ชีวิตที่พอเพียง 3820. บ้าทุกคืน … ระหว่างนอนหลับ



บทความเรื่อง While We Sleep, Our Mind Goes on an Amazing Journey (๑)เขียนโดย Michael Finkel   เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ของการนอนหลับอย่างยืดยาว และน่าสนใจ   โดยบอกว่าการนอนหลับเป็นกระบวนการเปลี่ยนฟอร์ม (metamorphosis) ของเรา    คือเราเป็นคนละคนตอนนอนหลับ    ตื่นขึ้นมาก็กลับเป็นคนเดิม    นี่ว่าด้วยเรื่องของสมองนะครับ    โดยนัยนี้ การนอนหลับเป็นพื้นที่แห่งความตาย

ชีวิตของผมใกล้หลับไม่ตื่นเข้าไปเรื่อยๆ    เป็นการเปลี่ยนฟอร์มถาวร   

จังหวะการนอนหลับและตื่น เชื่อมโยงกับการปรากฏและลับไปของดวงอาทิตย์ ... กลางคืน-กลางวัน ที่เรียกว่า circadian rhythm หากการเชื่อมโยงนี้สะดุด    สุขภาพของเราก็ถูกรบกวน    ความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น      

การเชื่อมโยงนี้ มีกลไกอยู่ภายในเซลล์ เรียกว่า molecular clock   ที่ผู้ไขความกระจ่างของกลไกได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ปี 2017    นาฬิกาธรรมชาติในร่างกายเรานี้ ถูกธรรมชาติสร้างมาให้สัมพันธ์กับนาฬิกาจักรวาล คือวงจรการปรากฏตัวของดวงอาทิตย์    หากนาฬิกาสองชุดนี้ไม่คล้องจองกัน หรือขัดแย้งกัน    สุขภาพของเราก็ถูกรบกวน    และวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่ ทำให้เกิดการระบาดของภาวะนาฬิกาสองชุดขัดกัน    คือเรานอนไม่เป็นเวลา หรือนอนน้อยไป    หรือมีพฤติกรรมที่ทำให้นาฬิกาธรรมชาติในร่างกายถูกรบกวน    เช่นได้รับแสงสีน้ำเงินในตอนกลางคืน   ทำให้ molecular clock ของเราถูกหลอกว่าเป็นเวลากลางวัน

เมื่อเริ่มมีแสงสว่างในรุ่งอรุณของวันใหม่  แสงจะผ่านเปลือกตากระตุ้นให้เราตื่น    แล้วจะมีการหลั่งฮอร์โมน คอร์ติซอล กระตุ้นความกระฉับกระเฉงเพื่อการทำงานและดำรงชีวิต    แล้วการหลั่งคอร์ติซอลค่อยๆ ลดลงจนเริ่มราตรี ฮอร์โมนเมลาโทนินจะหลั่ง กระตุ้นให้ง่วงนอน   

เวลากลางวัน แสงสีน้ำเงินในแสงแดด จะกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว    เมื่อตกเย็นแสงสีแดงมีมากกว่า เป็นสีที่เตือนสมองให้เตรียมพักผ่อนหลับนอน    แต่คนสมัยใหม่อยู่กับจอคอมพิวเตอร์จนดึก    แสงจากจอมีแสงสีน้ำเงินมาก    กระตุ้นสมองให้ตื่นตัว จึงนอนหลับยาก      

เมื่อกลไกการนอนหลับตามธรรมชาติถูกรบกวน    แทนที่เราจะกลับไปหาธรรมชาติ เรากลับฝีนธรรมชาติด้วยการกินยานอนหลับ      

หากเราอยู่กับธรรมชาติ   ตกค่ำแสงสว่างน้อย    เราปิดไฟเข้านอน    พร้อมกับ circadian rhythm ของเราบอกเวลากลางคืน    สัญญาณจะไปสู่ต่อมไพเนียลที่ฐานของสมอง ทำหน้าที่หลั่งฮอร์โมน เมลาโทนิน ที่บอกสัญญาณกลางคืนไปยังเซลล์ประสาทสมองทั้งแปดหมื่นหกพันล้านเซลล์ ให้เข้าสู่วงจรของการนอนหลับ   คืนหนึ่งราวๆ สี่ห้าวงจร   ซึ่งหมายความว่า ระหว่างที่เรานอนหลับ สมองยังคงทำงาน    โดยที่การหลับมีหลายระดับ     

ระดับแรกคือหลับตื้น กินเวลาราวๆ ๕ นาที    ช่วงนี้คลื่นสมองจะตื้นและเท่าๆ กัน    ต่างจากคลื่นสมองช่วงตื่นที่จะเป็นคลื่นสูงๆ ต่ำๆ ตามกิจกรรมที่ทำ     ในระดับนี้ประสาทรับรู้ต่างๆจะถูกปิดสวิตช์   

หลังจากนั้น จะมีกระแสไฟฟ้าจากส่วนลึกของสมอง มาสู่ส่วนเปลือกสมอง    คลื่นสมองช่วงนี้จะมีรูปร่างคล้ายกระสรวย (spindle) ช่วงละราวๆ ครึ่งนาที    นี่คือการหลับระดับที่ ๒    เป็นช่วงที่สมองส่วนนอกถูกกระตุ้นจากสมองส่วนลึกให้จดจำเรื่องราวที่เพิ่งรับมา  และเชื่อมความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม    ยิ่งคลื่นรูปกระสรวยเกิดถี่ สมองยิ่งเรียนรู้มาก    เขาเปรียบเทียบว่า ตอนตื่นและทำกิจกรรม สมองทำหน้าที่จดจำ (record) เรื่องราวหรือสารสนเทศไว้    ตกกลางคืนตอนนอนหลับ สมองจะเอาสารสนเทศเหล่านั้นมาทบทวนตกแต่ง (edit)    การหลับระดับที่ ๒ กินเวลาราวๆ ครึ่งหนึ่งของการนอนหลับ

โดยที่การนอนหลับจะมีสี่ห้าวงจร (cycle)   เช่นวงจรแรกอาจกินเวลา ๙๐ นาที    จะเป็นการหลับระดับ ๒ เสียราวๆ ๕๐ นาที    ในวงจรหลังๆ การหลับระดับ ๒ จะสั้นลง   

ในช่วงแรกของการหลับระดับสอง คลื่นกระสรวยจะมาถี่มาก ทุกๆ สองสามวินาทีอยู่ครู่หนึ่ง  ก็จะค่อยๆ มาช้าลง  ช้าลง    อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง    อุณหภูมิกายลดลง    และการรับรู้ต่างๆ หมดสิ้นไป    ในที่สุดก็เข้าสู่การหลับระดับที่ ๓ และ ๔    ซึ่งเป็นการหลับลึก หรือ “หลับเป็นตาย”    ไม่ฝัน    ในระดับที่ ๓ และ ๔ นี้ คลื่นสมองเป็น delta wave    ในระดับ ๓ คลื่นมาห่างๆ    ในระดับ ๔ คลื่นมาถี่กว่า   

สมองช่วงหลับระดับ ๔ คล้ายสมองของคนโคม่า  หรือสมองตาย    เราอยู่ในการหลับระดับนี้ได้ไม่เกิน ๓๐ นาที    สมองก็จะตื่น  ถอยออกมาตามลำดับ ๓ - ๒ – ๑   แล้วจึงเข้ารอบวงจรการหลับใหม่    คืนละสามสี่รอบ โดยเราอาจไม่รู้สึกตัวเลย    บางคนและบางคืนอาจรู้สึกตัวในเวลาสั้นๆ เป็นวินาที    แล้วหลับวงจรใหม่ ที่สมองเข้าสู่ดินแดนแปลกประหลาด   

หลังค้นพบว่าการหลับมี ๔ ระดับ ๑๕ ปี     ก็ค้นพบการหลับช่วงกลอกตาเร็ว (REM sleep, REM = Rapid Eye Movement) ในปี ค.ศ. 1953   นี่คือช่วงที่เราฝัน    และไม่ใช่แค่ฝัน แต่อวัยวะเพศก็แข็งตัวด้วย ทั้งสองเพศ  

ช่วงการหลับกลอกตาเร็วของแต่ละวงจรการหลับกินเวลา ๕ - ๒๐ นาที    โดยสั้นในวงจรแรก และยาวขึ้นในวงจรหลังๆ    รวมแล้วการหลับกลอกตาเร็วกินเวลาทั้งหมดราวๆ ๑ ใน ๕ ของเวลาหลับทั้งหมด   

ช่วงการหลับระดับ ๑ – ๔ เรียกว่า Non-REM sleep   ดังนั้น จริงๆ แล้วการหลับมี ๕ ระดับ    คือระดับ ๑ - ๔ กับ REM sleep   

การหลับระดับ ๑ - ๔ เป็นช่วงที่เราไม่รู้สึก    ส่วนระดับ REM sleep เรากลายเป็น “คนบ้าชั่วคราว”    คืออาจฝันเป็นเรื่องเป็นราวที่ไม่อยู่บนฐานของความเป็นจริง    หรือไม่มีทางเป็นความจริงได้    เชื่อว่า เกิดจากเซลล์ประสาทปล่อย กระแสประสาทออกมาแบบยุ่งเหยิงไร้ระเบียบ   

การฝันใน REM sleep  จึงเป็น “อาการบ้าชั่วคราว” ของสมอง    และการที่เราจำความฝันไม่ได้ หรือไม่รู้ตัวว่าฝัน เป็นตัวบ่งชี้สุขภาพดี 

ที่จริงในช่วงการหลับระดับ ๑ – ๔ เราก็ฝัน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับที่ ๒   แต่เป็นเพียงความฝันนำ เพื่อเข้าสู่ฝันจริง ใน REM sleep    

ดังนั้น แต่ละคืน คนเราฝันเกือบ ๒ ชั่วโมง    มีคนตั้งทฤษฎีว่า ช่วงฝันนั้น สมองทำการทดสอบระบบ    เพื่อให้มั่นใจว่า ตอนตื่นระบบจะใช้การได้ดี  

ในช่วงตื่น สมองอยู่ใต้การควบคุมของ ศูนย์เหตุผล (logic control center)    แต่ในช่วง REM sleep สมองอยู่ใต้การควบคุมของ ศูนย์อารมณ์ (impulse control center)  คือ limbic system   เขาบอกว่า ตอนฝัน เราจะรู้สึกเหมือนเราตื่น    โดยที่จริงๆ แล้วเราหลับลึกมาก    ความฝันจึงเป็น virtual reality ในธรรมชาติ   โดยที่ในช่วงนั้นกล้ามเนื้อร่างกายเป็นอัมพาต

เท่ากับมนุษย์เรามีชีวิตอยู่ในสองโลก  คือโลกภายนอก ที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตอนเราตื่น    กับโลกภายใน ที่เราสร้างเรื่องราวขึ้นเองตอนเราหลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนหลับระดับ REM sleep       

วงจรของการตื่น และการหลับ ที่ดำเนินการไปตามธรรมชาติ    ทำให้ชีวิตมีคุณภาพ    เราสามารถปรับพฤติกรรมของเรา ให้ได้หลับอย่างมีคุณภาพ เพื่อการมีชีวิตที่มีสุขภาวะ    

วิจารณ์ พานิช

๒๐ ต.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 686904เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2020 19:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2020 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เด็กบางคนกลางคืนไม่หลับ มาหลับกลางวัน ผู้ใหญ่บางคนอ่านไลน์ อ่านเฟสมากก่อนนอน ทำให้หลับยากขึ้น ก็สงสัยว่าสาเหตุที่นอนไม่หลับเป็นเพราะสูงวัยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท