไรก็น่าจะช่วยลดความรู้สึกแตกต่างเหลื่อมล้ำในใจเด็กๆอีกหลายคน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของสังคมได้

(พิมพ์ในมติชนรายวัน, 16 ธันวาคม 2563)

หมายเลขบันทึก: 687491เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2020 00:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2020 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ-เป็นประเด็นที่น่าติดตามครับ-ดูข่าวจากสื่อต่าง ๆก็มีหลากหลายแนวคิดแตกต่างกันออกไป-สำหรับผมแล้วยังยึดถือกับการมีเครื่องแบบตามช่วงวัยครับ-ขอบคุณครับ

หลากหลายความคิด ตามวัย ประสบการณ์ หรือบริบทของแต่ละคนหรือแต่ละครอบครัวครับ ไม่มีถูกไม่มีผิด มีแต่อย่างไร? จึงจะเหมาะสมกับสังคมบ้านเรา เหมาะสมกับวิถีการพัฒนาเด็กๆส่วนใหญ่

ขอบคุณเพชรน้ำหนึ่งมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท