ฝึกทำหน้าที่ PPC โครงการคนไทย ๔.๐ : ๓. คนเมือง ๔.๐



ต่อจากบันทึกที่แล้วนะครับ    โดยบันทึกนี้เป็นเรื่อง “(ร่าง) รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัย คนเมือง ๔.๐”   โดย รศ. ดร. อภิวัฒน์ รัตนวราหะ และคณะ  

โจทย์วิจัยคือ ชีวิตคนเมืองเป็นอย่างไรในปัจจุบัน และจะเป็นอย่างไรในอนาคต    โดยแตกเป็นโจทย์ย่อย ๓ ข้อ

  1. 1. ชีวิตคนเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างไร :   การเกิด ใช้ชีวิต (อยู่อาศัย ทำงาน เดินทาง ซื้อของ)  แก่  เจ็บ และตาย
  2. 2. ชีวิตคนเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร :   การเกิด ใช้ชีวิต (อยู่อาศัย ทำงาน เดินทาง ซื้อของ)  แก่  เจ็บ และตาย
  3. 3. นโยบาย มาตรการ และเครื่องมืออะไร ที่จะทำให้ชีวิตคนเมืองในประเทศไทยดีขึ้น

ดูที่โจทย์ ผมคิดว่าในเรื่องการใช้ชีวิตขาดกิจกรรมสำคัญไป คือ การพักผ่อนหย่อนใจ (recreation) ซึ่งรวมกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม   ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อชีวิตคนเมืองที่ดี   ดูตัวอย่างการวางแผนเมืองของสิงคโปร์ที่ผมบันทึกไว้ที่ (๑)

ขอบเขตของการวิจัย ครอบคลุมกรุงเทพและปริมณฑล   ซึ่งในเวลา ๑ ปี กำหนดเช่นนี้ก็เหมาะสม แต่หากมองประโยชน์ของการวิจัยอย่างแท้จริง    และโครงการใหญ่จะใช้เวลา ๓ ปี น่าจะพิจารณาทำวิจัยคนเมืองที่ไม่ใช่คนกรุงเทพด้วย    เพราะเป็นคนเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ    และน่าจะได้แง่มุมเชิงนโยบาย สำหรับบริบททางสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ที่มีความแตกต่างหลากหลายยิ่งขึ้น   

กระบวนวิธีวิจัย (Research Methodology)  ใช้ ๓ วิธีคือ

  1. 1. การวิจัยเมือง
  2. 2. การวิจัยอนาคต
  3. 3. การสังเกตการณ์และการขับเคลื่อนเรื่องเมือง

การวิจัยเมือง  มี ๖ โครงการย่อย  ที่ใช้กระบวนวิธีวิจัยเชิงบุกเบิกแบบผสม (mixed method)    คือ

  1. 1. การเกิด
  2. 2. การอยู่อาศัยในเมือง
  3. 3. การทำงานในเมือง
  4. 4. การเดินทางในเมือง
  5. 5. การซื้อของในเมือง
  6. 6. การเจ็บและตาย

การวิจัยเมืองใช้กรอบทฤษฎีพื้นที่  ทฤษฎีที่ตั้ง ทฤษฎีเมือง  ทฤษฎีมานุษยวิทยาเมือง  ทฤษฎีมานุษยวิทยาดิจิตัล  ทฤษฎีสังคมเมือง  ทฤษฎีเทคโนโลยีกับสังคม  

การวิจัยอนาคต  ใช้เครื่องมือ strategic foresight   มี ๘ ขั้นตอน   ได้แก่  (๑) กำหนดกรอบและขอบเขตการวิเคราะห์  (๒) วิเคราะห์สมมติฐาน  (๓) กวาดสัญญาณ (environmental scanning)  (๔) ทำแผนที่ระบบ (system mapping)  (๕) วิเคราะห์ปัจจัยขับเคลื่อน (drivers)  (๖) สร้างฉากทัศน์ (scenarios)  (๗) พยากรณ์ย้อนกลับ (backcasting)  (๘) วางแผนยุทธศาสตร์ (strategic planning)

ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่นักวิจัยยกตัวอย่างได้แก่  (๑) ด้านสังคมและประชากร  (๒) ด้านเทคโนโลยี  (๓) ด้านเศรษฐกิจ  (๔) ด้านสิ่งแวดล้อม  (๕) ด้านการเมือง  (๖) ด้านคุณค่า ถึงตอนนี้เห็นชัดว่าลืมนึกถึงปัจจัยด้านโรคระบาดใหญ่ไป    หลังจากการระบาดของโควิด ๑๙ สงบลง  ชีวิตคนเมืองจะไม่เหมือนเดิม   

ผมชื่นชมในความยืดหยุ่นของการดำเนินการวิจัย    ที่ได้เกิดโครงการย่อยที่ ๗ ขึ้นระหว่างดำเนินการ คือ การศึกษาอนาคตชีวิตคนเมือง    มีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศด้านอนาคตศึกษาและการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์มาให้คำแนะนำ     

งานสังเกตการณ์และขับเคลื่อนเมือง (Urban Observatory and Engagement)   ถือเป็นโครงการย่อยที่ ๘ ดำเนินการโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   

ที่จริงงานที่แบ่งออกเป็นโครงการย่อยทั้ง ๘ นั้น ต้องทำงานเชื่อมโยงประสานและเสริมพลัง (synergy) กัน     ผมจึงจ้องอ่านหาหลักฐานความเชื่อมโยงนี้ และพบว่า ไม่ได้เอ่ยถึงเลย    ยิ่งกว่านั้น ไม่มีรายงานผลการวิจัยของโครงการย่อยทั้ง ๘ อยู่ในแฟ้ม         

ตามเอกสารรายงานบอกว่าโครงการนี้ใช้เวลา ๑ ปี  ตั้งแต่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๒ ถึง ๑๔ เมษายน ๒๕๖๓    แต่ร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ส่งถึงมือผมตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ๒๕๖๓   แสดงว่าทีมงานใช้เวลาทำงานเพียง ๑๐ เดือนเท่านั้น    สะท้อนถึงการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงมาก    แต่เนื่องจากโครงการแบบนี้คุณค่าหลักอยู่ที่การทำงาน engagement กับสังคม   ซึ่งต้องใช้เวลา    และจริงๆ แล้วกิจกรรมที่ทำต้องการวงจรการเรียนรู้ร่วมกันเป็น double learning loop   ดังนั้นเวลา ๑ ปีจึงสั้นเกินไป    ผมมองว่าควรใช้เวลาอย่างน้อย ๒ ปี    และเน้นเก็บข้อมูลจากการทำกระบวนการในสังคมหลายวงจร เพื่อดูผลการเปลี่ยนแปลง   

 อ่านเอกสารฉบับนี้แล้วผมเห็นว่า เป็นรายงานของงานเฉพาะส่วนที่ ๒  คืองานวิจัยอนาคต    ไม่มีผลงานวิจัยส่วนแรกคือ การวิจัยเมือง    และไม่มีผลงานวิจัยส่วนที่ ๓ คืองานสังเกตการณ์และขับเคลื่อนเมือง   

รายงานงานวิจัยอนาคต ไม่มีการทบทวนผลงานวิจัยอนาคตของไทยเท่าที่มีคนทำมาแล้ว     ว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับเรื่องชีวิตคนเมืองอย่างไรบ้าง  

รายงานส่วนที่เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (หน้า ๙๕ - ๑๐๑) ยังมีลักษณะเสนอแนะเชิงทฤษฎี   ยังไม่เห็นความเชื่อมโยงกับสภาพความเป็นจริงของชีวิตคนเมืองไทยที่ค้นพบ    คือแม้ไม่ทำกิจกรรมการวิจัยอนาคต ก็ให้ข้อเสนอแนะเหล่านั้นได้   

วิจารณ์ พานิช

๓๐ มี.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 677122เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2020 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2020 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท