ชีวิตที่พอเพียง 3722. ศิลปะแห่งการคิดอย่างกระจ่างใส



หนังสือ the art of thinking clearly (2013) เขียนโดย rolf dobelli  เป็นหนังสือยอดเยี่ยมระดับ International Best Seller    ที่เมื่อผมอ่านแล้ววางไม่ลง    มีฉบับแปลด้วย (๑)    ที่จริงฉบับภาษาอังเกฤษแปลมาจากฉบับภาษาเยอรมันอีกทีหนึ่ง 

ทั้งเล่มว่าด้วยกับดักความคิดของมนุษย์    ที่เรียกว่าอคติ (bias)   ในเล่มภาษาอังกฤษมีถึง ๙๙ อคติ    ที่มนุษย์เราหลงติดกับดักอย่างไม่รู้ตัว    และในหลายกรณีวงการโฆษณา และสื่อสารมวลชน เอาไปใช้อย่างแยบยล และได้ผลดี    หรือตัวเราเองก็เอามาใช้    โดยไม่คิดว่าเป็นการหลอกลวง    คืออคติเหล่านี้อยู่กับชีวิตประจำวันของเราเสียจนเราชินชา    และมองเป็นเรื่องปกติ    ผู้เขียนหนังสืออธิบายผลงานวิจัยอย่างง่ายให้เห็นมายานั้นๆ    อ่านแล้วประเมืองปัญญาสุดๆ    

และพบว่า หลายเรื่องผมค้นพบด้วยตัวเองมานานแล้ว    และบอกตัวเองให้ไม่หลงตกหลุมพรางนั้น    

เรื่องหนึ่งที่ผมเคยเผชิญด้วนตนเอง คือ  เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย(sunk cost fallacy – บทที่ ๓)    ราวๆ ๒๐ ปีมาแล้ว ตอนที่ผมทำหน้าที่ ผอ. สกว.   สกว. กับ สวทช. เข้าหุ้นกันฝ่ายละครึ่ง ตั้งโครงการวิจัยโรคเขตร้อน เป็นโครงการใหญ่ระยะยาว    ภายในโครงการใหญ่มีหลายโครงการย่อย    โครงการหนึ่งคือโครงการผลิดยามาลาเรีย DHA (Dihydroxy Artemisinin) ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกด้วย    โครงการ DHA มีผู้อำนวยการโครงการที่เก่งมาก    มีคนเตือนไว้ตั้งแต่แรกว่าให้ระวังว่า เมื่อพัฒนาสูตรยาแล้วสารเคมี DHA มันไม่เสถียร การผลิตยาจะไม่สำเร็จ     แต่นักเคมีบอกว่าโครงสร้างสารนี้ทางเคมีเสถียรสุดๆ     เราพัฒนาไปเรื่อยๆ ต้องแก้ปัญหาไปตลอดเวลา    มีผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกบินมาประชุมให้คำแนะนำเป็นระยะๆ    เมื่อเผชิญปัญหาค่อนข้างหนัก เราถามกันว่าควรหยุดไหม    จ่ายเงินไปหลายสิบล้านแล้ว    หากไม่หยุดยังเดินต่อแล้วไม่สำเร็จก็จะยิ่งเสียเงิน    ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกบอกว่า ปัญหายังแก้ได้    ในที่สุดเราก็ต้องยุติและเสียเงินไปราวๆ ๘๐ ล้าน    ตอนนั้นผมไม่รู้จัก sunk cost fallacy   และยังไม่ชำนาญเรื่องการจัดการโครงการที่ต้องมีกลไกการตัดสินใจ go – no go           

พวกมากลากไป (groupthink – บทที่ ๒๕) เป็นเรื่องที่ผมขัดใจบ่อยๆ สมัยอายุน้อย    ว่าในการประชุมหลายครั้ง ท่านผู้อาวุโสว่าอย่างไร คนอื่นๆ ก็มักว่าตามกันไป    ทั้งๆ ที่ผมคาดว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ดี    เมื่อผมกลายเป็นผู้อาวุโส (ก็เป็นคนแก่นั่นแหละ) ผมจะพยายามไม่ให้หน่วยงานหรือที่ประชุมตัดสินใจไม่รอบคอบจากปัจจัยนี้    

 ความหลงของนักพนัน (gamblers’ fallacy)    เป็นความไม่เข้าใจเรื่อง “ความน่าจะเป็น” (probability)    สมมติว่ามีการเล่นปั่นแปะ    ในการเล่นครั้งก่อนๆ ออกหัวติดต่อกัน ๑๐ ครั้ง    ในครั้งต่อไปท่านจะแทงหัวหรือแทงก้อย    บางคนบอกว่าต้องแทงก้อย เพราะออกหัวมาแล้วตั้งสิบครั้ง    บางคนบอกว่าต้องแทงหัว เพราะเหรียญนี้ชอบออกหัว     ซึ่งผิดทั้งสองความเห็น     เพราะความน่าจะเป็นเท่ากับ ๕๐ : ๕๐

วิจารณ์ พานิช

๑ มิ.ย. ๖๓


     

หมายเลขบันทึก: 678057เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2020 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2020 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท