ทำอย่างไรให้เกิดขบวนสื่อเชื่อมข่ายสร้างสุขภาวะได้อย่างมีพลัง


28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ประชุมแกนประสานสื่อ ของ สสส.ภาคเหนือ ระหว่างที่ประชุมผ่านแอ็ปปลิเคชั่น Zoom หรือที่ผมชอบเรียกเล่นๆกันว่า ประZOOM ผมก็ได้แลกเปลี่ยนกับมิตรสหายหน้าเก่าหน้าใหม่ในข่ายทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนรวมทั้งคณาจารย์จาก มรภ.อุดดิต และผู้แทนจากสำนักภาคีสัมพันธ์ สสส. ก็พูดจากประสบการณ์และหัวใจไปหลายประเด็น พูดแล้ว เอ่อ ก็รู้สึกดีว่าหลายๆคนเห็นว่าความคิดเรามีคุณค่า

พอดีน้องที่เป็นผู้ประสานส่งเสียงแจ้วๆมาว่าช่วงที่ผมเว้าความเห็นในประZOOM วันนั้น เผอิญเขา record ไม่ทัน (สงสัยฟังเพลินไปนิด ไอ้เราก็ไม่รู้ว่าเขาบันทึกไว้หรือเปล่า) น้องสาวก็เลยขอให้ช่วยส่งคอมเมนต์วันนั้นให้ที

เอาไงดี พูดไปแล้ว ตอนนั้นมันอาจจะอารมณ์แซ่บๆหน่อยเพราะหลายคนมีไฟ ก็คึกคักดี แต่ตอนนี้หัวค่ำ ผมก็จะอารมณ์คึกคึกไปอีกแบบ คือ แบบสบายๆ เอาเป็นว่าเล่าแบบสบายๆ แต่ได้สารคือกันคงไม่ว่านะ และจะถือโอกาสนี้เติมในส่วนที่คิดออกหลังประชุมเสร็จเพิ่มให้

เอาละ เรื่องสื่อที่จะประสานเครือข่ายประเด็นต่างๆ ผมมองอย่างนี้นะครับ (ผิดถูกไม่ว่ากันนะ เพราะอันนี้มาจากมุมที่ผมมอง)

1) เครือข่ายเชิงประเด็นส่วนใหญ่ในระดับจังหวัดนี่ทำไม งานสื่อไม่ค่อยเวิร์ค อันนี้ผมตั้งคำถามก่อนนะครับ เพราอย่างแม่ฮ่องสอนที่ผมทำงานด้วยนี่ เอาเข้าจริงก็ไม่เห็นเครือข่ายเชิงประเด็นลุกขึ้นมาทำสื่อด้วยตัวเองสักเท่าไรเลย จะมีบ้างนานๆที แต่ก็มีคนข้างนอกมาทำให้ มันต้องมีอะไรสักอย่าง หรือหลายๆอย่าง

ผมคิดว่าสำคัญคือ Mindset ของแกนนำเครือข่ายเชิงประเด็นครับ คือ แทบทั้งหมดนี่มักจะมองเรื่องสื่อแบบผิวเผินมากๆ ว่าเอาข้อมูลมาทำ PR แล้วก็จบ (ฟังแล้วอยากร้องไห้) ไม่ต้องมีค่าเดินทาง ค่าเครื่องไม้เครื่องมือ ค่ามันสมอง ค่าเวลาค้นคว้า รวมถึงค่าที่ต้องรับผิดชอบติดคุกติดตารางอะไรเลย เพราะฉะนั้นสื่อก็เลยเป็นเรื่องของแถม ไม่ต้องลงทุน หรือให้คุณค่าทุ่มเทอะไรมากมาย จะทำ ก็รอคนอื่นมาทำหรือลงทุนให้ และก็ทำแบบไม่ค่อยศรัทธาให้ความร่วมมือเท่าไร อันนี้ อาจจะแทงใจพี่น้อง แต่ว่าแต่ละเครือข่ายเอาเข้าจริง มีแผน มีงบ มีกลยุทธ์ในการทำสื่อมากน้อยแค่ไหน เอาแบบที่คิดกันเองวงในนะครับ ถามกันเองก็น่าจะรู้

ถ้าจะทำเรื่องสื่อให้มีพลังนี่ อย่างแรกสุดคือต้องปรับ Mindset กันใหม่เลยครับ เห็นงานสื่อ คนทำสื่อมีคุณค่ามีน้ำหนักมีศักดิ์ศรีเท่ากับแกนนำเชิงประเด็นต่างๆ

สื่อไม่ใช่ของแถม หรือ Option เสริมนะครับ เราไม่ได้อยากเป็นลูกเมียน้อย แต่สื่อเป็นอีกหนึ่งเครือข่ายเชิงประเด็นที่มีลักษณะพิเศษที่ต่างไปจากเครือข่ายเชิงประเด็นอื่นๆ

การแยกแกนนำสื่อออกมาเป็นอีกข่ายนั้นถูกต้องแล้ว แต่ต้องให้น้ำหนักสื่อเท่าเทียมกับข่ายเชิงประเด็นอื่นๆ และอาจจะสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆตามยุคสมัย ตรงนี้คนที่เป็นแกนนำทั้งหลายหลายคนเห็นจุดนี้แล้ว หลายคนยังคิดแบบเก่าอยู่ งานยาก ส่งผลกว้าง ลงทุนน้อยแต่หวังผลมาก ผมว่ามันไม่ใช่ ตรงนี้ก็ต้องปรับจูนกันไป และอีกหน่อยแต่ละเครือข่ายเชิงประเด็นก็ควรร่วมลงแรงรวมถึงลงขันด้วย

2) อันนี้จะต่อเนื่องและขยายความจากข้อแรกครับ เมื่อสื่อเป็นประเด็นเฉพาะ มีความยาก ซับซ้อน ความเสี่ยง วินัยมีการควบคุมตรวจสอบและความรับผิดชอบแบบเฉพาะในตัว งานตรงนี้จึงเรียกร้องให้คนที่ต้องมีความสามารถสูง ต้องมีความเป็นมืออาชีพหรือพร้อมที่จะทำงานฝึกฝนเป็นมืออาชีพ

สื่อไม่ใช่ Romance Platform แต่มันคือสงคราม

ทุกคำที่เขียน ทุกภาพที่โพสต์ มันอาจทำให้ใครบางคน โดยเฉพาะคนทำสื่อ “SHIP หาย” ได้ มันจึงต้องแลกด้วยการทำงานหนัก การมองรอบด้าน กลั่นกรอง จริยธรรม วินัยในการใช้เวลา วิจารณาญาณและความรับผิดชอบที่สูงมากๆ

คนทำสื่อที่เจ๋งๆ เองก็ต้องทำวิชาการไปในตัว แถมเป็นวิชาการที่ต้องเคี่ยว สกัด เจียระไนจนได้ประเด็นคมๆ เพื่อจะชู๊ดให้เข้าเป้า อีกด้านที่ผมเป็นนักวิชาการนี่รู้เลย นักวิชาการกับสื่อมวลชน (ที่มีคุณภาพนะ) จริตเดียวกัน คนหนึ่งทำวิชาการออกมาเป็นตำราและสอนทางตรง อีกคนหนึ่งทำวิชาการออกมาเป็นศิลปะแล้วสอนทางอ้อม แต่ทั้งนักวิชาการและสื่อมวลชนคือคนละด้านที่อยู่บนเหรียญเดียวกัน

เมื่อสื่อก็คืออวตารของวิชาการ สื่อ (ภาคประชาสังคม)ก็ควรได้รับอิสระในการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ มีความเป็นกลาง ถึงแม้ภาพส่วนมากจะส่งเสริมคนรากหญ้า แต่ก็ไม่ควรตอกติดตัวเองโดยไม่ให้น้ำหนักกับมุมมองจากภาคส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ ควรทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนการทำงานของเครือข่ายภาคประชาสังคมในแต่ละประเด็น ไม่ใช่ทำตาม Order เครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่งนะครับ อย่างที่ประชาสังคมส่วนมากเข้าใจ (ผิด)

หรือแม้กระทั่งคนๆหนึ่งทำงานสื่อทับซ้อนกับประเด็นที่ตัวเองเคลื่อนตรงนี้ก็ต้องระวัง โอเค จริงๆมันยาก เพราะหาคนทำงานยาก มันก็เลยต้องทำซ้อนๆกันหลายงาน แต่ต้องแยกบทบาทแยกจังหวะให้ดีครับ เอามาปนกันมากๆมันจะลดพลังความน่าเชื่อถือในการนำเสนอ ไม่งั้นเอียง

ถ้าสื่อออกมาเอียงมันก็คือ PR ไม่ใช่สื่อที่จะสร้างพหุปัญญา และยกระดับเครือข่ายต่างๆได้

เราต้องมองในมุมของผู้รับสื่อคือประชาชนที่หลากหลาย ทั้งที่คิดเหมือนและคิดต่างด้วย วัดจากประชาสังคมด้วยกันภาคส่วนเดียวไม่พอ มันจะเกรงใจกัน ท้ายสุดกอดกันจมก้นอ่าง หรือถ้าพ้นจากน้ำได้ก็ไปชนกะลา เอ้อ New Normal มาจนจะเป็น Now Normal แล้ว เราต้องคิดใหม่กันครับ

3) แต่การคิดใหม่ ไม่ใช่ใหม่แบบไม่รู้เหนือรู้ใต้อะไร อันนั้นคือ มาแบบซื่อบื้อ อินโนเซนต์ ผมว่าทำไปเดี๋ยวก็จมความซึมเศร้าตาย

“ขบวนสื่อภาคประชาสังคมไม่ได้ไร้ราก” จริงๆหลายจังหวัด หรือแม้แต่ระดับภาคเองก็มีการเคลื่อนเรื่องสื่อภาคประชาสังคมมาก่อน อย่างแม่ฮ่องสอนนี่มีการตั้งเครือข่ายวิทยุชุมชน ต่อมาขยับเป็นเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์แม่ฮ่องสอนที่มี สสส.สำนัก 5 หนุนต่อเนื่องหลายปี และยังมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ร่วมกับสื่อใหญ่อย่าง Thai PBS และสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติในการเรียกร้องสิทธิหลายเรื่องหลายวาระ มี Vision มีพันธกิจ มีแถลงการณ์ธรรมนูญของตัวเองในเวทีใหญ่ศาลาประชาคมจังหวัด หลายจังหวัดผมว่ามีรากเหง้าเหล่านี้ และบางทีย้อนกลับไปยาวเป็นร้อยปีในสื่อพื้นบ้านด้วยซ้ำ (แต่นั่นระดับภูมิปัญญาต้องหาปรมาจารย์ไปสกัดมาเชื่อมต่อ)

ดังนั้น การจะ set แกนนำสื่อขึ้นมานี่ การเสนอชื่อ เสนอคนเราคงต้องเชื่อมโยงกับบทเรียนหรือต้นทุนงานสื่อที่มีอยู่เดิม อันนี้ อยากให้แต่ละจังหวัด review เป็นการบ้าน ก่อนที่จะกระโจนเข้ามาดีไซน์งานสื่อในปัจจุบัน ที่กำลังอยู่ในโลกแห่งมิติพิศวง ต้องตั้งหลักตรงนี้ให้มั่นด้วยครับ

เอาสามข้อนี่ก่อนละกันครับ เพราะนี่ก็มหากาพย์แล้ว ถ้ารู้แจ้งแทงทะลุแล้ว หรืออย่างน้อยใจเปิดรับ ขบวนสื่อขณะนี้ที่เปรียบเสมือนน้ำที่ขุ่นก็จะค่อยๆใสขึ้น ตอนนั้นจะรู้ว่าจะขยับยังไงต่อไป

ทั้งหมดนี้ คิดไปถึง Disruption ที่จะกระทบในทุกองคาพยพของชุมชนและสังคมด้วยครับ และจะหนักหน่วงขึ้นในปีหน้าและปีถัดๆไป

โลกที่เราอยู่ บริบทชุมชน บริบทการทำงานจะเปลี่ยนเร็วมาก เราต้องคิดให้ไกลกว่าการออกแบบขบวนสื่อใน Mindset เดิมครับ

หมายเลขบันทึก: 678163เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2020 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2020 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท