เรียนรู้หลักสูตรฐานสมรรถนะ


เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓  สพฐ. จัดประชุม รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) สมรรถนะตามกรอบแนวคิดหลักสูตรฐานสมรรถนะ   โดยส่งร่างให้ผู้ได้รับเชิญอ่านก่อน    ผมอ่านแล้วเขียน PowerPoint ไปให้ความเห็นดังแนบ (คลิก ppt)

วันนี้ลองขอให้อากู๋ช่วยหาบทความดีๆ เกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ พบที่นี่     และพบรายงานของคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่นี่   รายงานนี้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มาก    รวมทั้งพบเอกสารที่ดีมากของ สกศ. ที่นี่    อ่านคร่าวๆ แล้ว เกิดความรู้สึกว่า วงการศึกษาไทยได้รวบรวมความรู้เชิงทฤษฎีเกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะไว้ดีมาก    ความท้าทายจึงอยู่ที่การประยุกต์สู่การปฏิบัติ ให้นักเรียน (และครู) ได้รับประโยชน์

เมื่อเช้าประชุมทางไกลเรื่องนี้กับครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง แห่งโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา  และทีมมูลนิธิสยามกัมมาจลนำโดยคุณเปา โดยทางทีม ลปม. ยกร่างหน่วยการเรียนและแผนการสอนให้เป็นฐานสมรรถนะ   เอามาให้ดู เพื่อขอความเห็น

อ่านแล้วพิศวงในความสามารถของทีมงาน รร. ลปม.    ในการตีความหลักการ นำเข้าสู่แผนการสอนที่มีรายละเอียดมาก    ย้ำว่าทำโดยทีมงานของครูในโรงเรียนเอง โค้ชโดยครูใหญ่วิเชียร     นี่คือตัวอย่างของการเตรียมนำหลักการสู่ภาคปฏิบัติให้เกิดผลจริงจัง  

ผมให้ความเห็นในการประชุมวันนี้ว่า ผมมองว่าหลักสูตรเป็นเครื่องมือ    สำหรับ empower ครู ให้คณะครูในโรงเรียนและผู้บริหารโรงเรียนร่วมกันคิดและดำเนินการเพื่อบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เน้นสมรรถนะ    โดยดำเนินการพัฒนาต่อเนื่อง    ยกระดับสมรรถนะของนักเรียนได้อย่างต่อเนื่อง หลักสูตรที่กำหนดโดยส่วนกลางจึงต้องไม่ลงรายละเอียดมากเกิน จนกลายเป็นตัวกำหนดแบบตายตัว ปิดกั้นการเรียนรู้ของครู

ผมบอกว่า key success factor ของการดำเนินมาตรการตามนโยบายหลักสูตรฐานสมรรถนะ คือการกำหนดบทบาทที่ถูกต้องของส่วนกลาง    ให้ไม่ลงรายละเอียดมากเกิน    ให้เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่ผู้บริหารและคณะครูเอาถ่าน ได้ใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ และใช้พลังเรียนรู้ของตน    หน้าที่ของส่วนกลางน่าจะเป็นการเข้าไปยืนยันผลสำเร็จที่น่าชื่นชมของโรงเรียน    เข้าไปยกย่องและสนับสนุนโรงเรียนที่ดำเนินการจริงจังและได้ผลดี    รวมทั้งสร้างแรงผลักดันให้โรงเรียนที่ไม่เอาถ่านอยู่ไม่ได้ ต้องปรับตัว  

มุมมองที่โรงเรียน    ผมมองว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะคือโอกาสที่โรงเรียนจะสร้างคุณค่าต่อการเรียนรู้ของนักเรียนได้ตรงเป้ายิ่งขึ้น    เป็นโอกาสที่ครูจะช่วยกันทำให้การบรรลุเป้ายกระดับเรื่อยไป     ซึ่งหมายความว่าสมรรถนะที่นักเรียนบรรลุนั้นมีหลายระดับ    เป็นโจทย์สำหรับครูที่จะสร้างสรรค์วิธีการให้สมรรถนะที่บรรลุนั้นเกิดแก่นักเรียนทุกคนถ้วนหน้ากัน    และบรรลุในระดับสูง ไม่ใช่ผิวเผิน    ตามแนวทาง เรียนสู่รู้เชื่อมโยง 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ เม.ย. ๖๓

630211 cbl from Pattie KB

หมายเลขบันทึก: 677534เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2020 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2020 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท