(177) KM : โปรแกรม MIO กับผู้ป่วยจิตเวชชายที่ผ่านพ้นภาวะวิกฤต


แม้จะดูแลผู้ป่วยอาการทางจิตพ้นวิกฤตที่ไม่เสถียรจำนวนมาก แต่ไม่ท้อใจ ปีนี้ได้ทดลองนำโปรแกรมสร้างสุขด้วยสติในองค์กร (MIO) มาประยุกต์ใช้ ..

ณ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ โรงพยาบาลจิตเวช จังหวัดอุบลราชธานี ที่ดิฉันปฏิบัติงานอยู่ มีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญมาระยะหนึ่งแล้ว สัปดาห์นี้ เริ่มกิจกรรม ‘การเยี่ยมสำรวจภายใน (Internal Survey: IS) โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ปีงบประมาณ 2563’ จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมขอตรวจประเมินขอการรับรอง Re-accredit จาก สรพ. โดยแบ่งเป็น 3 ทีม

เทศกาลรณรงค์งานคุณภาพ เป็น ‘โอกาส’ ของคน KM

10 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ดิฉันขออาสาเป็นตัวแทนคณะกรรมการบริหารองค์ความรู้ (KM) ติดตามการตรวจเยี่ยมของทีมที่ 1 ประกอบด้วย นพ.สิปณัฐ ศิลาเกษ นายแพทย์ปฏิบัติการ เป็นประธาน นางอรอินทร์ ขำคม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ นายทัศไนย วงศ์สุวรรณ นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ เป็นสมาชิกทีม และนางศุพัฒศร ผ่านทอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ เป็นเลขานุการ

ดิฉันจะทำหน้าที่มองหา ‘ของดี’ แล้ว ‘capture’ มาเขียนเป็นบทความ ถ่ายทอดความรู้สึกภาคภูมิใจออกมาเผยแพร่ให้แก่บุคลากรโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ได้รับทราบในวงกว้าง และคาดหวังให้ก่อระลอกคลื่น ‘การแลกเปลี่ยนเรียนรู้’ เกิดแรงกระเพื่อมที่แรงมากพอจะกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้รอบใหม่วนไปเรื่อยๆ อย่างไม่สิ้นสุด .. ดิฉันอยู่ในจำพวกลงทุนน้อยแต่อยากได้ดอกผลมากๆ ค่ะ(ฮา)    

งานการพยาบาลจิตเวชชายเร่งรัดบำบัด 1

หน่วยงานแรกที่ตรวจเยี่ยม ได้แก่ งานการพยาบาลจิตเวชชายเร่งรัดบำบัด 1 มี นางกาญจนา บุญมงคล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ เป็นหัวหน้าหน่วยงาน

งานการพยาบาลจิตเวชชายเร่งรัดบำบัด 1 มีภารกิจหลัก : รักษาพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชชายที่ผ่านพ้นภาวะวิกฤต (พ้นระยะฉุกเฉินทางจิตเวช-ผู้เขียน) หัวหน้าหน่วยงานนี้นำเสนอกิจกรรมของความภาคภูมิใจที่ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านโครงสร้างอาคารสถานที่ที่มีผลกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่ 

ปัญหาขั้นพื้นฐาน : โครงสร้างไม่เหมาะสม

หน่วยงานมีพื้นที่กิจกรรมสำหรับผู้ป่วยที่พักรักษาตัวจำนวน 3 โซน เมื่อก้าวเท้าผ่านประตูด้านหน้าเข้ามาด้านใน จะพบกับพื้นที่ โซนแรกเป็นห้องว่างใช้สำหรับกิจกรรมรับประทานอาหารและยา กิจกรรมการอยู่ร่วมกัน และกลุ่มจิตสังคมบำบัดกลุ่มใหญ่ ที่ไม่กำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจง  ถัดไป โซนที่สอง จัดให้เป็นห้องนอนผู้ป่วย เป็นพื้นที่กว้างกว่าส่วนอื่น โครงสร้างเดิมจัดแบ่งเป็นล็อคสำหรับวางเตียงนอน และ โซนที่สามห้องแยกปลอดเชื้อ (มีห้องน้ำในตัว) โดยไม่มี Unit สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนทางกายที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ผู้ป่วยไม่วิกฤต ที่ยังไม่เสถียร!

หน่วยงานฯ พยายามใช้ประโยชน์พื้นที่ โซนที่สามห้องแยกปลอดเชื้อ ด้วยการกำหนดลำดับ priority ดังนี้ ลำดับที่ (1) สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ ลำดับที่ (2) ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงทางคลินิก (SAVE) โดยเฉพาะหมวด Violence หรือพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง

ถ้ามีผู้ป่วยลำดับที่ (1) หรือ (2) แม้เพียง 1 ราย จะนำมาควบคุมไว้ใน โซนที่สาม ผู้ป่วยที่เหลือทั้งหมด 40-50 รายจะถูกจัดให้อยู่ร่วมกันในพื้นที่จำกัดมากขึ้นในโซนที่หนึ่งและโซนที่สอง  แต่ถ้ามีผู้ป่วยทั้งลำดับ (1) และ (2)  ก็จะจัดให้ผู้ป่วยลำดับที่ (1) อยู่ในพื้นที่โซนที่สาม ส่วนลำดับที่ (2) จะถูกควบคุมในโซนที่สอง ผู้ป่วยที่เหลือ จะถูกจัดให้อยู่ร่วมกันในโซนแรก เมื่อมีความแออัดมากขึ้นจะแปรเป็นความกดดัน ความเสี่ยงทางคลินิก (SAVE) ก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย .. ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเพิ่งพ้นระยะวิกฤต อาการสงบ แต่ยังไม่เสถียร จึงมีอารมณ์คุกรุ่นมากขึ้น พร้อมแสดงออกอย่างรุนแรงได้เมื่อสิ่งมากระทบแม้เพียงเล็กน้อย

ความภาคภูมิใจ : นำโปรแกรมสร้างสุขด้วยสติในองค์กร (MIO) มาประยุกต์ใช้

นางกาญจนา บุญมงคล ได้ถ่ายทอดความภาคภูมิใจให้ทีมฟังว่า แม้จะดูแลผู้ป่วยอาการทางจิตพ้นวิกฤตที่ไม่เสถียรจำนวนมาก แต่ก็ไม่ท้อใจ ปีนี้ได้ทดลองนำโปรแกรมสร้างสุขด้วยสติในองค์กร (MIO) มาประยุกต์ใช้ในการสร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกันของผู้ป่วย อยู่ระหว่างลองผิดลองถูก โดยคาดหวังว่า เมื่อผู้ป่วยมีสติ มีสมาธิมากขึ้น จะสามารถควบคุมอารมณ์ได้มากขึ้น และมีการแสดงออกของพฤติกรรมที่เหมาะสมมากขึ้นเช่นกัน เป็นการส่งเสริมสัมพันธภาพและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างมีความสุขมากขึ้น .. ผลลัพธ์เป็นอย่างไร ตามมาเลยค่ะ

ได้ลองผิด ลองถูก ก็ถือว่าได้ใส่ใจแล้วละ!

โครงการประยุกต์โปรแกรมสร้างสุขด้วยสติในองค์กร (MIO) สำหรับผู้ป่วยในงานการพยาบาลจิตเวชชายเร่งรัดบำบัด 1 วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการสงบลง สติ มีสมาธิ สามารถควบคุมอารมณ์และมีการแสดงออกของพฤตกรรมที่เหมาะสมมากขึ้น เครื่องมือ/อุปกรณ์ ใช้ application สร้างสุขด้วยสติในองค์กร (MIO) ของกรมสุขภาพจิต ระยะเวลา เพิ่งเริ่มทดลองใช้ โดยจัดกิจกรรมสองช่วง ช่วงแรกในตอนเช้า (ประมาณ 9.00 น.)จัดกิจกรรม MIO ให้ผู้ป่วยร่วมกับบุคลากร ก่อนให้สุขศึกษา ประเมินอาการผู้ป่วย ฯลฯ และช่วงที่สอง ตอนค่ำ  (ประมาณ 19.00 น.) จัดกิจกรรม MIO ให้ผู้ป่วยก่อนแจกยารับประทานยาก่อนนอน ขั้นตอนกิจกรรม จัดในพื้นที่โซนแรกสำหรับผู้ป่วยที่อาการทางจิตค่อนข้างสงบทุกราย  (ยกเว้นผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ป่วยถูกจำกัดพฤติกรรม ผู้ป่วยอยู่ไม่นิ่งที่อาจรบกวนผู้ป่วยอื่น ฯลฯ จะแยกไว้ในโซนที่สอง) ผลลัพธ์ ยังประเมินไม่ได้ชัดเจน เนื่องจากเพิ่งเริ่มนำมาประยุกต์ใช้ แต่สังเกตว่าผู้ป่วยอาการสงบลงในภาพรวม

การ ’ลองผิด-ลองถูก’ ได้เริ่ม ‘ก่อร่าง’ เค้าโครงที่ชัดเจนขึ้น

เนื่องจากผู้ป่วยที่รับย้ายมาเพิ่งพ้นระยะวิกฤตฉุกเฉิน (หลังรับใหม่ 1-3 วัน) ผู้ป่วยได้รับทั้งยารับประทาน ยาฉีดเพื่อสงบระงับอาการทางจิตจำนวนมาก (บางรายเริ่มได้รับยาฉีดที่ รพช. ก่อน refer มา) เป็นระยะที่ต้องการการฟื้นฟูทางด้านร่างกายจากการได้รับยาหลายขนานในปริมาณมาก นอกจากผู้ป่วยต้องการพักผ่อนด้านร่างกายแล้ว ยังต้องการทักษะในการควบคุมอารมณ์และการแสดงออกของตนเองให้เหมาะสมด้วย

การนำโปรแกรมสร้างสุขด้วยสติในองค์กร (MIO) มาประยุกต์ใช้ครั้งนี้ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างทำให้ไม่สามารถจัดให้ผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมาย (ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า) ให้อยู่ร่วมกิจกรรมในโซนแรกในขณะที่ผู้ป่วยจำนวนมากกว่าต้องอยู่ร่วมกันในโซนที่สองในช่วงการจัดกิจกรรม

ทางออก : การออกแบบโปรแกรมที่เหมาะสมช่วยเพิ่มความเป็นไปได้

สำหรับบริบทงานการพยาบาลจิตเวชชายเร่งรัดบำบัด 1 จากความเข้าใจว่าให้โปรแกรมหรือ Treatment ใดๆ แก่ผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมาย ต้องจัดให้เฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่จะประเมินผลเท่านั้น ไม่สามารถนำผู้ป่วยอื่นเข้ามาร่วมกิจกรรมได้ ทีมได้ให้แนวทางการออกแบบที่กำหนดขอบเขตและวางรูปแบบที่เหมาะสมกับข้อจำจัดดังนี้

(1) การคัดเลือกป่วยกลุ่มเป้าหมายสามารถคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงได้จำนวนหนึ่ง ส่วนผู้ป่วยที่เหลือ (แยกผู้ป่วยที่มีแนวโน้มรบกวนกลุ่มออกไปอยู่โซนที่สอง-เพื่อลดตัวแปรแทรกซ้อน) ให้อยู่ร่วมกิจกรรมได้ โดยจัดให้กลุ่มเป้าหมายนั่งในพื้นที่ด้านหน้า-ด้านใน ใกล้ผู้นำกลุ่ม เป็นการให้ intervention ที่มีข้อจำกัดในสถานการณ์จริง

(2) การให้โปรแกรมและการประเมินผล จัดกิจกรรมให้ตามปกติ แต่เน้นให้การเสริมแรงและประเมินผลเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย ผู้ป่วยที่เหลือได้ผลมาก-น้อย ให้ถือเป็นผลพลอยได้ (ไม่ประเมินผลจากโปรแกรม แต่ประเมินพฤติกรรมเป็นรายบุคคลตามปกติ)

(3)ผลลัพธ์ ที่ยังไม่กำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการให้ชัดเจน ว่าจะประเมินอะไร เแนะนำให้กำหนดเป็นกลุ่มของพฤติกรรมที่พึงประสงค์ (เชิงคุณภาพ) เช่น ผู้ป่วยสามารถนั่งหลับตา นั่งนิ่งๆ ได้นานขึ้น (หน่วยเป็นนาที) เป็นต้น แปลงพฤติกรรมเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ คะแนนมาก-น้อย 0-5 หรือ 0-7 คะแนน บันทึกไว้เป็นรายครั้ง รายบุคคล สามารถนำมาวิเคราะห์ความแตกต่างว่าดีขึ้นมากน้อยเพียงใด ทั้งรายบุคคลและในภาพรวม   

ในเบื้องต้น วางกรอบโครงร่างคร่าวๆประมาณนี้ ลองผิดลองถูกต่ออีกสักระยะ จะเห็นความเป็นไปได้ในรายละเอียด นำไปใช้ในการออกแบบโปรแกรมฯ สำหรับผู้ป่วยจิตเวชชายที่ผ่านพ้นภาวะวิกฤตที่เหมาะสมมากขึ้นได้ .. ทีมงานการพยาบาลจิตเวชชายเร่งรัดบำบัด 1 จะค้นพบความรู้แฝงเร้น (Tacit Knowledge) ที่ได้จากการสังเกต บันทึก วิเคราะห์จากหน้างาน

คณะกรรมการ KM ขอส่งเทียบเชิญร่วมกิจกรรมตลาดนัดความรู้ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ในครั้งต่อไปไว้ล่วงหน้านะคะ

หมายเลขบันทึก: 678000เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2020 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2020 09:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท