กายใจแข็งแรงด้วย “ลาวกระทบไม้” สร้างกิจกรรมผู้สูงวัยด้วยการละเล่นพื้นบ้าน


            ศิลปวัฒนธรรมของไทย เป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมมาช้านาน มีความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ เป็นมรดกที่เราภาคภูมิใจในการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น อย่างเช่น “ลาวกระทบไม้” การละเล่นที่ใช้เสียงเพลงและไม้ไผ่ยาวเพียงสองลำ สร้างความสุขทั้งกาย ใจ และสร้างความสามัคคีในชุมชน

        แม้สภาพที่ตั้งตามภูมิศาสตร์จะอยู่ภาคเหนือของประเทศไทย แต่สำหรับชุมชนเชียงทอง ต.วังเจ้า อ.วังเจ้า จ.ตาก ผู้คนส่วนใหญ่ของที่นี่จะเป็นชาวอีสานจาก ยโสธร สกลนคร ขอนแก่น ที่อพยพมาตั้งรกรากทำมาหากินเมื่อ 30 ปีก่อน

            ลุงบุญมี มาตบุตรประธานชมรมผู้สุงอายุเทศบาลตำบลวังเจ้า บอกถึงอัตลักษณ์ของคนอีสาน ว่า รักสนุก สนุกสนานครื้นเครง ร้องรำทำเพลง อย่างลาวกระทบไม้ เป็นการละเล่นมาตั้งแต่โบราณ มีอุปกรณ์ คือ ไม้ไผ่ยาวสองลำ มีคนจับตีเคาะให้คนย่ำเท้าก้าวข้ามตามจังหวะ คนที่เล่นต้องเข้าใจจังหวะทั้งคนเคาะไม้ ส่วนคนก้าวข้ามก็ต้องอ่านจังหวะให้เป็น เพราะมีทั้งเร็ว-ช้าสลับกัน จึงจะสนุก

            “ลาวกระทบไม้” ไม่เพียงแต่เป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิง สนุกสนานเท่านั้น ยังมีมิติด้านการส่งเสริมสุขภาพ เพราะทุกท่วงท่าการเคลื่อนไหวของผู้เล่น คือการได้ใช้ร่างกายทุกส่วนประกอบ เช่นเดียวกับการใช้ไหวพริบชิงจะหวะก้าวข้าวไม้ให้ได้อีกด้วย

          ป้าแสงเดือน กันภัย แกนนำชุมชนเชียงทอง บอกว่า การละเล่นลาวกระทบไม้ของชาวเชียงทอง เริ่มไม่ค่อยเป็นที่นิยมมานานหลายปี จึงอยากรื้อฟื้นให้เป็นกิจกรรมหลักของชาวชุมชน โดยใช้กลุ่มชมรมผู้สูงอายุมาเป็นผู้ถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชนในเวลาหลังเลิกเรียน ขณะเดียวกันได้ขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อจัดทำโครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น “ลาวกระทบไม้”

            เมื่อถามถึงประโยชน์ของการละเล่นลาวกระทบไม้ ป้าแสงเดือน ซึ่งเป็นคณะทำงานโครงการ บอกว่า อย่างแรกคือสุขภาพร่างกาย จะเห็นว่าคนเล่นทุกคนจะมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทั้งการเคาะไม้ การก้าวข้าม มีจังหวะช้า-เร็ว ให้ได้ออกแรง นอกจากนี้ยังฝึกสมาธิเพราะต้องคอยจับจังหวะก้าวข้ามไม่ให้โดนไม้หนีบ เช่นเดียวกับประโยชน์ด้านจิตใจ ที่คณะผู้เล่นจะมีความสนุกสนาน ได้ยิ้มได้หัวเราะ มีความสุขทั้งกายและใจ ได้มาเจอกันความกลุ้ม ความเครียดก็หายไป ผ่อนคลายมากขึ้น เกิดการเรียนรู้อยู่ร่วมกัน

            ที่เห็นได้ชัด คือ ป้าเพียร อ่วมมีวัย 70 ปี ที่เมื่อก่อนมีอาการปวดเข่า ลุกก็โอยนั่งก็โอย ไปหาหมอก็ไม่หาย แต่พอมาทำกิจกรรมลาวกระทบไม้หลายครั้งก็พบว่าอาการดีขึ้น เพราะได้ยืดเส้นยืดสาย ส่วนอีกรายป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจากการสูญเสีย ไม่ชอบเข้าสังคม เมื่อแกนนำชมรมชักชวนมาทำกิจกรรมแล้วมีความสดชื่น ยิ้มแย้ม เข้ากับสังคมได้ และเปิดตัวเองมากกว่าแต่ก่อน

          ขณะที่ นายพิทักษ์ สาคร นายกเทศมนตรีตำบลวังเจ้า บอกว่า กิจกรรมนี้เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและชุมชน ลูกไปชวนพ่อแม่มาเล่นด้วยกัน มีเวลาให้กัน เกิดเป็นความรักความอบอุ่นในครอบครัว และยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ของคนสามวัยในชุมชน ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันสิ่งไม่ดีให้กับเด็กและเยาวชนได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านคุณภาพชีวิต ขณะเดียวกันยังได้สนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม โดยลาวกระทบไม้เป็นการแสดงที่ทางตำบลใช้สำหรับโชว์เวลางานสำคัญๆ ด้วย

            ดังนั้นศิลปวัฒนธรรมจึงมีคุณค่าหลายมิติในด้านสังคม และสอดแทรกไว้ด้วยการสร้างเสริมสุขภาพกายและใจ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดตาก ก็มีหลายชุมชนที่ใช้ศิลปะพื้นบ้านมาเป็นเครื่องมือสร้างเสริมกิจกรรมทางกาย เช่นชมรมผู้สูงอายุธรรมรักสามัคคี วัดไทยสามัคคี อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ได้จัดทำโครงการส่งด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น “กลองอืด” เพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่วมการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนาไม่ให้สูญหาย

          ขณะเดียวกันศิลปะพื้นบ้านเหล่านี้ยังช่วยให้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนที่ทรงคุณค่าในชุมชน เพราะเป็นผู้ที่ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้สู่เยาวชนให้สืบทอดศิลปะเหล่านี้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 676869เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2020 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2020 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท