เรียนรู้จากการเป็นกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัล (1)


เรียนรู้จากการเป็นกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัล (1)

         9 - 11 พ.ย.48   มีการประชุมคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ  มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ   ซึ่งมีการประชุมกันปีละครั้ง   ปีนี้พิเศษตรงที่กรรมการมาประชุมครบทั้ง 12 คน   กรรมการเป็นคนไทย 4 คน คือ  ศ. นพ. อารี  วัลยะเสวี,  ศ. นพ. วิศิษฏ์  สิตปรีชา,  ศ. นพ. ไกรสิทธิ์  ตันติศิรินทร์  และผม     เป็นคนอเมริกัน 3 คนคือ  Prof. Joshua Lederberg (ผู้ได้รับรางวัลโนเบล),   Prof. Nevin Scrimshaw (ผู้ได้รับรางวัล World Food Prize ใกล้เคียงรางวัลโนเบล),   และ Prof. Donald Henderson   3 ท่านนี้เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้าน Life Science,  Nutrition และ Epidemiology ตามลำดับ   มาจาก Rockefeller Univ,  MIT และ Johns Hopkins Univ. ตามลำดับ     มาจากประเทศไนจีเรีย 1 คนคือ  Prof. Adetokunbo Lucas เป็นผู้เชียวชาญด้าน Public Health     มาจากออสเตรเลีย 1 คนคือ  Prof. Sir Gustav Nossal เชี่ยวชาญด้าน Immunology     จากอังกฤษ 1 คนคือ Prof. Sir David Weatherall เชี่ยวชาญด้าน Hematology และ Genetic Medicine     จากเยอรมัน 1 คนคือ Prof. Bert Sakmann จาก Max Planck Institute, Heidelberg เชี่ยวชาญด้าน Cell Physiology (ได้รับรางวัลโนเบล)     และจากญี่ปุ่น 1 คนคือ  Prof. Tadamitsu Kishimoto จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า  เชี่ยวชาญด้าน Immunology (Interleukins)

         จะเห็นว่าผู้ใหญ่ที่ร่วมกันรับผิดชอบคุณภาพและเกียรติอันสูงส่งของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ได้ร่วมกันสรรหาและเชื้อเชิญนักวิชาการ/วิจัย/สาธารณสุข  ระดับยอดของโลกมาร่วมเป็นกรรมการ   โดยให้มีการกระจายและดุลยภาพด้าน Geographical distribution,  และ area of expertise distribution

          กรรมการเหล่านี้ทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ เลย   แต่ผู้ที่อยู่ต่างประเทศจะได้รับตั๋วเครื่องบินชั้น 1 ของการบินไทยพร้อมภรรยา  และจัดให้มาพักที่โรงแรมโอเรียนเตล   และระหว่างการประชุมมูลนิธิฯ จะจัด Lady's Program ไปทัวร์,  shopping และเลี้ยงอาหาร   โดยมูลนิธิฯ จ่ายค่ารับรองทั้งหมด   เมื่อผมมารับหน้าที่ประธานหลังจากมรณกรรมของท่านประธานท่านแรกคือ ศ. นพ. ณัฐ  ภมรประวัติ   ภรรยาของผม  ศ. พญ. อมรา  พานิช  จึงต้องลางานมาทำหน้าที่เป็น tourist ร่วมกับภรรยากรรมการทั้งหลายการตอบแทนที่ดึงดูดใจและทุกคนรอคอยคือ   การพาไปทัวร์หลังจากคณะกรรมการประชุมเสร็จ   อย่างปีนี้จะพาไปทัวร์ภูเก็ต  วันที่ 12 - 14 พ.ย.48   โดยที่ความพิเศษของทัวร์นี้คือ  องค์ประธานมูลนิธิฯ คือ   สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จนำคณะกรรมการที่เป็นชาวต่างประเทศไปทัวร์ด้วยพระองค์เอง   เป็นที่ชื่นใจของกรรมการชาวต่างประเทศเป็นอันมาก   และทำให้กรรมการที่เป็นคนไทยและผู้ทำงานให้มูลนิธิฯ ในฐานะอื่นพลอยตามเสด็จไปด้วย   ผมเองเคยตามเสด็จไปหลวงพระบางในปีหนึ่ง   ปีถัดมาไปสุโขทัย - ศรีสัชนาลัย   และปีที่แล้วไปเชียงใหม่

   

ภรรยากรรมการชมพระที่นั่งอนันต์                ในพระที่นั่งอนันต์

          Prof. Sakmann มีประสบการณ์ทำงานให้มูลนิธิรางวัลโนเบลในการประเมินผู้ได้รับการเสนอชื่อ   ท่านบอกว่าเป็นภาระที่หนักมาก   ต้องอ่านมาก   และอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์   ดังนั้นมูลนิธิรางวัลโนเบลจึงจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินและจ่ายในอัตราที่สูงมาก   ท่านแปลกใจมากที่คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ (Scientific Advisory Committee - SAC) ซึ่งเป็นกรรมการคนไทยทั้งหมด  รวม 15 คน   ซึ่งทำงานกลั่นกรองใบเสนอชื่อ   และงานพิจารณาผลการค้นหาผลงานเด่น   ไม่ได้เงินตอบแทนเลย   เราตอบท่านว่านักวิชาการไทยที่เป็น SAC ทำงานด้วยใจ   ด้วยความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และต่อองค์ประธานมูลนิธิฯ  คือสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ   ทุกคนรู้สึกว่าความอิ่มใจ  ภูมิใจ  ที่ได้สนองพระเดชพระคุณคือ   การตอบแทนที่ล้ำค่าหรือหาค่ามิได้   เข้าใจว่าฝรั่งเขาคงรู้สึกงง ๆ   เพราะเขาไม่มีวัฒนธรรมนี้   คนไทยเราควรภูมิใจและเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมนี้   เห็นคุณค่าของ "ทุนทางสังคม" ของเราที่ชาติอื่นไม่มี

วิจารณ์  พานิช
 10 พ.ย.48

หมายเลขบันทึก: 6860เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2005 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
คืนนี้ดูข่าว ตอนสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จ เห็นอาจารย์วิจารณ์กำลังถ่ายภาพตลอดเลยค่ะ หวังว่าอาจารย์จะนำมาโชว์ในบล็อกนะคะ
ธิดามาศ ปิ่นทอง (นักศึกษาป.โท สารสนเทศ ม.ช.)

หนูชอบคำว่า " ทุนทางสังคม" มากค่ะ

มันเหมาะกันความเป็นคนไทยมากเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท