เก็บข้อมูลอย่างไร ให้เป็นมิตรต่อผู้ให้สัมภาษณ์


ใช้ภาษาก็เหมือนเราใช้มีด ต้องรู้คม รู้ระวัง เมื่อภาษา และโครงสร้างของแบบสอบถามกำหนดขึ้นมาจากคนวงนอก ก็คงเปลี่ยนยาก แต่เราเป็นคนนำไปใช้ เรายังพออำนาจในการจัดกระบวนการ ก็ต้องพยายามออกแบบกระบวนการดังกล่าวให้เป็นมิตรต่อผู้ให้สัมภาษณ์ให้มากที่สุด (Human Centered Design)

“เป็นผู้ชายคนเดียว ชวนผู้หญิงในหมู่บ้านเป็นสิบ มาเปิดใจคุยเรื่องสุขภาพแบบผู้ญิ้งผู้หญิง ถ้าเป็นแต่ก่อน มีสิทธิ์ล่ม”

การเป็นคนพูดเก่ง ข้อมูลแน่น อุดมการณ์แรงกล้า มีตำแหน่งมีหน้ามีตา บางทีก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากมาย

ซ้ำร้ายอาจจะเป็นกำแพงด้วยซ้ำ หากไม่เข้าใจกระบวนการเหล่านี้.......

...........................................................................................................................

Self Talk ลงพื้นที่บ้านผามอน : เก็บข้อมูลอย่างไร ให้เป็นมิตรต่อผู้ให้สัมภาษณ์

จั่วหัวแบบนี้ เพราะถ้าใครเรียนสังคมวิทยาแนววิพากษ์มา ก็พอจะเก้ต คือเข้าใจว่า แบบสอบถามมันเป็นเครื่องมือแข็งทื่อ โดยเฉพาะภาษาเขียนที่ไร้อารมณ์ ไม่สนใจอารมณ์ของมนุษย์ และที่ลึกกว่านั้น มันเป็นเครื่องมือที่สะท้อนอำนาจของผู้ใช้ภาษา คือ คนในเมือง คนส่วนกลาง และชนชั้นปกครองที่สถาปนาภาษาไทยเป็นสื่อกลาง ซึ่งไม่แปลก เพราะเราจะใช้ภาษาอื่นเป็นโจทย์ก็ยาก จำต้องมีภาษากลาง แต่ถ้าคนที่รู้เท่าทัน จะระมัดระวัง

ใช้ภาษาก็เหมือนเราใช้มีด ต้องรู้คม รู้ระวัง

เมื่อภาษา และโครงสร้างของแบบสอบถามกำหนดขึ้นมาจากคนวงนอก ก็คงเปลี่ยนยาก แต่เราเป็นคนนำไปใช้ เรายังพออำนาจในการจัดกระบวนการ ก็ต้องพยายามออกแบบกระบวนการดังกล่าวให้เป็นมิตรต่อผู้ให้สัมภาษณ์ให้มากที่สุด (Human Centered Design)

ดังนั้น สถานที่ บรรยากาศ อาหาร ของว่าง ภาษากาย วาจา ใจ กาลเทศะ ที่ใช้ ทั้งหมดจึงต้องมุ่งไปที่ Human Centered Design คือ สร้างความมั่นใจ ความ “สบายๆ” ผ่อนคลายที่จะได้รับฟังความคิดเห็น

...................................................................................................................................................

“ฉันเป็นใคร?” “ฉันมาที่นี่ทำไม?” “วิสัยทัศน์ของฉันเป็นอย่างไร?” สามคำถามสำคัญที่เราจำเป็นต้องเกริ่นให้ชาวบ้านฟังก่อนเข้าสู่เนื้อหาของแบบสอบถาม จากนั้นยกระดับสู่ความคิดร่วม

ถ้าเป็นภาษาของอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ก็ว่า “Clarify Intention” “Clarify Context” คือ แล้วที่พาเจอกันวันนี้ เราตั้งใจอย่างไร มีบริบทหรือเหตุการณ์แวดล้อมเราอย่างไรบ้าง เราจะพามันไปสู่ทิศทางใด

ถ้านักศึกษาที่ลงพื้นที่กับผมสังเกต จะเห็นผมใช้กระบวนการนี้เสมอๆนะ ไปบ้านกะเหรี่ยงเมืองแพมนี่ก็ใช้ บ้านลาหู่ผามอนนี่ก็ใช้ แต่จะแทรกอยู่ในบทสนทนาแบบเรื่องเล่าบ้าง พูดเล่นบ้าง การกระเซ้าเย้าแหย่บ้าง การลดตัวเองลงเพื่อให้ชาวบ้านเขารู้สึกเหนือกว่าเราบ้าง หลายเทคนิคผสมๆกัน ไม่ได้เล่าทื่อๆออกมาเป็นขั้นๆ อย่างนั้นมันก็หุ่นยนต์ไป ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่มีเสน่ห์นะ

จะสัมภาษณ์ชาวบ้าน นี่ต้องทำให้วงสนทนามีเสน่ห์ เสน่ห์นี่มาจากภายในตัวเราเองก่อนเลยนะ คือ เตรียมตัวมาดี เตรียมกาย วาจา ใจ ศึกษาข้อมูลชุมชนมาบ้าง รู้จักผูกจิตผูกใจคนในชุมชนนั้นๆมาก่อน อาจจะทำไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ค่อยๆสะสมไป

อันนี้คือทุนทางสังคมที่จะช่วยให้เราเข้าชุมชนได้อย่างอบอุ่นกายใจ

เสน่ห์ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือ การพยายามคิดในมุมของชาวบ้าน อืม...อันนี้ ไม่ง่าย เพราะมันข้ามวัฒนธรรมกัน อย่างเรานี่เป็นผู้ชายคนพื้นราบมาคุยกับผู้หญิงชาติพันธุ์พื้นที่สูง นี่ก็ข้ามชาติพันธุ์ ข้ามเพศ และข้ามอีกหลายมิติกันเลยทีเดียว แต่ต้องคิดไว้ก่อนว่าไม่ยาก ฝึกไปเรื่อยๆ คือต้องหมั่นสำรวจตัวเอง ไม่ใช่สำรวจคนอื่นอย่างเดียว สำรวจตัวเองแล้วก้าวข้ามตัวเอง ข้ามอัตตา “กูแน่” “กูรู้” ให้ได้ แม้จะไม่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราอ่อนน้อม ท่าทีอ่อนน้อม และเปิดหูเปิดตาเปิดใจรับฟังชาวบ้านอย่างไม่ด่วนชี้แนะ ไม่ด่วนตัดสิน

ฟังด้วยใจเบิกบาน และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ใช่เพื่อโน้มน้าวหรือเอาชนะความเชื่อมั่นของใคร

ฟังโดยอย่าให้เรื่องที่ชาวบ้านเล่าไปติดแค่หัวสมอง แต่ต้องเปิดประตูห้องกว้างๆให้เรื่องเล่า ข้อมูล ประสบการณ์ของชาวบ้าน เข้ามากระทบจิตใจ อารมณ์ความรู้สึกภายในของเรา

หัวเราะได้ก็หัวเราะไปกับเขา ร้องไห้ได้ก็ร้องไปกับเขา นี่คือเสน่ห์ที่ขาดไม่ได้ ถ้าอยากให้วงเก็บข้อมูลจริงใจและมีสีสัน

เหล่านี้คือสิ่งที่ชาวบ้านเค้ารู้สึกได้

คือการสื่อสารที่มีความหมาย คือการเก็บข้อมูลที่มีชีวิต

.......................................................................................................................................

วันก่อนไม่ได้ AAR หลังลงพื้นที่กับทีมงานสามสาว (ปกาเกอะญอ ลีซู ลาหู่)ล่ามชุมชนคนรุ่นใหม่ สามคนนั้นอาจจะงงๆว่าผมลงไปนี่ดูเหมือนชิลๆ จริงๆนี่หลักคิดภายในเป็นยังไง ลงพื้นที่วันนั้นกลับถึงบ้านเหนื่อย เลยไม่มีโอกาสเล่า วันนี้ผมเลยถือโอกาสเขียน Self Talk เอาไว้ สกัดเป็นบทเรียนเผื่อคนรุ่นใหม่เอาไปใช้ในการลงภาคสนามกันนะครับ

cr. ขอบคุณภาพจากทีมงานสตรีชาติพันธุ์ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอนครับ

หมายเลขบันทึก: 686911เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2020 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2020 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท