SELF TALK หลังจากดูคลิปวิดีโอ เรียน รู้ ร่วม คิด E.P.3 -Deep Learning Cycle


เกริ่นนำ

บันทึกนี้ เป็นบันทึกที่ผมเขียนเป็น Reflection ในแบบ "Self Talk" หลังจากดูคลิปวิดีโอ เรียนรู้ร่วมคิด e.p.3-Deep Learning Cycle ที่อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ได้สนทนากับคุณอุ๊ กรรณจริยา สุขรุ่ง ใครสนใจดูคลิปนี้ได้ทาง Youtube นะครับ ที่ 

https://www.youtube.com/watch?v=LO3tlTelOig

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

SELF TALK เรียน รู้ ร่วม คิด E.P.3

18.48 น.  5 พ.ค.63 วันที่มาตรการ Lock Down ชุมชนผ่อนคลายลงไปมาก

ชีวิตทั่วไป ดูเหมือนจะกลับเข้าสู่ปกติ แต่ลึกๆเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ซะทั้งหมด เรารู้สึกว่าสังคมมีกระบวนการคิด กระบวนการทำงาน การใช้ชีวิต หลายอย่างมันมีความไม่แน่นอน และผันผวน อยู่ตรงหน้า

อันนี้นึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้มาเรียนรู้เรื่อง VUCA World , System Thinking , Team Learning , Dialogue ฯลฯ และอีกหลายเรื่อจาก อาจารย์ชัยวัฒน์ รวมถึงการมี “สังฆะ” มีกัลยาณมิตร เป็นญาติทางธรรมในวง Leaders by Heart ที่สำคัญไม่น้อยกว่า ญาติทางโลกอีกหลายคน

อืมม นี่คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ....มันคงมีจุดหมายอะไรบางอย่าง ก็ปล่อยมันไป คอยดูไป อืม ชีวิตก็น่าค้นหาดี อันนี้ดีไม่น่าเบื่อ ไม่ต้องรู้ทุกคำตอบ

ความคลุมเครือ แสงไฟสลัวๆ ในให้แสงเงา มันก็มีเสน่ห์ในตัวมัน

----------------------------------------

ฟังคลิป e.p.3 มาแล้วรอบนึงเมื่อสัปดาห์ก่อนตอนขับรถ รอบนั้นฟังผ่านๆ เพราะอยากฟังสักสองรอบแล้วค่อย Self Talk จะได้เก็บรายละเอียดและมีเวลาย่อย จะฟังอาจารย์นี่ ต้องเตรียมตัวดีๆ เหมือนนานๆทีจะได้กินอาหารอันโอชะ เป็นอาหารสมอง อาหารทางจิตวิญญาณ นี่ก็เตรียมมาแต่เช้า อ่าน Self Talk ที่ตัวเองเคยเขียนไว้ตั้งแต่คลิป e.p.1 e.p.2  มีกระบวนการยิบย่อยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการท้องให้อิ่ม ทำใจให้โล่ง ทำบรรยากาศให้เบิกบาน (ไม่อยากสงบนิ่ง มันจะเฉื่อย จะเนือย มันต้องเบิกบาน กระตุ้นหัวใจนิดๆ จึงจะมีรสชาติในการเสพ)

ว่าแล้วก็เปลี่ยนจากน้ำเก็กฮวยขวด เป็นเชี่ยงชุนสักจอก (วันนี้พิเศษ มีเติมน้ำผึ้งเรียกความหวานสักนิด)

เอิ่ม....จะเขียน Self Talk ต้องอารมณ์ประมาณนี้

-------------------------------------------

BAR ตัวเอง คุยกับตัวเองในใจว่าพร้อมหรือยัง? ก็โอเค พร้อม แต่ฟังได้แป๊บก็สะดุด ฟังได้แป๊บก็โดนสะกัด  เอาเข้าจริงๆ ความพร้อมจริงๆไม่เคยมีนะ มันมีอะไรมาขัดจังหวะ มาสะดุดตลอด ยิ่งอยู่บ้าน เดี๋ยวคน เดี๋ยวหมา เดี๋ยวไลน์ติ๊งต่องเข้ามา เดี๋ยวภรรยาใช้ ฯลฯ เอ่อ ความไม่พร้อมทีแรกก็หงุดหงิด แต่มานึกดูอีกที เอ้อ นี่ VUCA world มารับใช้ถึงบ้าน เพราะโลกที่เล็กสุดก็อยู่ในบ้านเรานี่เอง VUCA world มองออกนอกไกลกันจังจนลืมว่ามันอยู่ติดตัวติดบ้านเรานี่เอง อืม ดีๆๆ เรามีหลักคิดในการดูมัน จิตก็เป็นลิง เป็นเสือ เป็นผีบ้าน้อยลง

มองความไม่พร้อมด้วยใจพร้อม ยิ้มน้อยๆออก จึงจรดรอยยิ้มลงสู่ปลายนิ้วแล้ววางลงบนแป้นพิมพ์

---------------------------------------------

ตอนพิมพ์นี่ดีหน่อย พลบค่ำมากละ ทุ่มกว่าๆ ไม่ค่อยมีใครมาวุ่นวาย แสดงว่าเวลาเขียนนี่สำคัญมาก มากกว่าดูคลิปซะอีก เพราะดูคลิปนี่อะไรมาคั่น เราก็หยุดชั่วคราว แล้วฟังต่อได้ แต่พอเขียนนี่มันไม่ใช่นะ มันต้องการอารมณ์ ความรู้สึก มีโมเมนต์ หรือโมเมนตัมที่ต่อเนื่อง มันถึงจะเขียนไปพร้อมกับความคิดออก ไม่รู้คนอื่นเป็นรึเปล่านะ แต่สำหรับเรานี่เป็น ถ้าจะเขียนต้องเงียบ ต้องนิ่งมากกว่า ใช้พลังภายในสูง จะให้ดีต้องค่ำ ต้องดึก หรือไม่ก็ปิดห้อง ปิดสื่อต่างๆที่จะรบกวน อันนี้เป็น Learn How to Learn แบบหนึ่ง ถ้าไม่รู้จุดนี้ เขียนอาจจะได้ แต่มันไม่ใช่ Self Talk ที่มาจากข้างในเพียงพอ ไม่อยากทำงานสั่วๆส่งอาจารย์

---------------------------------------------------------------------

ใน e.p.3 นี่อาจารย์พูดเรื่องวงจรการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง ซึ่งก็ต่อเนื่องมาจาก e.p ก่อนๆ แต่ที่เราชอบคือ อาจารย์พูดถึง ดวงตาของศิลปินที่จะมองเห็นความงามละเอียดละเมียดละไมในสิ่งที่คนทั่วไปมองไม่เห็นหรือมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา อันนี้ ทำให้เรานึกถึงนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องหลายคนที่จริงๆก็สร้างานศิลปะไปพร้อมกันได้อย่างลงตัว อย่าง ไมเคิล แองเจลโล ลีโอนาโด , ดาวินซี่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ , หรือแม้แต่นักสังคมวิทยาอาจารย์เราหลายคน ก็วาดภาพเก่ง ทำกับข้าวเก่ง อันนี้คือเอาศิลปะมาเชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์ได้ เป็นศิลปินที่อาจจะไม่มีใครรู้จักมาก แต่ก็บ่มเพาะด้านนี้ไว้ ทำให้คนเหล่านั้น มองเห็นอะไรได้ลึกซึ้ง

ไม่ต้องดูในไกล Philosophy King กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างในหลวง ร.9 ท่านทรงศึกษาศิลปะหลายด้าน ไม่ว่าดนตรี จิตรกรรม ประติมากรรม และสังเคราะห์ออกมาเป็น ศาสตร์ของพระราชา ซึ่งตรงนี้ ยังมีอีกมากที่เราต้องน้อมนำเข้ามาศึกษาและเจริญรอยตามต่อไป

กลับมาที่อาจารย์ชัยวัฒน์ เรื่องศิลปะนี่นอกจากจะได้ยินจากปากอาจารย์แล้ว ยังเห็นศิลปะในบ้านอาจารย์ที่เป็นฉากหลังด้วยนะ จริงๆถ้าดูชีวิตอาจารย์ก็เป็นงานศิลปะชิ้นเอกชิ้นหนึ่ง ที่ไม่ใช่ เรียนจบ ทำงาน สืบพันธุ์ แล้วตาย แต่จะเข้าใจ อาจารย์ได้ ไม่ใช่ด้วยการดู การฟัง การจดบันทึก แต่เป็นการทำ เป็นการใช้ชีวิตทดลอง (experimental life) ที่อาจารย์บอกว่า ปัจจัตตัง นั่นแหละ

ใครดูคลิปอาจารย์แล้ว ถ้าดูอย่างใส่ใจจริงๆ แล้วลองทำดู จะรู้เลยว่าคุ้มสุดคุ้ม แล้วจะรู้นะว่ามันมีประโยชน์และทำได้จริง

-------------------------------------------------------------------------------

อีกเรื่องที่คิดว่า ตัวเองมาถูกทาง คือการเจริญสติ ที่อาจารย์บอกว่าต้องทำทุกวัน แต่ไม่ไปยึดติดกับรูปแบบ และไม่ใช่แบ่งเวลาเป๊ะๆ อันนั้นก็อาจจะใช่ส่วนหนึ่งที่มีการนั่งหลับตาสมาธิบ้าง จะกี่นาทีก็ว่ากันไป แต่มนุษย์ปุถุชนอย่างเราถนัดอย่างอาจารย์มากกว่า คือ ใช้เวลาบางช่วงของวันอยู่นิ่งๆ ผ่อนคลายจิตใจ พอรู้สึกว่าจิตมันตึง ก็ผ่อนมันด้วยศิลปะบ้าง กินขนมนมเนยบ้าง ฟังเพลง แต่งบทกวี ฝึกไอคิโด รู้เนื้อรู้ตัว รู้สภาวะจิตใจ ทำไปๆ จนเป็นนิสัย ถ้ามีเวลา ปลอดคนหน่อยและไม่วังเวง หรือดึกดื่นมืดค่ำเกิน ก็จะนั่งสมาธิ อันนี้จิตใจก็สงบดี แต่ต้องระวังไม่ให้เฉื่อย แบบว่าสงบเกิน ไม่เอาอะไรแล้ว อันนั้นไม่ใช่ แต่เป็นสงบแบบเตรียมรับการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ต้องมีจิตใจที่เบิกบาน

เราคิดว่า การมีความเบิกบานนี่สำคัญมากนะ จริงๆมันน่าจะสำคัญพอๆกับฝึกสติเลย การเบิกบานที่แท้ไม่ใช่การปล่อยตัวปล่อยใจบันเทิงเริงรมย์อะไรอย่างนั้นนะ แต่ความเบิกบานแบบ “ตื่นรู้” อันนี้ลึกซึ้ง คือ เห็นคุณค่าของตัวเอง คุณค่าของทุกสิ่งที่แวดล้อม มีความยินดีได้แม้ในจังหวะที่ไม่สุข ไม่พร้อม เบิกบานในการมองเห็นความเป็นผู้รับและเป็นผู้ให้ เห็นพลังและสายใยเชื่อมโยงสรรพสิ่งทั้งในปัจจุบัน อดีต และอนาคต อันนี้ มีคนพูดกันน้อย หมอยงยุทธ MIO ก็อาจจะไม่ได้พูด แต่เราคิดว่า นี่สำคัญ และไทม์ไลน์รูปแบบการอบรมของอาจารย์ชัยวัฒน์ในช่วงหลังๆ จะแทรกเรื่องศิลปะแขนงต่างๆ นั่นก็คือความเบิกบานที่เป็นนัยยะแฝงเร้นอยู่ว่า ต้องคู่กับ สติ เพียงแต่เราสกัดเรื่องนี้กันออกมาน้อยไปหน่อย

เราจึงเห็นคนเจริญสติเยอะ ผ่านกระบวนการ MIO เยอะ แต่ไม่ค่อยเบิกบาน อันนี้เราสังเกตเอานะ จริงๆเขาอาจจะเบิกบานแบบเคร่งขรึมก็ได้ แต่เอ๊ะ มันก็ไม่น่าจะใช่ คนเบิกบานจากภายในตาจะใสเป็นประกาย มีออร่า แต่เท่าที่ดูไม่ค่อยเจอ แสดงว่ามันน่าจะมีอะไรผิดพลาดแหงๆ คงเป็นเรื่อง แยกสติ ออกจาก ความเบิกบาน หรือให้น้ำหนักสุดโต่งไปที่อย่างแรกนี่แหละ 

อันนี้ ต้องขอบคุณอาจารย์ชัยวัฒน์ กับอาจารย์อุ๊ ที่ปล่อย เวิร์ดดิ้ง คำนี้ออกมากระทบใจ

----------------------------------------------------------------------------------------------

ชักเมื่อยนิ้วละ เดี๋ยวดูแป๊บว่าจดอะไรไว้อีก อ้อ อีกเรื่องที่โดนใจ คือ ในการอบรมกับอาจารย์หลายครั้งที่เราเห็นอาจารย์จะนั่งหลับตานิ่งๆเป็นช่วงๆ แต่ก่อนก็นึกไม่ออกว่าอาจารย์ทำอะไรหว่า ตอนนี้ e.p.3 อาจารย์มาเฉลยคือ อาจารย์กำลัง Self-Management ฝึกและเตรียมสภาวะตัวเอง Be Present อยู่ อืมๆๆ การนั่งสมาธิในระหว่างวัน ทำได้เสมอแม้ในห้องประชุมที่คนยังจ้อกแจ้ก อันนี้อาจารย์ทำให้ดูนานแล้ว เราไม่เก๊ตเอง และถ้าจะรวมเวลานั่งตอนเช้าช่วงก่อน Check in และเศษเวลาที่อาจารย์นั่งนิ่งๆเหล่านี้ นับเป็นเวลาสมาธิแบบนั่งนิ่งๆก็น่าจะได้เป็นสิบๆนาทีอยู่ ไม่รวมสมาธิแบบเคลื่อนไหวในกิจกรรมสารพัด ที่อาจารย์ทำไปโดยไม่แยกจากความเบิกบาน อันนี้ดี

ส่วนชีวิตสี่มิตินี่ ชัดเจนแล้ว ไม่ทำให้มันสมดุลมันจะ Burned Out เราก็คอยเตือนคนอื่น บอกคนในทีมตลอด พักหลังหมอก็ช่วยย้ำตรงนี้มากขึ้น คงเพราะไปทำกับตัวเองแล้วเห็นจริงเห็นจัง แต่กับทีมงานแค่เอาให้พวกเขาเห็นสิ่งเหล่านี้และกล้าที่จะบอกเล่าออกมาก่อน เรื่องสมดุลนี่คงต้องใช้เวลาและความกล้าหาญมากขึ้นไปอีกระดับ ต้องใจเย็นๆ เล่นกับคน กับกาลเทศะ หาจังหวะเอา

---------------------------------------------------------------------------------------------------

สุดท้าย มีนิดหนึ่งที่คิดงอกมาจากอาจารย์ คือ การที่เราเจริญสติ (และเบิกบาน) ผ่านการครุ่นคิดคำนึงถึงบรรพชน พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ลูกหลาน อะไรก็แล้วแต่ก็ดี  ในความจริงมันก็ไม่ได้มีภาพแต่ความสุขหวานชื่น บุญคุณซาบซึ้ง มันมีภาพของการทะเลาะเบาะแว้ง คำพูดทิ่มแทงขุ่นเคือง บางเรื่องก็เจ็บจำฝังใจ ปรากฏออกมา มันไม่ได้จู่ๆจะมีสติ หรือมีความเบิกบาน

เราคิดว่าจะทำอย่างนี้ได้ เราต้องมี mind set ที่เปี่ยมความเมตตากรุณาเป็นพื้นฐานมาก่อน หรืออย่างน้อย พอระลึกถึงพ่อแม่ แว่บที่อารมณ์โกรธมันโผล่ เราจะรู้สึกตัวไหม เท่าทันและมองอารมณ์โกรธนั้นอย่างไร อันนี้ เป็นเรื่องของปัญญา ที่ไม่ได้แยกจากกัน ไม่งั้น สติ สมาธิก็จะเพ่งไปในทางอารมณ์ที่เป็นลบ ไม่เป็นสัมมาสติ สัมมาสมาธิ อันนี้มีคำว่า “สัมมา”ด้วย ซึ่งเราว่ามันลึก...แต่ดี พอดีอาจารย์กับอุ๊คุยกันตอนท้ายในเรื่อง “สัมมา” นี้ ซึ่งเอาเข้าจริงสำคัญมาก ส่วน “สัมมา”จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เราคิดว่ามันมาจากทัศนคติและความเชื่อในความดีงามของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์คนนั้นจะเลวร้ายเพียงใด อันนี้มันปูพื้นใจมาแต่แรก ถ้าไม่มีตรงนี้ สติ สมาธิก็เกิดยากเพราะมีอคติ มีลำเอียง จิตใจเศร้าหมอง ไม่มีเบิกบาน ทำไปๆธาตุไฟเข้าแทรก เอ่อ อันนี้ ในคลิปไม่ได้พูด เพราะอาจารย์เล่าจากประสบการณ์แต่อาจารย์มีของดี คือ มีต้นทุนจิตใจและประสบการณ์ที่ดีงามหลายเรื่องจากคนรุ่นต่างๆรวมถึงกัลยาณมิตรที่แวดล้อม แต่กับลูกศิษย์ลูกหา หลายคนผ่านชีวิตที่มีปมมามากมาย หลายรสชาติทั้งศอกเข่าเขย่าเตะ ประสบการณ์ตรงนี้น่าจะต่างกัน อันนี้เราคิดแทนเขานะ เพราะแต่ก่อนเราก็เป็น เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่บ้าง แต่เย็นขึ้น ดีขึ้น ก็ทำไปเรื่อยๆ

------------------------------------------------------------------------------------

รอบนี้ Reflection ยาว อาจจะเพราะอั้นมาหลายวัน และคิดว่าได้คุยกับตัวเองในแง่มุมใหม่ๆหลายเรื่อง ขอบคุณอาจารย์ อุ๊ นาถ และทีมงานที่ทำคลิปออกมาให้ดูโดยยังไม่เก็บตังค์ เราคิดว่า ตังค์หรืออาจจะเป็นสิ่งของต่างๆเป็นแค่สิ่งแทนความหมายในการแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างแบบหยาบๆนะ ส่วนปฏิบัติบูชานั่นแหละคือของจริง

--------------------------------------------------------------------------------------

20.56 น. ข้าวหมดจาน เหล้าหมดจอกพอดี

เมียมาบ่นว่าเขียนอะไรน้านนาน จะดูหนังกับลูกไหมเนี่ย

จ้าๆๆ แต่แอบคิดในใจ

“VUCA world อยู่ในบ้านกูนี่เอง”  

หมายเลขบันทึก: 677492เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2020 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2020 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท