พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๓ (พระสูตร เล่มที่ ๕) เรื่องที่ ๖๒. มหาราหุโลวาทสูตร เรื่องพระพุทธเจ้าสอนพระราหุลให้เจริญอานาปานสติ


๖๒. มหาราหุโลวาทสูตร  เรื่องการเจริญอานาปานสติ      

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี แม้ท่านพระราหุลก็ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปทางเบื้องพระปฤษฎางค์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงผินพระพักตร์ไปรับสั่งกับท่านพระราหุลว่า

“ราหุล เธอพึงเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ไกลหรือใกล้ก็ตาม อย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา”

ท่านพระราหุลทูลถามว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค รูปเท่านั้นหรือ”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราหุล ทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขารทั้งวิญญาณ”

หลังจากนั้น ท่านพระราหุลคิดว่า “วันนี้ ใครหนอที่พระผู้มีพระภาคจะทรงประทานโอวาทโปรดเฉพาะพระพักตร์ แล้วเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต” กลับจากที่นั้นแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรได้เห็นท่านพระราหุลนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง จึงกล่าวกับท่านพระราหุลว่า

“ราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติภาวนาที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”

ธาตุ ๕

ครั้นเวลาเย็น ท่านพระราหุลออกจากฌานสมาบัติ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราหุล รูปชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูปที่เป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ คือ ผม ขน เล็บฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือรูปชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูปที่เป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุที่เป็นภายใน

ปฐวีธาตุคือธาตุดิน ที่เป็นภายในและปฐวีธาตุที่เป็นภายนอก ก็เป็นปฐวีธาตุนั่นเอง บัณฑิตควรเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ และทำจิตให้คลายกำหนัดในปฐวีธาตุได้

อาโปธาตุ เป็นอย่างไร  คือ อาโปธาตุที่เป็นภายในก็มี อาโปธาตุที่เป็นภายนอกก็มี

อาโปธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไร  คือ อุปาทินนกรูปที่เป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ มีความเอิบอาบ คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือรูปชนิดใดชนิดหนึ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปที่เป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ มีความเอิบอาบ นี้เรียกว่า อาโปธาตุที่เป็นภายใน

อาโปธาตุคือธาตุน้ำ ที่เป็นภายในและอาโปธาตุที่เป็นภายนอก ก็เป็นอาโปธาตุนั่นเอง บัณฑิตพึงเห็นอาโปธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นอาโปธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุและทำจิตให้คลายกำหนัดในอาโปธาตุได้

เตโชธาตุ เป็นอย่างไร คือ เตโชธาตุที่เป็นภายในก็มี เตโชธาตุที่เป็นภายนอกก็มี

เตโชธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไร คือ อุปาทินนกรูปที่เป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน มีความเร่าร้อน ได้แก่ ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำร่างกายให้อบอุ่น ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำร่างกายให้ทรุดโทรม ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำร่างกายให้เร่าร้อน ธรรมชาติที่เป็นเครื่องย่อยสิ่งที่กินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว และลิ้มรสแล้ว หรือรูปชนิดใดชนิดหนึ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปซึ่งเป็นภายในเป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน มีความเร่าร้อนนี้เรียกว่า เตโชธาตุที่เป็นภายใน

เตโชธาตุคือธาตุไฟ ที่เป็นภายในและเตโชธาตุที่เป็นภายนอก ก็เป็นเตโชธาตุนั่นเอง บัณฑิตพึงเห็นเตโชธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นเตโชธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในเตโชธาตุ และทำจิตให้คลายกำหนัดในเตโชธาตุได้

วาโยธาตุ เป็นอย่างไร คือ วาโยธาตุที่เป็นภายในก็มี วาโยธาตุที่เป็นภายนอกก็มี

วาโยธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไร คือ อุปาทินนกรูปที่เป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา มีความพัดไปมา คือ ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมที่แล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรือรูปชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา มีความพัดไปมา นี้เรียกว่าวาโยธาตุที่เป็นภายใน

วาโยธาตุคือธาตุลม ที่เป็นภายในและวาโยธาตุที่เป็นภายนอก ก็เป็นวาโยธาตุนั่นเอง บัณฑิตพึงเห็นวาโยธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นวาโยธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ และทำจิตให้คลายกำหนัดในวาโยธาตุได้

อากาสธาตุ เป็นอย่างไร  คือ อากาสธาตุที่เป็นภายในก็มี อากาสธาตุที่เป็นภายนอกก็มี

อากาสธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไร  คือ อุปาทินนกรูปที่เป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของว่างเปล่า มีความว่างเปล่า คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องสำหรับกลืนของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้มรส ช่องที่พักอยู่แห่งของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้มรส และช่องสำหรับของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้มรส ไหลลงเบื้องต่ำ หรือรูปชนิดใดชนิดหนึ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปที่เป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของว่างเปล่า มีความว่างเปล่าเป็นช่องว่าง เป็นธรรมชาติที่นับว่าช่องว่าง ซึ่งเนื้อและเลือดไม่ถูกต้องแล้ว นี้เรียกว่าอากาสธาตุที่เป็นภายใน

อากาสธาตุ ธาตุคืออากาศ ที่เป็นภายในและอากาสธาตุที่เป็นภายนอก ก็เป็นอากาสธาตุนั่นเอง บัณฑิตพึงเห็นอากาสธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นอากาสธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอากาสธาตุ และทำจิตให้คลายกำหนัดในอากาสธาตุได้

ภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕

ราหุล เธอจงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้ คนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้างมูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดระอา หรือรังเกียจของนั้นก็หาไม่ แม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยแผ่นดิน

เธอจงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยน้ำเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้ คนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้างน้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง น้ำจะอึดอัด ระอา หรือรังเกียจของนั้นก็หาไม่แม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยน้ำ

เธอจงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยไฟเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้ ไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้างน้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัด ระอา หรือรังเกียจของนั้นก็หาไม่ แม้ฉันใดเธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยไฟ

เธอจงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยลมเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้ ลมย่อมพัดของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้างน้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัด ระอา หรือรังเกียจของนั้นก็หาไม่ แม้ฉันใดเธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยลม

เธอจงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้ อากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ แม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยอากาศ

การเจริญภาวนา ๖ อย่าง

ราหุล

๑. เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่  จักละพยาบาทได้

๒. เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่  จักละการเบียดเบียนได้

๓. เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่  จักละความริษยาได้

๔. เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละความหงุดหงิดได้

๕. เธอจงเจริญอสุภภาวนา เถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะได้

๖. เธอจงเจริญอนิจจสัญญา เถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาอยู่ จักละความถือตัวได้

อานาปานสติ ๑๖ ขั้น

ราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติเถิด เพราะอานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมากมีอานิสงส์มาก คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก

๑. เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’ เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’

๒. เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’ เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’

๓. ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า’ ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก’

๔. ‘เราระงับกายสังขารหายใจเข้า’ ‘เราระงับกายสังขารหายใจออก’

๕. ‘เรากำหนดรู้ปีติหายใจเข้า’ ‘เรากำหนดรู้ปีติหายใจออก’

๖. ‘เรากำหนดรู้สุขหายใจเข้า’ ‘เรากำหนดรู้สุขหายใจออก’

๗. ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขารหายใจเข้า’ ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขารหายใจออก’

๘. ‘เราระงับจิตตสังขารหายใจเข้า’ ‘เราระงับจิตตสังขารหายใจออก’

๙. ‘เรากำหนดรู้จิตหายใจเข้า’ ‘เรากำหนดรู้จิตหายใจออก’

๑๐. ‘เราทำจิตให้บันเทิงหายใจเข้า’ ‘เราทำจิตให้บันเทิงหายใจออก’

๑๑. ‘เราตั้งจิตมั่นหายใจเข้า’ ‘เราตั้งจิตมั่นหายใจออก’

๑๒. ‘เราเปลื้องจิตหายใจเข้า’ ‘เราเปลื้องจิตหายใจออก’

๑๓. ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงหายใจเข้า’ ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงหายใจออก’

๑๔. ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้หายใจเข้า’ ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้หายใจออก’

๑๕. ‘เราพิจารณาเห็นความดับไปหายใจเข้า’ ‘เราพิจารณาเห็นความดับไปหายใจออก’

๑๖. ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืนหายใจเข้า’ ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืนหายใจออก’

อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก

ราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ลมอัสสาสะหายใจเข้า ลมปัสสาสะหายใจออก ครั้งสุดท้ายที่ปรากฏชัด ย่อมดับไปที่ไม่ปรากฏชัด ยังไม่ดับไป”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้


เรียบเรียงใหม่ดโดย ดร.ศักดิ์ ประสานดี 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสูตร เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๒ ภิกขุวรรค เรื่องที่ ๒ มหาราหุโลวาทสูตร

หมายเลขบันทึก: 678060เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2020 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2020 23:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท