ชีวิตที่พอเพียง 3719. ความฉลาดรวมหมู่ : ๘. ศัตรูของความฉลาดรวมหมู่



บันทึกชุด ความฉลาดรวมหมู่ตีความ (และสรุปความ) จากหนังสือ Big Mind : How Collective Intelligence Can Change Our World  (2018) เขียนโดย Geoff Mulgan ศาสตราจารย์ด้าน collective intelligence, public policy & social innovation แห่ง UCL  และเป็น CEO ของ NESTA    โดยในตอนที่ ๘ นี้ ตีความจากบทที่ 10   Self-Suspicion and Fighting the Enemies of Collective Intelligence

สาระสำคัญคือ ความฉลาดรวมหมู่กับความเขลารวมหมู่อยู่ด้วยกัน    มีจุดอ่อนอยู่ในจุดแข็งทุกด้านของมนุษย์และการรวมหมู่ของมนุษย์    มนุษย์มีจินตนาการ ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์  แต่ในขณะเดียวกัน ก็นำไปสู่การสร้าง “ความจริง” ปลอมได้ ธรรมชาติของ “ความรู้” มีความแตกต่างกัน ในด้านความน่าเชื่อถือ

ศ. เจฟฟ์ มัลแกน ขึ้นต้นบทนี้ด้วย “กาลามสูตร” ของพระพุทธเจ้า     ที่สอนให้ไม่เชื่อง่าย ต้องมีวิจารณญาณก่อนเชื่อ     ตามด้วย “มายา” ของความรู้อีกมากมาย    โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำเตือนว่า ความรู้ที่เราได้รับตกทอดมานั้น เป็นความรู้แห่งอดีต เป็นจริงในอดีต    ซึ่งในอนาคตไม่แน่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่    เราไม่รู้ความรู้แห่งอนาคต    ทำให้ผมนึกถึงหลักการ growth mindset    และ dynamic mindset    ที่มองสรรพสิ่งว่ามีการเปลี่ยนแปลง     และเราสามารถพัฒนาตัวเราเอง และองค์กร หรือประเทศของเราได้     

ได้กล่าวแล้วว่า ตอนเป็นทารก มนุษย์เราเริ่มพัฒนาความรู้ความเข้าใจโดยสร้างโมเดลในสมอง เอาไว้ทำความเข้าใจความรู้ใหม่ที่ได้รับ    เจ้าโมเดลนี่แหละอาจนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจผิดๆ ได้    สามารถทำให้เรา “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” ได้   

“ความคุ้นเคย ทำให้ละเลยที่จะสังเกต” เป็นบ่อเกิดของความผิดพลาดในการทำงาน โดยเฉพาะของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ     เพราะธรรมชาติอย่างหนึ่งของความคิดของมนุษย์คือ เราสรุปอย่างรวดเร็วด้วยการคิดระบบที่ ๑    แล้วจึงหาข้อมูลหลักฐานเอามายืนยันด้วยการคิดระบบที่ ๒    แต่เรามักตกหลุมพราง ที่เรามักสร้างข้อมูลหลักฐานเพื่อยืนยันหรือสนับสนุนผลการคิดระบบที่ ๑ ที่ตนมีข้อสรุปอยู่แล้ว             

สุดยอดของความฉลาด คือความสามารถตรวจสอบความฉลาดของตนเอง     ตั้งคำถามต่อความฉลาดหรือความรู้ของตนเอง    และหาคำตอบผ่านการปฏิบัติ    ไม่ใช่แค่วนเวียนอยู่กับความคิด    

จริยธรรมแห่งวิจิกิจฉา (An Ethic of Doubt)     

สุภาษิตรัสเซีย บอกว่า “จงเชื่อ แต่ตรวจสอบ”    คือมีทั้งความมั่นใจและไม่มั่นใจอยู่ด้วยกันในเรื่องต่างๆ     ตรงกับโคลงพระราชนิพนธ์ของ ร. ๖ ว่า “แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ ....”     และตรงกับกลไกทางชีววิทยาในร่างกายที่มีระบบภูมิคุ้มกันคอยต่อสู้สิ่งแปลกปลอมอยู่ตลอดเวลา     

 ในเรื่องความฉลาดก็เช่นเดียวกัน    ต้องหมั่นตรวจสอบความฉลาดปลอม     ทั้งที่เกิดขึ้นภายในตัวเราเอง (กลุ่มเราเอง)    และที่คนอื่น (กลุ่มอื่น) นำมาหลอกเรา    

ศาสตร์ว่าด้วยเรื่องนี้นำไปสู่ความเข้าใจ ปรากฏการณ์ของ “ความเขลาในความฉลาด” ได้แก่ confirmation bias, groupthink, และ investment effect

confirmation bias  เป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์เรามักจะแสดงอคติ โดยการหาหรือตีความข้อมูลหลักฐานเพื่อยืนยันความเชื่อหรือข้อสรุปของตน     เรื่องนี้น่าจะสอดคล้องกับ การคิดระบบที่ ๑    และ การคิดระบบที่ ๒  ที่กล่าวแล้ว   

groupthink เป็นปรากฏการณ์ที่คนในกลุ่มถูกสถานการณ์บังคับหรือชักจูงให้คิดไปในทางเดียวกันหมด     ไม่กล้าหรือไม่มีโอกาสคิดต่าง     ทำให้เกิดการชักจูงให้ร่วมกันตัดสินใจผิดได้ง่าย    ตัวอย่างที่ชัดเจนคืออาณาจักรไรช์ที่สาม กับพรรคนาซีเยอรมัน ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒     

investment effect  ผมไม่รู้จักคำนี้ จึงค้นด้วย Google    พบแต่คำ impact investment    ซึ่งหมายถึงการลงทุนในกิจการที่หวังว่านอกจากให้กำไรส่วนตนแล้ว ยังจะมีผลดีต่อสังคมด้วย     เช่นลงทุนในกิจการที่ก่อผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  การลงทุนที่ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ    ผมเดาว่า ในความเป็นจริง impact investment ที่มีการลงทุนไปอาจเพียงเอาเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นข้ออ้าง     ไม่ทราบว่าผมเดาถูกหรือไม่  

มีผู้ให้นิยาม “ปัญญา” (wisdom) ว่าไม่ได้หมายถึงรู้ความจริงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง    แต่หมายถึงรู้แบบไม่เชื่อจนเกินไป และไม่ตั้งข้อสงสัยจนเกินไป    ที่ผมขอใช้คำว่า “รู้อย่างมีสติ”    ปัญญาคือการรู้อย่างมีสติ    ไทยเราจึงใช้คำว่า “สติปัญญา” เป็นคำที่เหมาะสมอย่างยิ่ง     

มนุษย์จึงสร้างศาสตร์ที่แม่นยำขึ้นมา คือคณิตศาสตร์ ที่หนังสือบอกว่าเป็น “ความจริงที่บริสุทธิ์กว่า” (purer truth)    มีการประดิษฐ์ตัวเลขขึ้นมาใช้ป้องกันการหลอกลวง    เพราะตัวเลขมีความแม่นยำสูง    แต่ในที่สุดก็พบว่า มีทั้งตัวเลขที่สะท้อนจำเพาะบริบท (the contextual)   กับตัวเลขที่บอกภาพใหญ่ (the universal)     ซึ่งหากดูเฉพาะตัวเลขภาพใหญ่ เราจะได้ความจริงที่บิดเบี้ยวไปมาก    เช่น GDP ต่อประชากร ๑ คน ของจังหวัดระยองเท่ากับ ๑.๐๙๕ ล้านบาท    ไม่ได้หมายความว่าคนที่อยู่อาศัยในจังหวัดระยองแต่ละคนมีรายได้ปีละ ๑ ล้านบาท   

ทำให้ผมระลึกชาติ ไปที่ชีวิตที่ลอนดอนในปี พ.ศ. ๒๕๒๑    ไปพบหนังสือ How to lie with statisticsอันโด่งดัง     ถือเป็นหนังสือกึ่งวิชาการที่เป็นอมตะ   และเวลานี้ศาสตร์ด้าน big data analytics ช่วยหาความหมายจากข้อมูลจำนวนมากที่เกินกำลังของสมองมนุษย์จะประมวลได้   

วิจิกิจฉา ต่อความน่าเชื่อถือ/แม่นยำ ของข้อมูล หรือความรู้ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของความฉลาดรวมหมู่

สู้ศัตรูของความฉลาดรวมหมู่

หนังสือบอกว่า ในสภาพที่คนมารวมหมู่กันและแชร์ข้อมูลความรู้ต่อกันอย่างซื่อสัตย์    กลุ่มคนนั้นจะได้ “ความจริง” (truth) ที่เกี่ยวข้อง ไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่มีอยู่จริง    เพราะการรวมหมู่กันนั้นเป็นการรวมคนที่มีอัตลักษณ์ ผลประโยชน์  และเจตนารมณ์ ที่แตกต่างหลากหลาย    และในการรวมหมู่กันนั้นมีทั้งความร่วมมือ การแข่งขัน การเล่นเกม และการเสแสร้างหลอกลวง   

ศัตรูของความฉลาดรวมหมู่มีมากมาย รวมทั้ง

  • การจงใจบิดเบือน  หรือโกหก
  • เสียงเล่าลือ
  • ได้รับข้อมูลมาผิดๆ  หรือสังเกตมาผิด
  • การสร้างกระแส ใน โซเชี่ยลมีเดีย (trolling)
  • การแพร่กระจายข่าวลวง ในโซเชี่ยลมีเดีย (spamming)
  • การจงใจเบนความสนใจ
  • กลัวสิ่งที่ไม่รู้
  • อคติ
  • ตีความเกินเลย (overstanding)

จะเห็นว่าเทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสาร มีคุณค่ายิ่งต่อการสร้างความฉลาดรวมหมู่    และในขณะเดียวกันก็เป็นแนวร่วมของศัตรูของความฉลาดรวมหมู่ด้วย    คนที่เป็นตัวการอาศัยกำบังตัวอยู่ในหมู่ชน    และอาศัยกติกาการเป็นสมาชิกพื้นที่ไซเบอร์แบบไม่แสดงตัว (anonymous)                

การต่อสู้นี้ เป็นการต่อสู้กับความฉลาดที่มาจากมนุษย์  และที่มากับเทคโนโลยี     เมื่อเราเข้าใจข้อจำกัดของความฉลาดทั้งสองแหล่ง    เราก็จะจัดการความฉลาดที่เป็นความเขลาได้

โดยต้องไม่ลืมว่า ความฉลาดรวมหมู่เกิดจากการที่มนุษย์สื่อสารกันได้ ทั้งสื่อสารระหว่างมนุษย์โดยตรง     กับสื่อสารผ่านเทคโนโลยี    และการสื่อสารนั้นเองที่เป็นบ่อเกิดของความบิดเบือนทั้งปวง     มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่า ในสภาพที่คนอยู่รวมกันแบบหนาแน่น    จะมีความหลากหลายของภาษาเพิ่มขึ้น    ซึ่งตรงกันข้ามกับความเข้าใจโดยทั่วไป     มนุษย์เราใช้ภาษาเพื่อสื่อสาร และเพื่อบิดเบือน    การใช้เทคโนโลยีก็เพื่อเป้าหมายแบบเดียวกัน  

ผมขอแนะนำหนังสือ The Art of Thinking Clearly (2013) ที่ชี้ให้เห็นอคติที่แฝงเร้นอยู่ในความเป็นมนุษย์     ที่อาจถือว่าเป็นความเขลาที่มากับความเป็นมนุษย์ก็ได้

วิจารณ์ พานิช  

๑๒ เม.ย. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 677994เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2020 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2020 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดูจากบริบทแล้ว​ Investment effect น่าจะหมายถึง​ sunk cost fallacy หรือเปล่าครับอาจารย์

ดูจากบริบทแล้ว​ Investment effect น่าจะหมายถึง​ sunk cost fallacy หรือเปล่าครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท