6ปียุคบอดแห่งการกระจายอำนาจ


6ปียุคบอดแห่งการกระจายอำนาจ

12 กันยายน 2563

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก (ท้องถิ่น) [1]

  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มโนทัศน์ของหลักประชาธิปไตยนั้น นอกจากสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งถือว่ามิอาจแบ่งแยกจากกันได้ ก็คือ “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” [2] และ “หลักการกระจายอำนาจ” (Decentralization) ที่มิอาจปฏิเสธได้เลย

ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นประเทศเสียหายหรือไม่

(1) เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ ในประเด็นเรื่องการไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น มีนักวิชาการถกเถียงกันในหลักการแล้วหลายรอบ แม้ไม่ได้แสดงให้เห็นในเชิงรูปธรรมว่าประชาชนจะเสียโอกาสอย่างไรในสภาวการณ์ ถูก “แช่แข็ง” [3] หรือ “ดองเค็ม” เช่นนี้ก็ตาม

(2) คำถามประเด็นร้อนที่สุดต่อมาในสังคมไทยปัจจุบันก็คือ “ท้องถิ่นเราไม่ได้เลือกตั้งกันมานานเพียงใดแล้ว” และ “ประเทศไทยได้สูญเสียประโยชน์ที่ไม่ได้เลือกตั้งท้องถิ่นไปแล้วหรือไม่เพียงใด” เพราะการเลือกตั้งสำคัญและสัมพันธ์กับหลักการกระจายอำนาจมาก เพราะหากกล่าวถึงหลักการกระจายอำนาจแล้ว สิ่งแรกที่ทุกคนมโนภาพ คือ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) หรือจะเรียกว่า “ท้องถิ่น” ก็ได้

  (3) ปัจจุบันรัฐบาลจะออกมาให้คำมั่นสัญญาอย่างจริงจังว่า ประชาชนจะได้เลือกตั้งนายก อปท.ในไม่ช้านี้ อย่างน้อยคือภายในปีนี้ (2563) ก็จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ประเภทหนึ่ง [4] แต่ก็เสมือนได้ยินเสียงปี่เสียงกลองเท่านั้น คำมั่นหรือคำรับรองที่เป็นจริงเป็นจังยังไม่เห็น เพราะกรณีของ อปท. นั้น ได้มีบทบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 249 [5] แล้ว และสิทธิของประชาชนในการเลือกผู้แทนของตนเข้าไปบริหารท้องถิ่นถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้เช่นกัน เป็นปัจจัยสำคัญในองค์ประกอบของ “หลักการกระจายอำนาจ หลักการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ”

(4) การครองตำแหน่ง “นั่งอยู่บนเก้าอี้” ของผู้บริหารท้องถิ่น รวมสมาชิกสภาท้องถิ่นที่นานเกินกว่าวาระ 4 ปี ตามปกติโดยมิได้มีการเลือกตั้ง [6] ถือเป็นกำไรของฝ่ายการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะฝ่ายบริหารท้องถิ่นที่ไม่ต้องออกแรงไปหาเสียงเลือกตั้ง แม้กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งหนังสือเวียนให้ อปท.จัดเตรียมงบการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่ามาแต่ปี 2560 ก็ยังไม่ชัดเจนเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

(5) ผลเสียที่เกิดจากการครองตำแหน่งนานๆ ประการหนึ่งก็คือ กรณี ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นนั้น ผู้กำกับดูแล อปท. คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอดำเนินการสอบสวนเพื่อให้พ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในลักษณะต้องห้าม หรือ กรณีขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง หรือกรณีอื่นใดก็ตาม นี่ยังไม่รวมถึงการให้พักหน้าที่หรือการหยุดการปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารท้องถิ่นฯ เมื่อมีการฟ้องคดีอาญาทุจริต

ปัญหากฎกระทรวงสอบสวนฯผู้บริหารท้องถิ่น

(1) กฎกระทรวงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายจัดตั้ง อปท. ฉบับที่แก้ไขใหม่ปี 2562 [7] ยังไม่ได้ตราใช้บังคับ และไม่มีบทเฉพาะกาล มท. ให้รอกฎกระทรวง ผู้บริหารหลายคนสอบไว้ยังไม่สั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะต้องรอกฎกระทรวง

(2) การรอการสอบสวนเท่ากับ “การรอการสะสาง” ในคุณสมบัติให้เสร็จสิ้นเสียก่อนที่ผู้บริหารท้องถิ่นฯ จะลงจากอำนาจ หรือ “การเซ็ตซีโร่” เพื่อให้มีการเลือกตั้งต่อไป เสมือนหนึ่งการรอการชี้ขาดตัดสิน ในหลายๆ กรณีมักปรากฏชัดแจ้งในพฤติการณ์ว่าผู้บริหารท้องถิ่นฯ มีความผิด ซึ่งถือไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นอย่างยิ่ง เพราะ หากมีการสอบสวนอาจมีผลทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่กระทรวงมหาดไทยมิได้กระตือรือร้นในการออก “กฎกระทรวงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวน” ผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อพิจารณาสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายจัดตั้ง อปท. แต่อย่างใด เพราะ กฎหมายจัดตั้ง อปท.ได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว

(3) ประเด็นคำถามต่อมาก็คือ เมื่อใดจึงจะมีการตราและการใช้บังคับกฎกระทรวงฉบับนี้ออกมา สอบถามสำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ก็ได้คำตอบเพียงว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้รอการสอบสวนผู้บริหาร อปท.ไว้ ส่วนการสั่งให้พ้นนั้นก็ให้รอกฎกระทรวงใหม่ออกมาเสียก่อน สรุปว่าให้รอก่อน [8]

(4) กรณีที่กฎกระทรวงออกภายหลังการเลือกตั้งคราวนี้เสร็จสิ้น แม้กฎหมายจะบัญญัติให้สามารถสั่งให้พ้นจากตำแหน่งภายหลังได้ แต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจัดการเลือกตั้งใหม่ ผู้ใดจะเป็นคนรับผิดชอบในระหว่างรอความชัดเจนของการเลือกตั้งท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในการออกร่างกฎกระทรวง ต้องจัดการสะสางเรื่องการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่นเก่าให้เสร็จสิ้น และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใดย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ช่วยลดระบบอุปถัมภ์ของราชการส่วนท้องถิ่นและราชการส่วนภูมิภาคที่ขอรับการสนับสนุนทั้งงบประมาณและบุคลากรอยู่เนืองๆ เพื่อหยุดเดินถอยหลังและก้าวไปข้างหน้าเสียที กล่าวคือ วิตกว่าการชะลอการสั่งให้พ้นจากตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่นที่ถือเป็นวินัยของฝ่ายการเมือง หากเลือกตั้งครั้งนี้เสร็จ กฎกระทรวงกระทรวงออกมาพอดี ก็คงได้เลือกใหม่กันอีกรอบ เสียหายมาก

(5) ขอยกตัวอย่างกรณี อปท. ที่มีคดีละเมิดที่ใกล้หมดอายุความสิทธิเรียกร้องด้วย หากชะลอการสอบสวนและการสั่งให้พ้นจากตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นฯ จะเสียเกิดผลเสียหายในทางละเมิดและทางปกครองได้ การสอบสวนของผู้กำกับดูแลฯ ถือเป็นกระบวนการภายในของฝ่ายปกครอง หรือเป็นการพิจารณาทางปกครอง ทำไมฝ่ายปกครองที่มีฐานอำนาจจึงกระทำไม่ได้ เป็นข้อจำกัด เป็นจุดอ่อนในการ “ตีความกฎหมาย” (Interpretation & Construction) [9] ที่คับแคบก่อให้เกิดผลเสียต่อสาธารณะได้

ระบบอุปถัมภ์กับการมีส่วนได้เสียไม่แตกต่างกัน

(1) ผลประโยชน์ทับซ้อนมองได้ทุกมิติ เพราะสังคมไทยคือสังคมอุปถัมภ์ (Patron & Clients System) [10] ระบบอุปถัมภ์เป็นต้นทางของ “การทุจริต” (Corruption) ที่เป็นส่วนสำคัญในระบบอุปถัมภ์ การขอรับการบริจาคหรือสนับสนุนจาก ผู้กำกับดูแล หรือ ผู้มีอำนาจในเขตพื้นที่จาก อปท.อยู่เนืองๆ เป็นปัญหามากสำหรับ อปท.ขนาดเล็กๆ หากนายกฯ ใดไม่สนับสนุน ก็จะถูกเขม่นไม่ได้รับความร่วมมือ เพราะท้องถิ่นไม่สามารถเบิกเงินงบประมาณโดยตรงแล้วเอาเงินไปสนับสนุนหรือให้แก่หน่วยงานอื่นใดได้

(2) กรณีนายก และสมาชิกสภาเก่าที่หมดวาระไปแล้ว แต่กลับให้มาดำรงตำแหน่งอีกในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เป็นยาดำที่คงไม่มีใครมองเกมนี้ออก เหตุใดฝ่ายอำนาจรัฐจึงไม่ยอมเลือกตั้ง อปท.สักที ก็เพราะ นายก และ สมาชิกสภาที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวปัจจุบันได้รับประโยชน์จากตำแหน่งที่ดำรง เป็นเสมือน “การต่างตอบแทน” อันเป็นระบบอุปถัมภ์ที่ชัดเจน เช่น โครงการเงินกู้ 4 แสนล้านฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 [11] ในขณะนี้คือโจทย์คำถามและคำตอบไปในตัวที่สำคัญ เพราะหาก มีการเซ็ตซีโร่ในทันทีทันใด เชื่อว่าฝ่ายอำนาจนิยมคงไม่ยอม เพราะระบบต่างตอบแทนจะหายมลายไปเลยทันที เพราะ อำนาจในการบริหารงบประมาณดังกล่าวจะตกแก่ปลัด อปท. ที่ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ (รักษาการ) ในทันที ในสายตาของฝ่ายอำนาจ การให้นายกเก่าปฏิบัติหน้าที่ไปเรื่อยๆ ถือว่าดีแล้ว

(3) ข้อสงสัยประการหนึ่ง อปท. ราชการส่วนท้องถิ่นมีไว้ทำไม เพราะราชการส่วนภูมิภาคแย่งซีนไปหมด งบประมาณจากส่วนกลางลงพื้นที่ฝากไว้ที่อำเภอ จังหวัด มิได้ให้ อปท. ดำเนินการโดยตรง หรือว่าต้องยุบภูมิภาคที่ไม่ค่อยมีงานอีกต่างหาก เพื่อไม่ให้มาแย่งซีน อปท. แล้วให้ อบจ.ซึ่งเป็น อปท.ที่ใหญ่กว่า มีขอบอำนาจที่มากกว่าดำเนินการ ส่วน อบต.เล็ก เทศบาลเล็ก งบประมาณจะมีจำกัดมาก โดยเฉพาะงบพัฒนา สถานการณ์ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อปท.หลายแห่งงบจึงหมดเกลี้ยง [12]

“แช่แข็งดองเค็ม” ท้องถิ่นไปทำไม

(1) การแช่แข็งการปกครองท้องถิ่นโดยไม่มีการเลือกตั้งผู้บริหารและสภาท้องถิ่นมานานร่วม 6 ปีเต็ม ทำให้ อปท.กลายเป็นหน่วยกลไกของรัฐบาล การดำเนินโครงการต่างๆ ตามคำสั่งของรัฐบาล ฝ่ายบริหารท้องถิ่นขาดการริเริ่มสร้างสรรค์ ขาดการสร้างนวัตกรรมใหม่ในการพัฒนาท้องถิ่น ขาดความกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหาของประชาชนในท้องถิ่น

(2) คำว่า “แช่เข็ง” (freeze) หมายความถึง “การแช่แข็งทางการเมือง” อันเป็น “การยุติการเมืองแบบการเลือกตั้ง” [13] (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2555) หรือ จะใช้คำว่า frozen ในความหมายที่แช่แข็งแล้ว จนท้องถิ่นเสมือนเป็นเมืองขึ้นของส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแบบเต็มรูปแบบ เพราะอยู่ในอำนาจ “บังคับบัญชาสั่งการ” ของนายอำเภอ และ ผู้ว่าราชการจังหวัดผู้กำกับดูแลในพื้นที่แล้ว สั่งการชี้นำการบริหารได้ จนลืมหลักเรื่องการกระจายอำนาจในรูปของ “การปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่ถือเป็น “ทบวงการเมือง” [14] ตาม ปพพ. ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นเอกเทศต่างหาก มิใช่หน่วยงานในภายใต้บังคับบัญชาแต่อย่างใด

(3) ปัจจุบัน คำว่า “แช่แข็ง” จะมุ่งไปที่ “การแช่แข็งประชาธิปไตย” [15] ซึ่งเห็นว่า ก็คือ การแช่แข็งการเลือกตั้งนั้นแหละ หรือ การชะลอ ไม่ให้มีการเลือกตั้ง หรือ การทำให้การเลือกตั้งเสียสมดุล โดยฝ่ายอำนาจนิยมแสวงอำนาจจากความได้เปรียบในการเลือกตั้ง เพื่อให้เข้ามามีอำนาจในการบริหารรัฐ โดยการใช้กลไก “ตุลาการภิวัตน์” (Judicial review or Judicial activism) [16] ที่ผิดเพี้ยน ไม่เหมือนต้นแบบที่มาจากฝ่าย common law  กล่าวโดยสรุป “แช่แข็งการเลือกตั้ง” ก็คือ “การแช่แข็งประชาธิปไตย” นั่นเอง

(4) หาก “ฝ่ายรัฐ” ซึ่งถือเป็น “ฝ่ายอำนาจนิยม” [17] ไม่รีบถอนตัว ไม่คายอำนาจ ไม่คืนอำนาจให้ประชาชน ผลเสียหายแก่ระบบการกระจายอำนาจ ตามหลักปรัชญาประชาธิปไตยของการปกครองท้องถิ่นมีแน่ และ จะเป็นตัวเชื้อไฟโหมประชาชนส่วนใหญ่ให้มากยิ่งขึ้น

ฉะนั้น การดองเค็มเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เป็นผลดีแน่

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharapron Maneenuch & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 18 กันยายน 2563, https://siamrath.co.th/n/183207

[2]มาจากวาทะของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) แห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 16 (ค.ศ.1861-1865) ที่กล่าว Democracy is government of the people, by the people, and for the people. โดยอำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน โดยประชาชนทำหน้าที่ปกครองตนเองโดยตรง (Direct Democracy) นั้น เป็นอุดมคติ เพราะในทางปฏิบัตินั้นไม่สามารถกระทำได้ จึงเกิดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Indirect Democracy or Representative government) โดยประชาชนเลือกผู้แทนขึ้นทำหน้าที่แทนตน

[3]ในที่นี้ ผู้เขียนเห็นว่า “การแช่แข็งประชาธิปไตย” หรือ “การแช่แข็งการเลือกตั้ง” หรือหมายถึง “ความพยายามที่จะล้มประชาธิปไตยด้วยการแช่แข็ง” เป็นการ “แช่แข็งระบบสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง” นำไปสู่การปิดประเทศ หรือ “การแช่แข็งประเทศ”

คำนี้มาจาก กรณีกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) หรือ “ม็อบแช่แข็งประเทศไทย” โดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย จัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรกภายใต้ชื่อ “รวมพลังหยุดวิกฤติและหายนะชาติ” เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2555 ณ ราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง กลุ่มคนจำนวนหนึ่งในสังคมการเมืองไทยไม่เชื่อถือระบบการเมืองที่ขับเคลื่อนโดยบุคลากรทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

หลังยุบสภา 9 ธันวาคม 2556 เกิดปรากฏการณ์ “การรณรงค์ชัตดาว์นกรุงเทพฯ” (Shutdown Bangkok) เพื่อหยุดฝ่ายตรงข้าม โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกลุ่ม กปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ปรากฏการณ์การแช่แข็งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลรักษาการครบ 30 วัน หลังการเลือกตั้งใหญ่ โดยมีการเรียกร้องให้นายกรักษาการหมดสถานภาพ

ดู ฐิติกร สังข์แก้ว และ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, แช่เข็งประเทศไทย, สถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=แช่เข็งประเทศไทย

& มองวิกฤติ 'แช่แข็งประชาธิปไตยไทย' แล้วจะไปต่อกันอย่างไร, ข่าวประชาไท, 23 มีนาคม 2557, https://prachatai.com/journal/2014/03/52416

[4]อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกต ครม.อ้างว่า (1) สถานการณ์โรคโควิด​อาจจะกลับระบาดมาอีก​รอบสอง (2) งบประมาณการเลือกตั้ง​ ท้องถิ่นอาจมี ไม่พอเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้​สถานการณ์การคลังรัฐบาลและท้องถิ่นไม่ดี (3) การ​รอท่าทีของ​การเมือง​ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจต้องรอ

ดู 105 อาจารย์-นักวิชาการทั่วประเทศ จี้รัฐจัดเลือกตั้งท้องถิ่นในปี, bangkokbiznews, 8 กันยายน 2563, https://www.bangkokbiznews.com...

& นายกฯ เผยรัฐบาลเตรียมพร้อมการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในปีนี้ คาดใช้งบ 2,000 – 3,000 ล้านบาท

, เชียงใหม่นิวส์, 9 กันยายน 2563, https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1451708/?

& “จรุงวิทย์” เผย กกต. แบ่งเขตอบจ.เสร็จแล้ว เตรียมรับเลือกตั้งท้องถิ่นพร้อมกันทั่วประเทศ, 9 กันยายน 2563, https://www.matichon.co.th/politics/news_2341277 

& วางคิว‘เลือกตั้งท้องถิ่น’ ประเดิม อบจ. ‘กทม.-พัทยา’รั้งท้าย, 9 กันยายน 2563, https://www.thansettakij.com/content/politics/448425?as

& อยู่ที่รัฐบาล กกต.เตรียมงบฯ 800 ล้านบาท พร้อมแล้วจัดเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ, 11 กันยายน 2563, http://www.thaipost.net/main/detail/77122

[5]มาตรา 249 “ภายใต้บังคับมาตรา 1 ให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามวิธีการและรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กฎหมายบัญญัติ

การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบใดให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นและความสามารถในการปกครองตนเองในด้านรายได้ จำนวนและความหนาแน่นของประชากร และพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบ ประกอบกัน

มาตรา 1 “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

ดู พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534

ส่วนที่ 3 การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

มาตรา 69 ท้องถิ่นใดที่เห็นสมควรจัดให้ราษฎรมีส่วนในการปกครองท้องถิ่นให้จัดระเบียบการปกครองเป็นราชการส่วนท้องถิ่น

มาตรา 70 ให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นดังนี้

(1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด

(2) เทศบาล

(3) สุขาภิบาล

(4) ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด

มาตรา 71 การจัดระเบียบการปกครององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล และราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

บทเฉพาะกาล

มาตรา 72 คำว่า “ทบวงการเมือง” ตามกฎหมายอื่นที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้หมายความถึงกระทรวง ทบวง กรม ตามพระราชบัญญัตินี้แล้วแต่กรณี

: พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 (แก้ถึง ฉบับที่ 8) พ.ศ.2553, ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, https://www.hii.or.th/haii/wp-content/uploads/2016/05/พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน-2534.pdf

[6]ดูประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว (ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 21 กรกฎาคม 2557), https://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-annouce85-2557.pdf

& คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว (ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 5 มกราคม 2558), https://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order1-2557.pdf

[7]ดู พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

[8]ดู หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร 0904/131 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2563

& บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 667/2563 พฤษภาคม 2563, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/6/23685_3_1591609197343.pdf

& หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0804.5/ว 3312 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2563 เรื่อง หารือการดำเนินการสอบสวนตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

[9]ที่จริงการตีความกฎหมายมีเหตุหลายประการ แต่เหตุประการที่สำคัญที่สุดก็ต่อเมื่อมี “ความคลุมเครือ” (Ambiguity) หรือ “กำกวมสับสน” ใน “ถ้อยคำในบทบัญญัติ” (Terms) ที่ต้องมี “แปลความหรือตีความ” ทั้งตีความแบบธรรมดา (Interpretation) หรือ ตีความแบบลึกตามเจตนารมณ์ (Construction) ก็ตาม

ความคลุมเครือใน 3 ประเด็น คือ (1) ความคลุมเครือเพราะถ้อยคำบทบัญญัติ (Words & Terms)(2) ความคลุมเครือเพราะ มีช่องว่างของกฎหมาย (Lacunae)  (3) ความคลุมเครือเพราะ มีการขัดแย้งกันของกฎหมาย (Antinomia or Inconsistency)

 ดู อรุณ ภาณุพงศ์, การตีความกฎหมาย, วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2541, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 546-567, http://www.tulawcenter.org/?q=knowledge/content/289

[10]ดร.ธวัช วิชัยดิษฐ อดีตอาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (2522) กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมแบบอุปถัมภ์ คือ มีผู้นำ-ผู้ตาม (Patron & Clients) ลักษณะโครงสร้างทางสังคมเช่นนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเป็น “แบบถอนรากถอนโคน” ที่เรียกว่า revolution หรือ แปลว่า “การปฏิวัติ”

[11]ดู เปิดแบบฟอร์มโครงการขอเงินกู้ 4 แสนล้าน ฟื้น ศก.จากโควิด-19 อัดเงื่อนไขท้องถิ่นอธิบายละเอียดยิบ หลัง มท.1 กำชับต้องโปร่งใสไร้ทุจริต, 1 มิถุนายน 2563, https://mgronline.com/politics/detail/9630000056875

เปิดแบบฟอร์ม “โครงการเงินกู้ 4 แสนล้าน” ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากไวรัสโควิด-19 ทั่วประเทศ แจงขั้นตอนเสนอสารพัดโครงการ เผยแบบฟอร์มให้อธิบายละเอียดยิบทุกขั้นตอน หลัง มท.1 กำชับต้องโปร่งใสไร้ทุจริตทุกรูปแบบ ทุกโครงการต้องผ่านบอร์ด ก.บ.จ.(ระดับจังหวัด) ก่อนชงทีมกลั่นกรองฯ ด้าน “ปลัดฉิ่ง” เวียนเงื่อนไขโครงการระดับ อบต.ให้ผู้ว่าฯ พิจารณาข้อเสนอจากสภา อบต.เพิ่มเติมในแผนพัฒนาท้องถิ่นก่อน ส่วนระดับอำเภอชงเข้า ก.บ.จ.ให้สอดคล้องวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. ก่อนกำหนดหน่วยรับงบตามภารกิจ

& อัพเดท “พรก.เงินกู้” และ งบประมาณ ฟื้นฟูประเทศ หลังวิกฤติโควิด-19, 19 มิถุนายน 2563,

https://www.thansettakij.com/content/politics/436114

พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท

&ทุ่มแสนล้านบาทฟื้นฟูเศรษฐกิจ จ้างเด็กจบใหม่-เพิ่มทักษะฝีมือแรงงานในระบบ, ข่าวthairath, 10 กันยายน 2563, https://www.thairath.co.th/news/business/1927084

ต.ค.นี้เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติหลักการใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เฟสสอง อีก 9 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาทใช้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ การจ้างงานให้ต่อเนื่อง หลังจากเฟสแรกที่ ครม.เห็นชอบหลักการไป 92,000 ล้านบาท นำรายละเอียดโครงการผ่าน ครม.แล้ว 43,000 ล้านบาท จะเกิดการจ้างงาน 1.2 แสนราย ย้ำเดือน ต.ค.นี้เงินจำนวนมากจะทยอยลงสู่ระบบ

& ข่าวเรียกรับ อบต.อำเภอพิชัย : เพจ อบต. Channel, 12 กันยายน 2563, https://www.facebook.com/thongthinthaichannel/videos/1268814760133418/  

อุตรดิตถ์ - นายก อบต.พื้นที่ อ.พิชัย พร้อมด้วย ข้าราชการเดือดร้อน ถูก “จ” อ้างนักการเมืองใหญ่ บีบเรียกหัวคิว 35 % ของโครงการต่างๆในแต่ละ อบต. และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงโทรมาร่วมบีบด้วย

[12]แม้ตาม พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 30(4) แก้ไข ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549 บัญญัติว่า “...โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้า และโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบห้า...” กล่าวคือรัฐบาลต้องจัดสรรงบให้แก่ท้องถิ่นในสัดส่วนร้อยละ 35 ของรายได้งบประมาณแผ่นดิน แต่ข้อเท็จจริงนั้นปัจจุบันรัฐบาลอ้างตัวเลขการจัดสรรที่ปี 2562 ร้อยละ 29.47 ประมาณการปี 2563 ร้อยละ 30.79 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบอุดหนุนต่างๆ มิได้เป็นงบประมาณด้านการพัฒนาแต่อย่างใด

สถานะทางการคลัง อปท.ปัจจุบันถือว่า “ถังแตก” หรือ  “ไส้แห้ง” เงินหมด หรือไม่ค่อยมีเงิน ในห้วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลและ มท. มีนโยบายให้ อปท.นำเงิน “สะสม” และ “ทุนสำรองเงินสะสม” ออกมาใช้ ในระดับสูงสุด มีการตราระเบียบใหม่ล่าสุดลดเกณฑ์เงื่อนไขของระเบียบ เพื่อให้มีการยกเว้นหรือทำความตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อนำเงินสะสมมาใช้ได้ง่ายขึ้น เช่น ตามข้อ 87 ข้อ 89 ข้อ 89/1 แห่ง ระเบียบ มท. ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 (ประกาศราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 18 ธันวาคม 2561), http://www.dla.go.th/upload/regulation/type2/2019/1/1707_1.pdf

ดู 'พลังท้องถิ่นไท' ชง รบ.จัดสรรงบให้ท้องท้องถิ่นร้อยละ 35 ของรายได้รัฐ, 11 กันยายน 2563, https://siamrath.co.th/n/181572

& รัฐบาลถังแตก เงินคลังหมดประเทศ, ข่าวไทยทรูธนิวส์, 13 สิงหาคม 2563, https://thaitruthnews.com/เศรษฐกิจ/รัฐบาลถังแตก-เงินคลังหม/

& รัฐสรุปปันรายได้ให้ท้องถิ่นปี 63 สัดส่วนรายได้ต่อรายได้สุทธิ ในอัตราร้อยละ 30 หรือ 8.2 แสนล้าน คาด อปท.จัดเก็บได้เอง 7.5 หมื่นล้าน, ผู้จัดการออนไลน์, 13 พฤษภาคม 2562, https://mgronline.com/politics/detail/9620000045653

[13]ชัยอนันต์ สมุทวณิช, การแช่แข็งทางการเมืองเกิดได้ยาก, 4 พฤศจิกายน 2555,  https://mgronline.com/daily/detail/9550000134798   

[14]องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ประกอบไปด้วย เทศบาล เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และ กรุงเทพมหานคร ถือเป็นทบวงการเมืองตาม มาตรา 7 แห่ง พรบ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 1 แห่ง ป.พ.พ.ฯ 2535 ประกอบ มาตรา 72 แห่ง ป.พ.พ. ภาษาอังกฤษใช้ว่า “public body”, “administrative department” สรุป ทบวงการเมือง คือ ส่วนราชการและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีสภาพเป็นนิติบุคคลและมีอำนาจหน้าที่ในทางปกครอง

[15]ประชาธิปไตยไทยต่างกันเพียงขนตาคือ (1) รับฟังความคิดเห็น หรือ โน้มน้าว หลอกล่อ ชี้นำ ครอบงำ และ (2) แสวงหาความร่วมมือ หาทางออกร่วม หรือ สร้างทางตัน

ดู 'นพดล' เปรียบแช่แข็งการลต. คือแช่แข็งประชาธิปไตย, ไทยรัฐออนไลน์, 21 มกราคม 2557, https://www.thairath.co.th/content/397871

& ประชาธิปไตย เจริญสุข, แช่แข็งประเทศอีก 10 ปี, ในโลกวันนี้, 24 เมษายน 2560, http://www.lokwannee.com/web2013/?p=265612

& มุกดา สุวรรณชาติ, การเมือง ร้อน แต่การปกครอง แช่แข็ง ‘ทางเลือกของทักษิณ-เพื่อไทย’ ปี2560, มติชนสุดสัปดาห์, ฉบับวันที่ 21 - 27 เมษายน 2560, เผยแพร่ 26 เมษายน 2560, https://www.matichonweekly.com/column/article_32740

& ประชาธิปไตยที่ในระบบที่ถูกแช่แข็ง”ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ”, 1 กรกฎาคม 2562, https://today.line.me/th/v2/article/ประชาธิปไตยที่ในระบบที่ถูกแช่แข็ง+”ไอติม+พริษฐ์+วัชรสินธุ”-2PlVme

[16]ตุลาการภิวัตน์ (Judicial activism) ใช้เรียกกรณีที่อำนาจตุลาการต้องสงสัยว่าบังคับใช้กฎหมายตามความเชื่อส่วนบุคคลหรือการเมือง แทนที่จะอิงตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ พจนานุกรมกฎหมายของแบล็ค ให้คำจำกัดความไว้ว่า “แนวคิดที่ตุลาการให้ความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นอกเหนือไปจากปัจจัยอื่น ๆ มาชี้นำการตัดสินของตน” : วิกิพีเดีย

[17]อำนาจนิยม (Authoritarianism) เป็นระบอบการเมืองที่มีฐานอยู่บนอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเผด็จการชนิดที่ผู้ปกครองสามารถใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือรัฐ หรือกลุ่มคนใดๆ ในการดำรงไว้ซึ่งเป้าหมายสูงสุด คือ การรักษาอำนาจของตน (Kurian, 2011) โดยมักจะไม่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์กับผู้นำ ควบคุมสื่อมวลชน ผูกขาดการใช้อำนาจและจำกัดการตรวจสอบ : วิกิพีเดีย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท