บ่อน้ำ กองไฟและสายลมหนาว


บ่อน้ำ เป็นเสมือนแหล่งถ่ายทอดวัฒนธรรมของชาวบ้านและเป็นศูนย์รวมการพบปะชั้นเยี่ยมของผู้คนทั้งในแง่มุมแห่งความบันเทิงและเริงปัญญา"

ห้วงเวลาหนึ่งวันนี้    ผมได้พบปะกับนิสิตท่านหนึ่ง  เราทักทายกันเล็กน้อยแต่นั่งคุยกันนาน   ผมถามนิสิตว่าฤดูหนาว (หน้าหนาว) เช่นนี้เธอคิดถึงอะไร  เธอบอกกับผมอย่างไม่รีรอว่า เครื่องทำน้ำอุ่นและโลชั่น (ยี่ห้อหนึ่งซึ่งโด่งดัง มีราคา แต่ผมไม่เคยใช้)

     ..เธอไม่ลืมที่จะส่งคำถามกลับมายังผม  และเช่นเดียวกันผมก็ไม่ลังเลที่จะบอกกับเธอว่า "บ่อน้ำและกองไฟ"  ...     เธอหัวเราะขบขันอย่างน่ารัก  แววตาทอประกายสวยใสและมิหนำซ้ำยังบอกกับผมว่าที่บ้าน (บ้านนอกขอบชนบทของเธอ)  ไม่มีบ่อน้ำหลงเหลือให้พบเห็นอีกแล้ว  ซ้ำร้ายตั้งแต่เกิดมาเธอเองก็ไม่เคยเห็น "บ่อน้ำ"  เลยแม้แต่บ่อเดียว

แต่สำหรับผมทุกครั้งที่ลมหนาวมาเยือนความทรงจำเก่าก่อนยังแจ่มชัดราวกับเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวานซืน -

หมู่บ้านของผมมีบ่อน้ำ ๓ บ่อ อยู่กลางหมู่บ้าน ๑ บ่อและท้ายหมู่บ้านอีก ๒ บ่อ  (แต่ปัจจุบันก็ไม่เหลือแม้แต่ร่องรอย)  ทั้ง ๓ บ่อทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนในหมู่บ้านในทุกฤดูกาลอย่างไม่เคยเหือดหายไม่ว่าจะเป็น  ดื่มกิน  อาบ หุงต้ม ซักผ้า รดผัก ฯลฯ  และยังเจือจานไปถึงหมู หมา วัว ควาย เป็ด ไก่ ฯลฯ

ไม่เพียงเท่านั้น,   บ่อน้ำยังเป็นเสมือน "ศาลาประชาคม"  ให้ชาวบ้านพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวนานาสาระกันที่นั่น  ..

บ่อยครั้งเป็นเหมือนสภากาแฟถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิด  รวมถึงการเป็นเสมือนแหล่งบันเทิงของเด็กและหนุ่มสาวที่มาวิ่งเล่น อาบน้ำ  ฝากรัก หรือแม้แต่เลิกรักกันก็บ่อยไป

ผมชอบบรรยากาศหน้าหนาวบริเวณบ่อน้ำในย่ำค่ำ ...มีกองไฟลุกโชนไล่ความหนาวเหน็บ  ไม่ว่าก่อนหรือหลังการอาบน้ำผู้คนก็มักนั่งล้อมวงรอบกองไฟกันทั้งนั้น !

ผมเคยได้ฟังเรื่องละครทีวีผ่านกองไฟใกล้บ่อน้ำอยู่บ่อยครั้ง  ฟังเรื่องนาข้าวที่รอการเก็บเกี่ยว ฟังเรื่องการตายของยายสี ฟังเรื่องหนุ่มต่างบ้านมาสู่ขอ "เอื้อยดา" ลูกสาวคนเดียวของป้าดำ  ฟังเรื่องผ้าป่าสามัคคีที่กำลังมาถึงหมู่บ้านในเทศกาลปีใหม่.....

ผมเคยบอกกับนิสิตในโครงการเรียนรู้ร่วมกันสรรค์สร้างชุมชนเมื่อหลายปีก่อนว่า "บ่อน้ำ เป็นเสมือนแหล่งถ่ายทอดวัฒนธรรมของชาวบ้านและเป็นศูนย์รวมการพบปะชั้นเยี่ยมของผู้คนทั้งในแง่มุมแห่งความบันเทิงและเริงปัญญา"

กระทั่งเมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว  บางครัวเรือนที่มีอันจะกินเริ่มขุดเจาะบาดาลใช้เอง  รวมถึงหน่วยงานรัฐอย่าง รพช. ตั้งหน้าตั้งตาเจาะบาดาลให้บริการชาวบ้านอย่างทั่วถึง ...  ผู้คนเริ่มไม่ออกมาพบปะและก่อกองไฟใกล้บ่อน้ำอีกแล้ว ยิ่งเมื่อประปาหมู่บ้านเข้ามามีบทบาทในแต่ละครัวเรือน  ยิ่งเหมือนกับว่าสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ได้แยกเราและเราไกลห่างออกจากกัน ...ผู้คนหันเหมาต้มน้ำอุ่นอาบกันที่บ้านของตนเอง  บ่อน้ำถูกทิ้งร้าง ตื้นเขินและท้ายที่สุดก็ถูกกลบทิ้ง  

ไม่มีกองไฟไล่ลมหนาวใกล้บ่อน้ำอีกต่อไป  ขณะที่สายลมหนาวก็ยังคงมาเยือนและโบกพัดอยู่อย่างไม่รู้จบ

       และนานมาแล้วที่เด็ก ๆ ไม่ได้วิ่งเล่นที่บ่อน้ำ  

       ไม่มีนิยายรักคนหนุ่มสาวชาวบ้านที่บ่อน้ำ 

       ไม่มีสภากาแฟที่บ่อน้ำ

       ไม่มีภาพชีวิตการอาบน้ำ ซักผ้า  รดผักที่บ่อน้ำ ....

โลกยังคงหมุนรอบตัวเอง  สังคมเปลี่ยนแปลง  เราเปลี่ยนตาม...

กระนั้นก็เถอะยังมีความทรงจำที่แจ่มชัดอยู่ในตัวผม ..และไม่ลืมที่จะหวนคิดถึงโครงการเรียนรู้ร่วมกันสรรค์สร้างชุมชนที่จากหายไปในฤดูร้อน 

คิดถึงค่ายอาสาพัฒนาของหลายชมรมที่เคยชักรอกเอาน้ำจากบ่อน้ำอันตื้นเขินและแห้งขอดของหมู่บ้านมาผสมปูนสร้างอาคารเรียนและสนามกีฬาในห้วงเดือนมีนาคมเมื่อหลายปีก่อน

(วันนี้)  ผมอาบน้ำอุ่นจากเครื่องน้ำทำน้ำอุ่น  ไม่ทาโลชั่น  แต่ก็ยังรู้สึกหนาวเย็น เพราะอานุภาพของลมหนาวยังไม่เคยเปลี่ยนแปลง 

ถึงอย่างไรตามผมก็ยังอบอุ่นทุกครั้งเมื่อได้หวนคำนึงถึงห้วงชีวิตที่เคยว่ายวนและดำเนินไปใกล้ ๆ กับบ่อน้ำและกองไฟในฤดูหนาว....  และไม่ลืมที่จะชวนให้นิสิตระดมกำลังรับบริจาคสิ่งของเครื่องกันหนาวไปสู่ชาวบ้านอันใกล้และไกลโพ้นในอีกไม่ช้า...

 

หมายเลขบันทึก: 68659เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2006 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

บ่อน้ำ เป็นความทรงจำวัยเด็กเช่นกันครับ เวลาที่เปลี่ยนไปบ่อน้ำลดบทบาทลง เมื่อสาธารณูปโภคมาแทนที่

บรรยากาศรอบบ่อน้ำ ยังคงเป็นพื้นที่ ปะทะสังสรรค์ทางสังคมอย่างที่คุณแผ่นดินเขียนไว้

ยังคงมีวิถีชีวิตรอบบ่อน้ำของคนบนดอย ที่ยังคงเต็มไปด้วยฉากภาพชีวิตแบบนั้นอยู่...

อ่านแล้วคิดถึงบรรยากาศเก่าๆครับ

.......................

ผมแวะมาให้กำลังใจในการเขียนด้วยนะ...ผมชอบรูปแบบการเขียนแบบนี้ครับ เป็นธรรมชาติ ดูจริงใจดี

ขอบคุณครับ..ผมเองก็กำลังติดตามอ่านการเขียนของคุณเช่นกัน และยิ่งดีใจที่รู้ว่า "บ่อน้ำ" ยังคงปรากฏอยู่บนดอยทายท้ายุคสมัยเช่นนั้น

ช่วงนี้ นาที(แซว)ทอง ครับ ..ไล่แซวคนโน้นคนนี้ (ก่อนนอน)

อุ๊ย...blog เช็คอายุหรือป่าวนี่

พี่เองก็เคยเห็นบ่อน้ำนะคะ  ยังทัน ฮา...

สมัยก่อนจำได้ว่า  ปิดเทอมมาเที่ยวบ้านคุณยาย อยู่หลังมอเก่า  เราจะสนุกกับการนั่งเกวียนเพื่อถ่วงหน้าเกวียนให้ต่ำสะดวกกับพี่ๆเด็กโตที่ไปเข็นน้ำจากบ่อ "บ่อน้ำ" ที่ว่านี่  ไม่ใช่บ่อน้ำเฉพาะของหมู่บ้านนะคะ  เข้าใจว่าใช้ร่วมกัน 2 หมู่บ้านทีเดียว  เพราะบ่อน้ำจะอยู่ "ห้าแยก" เป็นที่ชุมนุมกันตอนเย็นๆทั้งเด็กโตและสาวรุ่นๆของ 2 หมู่บ้าน  บ้านโนนฯ และบ้านหนองข่า

 ไม่น่าเชื่อว่า   ผ่านมานับสิบปี  "ห้าแยก" ปัจจุบันกลายเป็น สี่แยก  แต่ทุกเย็นก็ยังเป็นที่ชุมนุมของวัยรุ่น(เด็กโต) นิสิต(มมส)นักศึกษา(มรภ.มค) ไปจับจ่ายกับข้าวสำเร็จรูป  กับข้าวถุงต่างๆ และเมนูกล่าวขานกันว่า...ไก่ทอดJFC 

  • ตอนนี้เท่าที่ผมเห็น "ศาลาประชาคม" ของชุมชนก็จะมี สนามเปตองเข้ามาแทนที่บ้างแล้วครับ
  • "บ่อน้ำ" ก็จะมีมินิมาร์ท ประจำหมู่บ้านเข้ามาแทนที่
  • เป็นสิ่งที่เห็นเป็นส่วนมากนะครับ ที่ที่ยังคงวัฒนธรรมอย่างเดิมก็คงยังมี ทามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมเมืองที่เราอาจจะปฏิเสธไม่ได้ครับ

โลกหมุนรอบตัวเองอยู่เสมอ

เราต่าง  พานพบเจอสิ่งหลากหลาย

สังคม  เปลี่ยนหมุน  อย่างวุ่นวาย

เราต่าง  ตะเกียกตะกายไม่เว้นวัน

เป็นเช่นนี้ใช่ไหม - ชีวิต

ถูกผิด เราคือผู้  ลิขิตฝัน

เก็บเกี่ยว  และ แบ่งปัน

ทีละนิดทีละอันนิรันดร์ไป...

บางสิ่งบางอย่างที่ค้นหา

อาจมิใช่ปรัชญาที่ยิ่งใหญ่

ใช่ หรือมิใช่ คำตอบใด

ล้วนอยู่ที่ใจของเราเอง

 

 

 

 

  • บันทึกนี้ของคุณ แผ่นดิน ทำให้คิดถึงสมัยเมื่อนานมาแล้ว ในช่วงที่ไปอยู่กับปู่กับย่าในหมู่บ้าน
  • ช่วงเย็นๆ จะต้องตามปู่ไปตักน้ำจากบ่อ มาไว้ใช้ที่บ้าน แล้วเดินไปอาบน้ำที่แม่น้ำท้ายหมู่บ้าน
  • แต่หากค่ำ ก็จะไปอาบน้ำที่ข้างบ่อน้ำของเพื่อนบ้าน (ที่บ้านปู่ไม่มีบ่อน้ำ แต่เราไปตักน้ำหรืออาบน้ำจากบ่อเพื่อนบ้านได้)
  • เป็นช่วงหนึ่งที่ชีวิตมีความสุขมาก
  • ขอบคุณค่ะ
  • ขอบคุณท่านอาจารย์มากครับ
  • ผมเองก็มีความสุขทุกคั้งที่ได้หวนรำลึกถึงภาพเก่าวันก่อนเช่นนี้
  • แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่า วันนี้  ไม่มีเรื่องดี ๆ ให้คิดถึง

ขอบคุณ

เจ้หนิง

คุณวิชิต

P

น้องแจ๊ค

P

.... และขออภัย ครับ ที่วกกลับมาแลกเปลี่ยนช้ามาก  พอดีกลับบ้านมาเลยนึกอยากย้อนกลับมาอ่านบันทึกอะไรที่เกี่ยวกับบ้านของตนเอง

ผมเขียนถึงบ้านและเรื่องราวที่บ้านน้อยมาก

ตั้งใจจะเขียนให้มากขึ้น

ขอบคุรครับ

  • สวัสดีครับ
  • มีบ่อน้ำนึกถึง หมาตอก ครับ หมาตอก เอาไว้ตักน้ำ ทำมาจากกาบหมากครับ แล้วมาพับเย็บเป็นอุปกรณ์มีชื่อผูกแล้วตักน้ำขึ้นมาอาบทีละหมา อิๆๆ ก็สนุกดี สนองถึงการเป็นอยู่แบบพอเพียงไปอีกแบบครับ
  • ยุคหนึ่งก็เปลี่ยนจากหมาตอก เป็นหมาแกนลอน (แกนลอนน้ำมันห้าลิตรครับ)
  • หมาตอก เป็นคำใต้นะครับ ไม่แน่ใจที่อื่นเรียกว่าอะไรครับ
  • ขอบคุณครับ

เช่นกันค่ะ  จากที่ได้อ่านบันทึกของพี่พนัสแล้ว ก็ชวนให้นึกถึง หน้าแล้ง ลมหนาว ที่บ้านนาของน้ำแดงเองไม่ได้ค่ะ  ที่จะมี บ่อน้ำ ที่ท้ายไร่ ที่คุณพ่อบอกว่าที่ตรงท้ายไร่นี้มันเป็นลักษณะของดินที่มีน้ำซึมออกมาตลอดปี และบ่อน้ำแห่นี้น้ำแดงได้เห็นมันมาตั้งนานแล้วแต่จำไม่ได้ว่าตอนไหน แต่มีครั้งหนึ่งที่น้ำแดงกับครอบครัว  แม่ พ่อ พี่สาว และตัวน้ำแดงเอง ได้ถือว่าช่วยกัน บูรณาการบ่อน้ำใหม่ก็ว่าได้ค่ะ พ่อบอกว่ามันไกล้จะเข้าหน้าแล้งแล้วเดี๋ยวจะไม่มีน้ำกิน ว่าแล้วคุณพ่อ ก็ไม่รอช้าที่ตักน้ำออกจาก บ่อให้หมด  และการที่ตักน้ำออกจากบ่อให้หมดนี้ เป็นอะไรที่เหนื่อยมาก เพราะน้ำในบ่อมันจะยังคงไหลซึมออกมาเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องตลอด  ส่วนน้ำแดงก็ช่วยพ่อตักน้ำออกจาก บ่อเป็น ระยะๆบ้าง เพื่อที่พ่อจะได้พักให้หายเนื่อย สักคู่แล้วจึงมาตักน้ำออกจากบ่อต่อจนหมด  และขณะเดียวกันนั้นพี่สาวกับเเม่ของน้ำแดงเองก็นำหินก้อนใหญ่ที่เก็บมาจากหัวไร่ของคุณลุง ลงมาล้อมไว้ในบ่อ ซึ่งพ่อบอกว่าการที่เราเอาหินมาล้อมขอบบ่อและในบ่อ จะทำให้ดินที่บ่อไม่พังและทำให้บ่อไม่กว้างไปกว่านี้ด้วย  ช่วยกันคนล่ะไม้คนล่ะมือจนเสร็จ  บ่อน้ำใช้เวลาเพียงไม่นานก็มีน้ำขึ้นมาเต็มบ่อเช่นเคย 

เมื่อลมหนาว หน้าแล้ง ของปีหนึ่งพัดมาเยือน น้ำแดงจำไม่ได้ว่าปีไหน แต่พอจำได้ว่า เรียนนอยู่ชั้น ม. 1 ปีนั้นอากาศแห้งแล้งมาก น้ำกินน้ำใช้มีน้อย ชาวบ้านถึงกลับต้องตักน้ำที่สระที่พอจะแลดูใสๆหน่อยไปใช้อาบกัน แต่น้ำที่ใช้กินของชาวบ้านนี่ซิ ไม่ได้ได้มาจากไหนเลย กลับมาจากบ่อน้ำที่ท้ายไร่ของน้ำแดงนั่นเอง จะว่าได้ว่าคนเกือบทั้งหมู่บ้านมาใช้น้ำที่บ่อน้ำท้ายไรนี้เกือบทั้งสิ้นและรวมถึงหมู่บ้านที่ไกล้เคียงด้วย ในช่วงฤดูแล้งนั้นครอบครัวก็ยังคงไปไร่ปกติ  ส่วนน้ำแดงกับพี่สาวก็จะได้ไปด้วยในวันเสาอาทิตย์เท่านั้นเพราะเป็นวันที่หยุดเรียน  ตั้งแต่ชาวของทุกวัน  จะมีเสียงตะโกนจากชาวบ้านมาว่า เป็นไง ทำอะไร  กินข้าวหรือยัง (ซึ่งเป็นภาษาอีสาน) ตั้งแต่เช้าจากคนที่มาตักน้ำ จากบ่อน้ำที่ไร และก็เป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยๆตลอดวัน บางวันมีแม้กระทั้งที่ใช้รถมาเข็ญเลยทีเดียว  เคยมีครั้งหนึ่งหลังจากกินข้าวเที่ยงเสร็จ ก็นั่งคุยกันกับครอบครัว แล้วน้ำแดงเคยถามพ่อกับแม่ว่า คนมาตักน้ำที่บ่อน้ำเราตั้งเยอะ ทำไมเราไม่ขายล่ะ  ถ้าเกิดเราขายเราจะใด้เงินเยอะมากเลยนะ เพราะที่อื่นก็เห็นขายกันตั้งเยอะแยะในตอนนี้   คำตอบที่ได้จากพ่อคือน้ำที่บ่อมันเป็นสิ่งที่ไม่ควรขาย สิ่งไหนที่ควรแบ่งกันกินได้ก็แบ่กันกินไปและอีกอย่างเราไม่ได้สร้างมันมาธรรมชาติเป็นคนสร้างมันมา ถึงแม้ว่าเราจะขายไปเงินเพียงนิดเดียวไม่ทำให้เรารวยได้หรอกมันเทียบกับกับการพึ่งพาอาศัยกันไม่ได้เลย ซึ่งเราฟังดูแล้วคิดตามมันก็ใช่จริงๆ พอกลับมานั่งคิดทบทวนแล้วมันใช่จริงๆบางครั้งเพื่อนบ้าน หรือชาวบ้านที่มาตักน้ำที่บ่อ จะมีของติดไม้ติดมือมาฝากพ่อเสมอ ไม่มากก็น้อย ดูแล้วมันเป็นอะไรที่มีความหมายในสิ่งที่พ่อพยายามจะบอกจริงๆ  รวมถึงคนที่ไม่รู้จักก็ได้รู้จักกันเพราะน้ำบ่อนี้เองแล้วย่ายังเล่าให้ฟังต่ออีกว่า บ่อน้ำแบบนี้ไม่ใช่จะมีไปได้ทุกที่ ส่วนมากย่าบอกว่ามันจะมีบ่อน้ำแบบนี้สำหรับคนที่ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ทั้งนั้น ซึ่งที่ไร่ปลายนาของคนอื่นจะแห่งแล้งแต่ที่ไร่ของน้ำแดงยังจะชุ่มชื้นด้วยน้ำที่ซึมออกมาอยู่ตลอดปี  จนกระทั้งวันนี้น้ำแดงเรียนอยู่ปี 3 แล้วไม่รู้ว่าเวลาจะผ่านมากี่ปี ทุกครั้งที่กลับบ้าน น้ำแดงยังคงแวะไปดูที่บ่อน้ำเรื่อยๆถ้ามีเวลา ถึงแม้วว่าทุกวันนี้จะไม่มีคนใช้มากเหมือนแต่ก่อน แต่นานๆครั้งก็จะได้ยินเรื่องเล่าจากชาวบ้านเสมอว่า ตอนปีที่แล้งที่สุดก็ได้มีน้ำที่บ่อที่ไร่ของคุณพ่อช่วยชีวิตให้พ้นแล้งนั้นได้จนถึงทุกวันนี้ เรื่องเหล่านี้ยังคงได้ยินจากคนแก่กันนานๆครั้งบ้างค่ะ จนถึงวันนี้น้ำแดงไม่เคยลืมบ่อน้ำนั้นเลย และอาจจะรวมถึงคนที่เคยใช้น้ำบ่อนี้เช่นกันกระมั้ง

สวัสดีครับ 
P
  • ผมไม่มีโอกาสได้ใช้หมาตอกที่ทำจากกาบหมาก
  • แต่ถ้าเป็นแกนลอนนั้นเคยใช้บ่อยครั้ง
  • ผมไม่แน่ใจว่าทางอีสานเรียกหมาตอกว่ายังไง  แต่ก็กำลังค้นปากคำจากคนแก่คนเฒ่าอยู่นะครับ
  • คงได้นำมาแลกเปลี่ยนอีกครั้ง...
  • ขอบคุณครับ...บันทึกนี้เกิดความรู้เพิ่มขึ้นอีกเยอะเลย

น้องกุ้งน้ำแดง

ขอบใจมากที่แวะมาเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกนี้...และขอบใจที่ให้รายละเอียดอย่างยืดยาว  แต่ชวนอ่าน  ชวนติดตามไม่น้อยเลยทีเดียว

บ่อน้ำที่บ้านของกุ้ง  กลายมาเป็นสถานที่บันทึกภาพประวัติศาสตร์ชุมชนที่เกี่ยวพันกับการแบ่งปันมิตรภาพ, น้ำใจและความเอื้ออาทรกันสู่กันและกัน

กุ้งน่าจะดีใจและภาคภูมิใจในความเป็นพ่อของกุ้ง..โดยเฉพาะการสอนวิธีคิดของคนชนบทที่ไม่เห็นเงินอยูเหนือความรักและการแบ่งปัน

น้ำแดงเคยถามพ่อกับแม่ว่า คนมาตักน้ำที่บ่อน้ำเราตั้งเยอะ ทำไมเราไม่ขายล่ะ  ถ้าเกิดเราขายเราจะใด้เงินเยอะมากเลยนะ เพราะที่อื่นก็เห็นขายกันตั้งเยอะแยะในตอนนี้   คำตอบที่ได้จากพ่อคือน้ำที่บ่อมันเป็นสิ่งที่ไม่ควรขาย สิ่งไหนที่ควรแบ่งกันกินได้ก็แบ่กันกินไปและอีกอย่างเราไม่ได้สร้างมันมาธรรมชาติเป็นคนสร้างมันมา ถึงแม้ว่าเราจะขายไปเงินเพียงนิดเดียวไม่ทำให้เรารวยได้หรอก

พี่ประทับใจเรื่องที่เธอเล่ามาก....เช่นกันคือ  ประทับใจคุณพ่อของกุ้งมาก  นั่นแหละคือแบบอย่างที่ดี 

ขอบใจมาก..น้องรัก

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท