มมส ร่วมใจสู้ภัย COVID-19 : กระบวนการต้นน้ำก่อนลงสู่ชุมชน


การสื่อสารในช่วงนี้เต็มไปด้วยชีวิตชีวาเป็นอย่างมาก เพราะเน้นรูปแบบการเล่าเรื่อง ผสมปนเปกันทั้งภาษาไทย และภาษาอีสาน แทรกด้วยอารมณ์ขันๆ ในแบบฉบับที่เจ้าหน้าที่ถนัด

ผมเป็นคนให้ความสำคัญกับกระบวนการต้นน้ำเป็นอย่างมาก จึงไม่แปลกที่ก่อนนำพานิสิตไปสู่การเรียนรู้ชุมชน หรือปล่อยให้นิสิตลงไปสู่ชุมชน  ที่ขาดไม่ได้ก็คือการพบปะพูดคุยกับนิสิต  บางครั้งผมก็เรียกให้ดูดีว่ากระบวนการ “ติดอาวุธทางความคิด”

จะว่าไปแล้วกระบวนการติดอาวุธทางความคิดก็คือการ “ปฐมนิเทศ”ดีๆ นั่นเอง  หลักๆ ก็เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาพรวมการจัดกิจกรรมแก่นิสิต จะทั้งโดยวัตถุประสงค์โครงการ รูปแบบกิจกรรม  การแบ่งหน้าที่  รวมไปจนถึงการละลายพฤติกรรมเชิงความคิดของนิสิตเพื่อหลอมรวมความเป็นทีม –

นั่นอาจหมายถึงนัยยะสำคัญว่า เป็นประหนึ่งการปลุกเร้าสร้างแรงพลัง หรือ แรงจูงใจให้กับนิสิตก็ว่าได้


เปิดเวที : ปูพรมความรู้ถามทักความรู้

การขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการ “มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน” (มมส ร่วมใจสู่ภัย COVID-19) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ภายหลังนิสิตบรรจุถุงยังชีพต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมจึงชวนให้นิสิตมาพบปะกันที่ห้องประชุม

จริงๆ ผมไม่ได้นัดหมายล่วงหน้ากับนิสิตชัดเจนหรอกว่า “จะมีกระบวนการอะไรบ้าง” เพราะเจตนาที่จะสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนิสิตว่าตื่นตัวต่อการเรียนรู้อย่างไร  ทำงานแข่งกับเวลาได้ดีไหม  ออกแบบกิจกรรมด้วยตนเองอะไรได้บ้าง  - มิใช่บรรจุข้าวของเสร็จแล้ว ก็นิ่งงัน นั่งๆ นอนๆ รอเวลาลงสู่การ “เรียนรู้คู่บริการ” สถานเดียว

กระบวนการภายในห้องประชุม เริ่มต้นจากการที่ผมบอกเล่าที่มาที่ไปของโครงการตั้งแต่ต้นจนจบ อันหมายถึง การสื่อสารมูลเหตุของการก่อเกิดโครงการ รายชื่อผู้สนับสนุนที่มีทั้งนิสิต ผู้บริหารและศิษย์เก่า การดำเนินงานในระยะก่อนหน้านี้ กระบวนการคัดกรองผู้ประสบภัย  กระบวนการประสานงานกับชุมชน พันธกิจของมหาวิทยาลัยกับชุมชน ฯลฯ  

ทั้งปวงนั้น คล้ายๆ กระบวนการ “ปูพรม” ให้นิสิตเห็นภาพรวมการทำงานตามแนวคิด “รู้ตัวตนโครงการ”

ถัดจากนั้นก็เป็นการบอกเล่า “บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นบริบทของชุมชน”  โดยเจ้าหน้าที่ (รุ่งโรจน์ แฉล้มไธสง)  ซึ่งผมเกริ่นข้ามคืนไว้แล้วว่าให้ช่วยตระเตรียมข้อมูลมาสร้างการเรียนรู้ร่วมกับนิสิตตามแนวคิด “ทุกถิ่นฐานมีเรื่องเล่า”

เพียงแต่ก่อนเริ่มเวทีของเจ้าหน้าที่ ผมเข้าหนุนกระบวนการง่ายๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและประเมินความรู้เบื้องต้นของนิสิต ผ่านวาทกรรมว่า “ถ้าพูดถึงบ้านท่าของยาง หรือบ้านหัวขัว นิสิตนึกถึงเรื่องอะไรบ้าง”



ระยะแรกๆ นิสิตมีอึ้งๆ เงียบๆ พอประมาณ  เพราะคงไม่คาดคิดว่าผมจะจั่วหัวสู่เวทีในแบบนี้ นิสิตคงคิดว่าจะมารับความรู้ฝ่ายเดียวเป็นแน่แท้  หรือที่เงียบก็เพราะไม่ค่อยมีข้อมูล-ความรู้มาแลกเปลี่ยน –

ผมพยายามกระตุ้น (เล้าโลม) ให้นิสิตทำการ “ขบคิด วิเคราะห์ ทบทวน” ทั้งด้วยตนเองและขบคิดเป็นกลุ่ม โดยย้ำผ่านวลีอันคุ้นเคยว่า “ตอบมาเถอะ ไม่ต้องกลัวว่าจะผิด”  เพื่อต้องการสกัดเอาความรู้ข้อมูลในตัวตนของนิสิตออกมา  จนผ่านไปสักระยะนั่นแหละนิสิตจึงเริ่มประมวล หรือสะท้อนออกมาว่า

  • คิดถึงการไหลเรือไฟ
  • คิดถึงเทศกาลเข้าพรรษา และออกพรรษา
  • คิดถึงน้ำท่วม
  • คิดถึงน้ำชี
  • ฯลฯ

ข้อมูลทั้งหมดที่สะท้อนออกมานั้น ครอบคลุมแต่เฉพาะชุมชนบ้านท่าขอนยางเท่านั้น ส่วนบ้านหัวขัว นิสิตทั้งหมดแทบไม่มีข้อมูลใดๆ เลยก็ว่าได้ และยืนยันว่าไม่เคยไปเยือนชุมชนบ้านหัวขัวเลย

ถึงตรงนี้ ผมเลยทักแซวว่า “การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ อย่างน้อยก็ได้ไปในที่ๆ เราไม่เคยได้ไป”



รู้ตัวตนโครงการ : ทุกถิ่นฐานมีเรื่องเล่า

ในช่วงที่เจ้าหน้าที่ได้พบปะในเวทีนั้น  หลักๆ คือการบอกเล่าให้นิสิตได้รับรู้บริบทของชุมชนเป็นหัวใจหลัก เป็นการบอกเล่าภายใต้กรอบแนวคิด “ทุกถิ่นฐานมีเรื่องเล่า” โดยเรื่องที่นำมาบอกเล่าจะผูกโยงอยู่กับประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์  คติความเชื่อ จารีตประเพณี หรือเรียกโดยรวมๆ ในมิติอีสานๆ ว่า “ฮีตฮอย”  ซึ่งในครั้งนี้เรื่องราวที่นำมาสะท้อนสร้างการเรียนรู้กับนิสิตก็มีประเด็นสำคัญๆ อาทิเช่น

  • ตำนานจระเข้กับลูกสาวเจ้าเมือง
  • ตำนานไหลเรือไฟ
  • วัดเก่าแก่ในชุมชน
  • หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญๆ ในชุมชน
  • การแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน
  • ประวัติการตั้งถิ่นฐาน
  • ที่มาของชื่อบ้านนามเมือง  เช่น หัวขัว  ท่าขอนยาง
  • ประเพณีหลักๆ ในชุมชน
  • ฯลฯ

เป็นที่น่าสังเกตว่า การสื่อสารในช่วงนี้เต็มไปด้วยชีวิตชีวาเป็นอย่างมาก เพราะเน้นรูปแบบการเล่าเรื่อง ผสมปนเปกันทั้งภาษาไทย และภาษาอีสาน แทรกด้วยอารมณ์ขันๆ ในแบบฉบับที่เจ้าหน้าที่ถนัด ซึ่งในบางจังหวะที่ผมพอเติมเสริมแต่งได้ ก็จะค่อยๆ ขยับหนุนเสริมเชิงข้อมูล  รวมถึงในช่วงท้ายก็ขมวดประเด็นจากเรื่องราวทั้งปวงอีกรอบ

เช่นเดียวกับการถ่ายทอดความรู้เบื้องต้นของเรื่องทักษะการอยู่ร่วมกันและทำงานในสังคม (Soft skills)  ตลอดจนเครื่องมือการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต้องการบ่มเพาะให้เกิดในตัวตนของนิสิต ซึ่งนิสิตต้องเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง เพื่อก่อให้เกิดประสบการณ์และทักษะผ่านกิจกรรมในครั้งนี้ เช่น

• ทักษะผู้นำ (กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ กล้ารับผิดชอบ)

• ทักษะการสื่อสารสร้างสรรค์ / สื่อสารสร้างพลัง

• ทักษะการทำงานแบบมีส่วนร่วม อย่างเป็นทีม

• ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

• ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทั้งในแบบองค์รวมและแยกส่วน

• ทักษะในการสังเกตการณ์

• ทักษะการสืบค้นข้อมูลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ

• ฯลฯ


มองคน มองงาน : ออกแบบ มอบหมายภารกิจ

เสร็จสิ้นกระบวนการว่าด้วยความรู้ข้างต้นแล้ว  ผมยกเวทีทั้งหมดให้กับเจ้าหน้าที่และนิสิต  เพื่อให้พบปะพูดคุยกันในประเด็นสำคัญๆ เช่น การวิเคราะห์ตัวตนของแต่ละคน  การค้นหาแกนนำ  การแบ่งหน้าที่  การออกแบบกิจกรรมส่งมอบถุงยังชีพ  การค้นหาพิธีกร  การจัดเตรียมสถานที่ร่วมกับชุมชน  การตรวจวัดอุณภูมิ  การวางตนในชุมชน จิตอาสา - จิตสาธารณะ 

กระนั้นในช่วงท้ายๆ ผมก็กลับเข้ามาในเวทีอีกครั้ง  เพื่อรับฟังข้อสรุปที่เจ้าหน้าที่และนิสิตได้หารือกัน -

ครับ – นี่คือส่วนหนึ่งที่ผมยืนยันได้ว่า ผมให้ความสำคัญกับกระบวนการต้นน้ำมาก  เพราะผมเชื่อว่า “เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง”



ภาพ : สุริยะ สอนสุระ
เขียน : พฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน 2563

หมายเลขบันทึก: 678002เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2020 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2020 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น่าสนุกนะคะ สิ่งเหล่านี้นิสิตจะประทับใจไม่มีวันลืม ดังนั้น การจัดกระบวนการที่ประทับใจเท่ากับสร้างทัศนคติที่ดีกับชีวิตเลยนะคะ

ครับ พี่แก้ว…

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่่งกับที่พี่พูด ครับ “การจัดกระบวนการที่ประทับใจเท่ากับสร้างทัศนคติที่ดีกับชีวิต”

ในอดีต เราติดคำว่า “เรียน” ยุคสมัยนี้คำว่า “เรียนรู้” มาแรงมากๆ แต่หลายต่อหลายครั้งกลับเป็นแค่วาทกรรม น่าเสียดายมากๆ ครับ สำหรับผมแล้ว บ่อยครั้งผมจึงไม่ลืมที่จะย้ำกับนิสิตเสมอมาว่า “อีกหนึ่งหน้าที่ที่ต้องตระหนัก ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด นั่นคือ เรียนรู้”

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ คุณครูยอด

เป็นอย่างไรบ้างครับ จะเปิดเรียนแล้ว….ยุ่งวุ่นวายมากไหม สู้ๆ นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท