ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ


     ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่ผู้ป่วยมักรู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา มีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ สูงมาก ถูกดึงความสนใจได้ง่าย มักเป็นอาการหนึ่งในผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) โดยจะมีภาวะอารมณ์ดีผิดปกติเกิดขึ้นสลับกับภาวะซึมเศร้า (Depression)  ซึ่งอาจทำให้เกิดความยากลำบากต่อการประกอบกิจกรรมการดำเนินชีวิต (Occupation) ต่าง ๆ ของผู้ป่วย แต่หากผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาและดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสมและต่อเนื่อง ก็อาจมีโอกาสที่จะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้

อาการแสดงของผู้มีภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ

     เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ สมาชิกภายในกลุ่มจึงได้ช่วยกันคิดคำช่วยจำที่แสดงถึงภาวะของผู้มีอาการ Mania ดังนี้

ลมพายุกระหน่ำสาคร”

ลม - ความคิดแล่นเร็ว

พา พฤติกรรมเสี่ยง

ยุ - พูดเยอะ

กระ กระตือรือร้นมากกว่าปกติ

หน่ำ - ความต้องการนอนน้อยลง

สา - เสียสมาธิได้ง่าย

คร – คุยโวโอ้อวด



     อธิบายโดยรวม คือ ผู้ป่วยจะมีความคิดแล่นเร็ว หุนหันพลันแล่น คิดสร้างสรรค์หรือวางแผนสิ่งใหม่ ๆ มากมาย แต่ไม่ค่อยลงมือทำจริง ๆ  ขาดความยับยั้งชั่งใจ ประมาท ตัดสินใจไม่ดี มักเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เริงรมย์หรือเสี่ยงอันตราย เช่น ขับรถเร็ว ใช้เงินฟุ่มเฟือย มีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าโดยไม่ป้องกัน พูดมาก พูดเยอะ เสียงดัง คุยโวโอ้อวด มั่นใจในตนเองสูงมาก ตื่นตัว ร่าเริงตลอดเวลา อยู่ไม่นิ่ง เสียสมาธิหรือถูกหันเหความสนใจได้ง่าย ไวต่อความรู้สึกต่าง ๆ เช่น กลิ่น การสัมผัส รวมทั้งอาจหงุดหงิดและตื่นเต้นง่าย ความต้องการนอนน้อยลงหรือไม่ต้องการนอนเลย

     นอกจากนี้ยังมีภาวะ hypomania ซึ่งจะมีลักษณะเดียวกันแต่อาการรุนแรงน้อยกว่า ไม่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากนัก

การประเมิน รวมทั้งการบำบัด รักษา ดูแลทางกิจกรรมบำบัดกิจกรรมบำบัดจิตสังคม

     เนื่องจากภาวะ Mania เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีความคิดมากมาย ดังนั้นควรประเมินมุ่งไปในเชิงความคิดของผู้ป่วย เช่นความคิดส่วนใหญ่เป็นบวกหรือลบ ผู้ป่วยสนใจ/ให้ความสำคัญในเรื่องใด

      Cognitive assessment คือการประเมินความรู้คิดความเข้าใจ ความจำและ ที่สำคัญที่ควรเน้นคือช่วงความสนใจของผู้ป่วย

      Group process การประเมินโดยการทำกิจกรรมกลุ่ม เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร การทำงานเป็นทีม กระบวนการทำงาน การจัดการปัญหาเฉพาะหน้าเป็นอย่างไร

         การประเมินเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บำบัดเข้าใจปัญหาของผู้ป่วย บริบทต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทำให้สามารถวางแผนและให้การรักษาได้ตรงจุด และเหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้น ๆ

         การรักษาด้วย จิตบำบัด” (Psychotherapy) เป็นวิธีที่ใช้เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการและรับมือกับความเครียดได้ ซึ่งอาจทำได้หลายรูปแบบ ได้แก่

    • การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy ; CBT) เป็นการบำบัดโดยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะตระหนักถึงสิ่งที่ทำให้ตนเองเกิดภาวะ Mania แล้วปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมของตัวเอง มีการกำหนดเป้าหมายในการบำบัดอย่างเป็นรูปธรรม และเน้นการให้ความร่วมมือจากผู้ป่วย
    • การบัดบัดด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Therapy) เป็นการบำบัดเพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องการสื่อสารและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับบุคคลรอบข้างให้ดียิ่งขึ้น
    • การปรับความคิดโดยใช้การฝึกสติเป็นพื้นฐาน (Mindfulness-Based Cognitive Therapy) เป็นวิธีการบำบัดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีสติ สมาธิ และอยู่กับปัจจุบัน
    • การบำบัดทางครอบครัว (Family-Focused Therapy) เป็นการบำบัดที่ช่วยให้ครอบครัวทราบวิธีรับมือกับผู้ป่วย และพัฒนาความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น
    • การให้ความรู้ทางสุขภาพจิต (Psycho education) เป็นการให้ผู้ป่วยรู้จักภาวะเจ็บป่วยทางจิตของตนเอง และเรียนรู้การรับมือจัดการด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างเหมาะสม

         สื่อทางกิจกรรมบำบัดจิตสังคมที่สมาชิกภายในกลุ่มสนใจ และคิดว่าน่าจะเป็นตัวเลือกหนึ่งในการบำบัดรักษาผู้มีภาวะ Mania ได้ คือ Therapeutic leisure โดยเลือกกิจกรรมเกมกระดาน : เกมเศรษฐี มาเป็นสื่อ

         การเล่นเกมเศรษฐีนั้น ต้องมีความเข้าใจกติกา มีการคิดวางแผนกลยุทธ์ในการเล่น เช่น การวางแผนการใช้เงิน นอกจากนี้ยังได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นคนอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยฝึกให้ผู้ป่วยมีความรอบคอบ อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าผู้ป่วยภาวะ Mania มักจะใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย หุนหันพลันแล่น การเล่นเกมนี้จึงเป็นการสมมุติให้เห็นว่า สิ่งที่ทำลงไป หากไม่วางแผน หรือคิดให้รอบคอบ อาจจะส่งผลให้เค้าล้มละลาย (ในเกม) นั่นเอง และยังต้องมีสมาธิ คอยสังเกตว่าผู้เล่นคนอื่นเล่นอย่างไร ทำอะไรในเกมไปแล้วบ้าง ทำถูกกติกาหรือไม่ และเมื่อไรที่ถึงการเล่นวนมาถึงตนเองแล้วจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เป็นการฝึกให้ผู้ป่วยมีช่วงความสนใจที่นานขึ้นผ่านเกมที่ไม่น่าเบื่อจนเกินไป นอกจากนี้ การเล่นเกมร่วมกับผู้เล่นคนอื่นยังทำให้ผู้ป่วยได้ฝึกทักษะที่ใช้ในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น เช่น การไม่พูดเสียงดังจนเกินไป ไม่เอาแต่ชวนคุย หรือการสงบอารมณ์ได้เมื่อผลลัพธ์ของเกมไม่เป็นดังที่หวัง จะทำให้ผู้ป่วยมีการกระทำที่เป็นไปตามมารยาททางสังคม (ความคาดหวังของสังคม) มากขึ้นด้วย

         อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยแต่ละรายมีบริบทที่ไม่เหมือนกัน ทั้งวัย เพศ ความสามารถ อาชีพการงานหรือ ความชอบความสนใจ ดังนั้น ผู้บำบัดจึงควรประเมินและวางแผนการรักษา เลือกกิจกรรมที่เหมาะสมในการบำบัดรักษาผู้ป่วยในแต่ละรายแตกต่างกันไป และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ หรือ ภาวะ Mania เป็นภาวะที่มักจะพบเป็นอาการหนึ่งของโรคไบโพลาร์ ซึ่งจะมีภาวะซึมเศร้าเกิดร่วมด้วย โดยสลับกันเป็นช่วง ๆ ดังนั้น นอกจากการดูแลรักษาภาวะ Mania ของผู้ป่วยแล้ว จึงควรศึกษาและเฝ้าระวังไปถึงภาวะซึมเศร้าที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาด้วย

    เอกสารอ้างอิง

    POBPAD. ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) [อินเทอร์เน็ต]. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ [เข้าถึงเมื่อ 23 มีนาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก : https://www.pobpad.com/mania-ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ

    ภาวะอาการเมเนีย(mania episode) [อินเทอร์เน็ต]. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ [เข้าถึงเมื่อ 23 มีนาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก : http://www.student.chula.ac.th...

    รายชื่อสมาชิกกลุ่ม

    1. นายมัตติกร ตองสี 6123007
    2. นายชาคริต วงศ์สุธัญวัฒน์ 6123019
    3. นายภูชิสส์ โรจนวรหิรัญ 6123030
    4. นายภูมินทร์ ภูมิอมร 6123031
    คำสำคัญ (Tags): #occupational therapy#mania
    หมายเลขบันทึก: 676285เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2020 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2020 23:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท