ขนมไทยที่หายาก มีเฉพาะแค่ในภูมิภาคหรือบางพื้นที่เท่านั้น


สวัสดีค่ะ

    ขอแนะนำตัวก่อนนะคะ ดิฉันชื่อ นางสาวธนัฏฐา สุวรรณากาศ หรือเรียกชื่อเล่นสั้น ๆ ว่า จ๊ะจ๋า ค่ะ

    วันนี้จะมานำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับขนมไทยค่ะ แต่เดี๋ยวก่อนนะคะ ถ้าเป็นขนมไทยธรรมดาทั่วไปใคร ๆ ก็ต้องรู้จัก แต่เดินไปตลาดไปหาร้านขนมไทยก็ได้กินแล้ว แต่ในวันนี้จะมานำเสนอเรื่องราวของ “ ขนมไทยที่หายาก มีเฉพาะแค่ในภูมิภาคหรือบางพื้นที่เท่านั้น ” ซึ่งหาทานได้ยาก และใครหลาย ๆ คนไม่เคยรู้จักมาก่อน พร้อมทั้งบอกเรื่องเล่าประวัติความเป็นมาของขนมไทยแต่ละชนิดที่คุณแม่ของจ๊ะจ๋าได้เคยเล่าให้ฟังและคุณแม่พาไปซื้อถึงร้านต้นตำหรับที่ทำขนมโบราณขาย ทำให้จ๊ะจ๋าได้ทราบข้อมูลรายละเอียดต่างๆ พร้อมทั้งบอกให้เพื่อน ๆ ได้ทราบว่าถ้าเพื่อน ๆ อยากรับประทานบ้างจะสามารถหาทานได้ที่ไหน จะมีขนมไทยอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

1. ขนม “ควยลิง”                                          

    เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนคงตกใจในชื่อขนม ใช่ค่ะ ตอนแรกจ๊ะจ๋าก็ตกใจเช่นกัน เพราะดูจากคำที่ใช้แล้วน่าจะเป็น

    คำหยาบไม่น่ามาเป็นชื่อขนมได้ แต่สุดท้ายกลายเป็นชื่อขนมจริง ๆ ค่ะ ขนมนี้ชื่อว่า “ควยลิง” เป็นขนมโบราณที่

    มีการสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ตอนที่ไปซื้อคุณยายได้เล่าประวัติให้ฟังค่ะ และแอบอ่านประวัติของขนมไป

    ก่อนหน้านี้นิดหน่อยค่ะ

    ลักษณะของขนม :เป็นวงรีเรียวยาว คลุกมะพร้าว ทานควบคู่กับน้ำตาลและงาขาว

    ประวัติความเป็นมาของขนม :คุณยายลิ(ผู้ทำขนม) ลองทำขนมชนิดนี้ให้กับลูกหลานได้ทาน จนลูกหลานถามชื่อของขนม ด้วยความที่มีลักษณะค่อนข้างคล้ายกับอวัยวะเพศของลิงตัวผู้ จึงได้ชื่อว่า “ควยลิง”

    สามารถหาทานได้ที่ :ชุมชนขนมแปลกริมคลองหนองบัว  จ.จันทบุรี

    ขนมชนิดต่อมาที่จะพาไปเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักอยู่ใน จ.จันทบุรีเช่นกันค่ะ ขนมชนิดนั้นคือ

    2. ขนม “ตะลุ่ม”


      มองครั้งแรกเชื่อว่าใครหลาย ๆ คนคิดว่าเป็นขนมกล้วย ขนมมัน หรือขนมถ้วยที่มีขายทั่วไปทุกพื้นที่ แต่จริง ๆ แล้วชื่อว่าขนม “ตะลุ่ม” เป็นขนมพื้นบ้านที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ

      ลักษณะของขนม :ตัวขนมทำจากแป้งและกะทิ ส่วนหน้าของขนมทำจากไข่ผสมหัวกะทิ โดยรวมจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับขนมถ้วยที่มีด้านบนของขนมเป็นสังขยา

      ประวัติความเป็นมาของขนม :เป็นขนมไทยโบราณที่มีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี พบเห็นได้ยาก และผู้คนในปัจจุบันอาจจะไม่รู้จักเลยก็ว่าได้

      สามารถหาทานได้ที่ :ชุมชนขนมแปลกริมคลองหนองบัว  จ.จันทบุรี

      ขนมชนิดต่อมาจ๊ะจ๋าเคยกินตั้งแต่เด็กและรู้สึกติดใจในรสชาติมากค่ะ เลยอยากที่จะบอกต่อเพื่อน ๆ ให้ไปกินตาม ขนมชนิดนี้ คือ

      3. ขนม “ลา”

        ขนมลักษณะคล้ายผ้าทอหรือเส้นด้ายสีทองทับถมกันเป็นผืนใหญ่ เหนียวนุ่ม มีให้ทานเฉพาะช่วงเทศกาลของคนภาคใต้ 1 ปี มี 1 ครั้งเท่านั้น

        ลักษณะของขนม : เส้นเล็ก ๆ ยาว ๆ ทับกันไปมา จนหนาและเหนียวนุ่ม

        ประวัติความเป็นมาของขนม : ขนมลาเป็นหนึ่งในขนม 5 ชนิด ที่คนภาคใต้จะนำไปทำบุญในช่วงเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือเรียกว่า “บุพเปตพลี” โดยมีความเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ล่วงลับอาจจะไปอยู่ในภพภูมิที่ดี หรือภพภูมิที่มีแต่ความลำบาก ดังนั้นเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ จึงเปรียบเสมือนตัวแทนส่งบุญกุศล อาหาร เครื่องดื่ม และข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ขนมลายังเป็นสัญลักษณ์แทนอาหารและเครื่องนุ่มห่มให้แก่ผู้ที่มีวิบากกรรมต้องชดใช้ หรือในภาษาพูดเรียกว่า เปรต นั่นเอง

        สามารถหาทานได้ที่ : อ.ปากพนัง  จ. นครศรีธรรมราช (เฉพาะช่วงที่มีเทศกาลบุญสารทเดือนสิบเท่านั้น)

        ต่อมาจ๊ะจ๋าจะพาไปรู้จักกับขนมที่สีสันสวยงาม จนไม่ค่อยกล้ารับประทาน ขนมชนิดนั้น คือ

        4. ขนม“บุหลันดั้นเมฆ”

          ขนมชนิดนี้จ๊ะจ๋าไม่เคยรับประทานแต่คุณย่าและคุณแม่เล่าให้ฟังว่า สีสันสวยงามน่าลอง หน้าตาแอบเหมือนขนมถ้วยอีกแล้วค่ะ แต่ไม่ใช่ขนมถ้วยนะคะ แต่เป็นขนมบุหลันดั้นเมฆ ตัวขนมจะมีสีฟ้าหรือน้ำเงินที่เปรียบเสมือนตอนกลางคืน มีใจกลางเป็นสีเหลืองนวลแทนพระจันทร์ที่อยู่ท่ามกลางท้องฟ้าในตอนกลางคืน

          ลักษณะของขนม : คล้ายคลึงกับขนมน้ำดอกไม้ ขนมบุหลันดั้นเมฆจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ตัวขนม ทำจากแป้ง น้ำสีม่วงที่ได้มาจากดอกอัญชัน ผสมกันหยอดบนในถ้วยและนำไปนึ่ง ส่วนที่สอง คือ ตัวหน้าของขนม ทำมาจาก ไข่ กะทิ น้ำตาล และนำไปนิ่งต่อจนสุก

          ประวัติความเป็นมาของขนม : เป็นขนมที่ชาววังในสมัยก่อนประดิษฐ์ คิดค้นขึ้นมาให้มีสีสันสวยงาม มีการอุปมาอุปไมยเลียนแบบเพลงไทยเดิม “บุหลันลอยเลื่อน” ซึ่งเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2  รัชกาลที่ 2 ทรงพระสุบินว่าไปในดินแดนสวรรค์ที่มีพระจันทร์ลอยเข้ามาใกล้พระองค์เรื่อย ๆ พร้อมกับมีเสียงดนตรีประกอบ เมื่อพระองค์ทรงตื่นจากการบรรทมก็ทรงจำทำนองดนตรีนั้นได้ จึงใช้ซอสามสายมาบรรเลงเป็นเพลง ขนมนี้จึงทำมาให้เหมือนกับที่รัชกาลที่ 2 ทรงพระสุบินนั่นเอง

          สามารถหาทานได้ที่ : ตลาดคลองสวน 100 ปี  ต.คลองสวน  อ.บางบ่อ  จ. สมุทรปราการ

          ต่อมาขนมชนิดสุดท้ายแล้วค่ะ ขนมนั้น คือ

          5. ขนม“สามเกลอ”


            ขนมสามเกลอ ที่ใครหลายคนอาจจะเคยคุ้นหู หรือเคยได้ยินชื่อ ขนมชนิดนี้เป็นขนมที่แสดงถึงความสามัคคี และไม่มีวันพลัดพรากจากกัน โดยนิยมใช้เป็นขนมเสี่ยงทายในงานแต่งงาน

            ลักษณะของขนม :เป็นลูกเรียงกัน 3 ลูกแบบก้อนเสา ขนมสามเกลอจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ส่วนที่เป็นไส้ขนม ทำมาจาก น้ำตาลมะพร้าว มะพร้าวขูด และงา และเอามาห่มหุ้มด้วยแป้งข้าวเหนียว และ ส่วนที่สอง คือ ไข่ไก่นำมาผสมสีอาหาร เพื่อให้มีสีสันที่สวยงาม น่ารับประทาน นำไข่ไก่มาโรยลงบนกระทะเป็นแผ่นบาง ๆ เพื่อนำมาห่มกับตัวไส้ของขนม

            ประวัติความเป็นมาของขนม :นิยมใช้เป็นขนมเสี่ยงทายในงานแต่งงาน การเสี่ยงทายนั้นดูได้จากกรรมวิธีการทอด ถ้าทอดแล้วยังอยู่ติดกัน 3 ลูก ถือว่าบ่าวสาวจะรักใคร่กลมเกลียวกัน ถ้าทอดแล้วอยู่ติดกันเพียง 2 ลูก แสดงว่าอาจจะมีบุตรยากหรือไม่มีบุตรเลย และถ้าทั้ง 3 ลูกหลุดออกจากกันทั้งหมด แสดงว่าชีวิตคู่บ่าวสาวจะไม่ยั่งยืนหรือชีวิตสมรสจะไม่มีความสุข และถ้าทอดขนมสามเกลอแล้วลอยฟู พองตัวขึ้นมา แสดงว่าเป็นคู่ที่เหมาะสมกันราวกับกิ่งทองใบหยก

            สามารถหาทานได้ที่ :ตลาดย้อนยุคบ้านบางระจัน อ.ค่ายบางระจัน จ. สิงห์บุรี

                      จากที่ได้อ่านและทำความรู้จักกับขนมโบราณแต่น่าทาน แต่ละชนิดกันไปแล้ว ก็เชื่อว่าสิ่งที่ได้รวบรวมมาเขียนทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ เป็นความรู้ต่อผู้ที่เข้ามาอ่านและชื่นชอบรับประทานขนมไทย หรือบางคนได้อ่านแล้วรู้สึกว่าอยากลองชิมรสชาติของขนมว่าจะเป็นยังไง จะอร่อยไหม ก็สามารถไปหาทานได้ตามสถานที่ ๆ ใส่ไว้ให้ได้เลยค่ะ และหากเพื่อน ๆ สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดที่บรรณานุกรมด้านล่างได้เลยค่ะ

                     สำหรับวันนี้จ๊ะจ๋าต้องขอลาไปก่อนนะคะ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านค่ะ

            บรรณานุกรม

            Anonymous. (2557).  ขนมไทยโบราณที่หลายคนอาจไม่เคยเห็น. 

                         สืบค้นเมื่อ 1/12/2563, สืบค้นจาก

                         http://sapaneebl.blogspot.com/

            K@POOK. (2557).  ประวัติขนมลา ขนมประจำเทศกาลบุญสารท

                         เดือนสิบของชาวใต้.  สืบค้นเมื่อ 1/12/2563, สืบค้นจาก

                         https://cooking.kapook.com/view96524.html

            การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2563).  เที่ยวชุมชนขนมแปลกริม

                        คลองหนองบัว ชิมขนมพื้นบ้าน วิถีชุมชนโบราณ จันทบุรี. 

                        สืบค้นเมื่อ 1/12/2563, สืบค้นจาก

            https://traveleastthailand.com/642#:~:text=%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%20%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%A1,%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87

            หมายเลขบันทึก: 687489เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2020 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ธันวาคม 2020 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


            ความเห็น (0)

            ไม่มีความเห็น

            พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
            ClassStart
            ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
            ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
            ClassStart Books
            โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท