เป็นครูสอนภาษาบาลีมาก็หลายปี ตอนนี้ไม่สอนแล้ว ว่างๆ คิดว่าจะนำคำภาษาบาลีที่มีใช้อยู่ทั่วไปในภาษาไทยมาเล่าสู่กันอ่าน แต่ก่อนที่จะยกคำต่างๆ มาเล่าก็จะนำที่มาของภาษาบาลีมาเล่าก่อนเป็นลำดับแรก
ภาษาบาลีมีที่มาจากไหน ?
ประเด็นนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน บางกลุ่มบอกว่าเป็นภาษาเดิมที่มีใช้ในแคว้นมคธของอินเดียโบราณ ตามมตินี้ ภาษาบาลีจึงมีชื่ออีกอย่างว่า มาคธี แปลว่า ภาษาของชาวมคธ หรือภาษาที่มีใช้ในแคว้นมคธ และถ้ามิใช้ มาคธี ก็มักจะใช้ตรงตัวว่า ภาษามคธ
ยังมีความเห็นอื่นอีกบางกลุ่ม เช่น อ้างถึงพระมหินท์ ซึ่งนำพระพุทธศาสนาเข้าสู่ลังกา พระมหินท์เป็นชาวปาตลีบุตร ฉะนั้น ภาษาบาลีอาจเป็นภาษาเดิมของชาวแคว้นปาตลีบุตรก็อาจเป็นได้ แต่มตินี้มีผู้เห็นด้วยน้อย
คำแปลของคำว่า บาลี
บาลี เขียนตามภาษาไทย ถ้าเขียนตามภาษาบาลีเดิมต้องเขียนว่า ปาลี หรือ ปาลิ (ภาษาบาลี ไม่มี บ.ใบไม้ มีแต่ ป.ปลา) ซึ่งแปลว่า ภาษาที่รักษาไว้ซึ่งพระพุทธพจน์ (พุทฺธวจนํปาเลตีติ ปาลี ภาษาใดย่อมรักษาไว้ซึ่งพระพุทธพจน์ เหตุนั้น ภาษานั้นชื่อว่ารักษาไว้ซึ่งพระพุทธพจน์)
ความแตกต่างกันของภาษาบาลีและสันสกฤต บาลีและสันสกฤต ไม่เหมือนกัน แต่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น บาลีมีเพียง เอกพจน์กับพหุพจน์ แต่สันสกฤตมีเอกพจน์ ทวิพจน์ และพหุพจน์ เป็นต้น ส่วนศัพท์ที่ใช้ บางคำก็ใช้เหมือนกัน บางคำก็เปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย (ผู้เขียนเรียนสันสกฤตมาเพียงเล็กน้อย)
อนึ่ง คำภีร์โบราณทางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทใช้บาลี ส่วนฝ่ายมหายานใช้สันสกฤต