ช่องว่างระหว่างชุมชนกับระบบบริหารจัดการในโลกออนไลน์ : วิธีคิดที่มองข้ามความเหลื่อมล้ำภายใน


จริงๆการนำเอาระบบไอทีมาใช้ในงานพัฒนาชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่ดีถ้ามีการออกแบบร่วมกันกับคนในพื้นที่ และทยอยปรับระบบสู่การเปลี่ยนผ่านอย่าง "โอบอุ้มและดูแล"

จะว่าไป ผมก็เป็นคนนึงที่ใช้ไอทีทำงานทุกวัน ใช้ผสมผสานจนเป็นหนึ่งเดียวกับงานวิจัย งานพัฒนา งานสื่อ รวมถึงมิติชีวิตในทุกด้าน

เราเลี่ยงกระแสโลกออนไลน์ไม่ได้ และไม่ช้า 5G ก็กำลังจะถาโถมเข้ามา แน่นอนว่ามันเปลี่ยนทั้งระบบการเงิน การเก็บข้อมูล การสื่อสาร การศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน สถาบันทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม การเมืองฯลฯ ไปอีกมหาศาล

เทคโนโลยีอาจจะเปลี่ยน ฉับๆๆ

แต่กระบวนการสร้างคน เสริมชุมชนนั้น เป็นกระบวนการเชิงคุณภาพ เป็นกระบวนการที่มีชีวิตที่ต้องเกาะเกี่ยวหล่อเลี้ยง การฟูมฟักดูแล ต้องอาศัยทั้งความกว้างและความลึก

จริงๆการนำเอาระบบไอทีมาใช้ในงานพัฒนาชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่ดีถ้ามีการออกแบบร่วมกันกับคนในพื้นที่ และทยอยปรับระบบสู่การเปลี่ยนผ่านอย่าง "โอบอุ้มและดูแล"

หากแต่ทุกวันนี้เหมือนกับส่วนกลางออกแบบระบบการจัดการแบบออนไลน์เองแล้วสั่งการลงมาเเบบ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตูมๆๆ นี่ถ้าฟังเสียงคนหน้างานและค้นคว้าเพิ่มอีกหน่อยในมิติสังคมศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์การเมือง จะเห็นและตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของชาวบ้านในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและข้อมูลสารสนเทศ (Digital Divide) ได้ไม่ยาก

การที่แหล่งทุนส่วนกลางห่วงเรื่องการควบคุมตรวจสอบมากเกินไป ทั้งยังมองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำของชาวบ้านในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและข้อมูลสารสนเทศ (Digital Divide) จึงง่ายต่อการเปิดช่องให้มีหน่วยงาน สถาบัน นักวิชาการ นักพัฒนามาทำหน้าที่บริหารจัดการรวบยอดตรงนี้ให้แทน

การบริหารจัดการให้แทนแบบนี้ แน่นอนว่าสะดวกรวดเร็วต่อแหล่งทุน แต่คำถามคือ มันเกิดผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะต่อชุมชน

มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อกระจายการเรียนรู้ กระจายงบการจัดการลงไปสักเท่าไร?

มีการพัฒนากลไกบริหารจัดการที่มาจากสัดส่วนผู้แทนจากชุมชนร่วมด้วยแค่ไหน?

และหากการจัดการโครงการเป็นไปตามเป้า โดยเฉพาะการควบคุมดูแลงบ วิเคราะห์แต่ผลตาม KPI แต่มืดบอดในการมองความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วม (เชิงรุก)ในการพัฒนาขับเคลื่อนโครงการ ตลอดจนไม่มีระบบการสร้างสรรค์ผู้นำรุ่นใหม่ๆอย่างจริงจัง

ถามว่าตรงนี้คุ้มไหม? ยั่งยืนไหม?

หรือจะเอาแค่ทำอีเวนต์ ทำโปรเจ็คต์ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ?

ผมคิดว่า วิสัยทัศน์ที่ส่งผลต่อพันธกิจและกระบวนการตรงนี้มีปัญหา และจะส่งผลกระทบที่หนักขึ้น ซับซ้อนขึ้น ภายใต้วาทกรรม "ธรรมาภิบาล" เชิงเดี่ยวที่ไม่มองคุณธรรมด้านอื่นๆประกอบ

แม้ยังไม่สายที่จะทบทวน แต่ต้องอาศัยคนกล้าที่จะพูดความจริงโดยใช้หัวใจของชาวบ้านตาสีตาสา เด็กเยาวชน คนไม่รู้หนังสือ โดยเฉพาะในพื้นที่ชาติพันธุ์ พื้นที่ชายแดนที่เหลื่อมล้ำกว่าคนไทยในประเทศนี้แทบทุกด้าน รวมถึงเหลื่อมล้ำในทางดิจิตัล

ขอบคุณที่อ่านบทความมาถึงบรรทัดนี้ ด้วยใจที่ไม่เหลื่อมล้ำครับ

หมายเลขบันทึก: 686909เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2020 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2020 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท