มันนิ


"มันนิ" จ้าวแห่งผืนป่าเทือกเขาบรรทัด ผู้กำลังไม่มีแผ่นดินอยู่กินอาศัย

สุรินทร์ ภู่ขจร นักโบราณคดี-ชาติพันธุ์ (Ethno-Archaeology) อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และทีมวิจัยโครงการวัฒนธรรมหินโฮบินเนียนในประเทศไทย เคยศึกษากลุ่มชนหาของป่า-ล่าสัตว์ในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงกลุ่มซาไก หรือมานิในจังหวัดตรัง เมื่อปี 2530-2535 โดยศึกษาองค์ความรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านมานุษยวิทยาชาติพันธุ์ พันธุกรรม รูปแบบวัฒนธรรม สมุนไพร ภาษาศาสตร์และงานขุดค้นทางโบราณคดีที่ถ้ำซาไก บ้านควนไม้ดำ ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ที่ถือว่างานวิจัยดังกล่าวเป็นงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับมันนิ หรือมานิในเทือกเขาบรรทัดเล่มแรกๆ ที่เขียนเป็นภาษาไทย และมีการอ้างอิงเปรียบเทียบอย่สงกว้างขวาง

และจากการศึกษาข้อมูลประกอบงานชิ้นนี้ทำให้พบว่า ในมิติทางประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีเชื่อได้ว่า ความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพในเทือกเขาบรรทัด ทำให้มนุษย์เดินทางเข้าไปอาศัย ตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ดังที่มีการขุดค้นแหล่งโบราณคดี ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยมาแล้วไม่ต่ำกว่า 37,000 ปี ถึง 4,200 ปี อีกทั้งเทือกเขาบรรทัดเป็นพื้นที่ป่าในภาคใต้ของไทยที่ตั้งอยู่มานานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย เป็นต้นกำเนิดสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน

จากการสำรวจเมื่อวันที่ 31 มกราคม ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 โดยคณะทำงานโครงการศึกษาชาติพันธุ์พื้นเมืองสตูล ของวิทยาลัยชุมชนสตูล ซึ่งได้ติดตามขึ้นไปถึงตำแหน่งที่ตั้งทับของชาวมานิในแต่ละจุดของ 3 จังหวัด คือ ตรัง พัทลุง และสตูล พบว่า กลุ่ม ชาวมานิทั้ง 8 จุดมีการตั้งถิ่นฐานอยู่ทั้งพื้นที่ป่าท้ายสวนยางพาราของชาวบ้านและอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขา บรรทัดทั้งหมด โดยสามารถแบ่งกลุ่มชาวมานิตามลักษณะการเคลื่อนย้ายและการตั้งถิ่นฐานได้เป็น 2 ลักษณะ ใหญ่ๆ คือ

ลักษณะที่ 1 กลุ่มมานิที่ตั้งถิ่นฐานถาวร มีบ้านเรือนที่มั่นคงถาวรโครงสร้างไม้เนื้อแข็ง จำนวน 4 กลุ่ม อยู่ในพื้นที่จังหวัดตรัง 3 กลุ่ม และสตูล 1 กลุ่ม กลุ่มนี้จะไม่มีการเคลื่อนย้ายเพื่อไปสร้างบ้านเรือนในพื้นที่อื่นๆ และส่วนใหญ่มีบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว

ลักษณะที่ 2 กลุ่มมานิที่ไม่สร้างบ้านเรือนมั่นคงถาวร ที่พักมีลักษณะเป็นเพิงมุงด้วยใบไม้ทั้งแบบยก พื้นและไม่ยกพื้น จำนวน 4 กลุ่ม อยู่ในจังหวัดพัทลุง 2 กลุ่ม และสตูล 2 กลุ่ม กลุ่มนี้จะยังคงมีการเคลื่อนย้าย ไปสร้างที่พักตามแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ของเทือกเขาบรรทัดอยู่ และส่วนใหญ่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน

ปัจจุบัน จังหวัดสตูลมีกลุ่มมานิกระจายอยูในพื้นที่ป่าเทือกเขาบรรทัดจำนวน 7 กลุ่ม รวมประชากรทั้งสิ้น 181 คน ดังนี้

1. กลุ่มห้วยหนาน 39 คน (ป่ารอยต่อตรังสตูล)

2. กลุ่มราวปลา 22 คน

3. กลุ่มวังคราม 26 คน

4. กลุ่มช่องฮับ 19 คน

5. กลุ่มวังสายทอง 48 คน

6. กลุ่มภูผาเพชร 38 คน

7. กลุ่มทุ่งนุ้ย 15 คน

ในขณะที่จังหวัดสตูลมีเนื้อที่ทั้งหมด 2,807.522 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,754,701 ไร่ นับรวมพื้นที่ที่เป็นส่วนของน้ำทะเล) มีสภาพป่าที่มีความหลากหลายทั้งป่าบกและป่าชายเลน โดยแบ่งพื้นที่ป่าไม้ จำนวน 1,259.48 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 787,175 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 50.81 ของพื้นที่จังหวัด (คิดจากเนื้อที่จังหวัด 2,478.98 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,549,363 ไร่ โดยพื้นที่ดังกล่าวไม่นับรวมพื้นที่ที่เป็นส่วนของน้ำทะเล) ในจำนวนนี้เป็นเพื้นที่ป่าบกจำนวน 912.27 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 570,169 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 36.80 ของพื้นที่จังหวัด ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นได้กลายสภาพ หรือถูกบุกรุกเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ยังไม่ถูกรับรองทางกฏหมายอีกจำนวนมาก(ไม่สามารถระบุจำนวนที่ชัดเจนได้) อันถือเป็นปัจจัยปัญหาสำคัญที่กำลังรุกคืบที่อยู่อาศัยและที่หากินของกลุ่มชาติพันธุ์มานิในทุกจังหวัดของภาคใต้ขณะนี้

จากการพูดคุยกับนายปอย รักษ์ป่าบอน ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์มานิในพื้นที่จังหวัดสตูล ถือเป็นมานิหนึ่งเดียวที่ได้เรียนหนังสือถึงชั้นมัธยมปลายของจังหวัดสตูล ทำให้ทราบถึงความทุกข์ร้อน และความต้องการเบื้องต้นของกลุ่มมานิในปัจจุบันว่า “ มานิกลุ่มต่างๆที่อยู่อาศัย และหากินในผืนป่าเทือกเขาบรรทัดตกอยู่ในสภาพยากลำบากมากขึ้นทุกวัน จากการเปลี่ยนสภาพของพื้นที่ป่าโดยการบุกรุกของคนทั่วไปอย่างไร้การควบคุม ในขณะที่พวกเราชาวมานิทั้งหลายไม่สามารถจะอพยบย้ายถิ่นอย่างอิสระดังเช่นเมื่อก่อน ดังนั้นความต้องการที่จะปักหลักอยู่กับที่จึงอาจจะเป็นความจำเป็นมากขึ้นหลีงจากนี้ และคาดว่าในอนาคตมานิรุ่นต่อไปจะไม่สามารถอยู่อาศัยในเขตป่าธรรมชาติเหมือนรุ่นบรรพบุรุษได้อีกต่อไป”

สอดคล้องกับความเห็นของคณะทำงานเครือข่ายสิทธิพลเมืองพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดสตูล ที่เห็นว่า สิ่งที่จะต้องเตรียมการหลังจากนี้คือการสร้างความพร้อมให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิมีความสามารถที่จะดำรงชีวิตปกติอยู่ได้ เฉกเช่นกับพวกเราคนพื้นที่ราบ ดังนั้นการเรียนรู้ในวิถีวัฒนธรรม การเรียนหนังสือเพื่อให้อ่านออก นับเลขได้ ก็จะเป็นสิ่งจำเป็น และที่สำคัญคือการผลิตอาหาร และการจัดการผลผลิตต่างๆ นั่นหมายจากนี้ไปชาวมานิจะต้องมีที่ดินทำกินด้วย ที่ไปม่ใช่แค่ที่ดินเพื่อพักอาศัยเท่านั้น ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีหากิน มาเป็นวิถีทำกิน(เพราะปลูก เลี้ยงวัตว์)ด้วย

ดังนั้น การปรับตัวระหว่างพวกเราประชาชนที่มีสิทธิพลเมืองอย่างเต็มที่ กับชาวมานิที่อาศัยอยู่ในเขตป่าเขาเทือกบรรทัดภาคใต้มายาวนาน ซึ่งพูดได้ว่าเป็นเจ้าของผืนป่าเขาเทือกอย่างแท้จริง แต่กลับไม่มีสิทธิใดๆเลยนั้น คงจะต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกันจากนี้ไป ในฐานะของพลเมืองของประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ไมใช่ผู้อพยบ หรือผู้เข้ามาอาศัยใหม่แต่อย่างใด และเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องทำความเข้าใจถึงสภาพข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ เพื่อที่จะได้ยอมรับและหาแนวทางรับรองสิทธิของพวกเขาในทุกๆด้านต่อไป

มิใช่ปล่อยเขาในฐานะพลเมืองไทยกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเจ้าของแผ่นดินผืนป่าตัวจริง แต่กำลังจะสิ้นไร้ที่อยู่อาศัยและที่หากินอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

สมบูรณ์ คำแหง

คณะทำงานสมัชชาคนสตูล

22 พ.ย. 63

,...................................................

ขอบคุณข้อมูล

- วิทยาลัยชุมชนสตูล

- เครือข่ายสิทธิพลเมืองพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ

- สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ

- สนง.ป่าไม้เขต 12 สงขลา

( cr

สมบูรณ์  กำแหง)

คำสำคัญ (Tags): #สมบูรณ์ กำแหง
หมายเลขบันทึก: 687246เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2020 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2020 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับท่านวอญ่า-ขอบคุณสำหรับข้อมูลของมันนิ นะครับ-ด้วยความระลึกถึงครับ

สิ่งที่ควารเรียนรู้อย่างยิ่งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท