โคกหนองนาโมเดลตามแนวทางพระราชดำริ : ความท้าทายทุนนิยม


โคกหนองนาโมเดลตามแนวทางพระราชดำริ : ความท้าทายทุนนิยม

23 พฤศจิกายน 2563

ท่ามกลางกระแสทุนนิยมเสรี (Capitalism) ที่ถั่งโถม และสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ GDP ดิ่งติดลบ รัฐไทยจะต้องปรับนโยบายใดบ้าง เพื่อให้โครงการตามพระราชดำรินี้ดำรงคงอยู่ท่ามกลางความพอดีพอเพียง (Sufficiency) ในทุนนิยมโลก ที่ค่อนข้างจะย้อนแย้งในตัวเองในหลายประการ ไม่ว่าจะมองในมิติใด เพราะ กระแสสังคมโลกโซเชียล (Social Network) ที่สังคม และผู้คนต้องปรับตัวและตามมันให้ทัน

ความท้าทาย เศรษฐกิจเอื้อทุนใหญ่ สังคมปลาใหญ่กินปลาเล็ก รัฐสวัสดิการยังห่างไกล ความเหลื่อมล้ำทางสังคมมีทุกมิติ สังคมเป็นสังคมผู้สูงวัยสมบูรณ์แล้ว รัฐใช้ "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" นำทางการพัฒนาที่น่าจะไม่สอดคล้องกับ "โลกาภิวัตน์" (Globalization) และ "ระเบียบการจัดโลกใหม่" (New World Orders) โดยเฉพาะกระแสความเปลี่ยนแปลงโซเชียลที่ผันผวน (Disruptive) มาก ที่ต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงสูงมาก

ชาวนาน้ำตาตก ข้าวไม่ได้รับการประกัน เพราะรัฐไม่มีตังค์ แต่รัฐจะให้ชาวนาทำโครงการโคกหนองนา เพราะข้าวนาปีของชาวนาที่เก็บเกี่ยว แต่ไม่มีราคา เพราะข้าวเกวียนละ 6 พันบาท แต่ต้นทุนชาวนามี 6.5 พันบาท (ชาวนาขาดทุน) รัฐมีปัญหาทำโครงการจำนำข้าว เพราะรัฐบาลนี้ไม่ทำ เพราะขาดงบประมาณ

อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาแนวคิดวิธีการในโครงการนี้ เป็นนวัตกรรม Slow life เช่นสำหรับคนเกษียณ และ เป็น New Normal ต่อไป

ความหมายและที่มาโครงการโคกหนองนา

แนวคิดการจัดการน้ำ "โคก หนอง นา โมเดล" นี้ เป็นการทำเกษตรในพื้นที่ขนาดจำกัด หรือขนาดเล็ก เป็นการกักเก็บน้ำไว้ทั้งบนดิน (ด้วยหนอง คลองไส้ไก่ และคันนา) และใต้ดิน (ด้วยป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง) ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะในพื้นที่จำกัด อย่างน้อยเพียง 3 ไร่ หรือ แล้วแต่ขนาดของที่ดินตามสภาพความเหมาะสมก็ได้ เมื่อปี 2561 มีแบบมาตรฐาน โคก หนอง นา โมเดล จำนวนประมาณ 40 แบบให้กรมพัฒนาที่ดินไว้แจกจ่ายประชาชน ทั้ง  40 แบบ เป็นโมเดลต้นแบบสำหรับที่ดินขนาดแบบ  3 ไร่ 5 ไร่ หรือ 10-15 ไร่ ที่เป็นโมเดลพื้นที่ขนาดเล็ก 

ตัวอย่างของผลสัมฤทธิ์คือ การทำนาขั้นบันได บ้านห้วยกระทิง อ.แม่ระมาด จ.ตาก (มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ)

มีองค์ประกอบดังนี้

1. โคก

- ดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ

- ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย

- ปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ

2. หนอง

- ขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม (หลุมขนมครก) 

- ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้

- ทำ ฝายทดน้ำ เพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง

- พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คูคลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก

3. นา

- พื้นที่นานั้นให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็กๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน

- ยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม ปลูกพืชอาหารตามคันนา โดยความร่วมมือของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงได้มีการออกแบบพื้นที่กสิกรรมโดยอาศัย “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นแนวคิดหลักในการจัดการพื้นที่ ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญที่สุดของเมืองไทย  

จุดแข็ง

เป็นการต่อยอดโครงการตามแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ตามทฤษฎีใหม่ที่พระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงดำริและดำเนินการโครงการพระราชดำริมานานแล้วรวมสี่พันกว่าโครงการ

แนวคิด "โคก หนอง นา โมเดล" เดินตามศาสตร์ของพระราชา เพื่อการทำเกษตรแนวใหม่ ที่ยึดหลักของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก โครงการนี้ใช้เงินของมูลนิธิชัยพัฒนาส่วนหนึ่ง ใช้เงินของราชการส่วนหนึ่ง โดยวิธีขุดบ่อน้ำ เพื่อใช้น้ำนั้นมาทำการเพาะปลูก ตาม “เกษตรทฤษฏีใหม่” ตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันอาทิตย์ที่  4 ธันวาคม  2537 

ทฤษฎีใหม่

"... หลักมีว่า แบ่งที่ดินเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน และก็มีที่สำหรับขุดสระน้ำ... ทฤษฎีใหม่นี่จะขยายขึ้นไปได้ อาจจะทั่วประเทศ แต่ต้องช้า ๆ เพราะว่าต้องสิ้นเปลือง สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย ๆ แต่ว่าค่อย ๆ ทำ และเมื่อทำแล้ว ก็นึกว่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีกินแบบตามอัตภาพ คืออาจไม่รวยมาก แต่ก็พอกิน ไม่อดอยาก..."

“หลักทฤษฎีใหม่" ปรับสูตรพระราชทานใหม่เป็น 30 30 30 และ 10 % คือ สัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 4 ส่วน เพื่อ การเพาะปลูก เป็นแหล่งน้ำ เป็นที่นา และ เป็นที่อยู่อาศัย

ซึ่งวัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี จัดสร้างศูนย์สาธิต “โคก หนอง นา โมเดล” สืบสานศาสตร์พระราชา เริ่มจากซื้อที่ดิน 10 ไร่ และเจ้าของที่ดินได้ถวายเพิ่มอีก 2 ไร่ รวมเป็น 12 ไร่ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 

ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ หมายถึง ประโยชน์ในปัจจุบัน 4 อย่าง ได้แก่ 1. อุฏฐานสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยความหมั่น 2. อารักขสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ 3. กัลป์ยาณมิตตตา คือ การมีกัลยาณมิตรที่ดี และ 4. สมชีวิตา หมายถึง การอยู่อย่างพอเพียง

“ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” 

ไม้ 3 อย่าง ได้แก่  1. ไม้ใช้สอย  คือ ไม้โตเร็ว สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น สะเดา , ไผ่ 2. ไม้กินได้ เช่น มะม่วง ผักกินใบต่างๆ และ 3. ไม้เศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้ที่ปลูกเพื่อจำหน่าย เช่น ไม้สัก เป็นต้น

ส่วนประโยชน์ 4 อย่าง คือ 1. ไม้ใช้สอย นำมาสร้างบ้าน ทำเล้าเป็ด เล้าไก่ ฟืน 2. ไม้กินได้ นำมาเป็นอาหารและยาสมุนไพร 3. ไม้เศรษฐกิจ นำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ และ 4. ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งการปลูกพืชที่หลากหลาย จะสร้างระบบนิเวศที่สมดุลให้กับพื้นที่

จุดอ่อน

โครงการนี้ เพิ่งเริ่มโหมโรงเป็นแนวคิดเพื่อผลสำเร็จในทางปฏิบัติในปีนี้ (2563) โดยโครงการ "พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน" เดินหน้าสู่ปีที่ 8 (2555) ภายใต้แนวคิด "สู้ทุกวิกฤต รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา" เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมวางมาตรการความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับภาวะปกติใหม่ (New Normal) ในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียง เช่น โคก หนอง นาโมเดล

บทบาทกรมการพัฒนาชุมชนในการขับเคลื่อนโครงการ

โครงการโคกหนองนา เพื่อรองรับกลุ่มนักโทษเด็ดขาดที่คาดว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2563 และจะพ้นโทษในปี 2563 จำนวน 39,084 ราย ในเรือนจำ 137 แห่ง ตามหนังสือกรมการพัฒนาชุมชน ด่วนที่สุด ที่ มท 0409.2/ว 2251 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เรื่อง การประสานความร่วมมือโครงการ “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์”

และ MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม วันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2563 ระหว่าง กรมการพัฒนาชุมชน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมที่ดิน และ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ

ตามแผนบูรณาการให้ความช่วยเหลือผู้พ้นโทษที่ผ่านการอบรม โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว "โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์"

วัตถุประสงค์เพื่อ (1) สนับสนุนให้ผู้พ้นโทษได้นำความรู้ที่ใช้ในการอบรมไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพภายหลังการพ้นโทษ (2) สนับสนุนให้ผู้พ้นโทษ เข้าถึงภารกิจขั้นพื้นฐานของรัฐ หรือบริการสาธารณะ

นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเพิ่มคือ

กลุ่มเป้าหมาย : เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ ผู้ว่างงาน กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) จำนวน 9,188 คน แยกการจ้างงานเป็น ดังนี้

1. จ้างงานในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of Life : [CLM) ระดับตำบล จำนวน 337 ตำบล ๆ ละ 10 คน รวม 3,370 คน

2. จ้างงานในพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of Life : HLM) ระดับครัวเรือน จำนวน 2,909 ตำบล ๆ ละ 2 คน รวม 5,818 คนงบประมาณ : 992,304,000 บาท

สรุป โครงการโคก หนอง นา โมเดล เป็นการสร้าง ความมั่นคง ในแหล่งทำกินด้านการเกษตร เลี้ยงสัตว์ สู้กับภัยแล้ง ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ให้หันกลับมา อุดมสมบูรณ์ โดยปรับปรุงพื้นที่รองรับ ฝนธรรมชาติ และการเชื่อมโยงวงจรชีวิต พืช สัตว์ ให้เดินทางร่วมกันได้


อ้างอิง


หลุมขนมครกแบบพื้นที่ลุ่ม “โคก หนอง นา โมเดล”, https://www.ajourneyinspiredbytheking.org/th/knowledge/case-study-detail.php?id=17 

'โคก-หนอง -นา' ยกระดับสู่นโยบายรัฐ
, ข่าวไทยโพสต์, 2 พฤษภาคม 2561, https://www.thaipost.net/main/detail/8363


สืบสานศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา โมเดล” คืนความชุ่มชื้น ชื่นฉ่ำ ให้กับชีวิตเกษตรกรไทย, Workpoint News, 14 ตุลาคม 2561, https://workpointtoday.com/สืบสานศาสตร์พระราชา-โค/

"โคก หนอง นา โมเดล" เกษตรแนวใหม่ตามศาสตร์ของพระราชา, TerraBKK.com, บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด, 21 ตุลาคม 2559, https://www.terrabkk.com/news/152286

โคก-หนอง-นา โมเดล คือ อะไร โดย muangsukhothai, 9 มกราคม 2563, https://district.cdd.go.th/muang-sukhothai/2020/01/09/โคก-หนอง-นา-โมเดล-คือ-อะไร/

25 - 27 กันยายน 2563 โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ปี 8 จ.ฉะเชิงเทรา, https://www.ajourneyinspiredbytheking.org/th/event/event-detail.php?id=26

หนังสือกรมการพัฒนาชุมชน ด่วนที่สุด ที่ มท 0409.2/ว2251 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เรื่อง การประสานความร่วมมือโครงการ “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์”, https://www.cdd.go.th/wp-content/uploads/sites/110/2020/10/หนังสือด่วนที่สุด-ว2251-ลว1ตค63.pdf

พช.ลงพื้นที่ภาคอีสานติดตามความก้าวหน้า"โคกหนองนาโมเดล", ข่าวโพสต์ทูเดย์, 16 พฤศจิกายน 2563, https://www.posttoday.com/social/local/638159

ไทยพับลิก้ารายงาน: จำนำข้าว “สิ้นนา สิ้นชาติ” จริงหรือ!6 มกราคม 2015, ทีดีอาร์ไอ, ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยพับลิก้า วันที่ 6 มกราคม 2558 ในชื่อ จำนำข้าว “สิ้นนา สิ้นชาติ” จริงหรือ!, https://tdri.or.th/2015/01/tdri-corruption-in-the-paddy-pledging-policy-1/

หมายเหตุ 

บทความนี้เผยแพร่ในสยามรัฐออนไลน์, บทความพิเศษ : ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), 12 กุมภาพันธ์ 2564. https://siamrath.co.th/n/219462


หมายเลขบันทึก: 687241เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2020 08:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2021 01:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท