ฮีต 12 กับความสัมพันธ์ในการปลูกข้าว


----------นอกจากข้าวจะมีบทบาทสำคัญต่อฮีต 12 ในฐานะบทบาทหลักและบทบาทรองแล้ว การกำหนดช่วงเวลาและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏรอบเดือนทั้ง 12 สามารถชี้ให้เห็นได้ว่าประเพณีที่กำหนดขึ้นแม้จะมีศาสนาพุทธเป็นหลักสำคัญในการจำแนกกิจกรรมต่าง ๆ แล้วนั้น ฮีต 12 ยังเป็นการกำหนดประเพณีที่มีความสัมพันธ์ต่อการปลูกข้าวหรือช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ในการทำนาซึ่งเชื่อมโยงกิจกรรมเหล่านี้กับความเชื่อความศรัทธาและกำหนดการตรวจสอบคุณภาพของข้าวด้วยกรรมวิธีทางความเชื่อต่าง ๆ ที่สะท้อนออกมาเป็นฮีต 12 แล้วดำเนินการใช้สืบต่อเนื่องกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


----------ช่วงระยะเวลาเตรียมการปลูกข้าว

          ช่วงระยะเวลาในการเตรียมการเพื่อการปลูกข้าว กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในภาคอีสานจะมีกิจกรรมที่เตรียมการปลูกข้าว อาทิ บุญฟ้าไขประตู บุญข้าวกำ บุญกำฟ้า บุญฝุ่น เลี้ยงปู่ตา เป็นต้น กิจกรรมเหล่านั้นแม้จะมีกำหนดวันและเวลาอย่างชัดเจนแต่ก็ไม่ถูกกำหนดเป็นกลุ่มประเพณีในฮีต 12 ซึ่งต่างจากแนวคิดในการกำหนดพระราชพิธีสิบสองเดือนซึ่งกำหนดพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีมากกว่าหนึ่งพิธีในหนึ่งเดือน แต่ในวัฒนธรรมของชาวอีสานได้กำหนดให้พิธีที่ถือว่าสำคัญหรือเป็นหลักในกิจกรรมเดือนเหล่านั้นเพื่อกำหนดให้เป็นประเพณีส่วนกิจกรรมอื่นไม่ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีประจำเดือนนั้นเลยแต่ก็ไม่ได้ห้ามจัดกิจกรรมเพิ่มเติมดังนั้นพิธีกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช้ประเพณีหลักของฮีต 12 จึงยังคงดำเนินการอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

          ประเพณีในฮีต 12 ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการปลูกข้าวที่เด่นชัดที่สุดคือ ประเพณีบุญเดือนบั้งไฟ (เดือน 6) เป็นการจุดบั้งไฟเพื่อเป็นสัญญาณแก่แถน (เทวดา) เพื่อให้ปล่อยน้ำลงมาเพื่อให้ชาวนามีน้ำสำหรับปลูกข้าว มิติของการจุดบั้งไฟนั้นมีวรรณกรรมอธิบายเหตุคือ พญาคันคาก กล่าวถึงพญาคันคากโพธิสัตว์ (คางคก) ต่อสู้กับแถนจนชนะและได้กำหนดการปล่อยน้ำจากฟ้าลงมายังโลกมนุษย์โดยกำหนดให้มีบั้งไฟเป็นสัญลักษณ์บอกเหตุเวลาที่ต้องการน้ำจากโลกมนุษย์ไปยังแถน ประเพณีนี้จึงเป็นส่วนเริ่มต้นก่อนการหว่านข้าวเพื่อเพาะกล้า นอกจากนี้ยังเป็นการพยากรณ์ถึงการให้ฝนฟ้าของพระยาแถนเพื่อคนอีสานจะได้เตรียมการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม


          นอกจากนี้ยังมี ประเพณีบุญซำฮะ (เดือน 7) จัดขึ้นเพื่อเลี้ยงผีปู่ตา เลี้ยงผีบรรพชน หรือบางแห่งเรียกว่า เลี้ยงหอ โดยเป็นประเพณีที่นี้เน้นการบวงสรวงบูชาเทพท้องถิ่นที่เชื่อกันว่าจะช่วยให้ชีวิตมีแต่ความสุข การเลี้ยงผีปู่ตาของชาวอีสานในหลายท้องที่จะมีการเสี่ยงทายฟ้าฝนและการวิงวอนหรือร้องขอให้ช่วยเหลือให้เรื่องการทำไร่ทำนาและผลผลิตการทำนาข้าวของชาวอีสาน เครื่องบวงสรวงก็มีส่วนสำคัญที่เชื่อว่าจะช่วยให้ผีปู่ตามีความพึงพอใจและอวยพรให้สัมฤทธิ์ผลซึ่งเครื่องบวงสรวงส่วนมากที่นิยมใช้คือ ไก่ต้ม ควายทาม (เต่าเพ็ก, เต่าบก) เหล้าไห เป็นต้น บางท้องถิ่นก็ใช้เนื้อควายเพื่อปรุงเป็นอาหารถวายแก่ผีปู่ตาโดยมีผู้ประกอบพิธีหรือผู้ทำพิธีเชื่อมโยงระหว่างคนในชุมชนกับผีปู่ตาคือ เจ้าจ้ำ หรือเฒ่าจ้ำ จะทำพิธีเพื่อเชิญผีปู่ตามารับเอาเครื่องบวงสรวงและอวยพรให้ผู้คนที่นำของมาถวายมีความสุขสมหวังเมื่อทำพิธีเสร็จแล้วก็จะทำการเสี่ยงทายเพื่อดูดินฟ้าอากาศด้วยการดึงกระดูคางไก่ดูหากคางไก่ม้วนงอถือว่าปีนั้นข้าวกล้าในนาจะดีแต่ถ้าคางไก่เหยียดตรงปีนั้นจะถือว่าไม่ดี ประเพณีบุญซำฮะจึงเป็นเครื่องสร้างเสริมกำลังใจแด่คนที่ทำนาข้าวให้มีความมั่นใจและมุ่งมั่นในการทำนาข้าวต่อไป


----------ช่วงระยะเวลาข้าวออกรวง 

          ช่วงระยะเวลานี้เป็นช่วงระยะเวลาที่ข้าวออกรวงหรือที่ชาวอีสานเรียกว่า “มานข้าว” เป็นช่วงที่มีพิธีกรรมต่าง ๆ ในระดับชุมชนซึ่งเป็นพิธีกรรมของแต่ละท้องถิ่น อนึ่งในฮีต 12 จะมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการออกรวงข้าวและลักษณะกิจกรรมเหล่านั้นมีผลสำคัญว่าจะต้องไปยังที่นาเสมอเพื่อให้ได้สอดส่องต้นข้าวดูแลและให้ความสำคัญแก่ต้นข้าวผ่านความเชื่อ “ผีตาแฮก” และ “ผีบรรพชน” ซึ่งฮีตที่เกี่ยวข้องกับระยะเวลาดังกล่าวคือ ประเพณีบุญข้าวประดับดิน (เดือน 9) เป็นประเพณีที่ต้องเอาข้าวไปให้ปลาอาหารไปไหว้ผีบรรพชนตามความเชื่อเรื่องเล่าพระเจ้าพิมพิสารนอกจากนี้ยังต้องเอาข้าวไปไหว้ผีตาแฮกที่หัวไร่ปลายนาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ บางท้องที่จะนำเอาอัฐิของบุพการีหรือบรรพชนบรรจุไว้ในธาตุที่ทุ่งนาเพื่อให้ผีบรรพชนดูแลการทำนาให้ได้ผลผลิตดีดังนั้นเมื่อถึงกาลประเพณีข้าวประดับดินจึงจะเอาเครื่องเซ่นไหว้ไปที่ทุ่งนาเพื่อไหว้บรรพชนตนเองแล้จะได้ตรวจดูข้าวที่กำลังเติบโตและออกรวง ประเพณีบุญข้าวสาก (เดือน 10) เป็นอีกประเพณีที่ตอกย้ำให้ชาวอีสานต้องสนใจทุ่งนาข้าวที่กำลังออกรวงผ่านความเชื่อต่อผีตาแฮกอย่างชัดเจน ชาวบ้านจะต้องเตรียมข้าวสากและห่อข้าวปลาอาหารเพื่อไปไหว้ผีตาแฮกที่หัวไร่ปลายนานับเป็นคำรบที่ 2 หลังจากี่ข้าวเริ่มออกรวง แม้ว่าชาวอีสานจะดูแลไร่นาเป็นปกติทุกวันอยู่แล้วก็ตามแต่การมีบุญประเพณีกำกับอีกก็เป็นสิ่งที่ช่วยเน้นย้ำให้เกิดความตั้งใจที่จะทำนาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย และ ประเพณีบุญออกพรรษา (เดือน 11) เป็นประเพณีที่มีความเกี่ยวพันกับการออกรวงข้าวอีกประการคือการที่ต้องนำเอารวงข้าวที่กำลังสร้างเม็ดข้าวหรือที่เรียกว่า “มานข้าว” (ตั้งท้อง) มาตำคั้นเอาน้ำแป้งข้าวที่เรียกว่า “น้ำนมข้าว” ออกมาเพื่อเป็นส่วนผสมหลักในการกวนข้าวทิพย์ แม้ว่าเป็นการทำขนมหวานเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแต่การตำและคั้นเอาน้ำนมข้าวนั้นก็เป็นส่วนที่ช่วยตรวจสอบคุณภาพของรวงข้าวในท้องนาของตนเองว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่เพราะหมากเม็ดลีบ (เม็ดฝ่อ) จะไม่ได้น้ำนมข้าวนั้นแสดงถึงสภาพปัญหาที่ต้องหาสาเหตุเพื่อแก้ไขการทำนาในโอกาสต่อไป


----------ช่วงระยะเวลาหลังการเก็บเกี่ยว

          เมื่อข้าวตั้งท้องและดูแลบำรุงน้ำมิได้ขาดแล้วครั้นข้าวจวนจะแก่แล้วชาวอีสานจะไม่ต้องการฝนอีกกอปรกับกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วชาวนาต้องให้สัญญาแก่แถนเพื่อหยุดปล่อยน้ำฝนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหานกับรวงข้าว ตามตำนานพญาคันคากแล้วจะต้องแกว่งโหวด (เครื่องดนตรีอีสานชนิดหนึ่งที่ใช้แกว่งให้เกิดเสียงต่อมาภายหลังจึงปรับให้เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้การเป่าแทน) เพื่อส่งเสียงสัญญาณไปยังแถนต่อมาภายหลังใช้ “สนู” (เครื่องดนตรีที่มีรูปลักษณ์คล้ายธนูแต่สายเชือกที่ขึงนั้นมีลักษณะเป็นใบขนาดกว้าง1-1.5 นิ้ว เมื่อหมุนโดยเร็วจะให้กำเนิดเสียง) เดิมทีสนูใช้แกว่งในฤดูหนาวช่วงที่ข้าวออกรวงและเริ่มแก่ ต่อมามีผู้คิดค้นเอาสนูไปติดที่ส่วนหัวของว่าวเพราะเพื่อให้สนูที่ลอยไปกับว่าวนั้นเกิดเสียงดังไปยังแถนที่อยู่บนท้องฟ้า ว่าวที่ติดสนูนั้นบางท้องที่จะปล่อยให้ลอยเหนือทุ่งนาเป็นเวลานับเดือนซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยากมากแล้วเพราะวัฒนธรรมสังคมชาวอีสานที่เปลี่ยนแปลงนั่นเอง

          เมื่อชาวอีสานส่งสัญญาณไปยังแถนเพราะไม่ต้องการน้ำฝนแล้วก็ถึงช่วงเวลาที่ข้าวแก่จัดและเก็บเกี่ยวข้าวในที่สุด ฮีตประเพณีที่เกี่ยวข้องกับช่วงระยะเวลาหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนั้นเป็นประเพณีที่ต่อเนื่องมาจากการเก็บเกี่ยวข้าวและรวมกองมัดรวงข้าวและนวดตีเม็ดข้าวออกจากรวงจากนั้นก็จะทำกองข้าวเปลือกแล้วจัดประเพณีบุญคูนลาน (เดือน 2) เพื่อนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ในลานข้าวเพื่อเป็นการอุทิศกุศลให้แก่แม่โพสพ นัยยะที่สำคัญคือเป็นการเพิ่มบทบาทของพุทธศาสนาในกิจกรรมการทำนาข้าวของชาวอีสานเพื่อสร้าง “ส่วนร่วม” และป้องกัน “ความเป็นอื่น” ของความเชื่อพุทธกับผี เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าฮีตต่าง ๆ ล้วนแต่เกี่ยวพันกับผีตาแฮกและผีบรรพชน แต่เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จพุทธจะเข้ามาเป็นผู้เชื่อมโยงกุศลการทำนาไปยังผีเหล่านั้นอีกคำรบหนึ่งนั่นเอง บุญคูนลานบางท้องที่จะมีการจัดพิธีสู่ขวัญข้าวด้วยเพื่อเป็นการขอขมาต่อแม่โพสพที่ได้เอาควายเหยียบเม็ดข้าว นวดตีรวงข้าว ตลอดจนอาจมีพิธีสู่ขวัญควายในโอกาสเดียวกันนี้อีกด้วย บุญคูนลานจึงเป็นประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญูของชาวนาต่อต้นข้าวและผีบรรพชนที่ช่วยปกปักรักษาดูแลต้นข้าวตลอดจนส่งเสริมให้ต้นข้าวเจริญงอกงามและมีความอุดมสมบูรณ์

          ในขณะที่ ประเพณีบุญข้าวจี่ (เดือน 3) เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเมื่อแรกเปิดประตูเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) ใช้กระดองเต่าตักเอาข้าวออกมาจากเล้าเพื่อตำแล้วเอาข้าวชุดแรกที่นำออกมาจากเล้านั้นทำข้าวจี่เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา การเปิดประตูเล้าข้าวก็มีความเชื่อว่าต้องเปิดในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งถือเป็นวัน “ขึ้นปีใหม่” ในวัฒนธรรมข้าวเป็นวันที่แสดงถึงการสิ้นสุดการทำนาในแต่ละปีและเป็นวันเริ่มต้นในฤดูการทำนาในปีต่อไปด้วย แต่ในมิติของฮีต 12 นั้น เดือน 3 ถูกกำหนดให้ยึดเพียงการเปิดประตูเล้าเอาข้าวลงมากินเพื่อสับเปลี่ยนกับข้าวกลุ่มใหม่ที่จะเอาขึ้นไปไว้ในเล้าข้าว บุญข้าวจี่จึงกลายเป็นการเชื่อมโยงผีถึงพุทธและสุดท้ายเป็นการตอกย้ำความสำคัญของพุทธศาสนาด้วยการถวายข้าวแก่พระแทนเจ้าจ้ำที่จะส่งข้าวแก่ผีนั่นเอง ส่วน ประเพณีบุญผะเหวด (เดือน 4) เป็นประเพณีที่เน้นการเล่านิทานทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า “เทศน์มหาชาติ” มีความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมข้าวช่วงหลังการเก็บเกี่ยวเพราะในลักษณะการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์หลายประการในงานบุญ เช่น ข้าวพันก้อน เป็นการเอาข้าวเหนียงนึ่งซึ่งต้องใช้ข้าวใหม่เพื่อปั้นเป็นก้อนกลมบูชาคาถาพันเพราะข้าวใหม่ถือเป็นของดีที่สุดในการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพนับถือ, ดอกข้าวตอก เป็นการเอาข้าวเปลือกไปคั่วให้เป็นข้าวตอกทั้งนี้ต้องใช้ข้าวใหม่เพราะเมื่อเม็ดข้าวแตกออกเป็นดอกจะขาวสวยนำมาร้อยเป็นเส้นยาวบางชุมชนมัดรวบเหมือนเครื่องแขวนดอกไม้สดเรียกมาลัยข้าวตอก, ข้าวสาร ส่วนมากจะเอาข้าวเหนียวมาใช้หว่านในขณะที่ทุกคนนั่งฟังเทศน์เพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น


----------จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าฮีต 12 มีลักษณะการจัดงานบุญประเพณีที่มีส่วนสัมพันธ์กับการทำนาของชาวอีสานนับตั้งแต่ช่วงการเริ่มต้นในการทำนาจนสิ้นสุดการทำนาในแต่ละรอบปีตลอดจนมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทั้งในรูปของประเพณี พิธีกรรม และวัตถุสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่สามารถสะท้อนให้เห็นได้เด่นชัดว่าฮีต 12 เป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญต่อข้าวอันเป็นอาหารของมนุษย์ที่หล่อเลี้ยงทั้งชีวิตและจิตวิญญาณของคนอีสานตลอดไป

เอกสารอ้างอิง

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน.(2542). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน ธนาคารไทยพาณิชย์.สถิตย์ ภาคมฤค. (2559). บทบาทของวรรณกรรมอีสานต่อฮีต 12. วารสารศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. 8(2), 29-46.เอี่ยม ทองดี. (2536). วัฒนธรรมข้าว : พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวและการทำนา บทบาท การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่มีต่อคุณภาพชีวิต ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม. ใน นันทิยา สว่างวุฒิธรรม (บรรณาธิการ), ข้าวกับวิถีชีวิตไทย. (น.113-146). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.ฮีตสิบสอง สปป.ลาว. (ม.ป.ฐ)

หมายเลขบันทึก: 676867เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2020 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2020 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท