กายกิจกรรม “รำโทนศรีนคร” เสริมสุขภาวะ สร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น


             ยามเย็นของทุกๆ วัน หากใครที่ผ่านไปผ่านมาที่สวนสาธารณะริมทางรถไฟ ต.ศรีนคร อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย คงจะสะดุดหู รู้สึกเอะใจกับเสียงเพลงเคล้าเสียงกลอง เนื้อหาบอกเล่าเรื่องราวของอำเภอศรีนครได้หมดจด ด้วยบทเกริ่นนำ “หลวงพ่อหล้าคู่เมือง หลวงพ่อเรืองคู่บ้าน แหล่งน้ำใต้ดินบาดาล ถิ่นฐานกำเนิดฝ้าย พืชไร่งดงาม นามศรีนคร สหกรณ์ลือเลื่อง ถิ่นนี้คือเมืองนครเดิม” และเมื่อขยับเข้าไปใกล้ต้นเสียง จะได้เห็นกลุ่มคนจำนวนหนึ่งกำลังร่ายรำด้วยหน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใส

        กิจวัตรที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ คือ “การรำโทน” ซึ่งกลุ่มคนศรีนครได้ใช้เป็นกิจกรรมในการออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพทั้งกายและใจ และยังใช้เป็นการแสดงเพื่อใช้ในโอกาสสำคัญ

          ณัทรชานันท์  ทรัพยธนเจริญ ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลศรีนคร เล่าถึงความเป็นมาของรำโทนว่า คนศรีนครจะมีหลากหลายที่มา ทำให้ไม่วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นของตัวเอง การแสดงเพื่อแสดงความเป็นอัตลักษณ์ก็ไม่มี อาศัยเลียนแบบที่มีอยู่ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต ดังนั้นจึงมาคิดว่ามันไม่ใช่ตัวตนของศรีนคร จึงคิดมีความคิดมานานแล้วว่าอยากจะมีเพลง มีท่าทางประกอบเป็นของตัวเอง ไม่ต้องไปเลียนแบบ

            กระทั่งได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงใช้โอกาสครั้งนี้คิดค้นการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยได้เลือก “รำโทน” เพราะเป็นการแสดงแบบง่าย ใช้จังหวะเสียงกลองโทนประกอบจังหวะ และใช้ชื่อกิจกรรมนี้ว่า“กายกิจกรรม รำโทนศรีนคร”

          เมื่อได้เพลงได้จังหวะแล้ว ก็ต้องมีเพลงเป็นของตัวเอง ก็ไปสืบค้นจนพบว่าในชุมชนมีแม่เพลงหรือครูเพลงมาเก่าก่อน แต่ลูกหลานไม่ได้สืบสานต่อ จึงได้แต่งเพลงขึ้นและให้ครูเพลงช่วยขัดเกลา โดยเรียบเรียงเอาของดีประจำอำเภอศรีนครที่อยากนำเสนอมาบอกเล่าในเนื้อเพลง ทั้งเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพ พืชผลการเกษตร วิถีชีวิต เศรษฐกิจ จากนั้นนำไปใส่ดนตรีพร้อมบันทึกเสียง

          “รำโทนศรีนคร” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความเป็นอัตลักษณ์ เช่นเดียวกับจุดประสงค์ของการเข้าร่วมโครงการกับ สสส. ในด้านสุขภาพ ซึ่ง เยาวเรศ อรัญญิก ผู้รับผิดชอบโครงการ บอกว่า ทุกเย็นวันจันทร์-ศุกร์ เราจะมารวมกลุ่มกันออกกำลังกาย โดยใช้การรำโทนศรีนครเป็นตัวนำ หลังจากนั้นก็จะเป็นกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการเรากำหนดไว้ที่ 64 คน

            “เราเห็นความสามัคคีของคนอำเภอศรีนคร พอได้ยินเสียงเพลงทุกคนก็จะรู้สึกภูมิใจและอยากจะออกมาร่วมกิจกรรมกับพวกเรา ผู้สูงอายุก็ได้ออกกำลังกายด้วยท่ารำที่ไม่ยากนัก” ผู้รับผิดชิดโครการรับโทนศรีนคร บอกและย้ำด้วยว่า “พอร่างกายขยับก็ได้ยืดเส้นยืดสาย นอนหลับสบาย ดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ และทุกครั้งที่มาเจอกันก็จะมีความสุข ได้เห็นรอยยิ้ม จิตใจแจ่มใส อารมณ์ดี”

            จากกิจกรรมเพื่อมุ่งเน้นการออกกำลังกาย กลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวศรีนคร ที่จะต้องมีการสืบสานและอนุรักษ์สืบไป ซึ่งได้มีการขยายผลไปสู่โรงเรียน เพื่อให้เด็กได้ฝึกซ้อมและเรียนรู้

            ทัศนีย์ สัตยาภรณ์ ครูนาฏศิลป์ โรงเรียนศรีนคร บอกว่า การขยายผลและการถ่ายทอดนั้น มีการตั้งแกนนำ หรือ ครู ก จำนวน 25-30 คน มาฝึกให้กับครู ข เพื่อขยายผล เช่นเดียวกับการนำไปเข้ารายวิชา นาฏศิลป์พื้นเมืองที่เด็ก ม.2 ทุกคนต้องได้เรียน ในอนาคตเด็กที่ผ่านการศึกษาก็จะเป็นเยาวชนตัวอย่างของชุมชนศรีนคร และคนรุ่นใหม่ก็จะรู้จักตัวตนของตนเองด้วย

            ความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าได้ผลตอบรับดีมาก เด็กทุกคนสามารถรำโทนได้ โดยใช้เป็นการแสดงในงานเปิดบ้านวิชาการ ขณะเดียวกับคนศรีนครสามารถรำโทนศรีนครได้เกือบทุกคน โดยเห็นได้จากการรำถวายในงานบุญประจำปีของอำเภอ ซึ่งมีนักแสดงกว่า 400 คน

            “รำโทนศรีนคร” จึงไม่เพียงแค่เป็นกิจกรรมเพื่อการออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงแห่งความภาคภูมิใจของชาวศรีนครอย่างแท้จริง

            เช่นเดียวกันที่บ้านป่าแฝก ต.ป่าแฝก อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ที่ใช้กิจกรรมกลองยาวและเพลงฉ่อย มาเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ เมื่อคนสามวัยร่วมกันใช้เวลายามเย็น 5 วันต่อสัปดาห์มาร้องรำเพลงฉ่อย ตีกลองยาว สร้างความสนุกสนาน

            ทั้งนี้ชุมชนป่าแฝก มีวัฒนธรรมการร้องการเล่นมาดั้งเดิม โดยมีครูเพลง แม่เพลงชื่อดังมากมายที่พร้อมถ่ายทอด ซึ่งหลังจากเข้าร่วมโครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้เกิดการแสดงเพลงฉ่อย ที่สามารถไปแสดงสร้างรายได้ให้กับหมู่คณะอีกด้วย

          ทั้งกิจกรรมรำโทนศรีนคร และกลองยาว เพลงฉ่อยของทั้ง อ.ศรีนครและ อ.กงไกรลาศ จึงเป็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยการใช้ศิลปวัฒนธรรมที่สวยงามมาเชื่อมโยงหากันได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นการช่วยอนุรักษ์และสืบสานไม่ให้สูญหายไป

หมายเลขบันทึก: 676868เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2020 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2020 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท