Arts and Self-awareness



ผมได้รับ อีเมล์จาก ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ ดังต่อไปนี้

กิจกรรมครั้งที่ 2 : Art  and Self awareness

ลักษณะกิจกรรม :  เป็นกิจกรรมภาวนาผ่านการรับรู้จาก sensing organ และการวาด ฝึกฝนการสร้างผลงานศิลปะZentangle และพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ในกระบวนการรับรู้ sensing และการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

Instruction :

  • กล่าวทักทาย แนะนำกิจกรรมวันนี้ว่ามี 2 ส่วนด้วยกัน คือ การฝึกรับรู้ sensing organ กับการทำชิ้นงานศิลปะ  กิจกรรมแรกเป็นการฝึกฝนการรับรู้ sensing organ ให้ชัดเจน และเราจะมาร่วมกันสร้างผลงานศิลปะที่เรียกว่า Zentangle คือ งานศิลปะที่ใช้การวาดเส้นลวดลายต่างๆ ตามรูปแบบหรือ pattern มาต่อๆ กันในกระดาษขาว  งานชิ้นนี้เป็นงานเดี่ยว
  • เริ่มต้นอาจจะได้ Check in กันสั้นๆ สัก 20 นาที หลังจากนั้นเราจะเริ่มต้นทำกิจกรรมที่ 1 ราว 20-30 นาที ต่อด้วยกิจกรรมที่ 2 การสร้างผลงานศิลปะอีก 40 นาที เราจะใช้เวลาเงียบๆ ในการสร้างงานศิลปะ แล้วช่วงท้ายจะได้สะท้อนผลงานร่วมกับเพื่อนๆ อีก ประมาณ 1 ชั่วโมง

กิจกรรมที่ 1: อยู่กับการรับรู้ ( Being mindful on sensing organ)

วัตถุประสงค์:  เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกฝนการภาวนา/การมีสติผ่านการรับรู้ด้วย sensing organ

อุปกรณ์: กิจกรรมที่ 1- การฝึกการรับรู้ผ่าน sensing organ (ประสาทตา-การมองเห็น, ประสาทหู-การได้ยิน, ประสาทการรับรู้กลิ่น-จมูก, ประสาทการรับรสชาติ-ลิ้น, ประสาทสัมผัสทางกาย-ผิวสัมผัส) ขึ้นกับ Tutor แต่ละกลุ่มสนใจ  เช่น อาจจะเตรียมขนม/ลูกอม ,โลชั่น ,  Application เสียงระฆัง(mindful bell)  ฯลฯ

Instruction :

  • เริ่มต้นวันนี้ เราจะฝึกการรับรู้ sensing organ เพื่อให้เกิดความรู้สึกตัว อยู่กับ sensing organ ได้อย่างชัดเจน เราอาจไม่เคยสังเกตว่าเรารับรู้อย่างไร วันนี้เราจึงได้มีโอกาสเรียนรู้อวัยวะดังกล่าวคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ  6 ช่องทาง
  • ปกติเราใช้อวัยวะรับสัมผัสดังกล่าวด้วยความเคยชิน อาจจะไม่เคยทันสังเกต วันนี้เราจะลองมาอยู่กับการรับรู้ดังกล่าวที่เรามีอยู่แล้ว ใช้อยู่แล้ว ....(จำนวน sensing organ ที่ Tutor สนใจฝึก)... ช่องทาง แต่เราลองพินิจว่า เรารับรู้อย่างไร รับรู้เฉยๆ หรือมีการแปลผลตีความอยู่ด้วย สิ่งที่อยากให้ฝึกคือ ลองรับรู้เฉยๆ สังเกตความสดใหม่ ชัด สว่าง กระจ่าง ว่าสามารถรับรู้ได้เพียงใด 
  • ก่อนเริ่มต้นขอให้ทุกคนได้เตรียมความพร้อมก่อน โดยการหลับตาลงเบาๆ มาอยู่กับอวัยวะรับสัมผัสของตัวเอง หันมารับรู้ว่าเรามีสิ่งนี้อยู่ เรามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีสัมผัสทางกาย และการรับรู้ทางใจ แต่ละช่องทางมีหน้าที่ของตนเอง ขอให้รับรู้ถึงอวัยวะต่างๆ  หายใจลึกๆ เข้าออกช้าๆ อย่างผ่อนคลาย .....
  • (เตรียมอุปกรณ์ไว้กลางโต๊ะ)
    • o .....Hear- อวัยวะแรกที่อยากจะชวนให้ลองสังเกตคือ หู ขอให้ฟังเสียงรอบข้าง อาจจะเป็นเสียงภายนอกหรือภายในร่างกายเราเองก็ได้ แค่ฟังเฉยๆ รับรู้ความดังเบา เสียงสูงหรือต่ำ เสียงยาวหรือสั้น  อยู่ใกล้หรือไกล เปิดประสาทการรับรู้ให้ชัดเจนใสกระจ่างที่สุด ต่อจากนี้อาจารย์จะทำเสียงเคาะระฆัง ให้เราฟังเสียงระฆัง ลักษณะของเสียง จนกระทั่งเสียงหายไป 3 ครั้ง ฟังเฉยๆ สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น สังเกตว่ามีการตีความอะไรหรือม่  (เคาะระฆัง 3 ครั้ง แต่ละครั้งเว้นให้เงียบชั่วครู่)
    • o  .....See- เมื่อพร้อมขอให้ลืมตาช้าๆ มองสิ่งที่อยู่ด้านหน้าอย่างพินิจ สังเกตการเห็นของตนเองว่าเราเห็นอย่างไร สังเกตสี , รูปทรง, ลักษณะผิวสัมผัส รับรู้อย่างเห็นเฉยๆ ให้ชัดเจน จนกระทั่งรับรู้มีการแปลผลแล้วว่าคืออะไร รอยต่อระหว่างการเห็นเฉยๆ กับการเห็นอย่างมีการแปลผลเกิดขึ้นขณะใด  
    • o ....Smell- ขอให้ลองดม.......อาจจะหลับตาเทียบกับลืมตาว่าแบบไหนรับรู้กลิ่นได้ดีกว่ากัน 
    • o ....Touch- จากนั้นให้ยกมือขึ้นมา ยื่นมือไปให้เพื่อนที่นั่งด้านข้างด้านใดด้านหนึ่งของเรา ขอให้ต่างคนต่างสังเกตมือของเพื่อนอย่างละเอียดที่สุด หลังจากนั้นให้สัมผัสมือเพื่อน หลับตาลง ใส่ใจกับการรับรู้ที่ผิวหนังของเราที่สัมผัสอยู่กับมือเพื่อน สังเกตอุณหภูมิ ความนุ่มแข็ง ลักษณะของมือ ให้สังเกตอยู่ในที่เดียว ค่อยๆ เคลื่อนการรับรู้ไปถึงข้อมือและท่อนแขน  แล้วลองสลับกันสัมผัสว่ามือของเพื่อนเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร รับรู้เฉยๆ  ลองหันไปอีกข้างหนึ่ง สัมผัสมือเพื่อนอีกคนหนึ่ง สังเกตความเหมือนและความแตกต่างในสัมผัสที่เรารับรู้ได้ 
    • o .....Taste-จากนั้นให้หลับตาลง ลองสังเกตลิ้น ตำแหน่งของลิ้น การรับรส น้ำลายที่มีในช่องปากว่าอยู่ตรงไหนบ้าง รสชาติเป็นอย่างไร อาจจะค่อยๆ เคลื่อนลิ้นไปยังตำแหน่งต่างๆ ในช่องปาก
    • o .....ใจ วันนี้จะให้สังเกตการทำงานของใจแบบหนึ่งคือ ความคิด จะให้ใช้กระดาษมาบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเราว่ามีความคิดบ้างไหม ถ้าเกิดความคิดขึ้น ลองดูว่าความคิดนั้น อยู่นานหรือสั้น มีความเข้มคิดอย่างมากหรือแค่คิดจางๆ เบาๆ เป็นความคิดที่มีอารมณ์ใดๆ อยู่บ้าง ความคิดนั้นมีแรงดึงดูดให้คิดต่อหรือไม่ ถ้ามีความคิดโผล่เข้ามา ก็ขอให้บันทึกเป็นกราฟ ลากเส้นตรงกลางคือ ไม่สังเกตเห็นความคิด แต่ให้ลากขึ้นเป็นหยักเมื่อมีความคิด ถ้าเป็นความคิดนาน ก็ขอให้ลากหยักลอยสูงอยู่ระยะหนึ่ง ตามลักษณะของความคิดนั้นๆ (Tutor สาธิตลาดให้ดูในแผ่นกระดาษ) ถ้าเข้าใจ ไม่มีคำถามแล้ว  จะขอให้ทุกคนอยู่กับลมหายใจ (หรือสิ่งใดก็ได้ที่ใช้ในการสังเกต ภายในร่างกายหรือจิตใจตนเอง)  ขณะสังเกตลมหายใจ ทุกครั้งที่มีความคิดแทรกเข้ามา ขอให้เขียนเป็นกราฟขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคิด/รู้สึกเรื่องใดๆ ก็ตาม ให้เวลาประมาณ 5 นาที เราจะลองดูว่า เรามีความคิดมากน้อยเพียงใด หรือเราอยู่กับลมหายใจได้โดยไม่มีความคิดแทรกแซง  ขอให้ทำตัวเหมือนเราอยู่บนสถานีรถไฟ คืออยู่กับลมหายใจ และเมื่อมีความคิดผ่านเข้ามา หมายถึงการมีขบวนรถไฟเข้ามาที่สถานีแล้ว  สังเกตดูว่า เราตามความคิด หรือขึ้นไปกับขบวนรถไฟรึเปล่า หรือเราแค่สังเกตเห็นขบวนรถไฟ แล้วลงมาอยู่ที่สถานีต่อ ไม่ไหลตามความคิด  แค่สังเกตว่าเราเป็นแบบไหน ไม่มีผิดหรือถูก

    ตัวอย่างการชวนแลกเปลี่ยน:

    • แลกเปลี่ยนสิ่งที่บันทึกว่าเราสังเกตอะไรได้บ้าง รับรู้ผ่าน sensing organ อย่างไร เกิดการรับรู้เฉยๆ (สติ)หรือไม่
    • การที่เห็นหรือเท่าทัน (awareness) การรับรู้ของตนเองเป็นเช่นนี้ มีประโยชน์อะไร
    • ในชีวิตจริง เรารับรู้เรื่องต่างๆ อย่างไร และการรับรู้เช่นนั้นมีผลอย่างไรต่อเรา (หรือต่อคนอื่นๆ)
    • การรับรู้ที่คมชัด ตระหนักรู้ในการแปลผล/ตีความ สำคัญอย่างไร แล้วจำเป็นต้องฝึกให้มีการรับรู้เช่นนี้หรือไม่

    แนวคิดสำหรับ Tutor

                สติคือการระลึกรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายและจิตใจของตนเอง รวมทั้งระลึกรู้สิ่งที่อยู่ภายนอก  โดยปกติมนุษย์จะไม่เพียงแค่ระลึกรู้ และจะมีการตีความหรือแปลความหมายของสิ่งที่รับรู้  กระบวนการเริ่มต้นโดยมีสิ่งเร้า (Stimulus) ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือสถานการณ์ มากระตุ้นประสาทสัมผัส (Sensing Organ) ทางตา หู จมูก กลิ่น รส สัมผัสทางกาย  เมื่อเกิดความรู้สึกจากการสัมผัสแล้ว ก็จะเกิดการทบทวนเทียบกับประสบการณ์เก่า แปลความหมายว่าคืออะไร 

    การใช้ sensing organ ของมนุษย์ เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต และอีกส่วนหนึ่ง เราสามารถใช้เพื่อฝึกฝนตนเองให้มีการรับรู้ที่ชัดเจนขึ้น สามารถแยกแยะได้ถึงการรับรู้ที่มีประสบการณ์ในอดีตมามีส่วนในการตีความ/แปลความ กับเหตุการณ์ในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด ทำให้เราเข้าใจ เท่าทัน/ตระหนักรู้ในตนเอง รู้ว่าตนเองรับรู้ตรงตามความเป็นจริงหรือมีการตีความตัดสินจากประสบการณ์ในอดีตร่วมด้วย  นอกจากนี้การฝึกสติระลึกรู้ sensing organ จะทำให้เกิดการรับรู้ที่คมชัด มีสมาธิ และจดจ่อกับปัจจุบันขณะได้ดี เกิดความผ่อนคลาย และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

    กิจกรรมที่ 2: ศิลปะขีดๆ เขียนๆ  (Zentangle)

    วัตถุประสงค์ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกฝนการมีสติอยู่กับการขีดเขียนลายเส้น ถ่ายทอดลงในชิ้นงาน เพื่อค้นพบความหมายเข้าใจตนเองและเพื่อน จากการแบ่งบันประสบการณ์

    อุปกรณ์ : กระดาษ A4 คนละ 1 แผ่น,   กระดาษวาดเขียน A4 คนละ 1 แผ่น, ปากกาหัวเล็กคนละ 1 ด้าม, ปากกาหัวใหญ่กลุ่มละ 3-4 ด้าม, ลายต้นแบบ zentangle 101 แผ่น

    Instruction :

    • ต่อไปเราจะมาทำศิลปะกัน  ไม่ทราบว่า เมื่อพูดถึง “ศิลปะ” แล้วรู้สึกยังไงกันบ้าง …วันนี้ที่เราจะทำศิลปะที่ชื่อ Zentangle  ใครเคยได้ยินมาบ้าง ได้ยินมายังไงบ้าง….
    • เคยไหมที่นั่งเหม่อขีดๆเขียนๆอะไรไปเรื่อยๆในหนังสือเรียนเวลาอยู่ในห้องเรียน หรือบางทีที่กำลังคุยโทรศัพท์อยู่ก็ขีดเขียนรูปอะไรซ้ำไปซ้ำมา(doodle) บางทีก็เป็นรูปวงกลมหลายวงเวียนไปเวียนมาซ้อนไปซ้อนมา หรือสามเหลี่ยมสี่เหลี่ยมต่อๆกันไปเรื่อยๆไม่รู้จบ มารู้ตัวอีกทีก็เขียนเกือบเต็มหน้ากระดาษซะแล้ว นั่นแหละค่ะวันนี้เราจะมาคุยกันถึงอาร์ตในรูปแบบนึงที่เริ่มมาจากการขีดๆเขียนๆต่อๆกันจนมีคนตั้งชื่อมันว่า Zentangle
    • Zentangle คือศิลปะชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการเขียนซ้ำไปซ้ำมาหลายๆลวดลายซึ่งนำมารวมกันเป็นรูปขึ้นมา Zentangle เป็นอาร์ตชนิดหนึ่งที่ให้ทั้งความเพลิดเพลินและผ่อนคลายไปในตัว และสามารถช่วยในการฝึกสมาธิไม่ให้วอกแวกรวมถึงการลดความเครียดต่อเรื่องราวต่างๆรอบกาย Zentangle ได้รับความนิยมจากผู้คนอย่างกว้างขวางต่างระดับความสามารถและต่างเพศและวัย  Zentangle เป็นศิลปะรูปแบบสมัยใหม่ คิดค้นโดยริค โรเบิร์ต (Rick Robert) และมาเรีย โทมัส (Maria Thomus)
    • ศิลปะชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการวาดภาพ เพราะเราจะมีลวดลาย pattern ต่างๆ มาให้  และไม่ได้ใช้อุปกรณ์มากมาย พื้นที่หรืออุปกรณ์พิเศษอื่นๆ สามารถนำไปได้ทุกที่ ทำที่ไหนก็ได้ ใครๆก็ทำได้ ไม่ต้องมีประสบการณ์ในด้านศิลปะ ทุกคนสามารถทำได้แน่นอน และไม่มีถูกผิดในเรื่องของ Zentangle จะวาดลวดลายอะไรยังไงก็ได้
    • (คำอธิบายการสร้างผลงาน) ศิลปะของ Zentangle เป็นรูปแบบ Abstract โดยสร้างจากลายแพทเทิร์นมาต่อกันหลายๆอัน โดยเราต้องใช้อุปกรณ์คือกระดาษสี่เหลี่ยม ถ้าในการเรียนจากต้นฉบับ จะใช้กระดาษขนาดสามนิ้วครึ่งคูณสามนิ้วครึ่งเนื่องจากเป็นขนาดที่วาดง่ายใช้เวลาน้อย แต่วันนี้เราจะใช้กระดาษวาดเขียนขนาดใหญ่กว่านั้นเล็กน้อยคือ ขนาดครึ่งของ A 4  ขอให้ทุกคนหยิบกระดาษวาดเขียนขนาด A4 คนละ 1 แผ่นและพับครึ่งไว้ คล้ายเป็นการ์ด เราจะเลือกวาดเพียงครึ่งหนึ่ง กับกระดาษ A4 ที่เราจะไว้ฝึกซ้อมการเขียนลายที่เราเลือก  อุปกรณ์ในการขีดเขียนก็จะให้ใช้ปากกาเจลสีดำเส้นเล็กขนาด 0.5 mm คนละด้าม ส่วนปากกาชนาด 1 mm จะมีให้กลุ่มละ 3-4 ด้าม  ถ้าใครต้องการก็สามารถหยิบไปใช้ได้ 
    • วันนี้จะมีลายแพทเทิร์นมาให้เลือก 101 ลาย หลากหลายรูปแบบ มีทั้งเส้นยาวๆ สั้น ๆโค้ง ตรง ดูเหมือนต้นไม้ ดอกไม้ ลายกระเบื้อง ลายตามธรรมชาติต่างๆ มากมาย   จะให้ทุกคนได้พิจารณาลายแพทเทิร์นที่มี แล้วลองเลือกลวดลายที่รู้สึกดึงดูดเราไปสัก 3-4 แพทเทิร์น ดูให้ทั่วๆ ก่อน ระหว่างเลือกขอให้ลองสังเกตวิธีการเลือกของเราแต่ละคนดูว่า มีความคิดความรู้สึกอะไรที่ทำให้เราหยิบ pattern นี้  เมื่อเลือกได้แล้ว จะมีกระดาษ A4 แจกให้แต่ละคนได้ทดลองฝึกวาดแต่ละ pattern ดูก่อน เพื่อให้คล่อง รู้ทิศทางการวาด ซึ่งในกระดาษจะมีการอธิบายเป็นช่องๆ จากซ้ายไปขวา เป็นการลากทีละขั้นตอนจนครบ ได้ตามแบบคือในช่องสี่เหลี่ยมด้านล่าง แถวที่สอง  และแต่ละภาพจะมีตัวอย่างการนำลาย pattern นั้นไปต่อกับลายอื่นๆ ตามแต่ที่เราชอบ เราเลือก  เราอาจจะใช้เวลาออกแบบสิ่งที่จะวาดจริงในการทดลองฝึกในกระดาษ A4 ก็ได้    ใช้เวลาทดลองฝึกวาดสัก 10 นาที แล้วเดี๋ยวอาจารย์ให้สัญญาณ จึงลงมือวาดลงในกระดาษจริงอีก 20-30 นาที  ในกระดาษจริง เราจะวาดแค่ไหน ลวดลายเริ่มต้นยังไงก็ได้ จะสิ้นสุดตรงไหน ก็ไม่มีอะไรผิดถูก  ระหว่างวาด สิ่งที่ชวนให้ใส่ใจ คือ การเคลื่อนไหวของมือ ของปากกา ลายเส้น  ใจของเราว่า จดจ่อแค่ไหน  มีความคิดอะไร  เราใช้ความใส่ใจที่ตนเองหรือผู้อื่นมากกว่ากัน  เรากังวลหรือผ่อนคลาย  แค่สังเกตตัวเอง ว่าเกิดอะไรขึ้นในใจเราบ้างระหว่างการทำงาน
    • ต่อจากนี้ไปเราจะไม่ใช้เสียงตลอดการทำผลงาน   ระหว่างการทำผลงาน อาจารย์จะเปิดเพลงบรรเลงเบาๆ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย  เมื่อครบเวลา จะให้สัญญาณก่อนหมดเวลา 5 นาที และหมดเวลา  มีใครมีข้อสงสัยซักถามอะไรเพิ่มเติมบ้าง…..ถ้าไม่มี ก็เลือกลาย Pattern คนละ 3-4 ลายได้เลย  ขอให้เราทุกคนเคารพเพื่อน ที่จะให้พื้นที่ในการทำงาน ด้วยความเงียบเสียงภายนอก  และกลับมาสังเกตเสียงภายในเพียงอย่างเดียว
    • (เสียงสัญญาณครั้งที่ 1) เหลือเวลาอีก 5 นาที บางคนที่รู้สึกพอใจแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวาดอะไรต่อได้  บางคนอาจจะรู้สึกว่า ยังไม่เสร็จ ก็ไม่เป็นไร   Zentangle ก็อาจเปรียบเสมือนชีวิตเรา มันเป็นงานที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ในสายตาเรา แต่ละแพทเทิร์นสามารถต่อเติมไปได้เรื่อยๆ  ถึงจะหมดเวลาแล้ว แต่เราอาจจะรู้สึกว่ายังไม่เสร็จ ยังไม่พอใจ แต่ถ้ามองไปดีๆ ทุกๆ ขณะที่ทำ มันก็เสร็จในแต่ละก้าว แต่ละขณะ แต่ละ pattern ที่พอเหมาะของมันอยู่ ดูดีๆ อาจพบว่ามันก็สวยดีเหมือนกัน
    • (เสียงสัญญาณครั้งที่ 2) หมดเวลาแล้วนะคะ  ขอให้ทุกคนได้เซ็นชื่อใต้ผลงานสักหน่อย  แล้วก็ลองวางตรงกลางหันหน้าชิ้นงานให้เพื่อนๆ ได้ร่วมชื่นชมด้วย 
    • ช่วงต่อไปจะเป็นการแบ่งปันประสบการณ์จากการทำผลงานศิลปะ Zentangle

    ตัวอย่างการชวนแลกเปลี่ยน:

    • ตอนเริ่มต้นฟังว่า จะ “ทำงานศิลปะ”  รู้สึกอย่างไร พอทำเสร็จแล้ว รู้สึกอย่างไร มีความแตกต่างหรือเหมือนอย่างไรบ้างกับที่คิดไว้ตอนเริ่มต้น
    • ระหว่างทำผลงานรู้สึกอย่างไร สังเกตเห็นอะไรในใจตัวเอง  
    • ทำเสร็จแล้ว รู้สึกอย่างไรกับผลงานของตนเอง  ผลงานสะท้อนตัวเราอย่างไรบ้าง   
    • ชอบ/ประทับใจผลงานอะไรในผลงานเพื่อนบ้าง

    (ช่วงสุดท้าย อาจสรุปจากการพูดของนักศึกษา นำมาร้อยเรียงเชื่อมโยงให้เห็นเป็นภาพเดียวกัน)

     แนวความคิดรวบยอดสำหรับ Tutor

    การเรียนรู้จากงานศิลปะเพื่อการพัฒนาชีวิต  อาจมีหลายแง่มุม  โดยเฉพาะศิลปะช่วยให้มนุษย์ได้แสดงออกถึงสิ่งที่อยู่ภายใน  ผ่านภาษาที่เป็นสากล คือภาษาของศิลปะ  ไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่  อาชีพใด ก็สามารถเข้าถึงได้  เมื่อไม่ได้เป็นกังวลถึงผลลัพธ์ว่าจะสวยหรือไม่อย่างไร  การได้จรรโลงผลงานศิลปะ ทำให้เราได้สัมผัสถึงความงาม ความละเมียดละไม ความละเอียดอ่อนในจิตใจเราเอง    เราได้แสดงถึงความเป็นตัวเราเอง ที่ไม่เหมือนใคร มีความเป็นเอกลักษณ์ ลักษณะเฉพาะอันทรงคุณค่า มีความหมายในแบบของตน   มนุษย์ทุกคนสามารถรังสรรค์งานศิลปะได้ทุกแขนง ตามความชอบ  กระบวนการทำ ขั้นตอนในการทำงาน อาจทำให้เราเข้าใจในสิ่งที่เราเป็น  เห็นในสิ่งที่เรามี  รู้สึกถึงสิ่งที่เรากำลังเผชิญในชีวิตที่สะท้อนผ่านผลงาน  ยอมรับตัวเอง เข้าใจตัวเอง และเรียนรู้เพื่อนมนุษย์ เข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นเป็นด้วยเช่นเดียวกัน

    AAR art and self awareness นศพ ปี 2 รายวิชา humanistic medicine 1  โดย ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์

    ตอน AAR นี้ อ่านแล้วได้อารมณ์  และได้ความรู้ เรื่องวิธีฝึกผัสสะด้านในให้แก่นักศึกษา     ที่จะเป็นทักษะชีวิตที่ใช้ไปได้ตลอด  

    check in นศ ส่วนใหญ่พูดเรื่องการเรียน ชม บรรยาย ที่มาก การตัดเกรดอิงกลุ่มทำให้บางคนต้องแข่งกันเรียน

    กิจกรรมที่ 1 sensing organ ผมใช้ marshmallows กลิ่นหอม refreshener และ app ระฆัง เริ่มแรกให้ นศ ทำ body scan จากหัวจรดเท้า จากนั้นให้ดมกลิ่น สัมผัส-ดู-ลิ้มรส marshmallows และปิดด้วยฟัง app ระฆัง นศ สะท้อนคล้ายๆ กันว่าได้ฝึกสัมผัสมากกว่าเวลาปกติ ได้ยินเสียงคนเดิน เสียงนก เสียงแอร์ตอนช่วงก่อนเริ่มฟังระฆัง ได้เคี้ยว marshmallows อย่างช้าๆ แล้วรู้สึกถึงความหวานมากกว่าปกติ มีความคิดปรุงแต่ง เช่น เห็น marshmallows 2 สี สีขาว กับสีชมพู ก็คิดว่าสีชมพูน่าจะเป็นรส strawberry แต่เมื่อชิมแล้วกลับไม่ใช่

    มี นศ คนหนึ่ง บ้านอยู่สุราษฎร์ พอดมกลิ่นหอมแล้ว บอกคิดถึงสวนที่บ้าน และเริ่มน้ำตาคลอ แล้วหยุดพูดไปชั่วขณะสั้นๆ จากนั้นเพื่อนข้างๆ ก็หยิบทิชชู่ให้ เมื่อพูดต่อก็บอกว่าพอได้ยินเสียงระฆังก็คิดถึงวัดที่ตอนอยู่บ้านจะไปบ่อยๆ น้ำตาเริ่มซึมๆ อีกรอบ พอจบ ผมก็ให้เพื่อนๆ พูดของตนเอง พอจบหมดทุกคน ผมก็วนย้อนกลับมาให้แต่ละคนลองพูดถึงเหตุการณ์ทีเพื่อนน้ำตาซึม ผมถามว่าตอนนั้นรู้สึกอย่างไรกันบ้าง หลายคนบอกอยากพูดให้กำลังใจ เลยให้โอกาสได้พูดให้กำลังใจกัน และบางคนบอกว่าหากเพื่อนเหงาคิดถึงบ้านให้มาพูดคุยด้วยได้ ช่วงนี้ผมฟินมาก อย่างที่ผมเชื่อเด็กๆ ไม่ต่างกับผู้ใหญ่ หากมีโอกาสเขาสามารถทำสิ่งดีๆ ได้อย่างน่าทึ่ง

    กิจกรรมที่ 2 วาดรูป zentangle

    นศ เลือกแบบที่ตนเองจะวาด 3-4 แบบ    ผมให้เวลา 30 นาทีรวมการทดลองวาด และเปิดโอกาสหากลองแล้วไม่ชอบแบบที่เลือกก็เปลี่ยนใหม่ได้    ปรากฎว่าบางคนใช้ถึง 6 แบบ เพื่อให้ภาพสมบูรณ์    ได้บอกให้ นศ ลองสังเกตด้วยว่าเลือกแบบมาวาดด้วยเหตุใด    ระหว่างวาดเปิดเพลงบรรเลง (อ้อ) มี นศ คนหนึ่งในกิจกรรมแรกบอกดมกลิ่นและฟังเสียงระฆังแล้วง่วงนอน ผมเลยต้องถามก่อนเปิดเพลงว่าจะทำให้ง่วงไหม)   ระหว่างวาดให้ นศ สังเกตความรู้สึกตนเองด้วย   พอครบเวลาผมให้แต่ละคนนำภาพของตนเองติดตรงกลางเพื่อให้เพื่อนๆ ได้ชมและเลือกว่าชอบภาพไหน   จากนั้นให้นำรูปของตนเองกลับมา และเริ่มสะท้อนกิจกรรม

    นศ บอกว่าตอนแรกคิดว่าจะยากแต่พอวาดแล้วไม่ยากอย่างที่คิด   ทำให้เลือกแบบเพิ่มเติมมาวาด   รู้สึกผ่อนคลายเวลาวาด   รับรู้ว่าตนเองสามารถมีสมาธิจดจ่อกับงานมากกว่าที่เคยคิด และสามารถนำไปใช้ต่อในอนาคตได้ทั้งการวาดภาพ และการฝึกสติ

    ขอบคุณมากครับ







    หมายเลขบันทึก: 682185เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2020 19:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2020 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท