ประวัติการศึกษาไทย : การฝึกหัดครู1 (21)


      กักตัวอยู่กับบ้านตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีเวลาได้อ่านหนังสือหลายเล่ม
“ประวัติการศึกษาไทย” ของอาจารย์พงศ์อินทร์  ศุขขจร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน ซึ่งท่านเขียนเล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้เมื่อ พ.ศ.2512  ทำให้เข้าใจเรื่องการศึกษาบ้านเราได้มากขึ้น  ผมเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะสูญหายไป ก็เลยนำข้อเขียนของท่านมาแบ่งปันกันอ่าน โดยเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆมานำเสนอ และแบ่งเป็นตอนๆไปครับ
       --------------------------------------
              
         แต่เดิมเรามีพระภิกษุเป็นครูผู้สอนตามโรงเรียนที่ตั้งขึ้นในวัดทั่วไป  ส่วนโรงเรียนหลวงต่างๆที่จัดตั้งขึ้นในตอนต้น ก็ใช้แต่ผู้ที่มีความรู้ทางภาษาไทยเป็นมหาเปรียญมาแล้วเป็นผู้สอน เช่น พระยาศรีสุนทรโวหาร  และพระยาโอวาทวรกิจ(แก่น) เป็นต้น  ต่อมาเมื่อการศึกษาไทยได้ขยายตัวแพร่หลายออกไปมากขึ้น ความจำเป็นในการเตรียมตัวครูให้ออกไปสอนตามโรงเรียนก็เกิดขึ้นด้วย  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงวางโครงการตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้น  เผอิญทรงย้ายไปดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน  เจ้าพระยาภาสกรวงศ์จึงรับช่วงเอาโครงการมาดำเนินงานต่อไป  โดยจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นเป็นแห่งแรกที่โรงเรียนเลี้ยงเด็กถนนบำรุงเมือง ใช้ตึกสายสวลีสัณฐาคารเป็นสถานที่เล่าเรียน

    ภายหลังโรงเรียนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเบญจมราชูทิศ  มีนายเอช.  กรีนรอด  ชาวอังกฤษเป็นอาจารย์ใหญ่  เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม  พ.ศ. 2435 เรียกว่าโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์  จัดเป็นโรงเรียนสอนวิชาพิเศษเหมือนโรงเรียนนายทหารและโรงเรียนแผนที่  ในครั้งแรกไม่มีผู้สนใจมาเข้าเรียนปรากฏว่ามีนักเรียนอยู่เพียงสามคนเท่านั้น  คือนายนกยูง  วิเศษกุล  (พระยาสุรินทราชา)  นายบุญรอด  เศรษฐบุตร(พระยาภิรมย์ภักดี)  และนายสุ่ม   พอเรียนไปๆ นายบุญรอดและนายสุ่มลาออก เหลืออยู่เพียงนายนกยูงคนเดียว  ในปีรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเข้าเรียนอีกสามคน  คือ นายสนั่น  เทพหัสดิน  ณ  อยุธยา  (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี)  นายสด  ผลพันธิน  และนายเหม  ผลพันธิน(พระยาโอวาทวรกิจ)  ทั้ง 3 คนนี้สำเร็จได้รับประกาศนียบัตรครูเป็นรุ่นแรก เมื่อปลายพ.ศ. 2437  อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ในตอนแรกเป็นชาวอังกฤษทั้งสิ้น ได้แก่นายกรีนรอด(พ.ศ. 2435 – 2438) นายอี.ยัง(พ.ศ. 2438) นายดับเบิลยู. ยี. ยอห์นสัน (พ.ศ. 2439 – 2440) และนายเอฟ. ยี. เทรส์ (พ.ศ. 2440 – 2460)

    ในพ.ศ. 2445 โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่โรงเรียนเลี้ยงเด็ก ย้ายไปอยู่ที่ตึกแม้นนฤมิตร วัดเทพศิรินทราวาส เรียกว่า โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เทพศิรินทร์  ต่อมาในปีพ.ศ. 2446 ได้จัดตั้ง โรงเรียนฝึกหัดครูเพิ่มขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่งทางฝั่งธนบุรี ตั้งที่โรงเรียนราชวิทยาลัยเก่า(บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนศึกษานารี ตรงวงเวียนเล็ก) เรียกว่าโรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก  โรงเรียนฝึกหัดครูที่ตั้งขึ้นในตอนแรกนี้ เป็นโรงเรียนเข้าไปเย็นกลับทั้งสิ้น  ต่อเมื่อมีนักเรียนจากต่างจังหวัดมาสมัครเป็นนักเรียนฝึกหัดครู  จึงได้เปิดรับให้กินอยู่หลับนอนในโรงเรียน  และให้เบี้ยเลี้ยงด้วย  โรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตกเปิดสอน นักเรียนให้ไปเป็นครูชั้นมูลศึกษา  เมื่อเรียนเสร็จแล้วให้ออกไปรับราชการในต่างจังหวัด  ส่วนทางโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เทพศิรินทร์นั้น  ได้ปรับปรุงขยายการสอนให้สูงขึ้น โดยเปิดแผนกฝึกหัดครูมัธยมเมื่อพ.ศ. 2446  แผนกฝึกหัดครูมัธยมรับนักเรียนที่สอบได้ประกาศนียบัตรอาจารย์ประถมแล้วมาเรียนต่อ  จนกระทั่งพ.ศ. 2449 จึงได้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เทพศิรินทร์ไปรวมเป็นโรงเรียนเดียวกับโรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก และเปลี่ยนเป็นโรงเรียนประจำกินอยู่หลับนอน  มีหลักสูตรการเรียน 2 ปี

    ภายหลังที่ได้ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชายขึ้นเมื่อพ.ศ. 2435 เป็นเวลาถึง 15 ปี จึงได้เริ่มเปิดสอนนักเรียนฝึกหัดครูหญิงขึ้นเป็นแผนกหนึ่งในโรงเรียนมัธยมสตีวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพียงโรงเรียนเดียว  และเปิดสอนถึงชั้นมัธยม  แผนกฝึกหัดครูสตรีเริ่มเมื่อพ.ศ. 2450 รับนักเรียนที่มีความรู้เพียงชั้นสองของประโยคมัธยมศึกษา มาเรียนทั้งวิชาสามัญและวิชาครูรวมกันไป  ความจริงต้องการรับนักเรียนสตรีที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษามาเรียน  แต่หาผู้สำเร็จการศึกษาในชั้นที่ต้องการไม่ได้ จึงต้องรับชั้นต่ำลงมารัฐบาลให้ทุนอุดหนุนเตือนละ 10 บาทและ 8 บาทตามประเภทของนักเรียนฝึกหัดครูที่จบชั้นมัธยมศึกษาหรือจบแค่ชั้นสองของประโยคมัธยมศึกษา  จนกระทั่งพ.ศ. 2456 จึงได้จัดตั้งโรงเรียนสตรีฝึกหัดครูขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย(ดูเรื่องการฝึกหัดครูตอนต่อไป)

    ในสมัยนั้นนักเรียนฝึกหัดครูแบ่งออกเป็น 6 ประเภทคือ

1.นักเรียนสอนประถม  ได้แก่ผู้สอบไล่ได้ชั้นประถมศึกษาแล้ว และครูผู้สอนเห็นว่ามีนิสัยพอจะเป็นครูได้ในภายหน้า กรมศึกษาธิการจะส่งไปฝึกการเป็นครูหาความชำนาญและความรู้ด้วยตนเอง  ได้เงินช่วยเหลือเดือนละ 10 บาท ถ้ามีความรู้ความสามารถดีก็จะได้รับการสนับสนุนส่งเข้าเป็นนักเรียนฝึกหัดครูชั้นประถม พวกนี้เรียกว่า “นักเรียนสอน”ไม่เรียก “นักเรียนครู”

2. นักเรียนสอนภาษาต่างประเทศ ได้แก่ผู้สอบไล่ได้ครบตามหลักสูตรของโรงเรียนมัธยมศึกษาพิเศษอังกฤษ และครูผู้สอนเห็นว่ามีนิสัยพอที่จะเป็นครูได้ในภายหน้า กรมศึกษาธิการยกให้เป็นนักเรียนสอน ให้ฝึกสอนหาความชำนาญและความรู้ทางวิชาการให้แตกฉานไปด้วยในตัว นักเรียนสอนภาษาต่างประเทศได้เงินทุนเล่าเรียนเดือนละ 30 บาท ถ้าแสดงสมรรถภาพให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ก็จะได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาวิชาครูหรือวิชาความรู้แขนงอื่น  ณ  ต่างประเทศ

3. นักเรียนครูชั้นมูล  ได้แก่นักเรียนฝึกหัดครูที่เรียน. ณ  โรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก มีแบ่งเป็น2 พวกคือ พวกนักเรียนที่เจ้าคณะมณฑลส่งเข้ามาเรียน ถ้าเป็นพระได้ค่าบำรุงเดือนละ 8 บาท เป็นคฤหัสถ์ได้เดือนละ 10 บาท เรียนเสร็จแล้วออกไปเป็นครูสอนในต่างจังหวัด  อีกพวกหนึ่งคือพวกที่เป็นครูแล้วแต่ยังไม่มีวุฒิทางครู  เข้ามาเรียนเพื่อให้ได้วุฒิ  ทั้งสองพวกนี้มีเวลาเรียนจำกัดเพียงปีเดียวเท่านั้น จะสอบได้หรือสอบตกก็ตามต้องออกจากโรงเรียนไป

4. นักเรียนครูชั้นประถม  มีอยู่ 2 พวกอีกเช่นเดียวกัน  พวกหนึ่งได้แก่พวกนักเรียนที่เจ้าคณะมณฑลส่งเข้ามาเรียนต่อตามข้อ3 เมื่อเรียนจบนักเรียนครูชั้นมูลแล้ว สมัครเข้าเรียนต่อในชั้นครูประถมที่โรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก  เสร็จแล้วไปรับราชการเป็นครูในต่างจังหวัด  อีกพวกหนึ่งเป็นพวกนักเรียนสอนประถมตามข้อ1 ที่มีความรู้ความสามารถดี  กรมศึกษาธิการส่งเข้าศึกษาในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เทพศิรินทร์ ได้ค่าบำรุงคนละ 15 บาทต่อเดือน หรือจะเข้ามาศึกษาในโรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตกก็ได้ แต่ได้รับค่าบำรุงเพียงเดือนละ 10 บาท เท่ากับพวกหัวเมือง  พวกนี้เรียนปีเดียวเหมือนกัน ได้หรือตกก็ต้องออก

5.นักเรียนครูชั้นมัธยม  คือนักเรียนที่มีพื้นความรู้สามัญจบชั้นมัธยมศึกษาและเรียนจบหลักสูตรนักเรียนครูชั้นประถมแล้ว  สมัครเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เทพศิรินทร์ กำหนดเวลาเรียนไม่เกิน 2 ปี ถ้าสำเร็จก็ไปเป็นครูสอนชั้นมัธยม ถ้าไม่สำเร็จก็ต้องออกไปเป็นครูประถม พวกนี้ได้รับค่าบำรุงเดือนละ 25 บาท

6. นักเรียนครูต่างประเทศ  คือนักเรียนสอนภาษาต่างประเทศตามข้อ2  ที่มีความรู้ความสามารถดี  กรมศึกษาธิการส่งออกไปศึกษาวิชาครู  หรือวิชาสาขาอื่นๆ ณ ต่างประเทศด้วยทุนเล่าเรียนหลวง มีระยะเวลาศึกษาตามหลักสูตรในวิชาที่ไปศึกษาณประเทศนั้นๆ เมื่อสำเร็จกลับมาก็จะได้รับ การแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนภาษาต่างประเทศ  หรือสอนวิชาอื่นตามที่ศึกษาเล่าเรียนมา  มีข้อแม้อยู่ว่าในระหว่างที่ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ ถ้ามีความประพฤติไม่ดีหรือเรียนไม่ดี กรมศึกษาธิการจะเรียกตัวกลับ   นับเป็นประเภทนักเรียนที่สอบตก

นักเรียนทั้ง 6 ประเภทนี้ จะต้องทำการสอนหรือทำงานทางด้านการศึกษา เป็นการใช้ทุนที่ตนได้รับระหว่างศึกษา เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี  ส่วนผู้ที่สอบไม่ได้ ถ้ากรมศึกษาธิการเห็นว่าพอจะเป็นครู หรือทำงานเกี่ยวกับด้านการศึกษาได้ ก็จะให้ทำงานตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล 
         ข้อที่ควรสังเกตก็คือมีนักเรียนอยู่ 2 ประเภท คือ นักเรียนสอน และนักเรียนครู  นักเรียนสอนไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนฝึกหัดครู เมื่อเรียนจบโรงเรียนสามัญก็เข้าหัดทำการสอนเลยทีเดียว มีอาจารย์ใหญ่และครูผู้สอนอื่นๆช่วยกันให้คำแนะนำช่วยเหลือแบบครูพี่เลี้ยงในปัจจุบันนี้  ส่วนนักเรียนครูนั้นต้องเข้าเรียนในโรงเรียนฝึกหัดครู

หมายเลขบันทึก: 677210เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2020 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2020 19:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท