ความเป็นครูที่ดี


คุณลักษณะของครูที่ดีคือ มุ่งมั่นวิชาการ รักงานสอน เอื้ออาทรศิษย์ คิดดี มีคุณธรรม ชี้นำสังคม อบรมจิตใจ ใฝ่ความก้าวหน้า วาจางาม และรักความเป็นไทย ครูดี ต้องมีความรู้ดี ประพฤติดี และสอนดี นอกจากนี้แล้วควรมีกัลยาณมิตรตามหลักพุทธศาสนา คือ ทำตนให้เป็นที่รักหนักแน่น น่ายกย่องชมเชย ยึดมั่นในระเบียบแบบแผน อดทนต่อถ้อยคำที่ทำให้เจ็บใจได้ สามารถพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้คนฟังเข้าใจได้ง่าย แถลงเรื่องซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย และไม่ชักนำศิษย์ไปในทางเสื่อมเสียหรืออบายมุข เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่จำเป็นสำหรับครู ที่นำมากล่าว เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น แต่ถ้าจะสรุปสั้นๆ การเป็นครูที่ดีคือ มีความรู้ดี มีเทคนิคการสอนดี และปฏิบัติดีเป็นแบบอย่างของนักเรียนและประชาชนทั่วไป เพราะอาชีพครูเป็นอาชีพสร้างจิตวิญญาณของ ความเป็นมนุษย์ แบบอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน ครูดี มีคุณธรรมประจำจิต ครูดีสร้างชีวิตให้สดใส คุณภาพคุณประโยชน์ จำใส่ใจ ครูดีไซร้สร้างคน สร้างงานและสร้างชาติให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนเอย

ความเป็นครูที่ดี                                                                                                   

ดร. ถวิล อรัญเวศ


     ครู
 
คือผู้มีภาระอันใหญ่หลวง หนักแน่น ผู้น่าเคารพ เพราะเป็นผู้มีจิตวิญญาณในการสร้างคน สร้างงานและสร้างชาติ มีคำกล่าวกันว่า อนาคตของชาติ อยู่ในกำมือของเด็กเยาวชน แต่อนาคตของเด็กเยาวชนอยู่ในกำมือของครู เพราะฉะนั้น ครูจึงเป็นอาชีพที่สังคมให้ ความคาดหวังสูงและเป็นวิชาชีพชั้นสูง ครูจึงเป็นพลังสำคัญของชาติไม่แพ้อาชีพอื่นๆ การเป็นครูที่ดีมี หลายประการ ครูต้องเพียบพร้อมด้วย คุณธรรม คุณภาพ และคุณประโยชน์ ทำดี ทำชอบ ทำเก่ง เคร่งวินัย เอาใจใส่ต่อผู้เรียน สำหรับครูดี 10 ประการ ที่จะขอนำมากล่าว คือ


1. มุ่งมั่นวิชาการ

    ครูจะต้องมุ่งมั่นใน การเสาะแสวงหา ความรู้เพื่อนำไปถ่ายทอด ให้แก่นักเรียนหรือศิษย์ สิ่งที่จำเป็นสำหรับครูคือ 1.1 ศาสตร์ที่จะสอน ครูต้องติดตามความก้าวหน้าของวิชาที่จะถ่ายทอด จากหนังสือ เอกสาร วารสาร ตามสื่อต่าง ๆ ตลอดจนเข้าประชุมเพื่อรับรู้ความคิดใหม่ ๆ ข้อค้นพบที่ขยายความรู้ออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะเตรียมพร้อมให้ตนเองมีความรู้ทันสมัยต่อเหตุการณ์ และประการสำคัญ ครูจะต้องมีความรู้ความเข้าใจใน ICT และนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอน ส่งเสริมให้ นักเรียนได้แสวงหา ความรู้บนพื้นฐาน ICT 1.2 ศาสตร์การสอน แม้ว่าครูจะมีความรู้ดีในศาสตร์ สาขาที่ชำนาญ เชี่ยวชาญ ก็ตาม แต่ความรู้เหล่านั้น จะไม่มีประโยชน์ต่อวิชาชีพครูแม้แต่น้อย หากครูยังขาดความรู้เรื่องของการถ่ายทอดวิชาการเหล่านั้น ครูจึงจำเป็นต้องติดตาม ศึกษา ค้นคว้า ให้ทันต่อความก้าวหน้าของศาสตร์การสอนเพื่อค้นหาวิธีการที่จะอธิบายหรือถ่ายทอดให้ศิษย์เข้าใจสาระต่าง ๆ และหาวิธีการที่จะถ่ายทอดความรู้สู้นักเรียนจาก ง่ายไปหายาก จากรูปธรรมไปหานามธรรม 1.3 ศาสตร์การพัฒนาคน โดยที่อาชีพครูเป็นอาชีพสร้างคนที่มีศักยภาพให้แก่ประเทศชาติ ผู้สร้างจึงจำเป็นต้องเอาใจใส่ และถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาคนให้มีความพร้อมด้านวิชาการ วิชาชีพ และการดำรงตนให้เป็นคนดีที่สังคมปรารถนา ครูต้องยืนหยัดในคุณธรรม โดย เฉพาะเบญจศีล และเบญจธรรม หรือหลักธรรมทางศาสนาที่เคารพ นับถือ


2. รักงานสอน

     งานสอน เป็นงานหลักของครู ทำอย่างไรนักเรียนจะอ่านออกเขียนได้ คิดคำนวณได้ แก้ปัญหาเป็น ครูต้องแสวงหาเทคนิควิธี และมีความศรัทธาต่อวิชาชีพของตน ต้องมีความรักการสอน สนใจที่จะพัฒนาการสอนให้น่าสนใจ เปลี่ยนแปลงวิธีการสอนเพื่อให้ได้ผล รู้จักวิธีถ่ายทอดที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจง่ายให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาการเรียนของตนเอง ให้รู้จักวิธีเรียน เรียนด้วยความสุขและรับรู้สาระในศาสตร์ที่ครูสอน



3. เอื้ออาทรศิษย์

       ครูต้องรัก และเมตตาศิษย์ รัก เข้าใจ และเอาใจใส่ดูแลลูกศิษย์ ห่วงใยว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ ลูกศิษย์ประสบ ให้เกียรติและยอมรับในความแตกต่าง ไม่ดูถูกหรือเยียบย่ำลูกศิษย์ ให้การช่วยเหลือทั้งทางด้านการเรียนและชีวิต เพราะนักเรียนเสมือนลูก ครูจึงต้องรักโรงเรียนเหมือบ้าน รักงาน เหมือนชีวิต รักศิษย์เหมือนลูกหลาน และรักเพื่อนร่วมงานเหมือน ญาติสนิท


4. คิดดี
 
ความคิด

       มีหลายรูแบบ ทั้งคิดเชิงระบบ คิดอย่างมีวิจารณญาณ แต่วิธีง่ายๆ คือครูต้องมีความคิดที่ดี ความคิดที่เป็นบวกต่อศิษย์ ต่อการสอน ต่อวิชาชีพ ต่อสถาบัน และต่อเพื่อนร่วมงาน คิดในสิ่งที่ดี และให้คิดอยู่เสมอว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีคุณค่าที่สุด ครูที่ดี ต้อง ไม่คิดเอาเปรียบนักเรียน คิดที่จะช่วยเหลือหาทางแก้ปัญหาด้วย ใจบริสุทธิ์เป็นต้นความคิดที่เป็นบวกจะช่วยให้ครูทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ


5. มีคุณธรรม
 
       
คุณธรรม เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคม และประเทศชาติ ดังนั้น ความมีคุณธรรมของครูมีความจำเป็นต่อวิชาชีพครู คุณธรรมที่สำคัญ ได้แก่ พรหมวิหาร 4 อิทธิบาท 4 ปราศจากอคติ 4 สัปปุริสธรรม 7 หิริ โอตตัปปะ สติ สัมปชัญญะ ความยุติธรรมด้านการสอน การประเมินผล ความต้องการให้ลูกศิษย์ประสบผลสำเร็จ ครูต้องมีความอดทน ระงับอารมณ์ได้ดี ไม่ทำร้ายคน เสียสละ มีความอายที่จะกระทำผิด และมีหลักศาสนายึดมั่น มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะประพฤติตนให้ถูกต้องตามระเบียบ ประเพณี และวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ


6. ชี้นำสังคม
 
       
ครูสังคมคาดหวังในการสืบสานขนบธรรมเนียม ประเพณี และอนุรักษ์วัฒนธรรม ฉะนั้น ครูจะต้องช่วยชี้นำสังคม นำในสิ่งที่ถูกต้อง ช่วยแก้ปัญหา ทำตนเป็นตัวอย่าง เช่น เรื่องของขยะสิ่งแวดล้อม และการประหยัดพลังงาน ช่วยชุมชนในด้านต่าง ๆ ทั้งการแก้ปัญหาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคม และการช่วยนำสังคมให้เป็นสังคมที่ดีงาม


7. อบรมจิตใจ

       จิตใจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการจัดการศึกษาต้องมีความรู้และคู่คุณธรรมเสมอ ถ้ามีความรู้อย่างเดียวยังไม่พอ เพราะความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอดมีถมไป ฆ่าตัวตาย แก้ปัญหาไม่ได้ ใจไม่หนักแน่นครูจำต้องฝึกฝนและปลูกฝังให้นักเรียนสามารถฝืนใจตนเองให้ได้เพราะฝืนใจได้กำไร แต่ตามใจขาดทุน ดังนั้น การพัฒนาผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญ ครูจึงต้องช่วยให้ข้อคิดที่ดี อบรม ตักเตือน สั่งสอนให้ศิษย์ประพฤติดี ดำรงอยู่ในศีลธรรม หน้าที่ของครูจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการสอนหนังสือเท่านั้น แต่จะต้องอบรมจิตใจให้มีคุณธรรม จริยธรรมอยู่เสมอ เพราะสอนหนังสือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าสอนคนให้เขาสามารถดำรงตนในสังคมได้อย่างมีความสุขคือสุดยอด ปรารถนาของอาชีพครู


8. ใฝ่ความก้าวหน้า

ความก้าวหน้า ไม่ว่าด้านอาชีพ ด้านความรู้ เป็นสิ่งที่ครูจะต้องมี การไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ รักที่จะช่วยให้ประเทศก้าวหน้า เผยแพร่ผลงานวิชาการให้แก่ชุมชนไม่หยุดยั้ง ครูจะต้องทำให้ชีวิตของครูก้าวต่อไปเพื่อที่จะทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง ศิษย์ สังคมและประเทศชาติ การที่จะทำไดต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพครู


9. วาจางาม

       การพูดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอาชีพครูเกี่ยวข้องกับการสอน การใช้วาจา เพราะมีอิทธิพลต่อเด็ก คำพูดไม่ดีเพียงคำเดียวอาจทำให้คนหมดหวัง หมดอนาคต และทำลายตนเองในที่สุด ดังนั้น คำพูดเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างประสบความสำเร็จ คำพูดที่ดีย่อมทำให้ผู้เรียนเกิดกำลังใจ มีความมุมานะ ในทางตรงกันข้าม คำพูดไม่ดี ย่อมทำให้ผู้ฟังเกิดความทุกข์ ไม่สบายใจ และทำให้เกิดความท้อถอย ไม่อยากเรียน ครูจึงต้องฝึกการพูดให้ถูกต้องตามกาลเทศะ ฝึกการพูดเพื่อจูงใจและส่งเสริมทำให้ศิษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีงามและถูกต้อง


10. รักความเป็นไทย

        ชาติไทย เหมือนบ้านหลังใหญ่ที่ทำให้เราสามารถมีชีวิตอย่างมี ความสุข สถาบันการศึกษาเป็นศูนย์กลางการพัฒนาคนให้เป็น ทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศชาติดังนั้น ครูจึงต้องส่งเสริมพัฒนาเอกลักษณ์ไทย เพื่อให้ศิษย์เป็นผู้ธำรงรักษาเอกลักษณ์ไทยเอาไว้โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตนจำเป็นต้องธำรงไว้ให้มั่นคง แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปได้ไกล จนทำให้แต่ละชาติสามารถติดต่อ รับรู้ และถ่ายทอดวัฒนธรรมซึ่งกันและกันได้ก็ตาม แต่เอกลักษณ์เฉพาะของคนในชาติ เช่น เรื่องของความเชื่อ ความเลื่อมในศรัทธาในพระพุทธศาสนา การอนุรักษ์ วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามเอาไว้ การสืบสาน ส่งเสริม และธำรงไว้ เพื่อทำให้เยาวชนเกิดความรัก ความภาคภูมิใจในความเป็นไทยเพื่อให้ดำรงอยู่จนตลอดกัลปาวสาน นอกจากนี้ การเป็นครู อย่าเป็นเพียงแต่สอนเขา สอนตัวเราเอาไว้ จะอำนวยผล เกียรติศักดิ์ของครู บูชาในสากล เพราะเป็น ผู้อุทิศตน ชี้นำทำได้จริง 



ครูดีที่สังคมคาดหวัง


     อย่างน้อย คือ 1. ความรู้ดี 2. ประพฤติดี 3. สอนดี 

    ความรู้ดี ทั้งทางโลก ทางธรรม วิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต ประพฤติดี ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ คุณธรรม จริยธรรมทางศาสนาที่นับถือ เช่น เบญจศีล เบญจธรรม ครูดี จำต้องหนักแน่น มั่งคง สุขุมรอบคอบ เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักเรียนและเพื่อนครูด้วยกัน ตลอดทั้ง ผู้ปกครอง สอนดี สอนให้มีความรู้คู่คุณธรรม ปลูกฝังระเบียบวินัย สมรรถนะของผู้เรียน และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้เกิดแก่ ผู้เรียน 


ครูที่ดีตามหลักคำสอนพระพุทธศาสนา 


       คุณลักษณะของครูที่ดีตามหลักคำสอนพระพุทธศาสนาคือครูที่แสดงออกทาง “ กัลยาณมิตตาธรรม ” 7 ประการ ดังนี้
1.   ปิโย – ทำตนให้น่ารัก หมายความว่า บุคคลใดที่เป็นครูนั้นจะต้องเป็นผู้ที่น่ารักศิษย์ได้พบเห็นแล้วอยากเข้าไปพบ สบายใจเมื่อได้พบปะกับอาจารย์ผู้นั้น สำหรับแนวทางกระทำตนให้น่ารักของศิษย์นั้นสามารถกระทำได้ดังนี้  
     1.1. มีเมตตาหวังดีต่อเด็กเสมอ
     1.2. ยิ้มแย้ม แจ่มใส ไม่บึ้งตึงทั้งเวลาสอนและ นอกเวลาสอน  
     1.3. ให้ความสนิทสนมกับศิษย์ตามควรแก่กาลเทศะ
     1.4. พูดจาอ่อนหวานสมานใจ
     1.5. เอาใจใส่อบรมสั่งสอนศิษย์ให้เกิดความรู้ อย่างแท้จริง
     1.6. เป็นเพื่อนในสนามกีฬา เป็นครูที่สง่าใน ห้องเรียน
     1.7 เมื่อเด็กมีความทุกข์ ครูให้ความเอาใจใส่คอย ปลอบประโลมให้กำลังใจ

2. ครุ – น่าเคารพ หนักแน่น บุคคลที่เป็นครูนั้นต้องเป็น ผู้ประพฤติตนเหมาะสมแก่ฐานะของความเป็นครู กระทำตนเป็นแบบอย่างแก่ศิษย์ทั้งพฤติกรรมทางกาย วาจา จิตใจหนักแน่น มั่นคง

3. ภาวนีโย – น่าเจริญใจหรือน่ายกย่อง กระทำตนให้เป็นที่เจริญน่ายกย่องของศิษย์และบุคคลทั่วไป มีความรู้และภูมิปัญญาอย่างแท้จริง มีคุณธรรมควรแก่การกราบไหว้บูชาของศิษย์เสมอ เปิดรับความรู้ใหม่ ๆ เชื่อกฎแห่กรรม เป็นผู้รักษาศีล ควบคุมจิตด้วยสมาธิ

4.วัตตา - มีระเบียบแบบแผน ต้องกระทำตนให้เป็นบุคคลที่เคารพกฎระเบียบ มีระเบียบแบบแผน ขณะเดียวกันก็อบรมตักเตือนศิษย์ให้เป็นผู้มีระเบียบ

5. วจนักขโม - อดทนต่อถ้อยคำ ครูจะต้องอดทนต่อคำพูดของศิษย์ที่มากระทบความรู้สึก ครูต้องพร้อมรับฟังข้อซักถาม ให้คำปรึกษาหารือ แนะนำ ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว

6. คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา – แถลง ชี้แจงเรื่องได้อย่างลึกซึ้ง มีความสามารถในการสอน ใช้คำพูดในการอธิบายเรื่องราวต่างๆได้อย่างแจ่มแจ้ง มีความรอบรู้ในเรื่องที่จะพูด

7. โน จัฏฐาเน นิโยชเย - ไม่ชักนำศิษย์ไปในทางเสื่อม หมายความว่า ไม่ชักนำศิษย์ไปในทางที่ต่ำทรามใดๆ สิ่งใดเป็นความเสื่อมโทรมทางจิต จะไม่ชักนำศิษย์ไปทางนั้น ในขณะเดียวกันครูต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอบายมุขทั้งปวง ครูดี ต้องมีความรู้ดี ประพฤติดี และสอนดี นอกจากนี้แล้ว ควรมีกัลยาณมิตรตามหลักพุทธศาสนา คือ ทำตนให้เป็นที่รัก หนักแน่น น่ายกย่องชมเชย ยึดมั่นในระเบียบแบบแผน อดทน ต่อถ้อยคำที่ทำให้เจ็บใจได้ สามารถพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้คน ฟังเข้าใจได้ง่าย แถลงเรื่องซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย และไม่ชักนำศิษย์ไปในทางเสื่อมเสียหรืออบายมุข



สรุป

     คุณลักษณะของครูที่ดีคือ มุ่งมั่นวิชาการ รักงานสอน เอื้ออาทรศิษย์ คิดดี
มีคุณธรรม ชี้นำสังคม อบรมจิตใจ ใฝ่ความก้าวหน้า วาจางาม และรักความเป็นไทย ครูดี ต้องมีความรู้ดี ประพฤติดี และสอนดี นอกจากนี้แล้วควรมีกัลยาณมิตรตามหลักพุทธศาสนา คือ ทำตนให้เป็นที่รักหนักแน่น น่ายกย่องชมเชย ยึดมั่นในระเบียบแบบแผน อดทนต่อถ้อยคำที่ทำให้เจ็บใจได้ สามารถพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้คนฟังเข้าใจได้ง่าย แถลงเรื่องซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย และไม่ชักนำศิษย์ไปในทางเสื่อมเสียหรืออบายมุข เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่จำเป็นสำหรับครู ที่นำมากล่าว เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น แต่ถ้าจะสรุปสั้นๆ การเป็นครูที่ดีคือ มีความรู้ดี มีเทคนิคการสอนดี และปฏิบัติดีเป็นแบบอย่างของนักเรียนและประชาชนทั่วไป เพราะอาชีพครูเป็นอาชีพสร้างจิตวิญญาณของ
ความเป็นมนุษย์ แบบอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน ครูดี มีคุณธรรมประจำจิต
ครูดีสร้างชีวิตให้สดใส คุณภาพคุณประโยชน์ จำใส่ใจ ครูดีไซร้สร้างคน
สร้างงานและสร้างชาติให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนเอย



บรรณานุกรม

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2552). การปฏิบัติงานสำหรับข้าราชการครู. มปท.

หมายเลขบันทึก: 686915เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2020 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2020 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท