สถานการณ์หมอกควันและไฟป่าลำปาง


            สภาพภูมิประเทศจังหวัดลำปางอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล  268.80 เมตร พื้นที่มีลักษณะเป็นรูปยาวรี ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีภูเขาสูงอยู่ทั่วไป ทอดตัวยาวตามแนวทิศเหนือไปทางทิศใต้ของจังหวัด และในบริเวณตอนกลางของจังหวัดบางส่วนมีที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ และตามลักษณะทางกายภาพทางด้านธรณีสัณฐานวิทยา จังหวัดลำปางมีพื้นที่เป็นที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขา มีลักษณะเป็นแอ่งแผ่นดินที่ยาวและกว้างที่สุดในภาคเหนือ เรียกว่า “อ่างลำปาง”

    ลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ บริเวณตอนบนของจังหวัดเป็นที่ราบสูง ภูเขา และเป็นป่าค่อนข้างทึบ อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้มีค่า ได้แก่ พื้นที่อำเภอเมืองปาน แจ้ห่ม วังเหนือ และ งาว บริเวณตอนกลางของจังหวัดเป็นที่ราบและที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของจังหวัด ได้แก่ พื้นที่อำเภอห้างฉัตร เมืองลำปาง เกาะคา แม่ทะ และสบปราบ บริเวณตอนใต้ของจังหวัดเป็นป่าไม้รัง บางส่วนเป็นทุ่งหญ้า ได้แก่ พื้นที่อำเภอเถิน แม่พริก บางส่วนของอำเภอเสริมงาม และแม่ทะ

            เหตุที่ลักษณะพื้นที่ของจังหวัดที่เป็นแอ่งคล้ายก้นกระทะ จึงทำให้อากาศร้อนอบอ้าวเกือบตลอดปี ฤดูร้อนร้อนจัด และหนาวจัดในฤดูหนาว ปี 2559 มีอุณหภูมิสูงสุด 43.6 องศาเซลเซียส ต่ำสุด 9.0 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 977 มิลลิเมตร

            จากรายงานการปฏิบัติงานดับไฟป่าของจังหวัดลำปาง (War Room) ได้สรุป ผลการเกิดไฟป่า ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2562 ว่ามีการจุดไฟเผารวมทั้งสิ้น 361ครั้ง พื้นที่ถูกไฟไหม้ไปแล้วประมาณ 6,585 ไร่ (รายงาน 1 ตุลาคม พ.ศ.2561–30 สิงหาคม พ.ศ.2562 สาเหตุหลัก คือการจุดไฟเพื่อหาของป่า การจุดไฟเผาป่าล่าสัตว์ การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทางการเกษตร และการเผาโดยไม่ทราบสาเหตุด้วยจำนวนไฟป่าที่เกิดจำนวนมาก และเกิดในพื้นที่ซ้ำๆ ส่งผลเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน

            ขณะเดียวกัน รายงานของสถานีตรวจวัดคุณภาพแบบอัตโนมัติของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองค่า PM 2.5 พบเกินค่ามาตรฐาน ทั้ง 4 จุด ได้แก่ ตำบลพระบาท อำเมืองลำปาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ และตำบลสบป้าด อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เกินมาตรฐานเฉลี่ยสูงขึ้นนั้น ทำให้เกิดหมอกควัน ปกคลุมในพื้นที่ในปี พ.ศ.2561ซึ่งหนาแน่นกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลาเดียวกัน โดยสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน บนถนนหลายสาย ตามบ้านเรือนและตึกทั่วไป ถือว่าสภาพอากาศอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทางสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดลำปาง ได้ออกเตือนประชาชน และกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก คนชรา และผู้ป่วยในกลุ่มโรคทางเดินหายใจ ให้งดทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง จากการเผาป่าดังกล่าว เกิดการลุกลามอย่างรวดเร็ว ประกอบกับ พื้นที่ภูเขาสูงชัน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ได้เดินเท้าเข้าไปดับไฟด้วยความยากลำบาก รวมถึง มีจำนวนใบไม้แห้ง  กิ่งไม้แห้ง ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญทำให้การเผาไหม้ขยายวงกว้างกินเนื้อที่ป่า

            ผลจากการเผาป่าในจังหวัดลำปาง ได้สร้างความเสียหายพื้นที่ป่าที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต ซึ่งมีเนื้อที่ 50,309.34 ไร่ และเป็นพื้นที่ป่าที่อยู่ใจกลางเมืองจังหวัดลำปางอย่างมหาศาล สถานการณ์ความรุนแรงต่อปัญหาหมอกควันและค่า PM.2.5 เกินมาตรฐานส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวที่สำคัญและส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันและสุขภาพของคนลำปางเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในปีพ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา จากผลการปฏิบัติงานดับไฟป่า สถานีควบคุมไฟป่าพระบาท-ม่อนพระยาแช่ และผลด้านสุขภาพจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางสามารถสรุปความเสียหายต่อพื้นที่ป่าดังนี้

ตารางที่ 1 แสดงพื้นที่เกิดไฟป่า การปฏิบัติการดับไฟป่าหมด และพื้นที่เสียหายทั้งหมด

พื้นที่เกิดไฟป่า

การปฏิบัติการดับไฟป่าทั้งหมด (ครั้ง)

พื้นที่เสียหายทั้งหมด (ไร่)

เขตอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต

68

1,480

ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

38

1,003

นอกเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์

30

477

            จากความเสียหายตามตารางข้างต้น  ถึงแม้จังหวัดลำปางจะมี การจัดกิจกรรม “วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า” ขอให้เป็นวันงดเผา ทั้งการเผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย การกำจัดเศษวัชพืชเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก หรือแม้กระทั่งการจุดไฟเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดหมอกควันและฝุ่นละออง เป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ หรือมาตรการการขอความร่วมมือให้ประชาชนจัดทำแนวกันไฟ และควบคุมไฟมิให้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ และการใช้มาตรการการห้ามเผา 100 วัน ผ่านการทำงานพื้นที่สายปกครอง โดย กำนันผู้ใหญ่บ้าน ได้จัดตั้งจุดสกัดการเข้าป่า การใช้บัตรประชาชนเพื่อขออนุญาตการเข้าพื้นที่หาของป่า หรือ การใช้กฎหมาย ที่มีบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดในการเผาป่าหรือการกระทำใดๆ ที่ทำให้เกิดไฟป่าซึ่งสร้างความเสียหายแก่ป่าไม้ ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายทางอาญามีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี และมีโทษปรับตั้งแต่ 20,000-2,000,000 บาท หรือมีโทษทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งอีกด้วย

            อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ กลับไม่สามารถทำให้ปัญหาการเผาป่าลดลง มิหนำซ้ำกลับทำให้เกิดความขัดแย้ง กลั่นแกล้ง ก่อกวน ก่อให้เกิดการแอบจุดไฟเผาป่าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านจิตอาสา ในพื้นที่ต้องทำงานหนัก และต้องสับเปลี่ยนกำลังคนเดินเท้าเฝ้าสังเกตการณ์ และเข้าดับไฟในจุดต่างๆ บนดอยพระบาท และดอยฝรั่ง อำเภอเมืองลำปางอย่างต่อเนื่องทั้งกลางวัน และกลางคืน ตลอดระยะเวลา 3 เดือน (เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน พ.ศ.2561) ที่ผ่านมา

            สำหรับมาตรการเบื้องต้นในการจัดการกับปัญหาในปี 2563 นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาหมอกควัน 3 มาตรการ ได้แก่  1.มาตรการลดจำนวนผู้ป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจร้อยละ 70  2.มาตรการลดวันจุดสะสมความร้อน(Hotspot) ลงร้อยละ 50 และ 3.มาตรการลดการเผาพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรในชุมชนร้อยละ 50

                                                 สรุปสถานการณ์ด้านสาธารณสุขจากปัญหาหมอกควัน

            รายงานการเฝ้าระวังโรคจากภาวะหมอกควัน โรงพยาบาลลำปาง และโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งสะท้อนให้เห็นความรุนแรงของปัญหาฝุ่นละออง ดังนี้

            1) สถานการณ์คุณภาพอากาศจังหวัดลำปาง ถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 พบค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 - 30 เมษายน  2562 มีค่าเกินมาตรฐาน 50 มคก./ลบ.ม จำนวน  73  วัน โดยค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 วัดได้ 194 มคก./ลบม. ณ สถานีตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

            2) การเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพจากภาวะหมอกควัน เฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพจากภาวะหมอกควัน ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคที่สัมพันธ์กับภาวะหมอกควันครบทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2562 – 30 เมษายน พ.ศ.2562 พบว่า จำนวนผู้ป่วย ทั้ง 4 กลุ่มโรคที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล ทั้งหมด 108,656 ราย อัตราป่วย 14,645.62 ต่อแสนประชากร ซึ่งมีจำนวนและอัตราป่วย น้อยกว่า ปี พ.ศ.2561 ในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อวิเคราะห์การเกิดโรคในช่วงที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก  PM 2.5 ที่สูงเกินค่ามาตรฐาน อัตราป่วยทั้ง 4 กลุ่มโรค ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน อัตราป่วยยังมีลักษณะการเกิดโรคเช่นเดียวกันตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2562

คำสำคัญ (Tags): #ไฟป่าลำปาง#สสส.
หมายเลขบันทึก: 676863เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2020 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2020 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท