สื่อการรักษาทางกิจกรรมบำบัดในผู้ป่วยโรคตื่นตระหนก


              โรคแพนิค/แพนิก หรือ โรคตื่นตระหนก (Panic disorder) คือ ภาวะวิตกกังวลหรือมีความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีโดยไม่คาดคิดมาก่อน คือ อยู่ ๆ ก็เกิดขึ้นมาเองโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาการแต่ละครั้งจะเป็นอยู่เพียงไม่นานก็จะหายไป และอาการจะมีลักษณะกำเริบซ้ำ ๆ ได้อีกเป็นครั้งคราว จนทำให้ผู้ป่วยบางรายกลัวว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจหรือกลัวว่าจะเสียชีวิต

สาเหตุของโรค

* ปัจจัยทางกายภาพ ผู้ป่วยโรคแพนิคอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งประกอบด้วยการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ความผิดปกติของสมอง และการได้รับสารเคมีต่าง ๆ ดังนี้

* การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่บุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคแพนิคหรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ โดยบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดที่ใกล้ชิดกันมาก ก็เสี่ยงป่วยเป็นโรคแพนิคได้ โดยผู้ป่วยอาจได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อหรือแม่ หรือได้รับจากทั้งพ่อและแม่

* ความผิดปกติของสมอง โดยทั่วไปแล้ว สมองจะมีสารเคมีที่เรียกว่าสารสื่อประสาท หากสารสื่อประสาทภายในสมองไม่สมดุล อาจทำให้เกิดอาการแพนิคได้ ทั้งนี้ โรคแพนิคอาจเกิดจากการทำงานของสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการตอบสนองแบบสู้หรือหนีของร่างกาย (Fight or Flight) เนื่องจากหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นเมื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อันตราย

* การได้รับสารเคมีต่าง ๆ ผู้ที่ใช้สารเสพติด ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน รวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ อาจป่วยเป็นโรคแพนิคได้ ทั้งนี้ นักวิจัยบางรายยังสันนิษฐานว่าโรคแพนิคอาจเกี่ยวข้องกับความไวของระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กล่าวคือ เมื่อสูดอากาศที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปมาก ก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้ อย่างไรก็ตาม การหายใจให้ถูกวิธีจะช่วยบรรเทาอาการแพนิคให้หายหรือทุเลาลงได้

* ปัจจัยทางสุขภาพจิต เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตส่งผลให้เกิดโรคแพนิคได้ โดยเฉพาะการสูญเสียหรือพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับอาการแพนิค ผู้ป่วยจะรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น หรืออาจเกิดอาการดังกล่าวต่อไปเรื่อย ๆ ยาวนานเป็นปี จนนำไปสู่การป่วยเป็นโรคแพนิค นอกจากนี้ ผู้ที่เกิดอาการแพนิคมีแนวโน้มที่จะคิดว่าอาการป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์อันตรายต่าง ๆ เช่น ผู้ที่เกิดอาการใจสั่นจากการดื่มกาแฟ จะคิดว่าอาการใจสั่นนั้นเกิดจากอาการหวาดกลัว

อาการของโรค

ผู้ป่วยมักจะมีอาการวิตกกังวลหรือรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงเกิดขึ้นมาอย่างฉับพลันทันทีทันใดโดยไม่คาดคิดมาก่อนและไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ (ชนิดที่ว่าอยู่ดี ๆ ก็เป็นขึ้นมาเอาดื้อ ๆ โดยที่ไม่มีสิ่งใดมากระตุ้น) และผู้ป่วยจะมีอาการแบบนี้กำเริบซ้ำได้อีกบ่อย ๆ บางรายอาจเป็น 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือบางรายที่เป็นมากก็อาจจะเป็นวันละหลาย ๆ ครั้ง จนอาจไม่สามารถนอนหลับได้ในตอนกลางคืน ซึ่งผลจากการที่มีอาการแบบนี้บ่อย ๆ จึงทำให้ผู้ป่วยหลายรายเกิดความวิตกกังวลตามมา เช่น กลัวว่าจะมีอาการขึ้นมาอีก หรือกลัวว่าตัวเองจะเป็นโรคอะไรบางอย่าง เป็นต้น ซึ่งในแต่ละครั้งที่มีอาการผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้ตั้งแต่ 4 ข้อขึ้นไป

* ใจสั่น หัวใจเต้นแรงหรือเต้นเร็วเหมือนตีกลอง

* มือสั่น หรือตัวสั่น

* เหงื่อแตก

* หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม หรือแน่นในหน้าอก

* เจ็บบริเวณหน้าอกหรือไม่สบายบริเวณหน้าอก

* คลื่นไส้ ไม่สบายท้องหรือปั่นป่วนในท้อง

* รู้สึกมึนงง วิงเวียนศีรษะ โคลงเคลง หรือรู้สึกว่าตัวเองแปลกไป

* รู้สึกมึนชาหรือปวดเสียวตามตัว

* รู้สึกหนาวสั่น หรือร้อนวูบวาบไปทั้งตัว

* กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวว่าตัวเองจะเป็นบ้า

* กลัวว่าจะเสียชีวิต

ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้นจะไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใด ๆ และไม่เกี่ยวข้องกับโรคทางกายหรือการใช้ยาหรือสารใด ๆ โดยอาจจะเกิดขึ้นในขณะที่อยู่ในบ้าน หรืออยู่นอกบ้านตามลำพังหรืออยู่กับผู้อื่นก็ได้

อาการแพนิคนั้นจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเพิ่มความแรงถึงระดับสูงสุดภายใน 10 นาที ซึ่งในแต่ละครั้งผู้ป่วยมักจะมีอาการเกิดขึ้นประมาณ 15-20 นาทีแล้วหายไป (ส่วนมากจะมีอาการแต่ละครั้งไม่เกิน 30 นาที และมีน้อยรายมากที่จะมีอาการเกิดขึ้นนานเกิน 1 ชั่วโมง)

ผลกระทบของโรค

ผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมซึ่งเป็นผลมาจากอาการดังกล่าวจนทำให้มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ เช่น ไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่กล้าอยู่คนเดียวหรือไปไหนมาไหนเพียงคนเดียว หรือไม่กล้าทำกิจกรรมบางอย่างหรือไปในสถานที่ที่เคยเกิดอาการ (ผู้ป่วยอาจจะเชื่อมโยงอาการกับสถานที่หรือกิจกรรมบางอย่าง) ยกตัวอย่างเช่น บางคนไม่กล้าที่จะออกไปไหนเพียงคนเดียว อาจเป็นเพราะเคยมีอาการกำเริบตอนออกไปนอกบ้านแล้วไม่มีใครช่วย จึงกลัวว่าหากอาการกำเริบขึ้นมาอีกจะไม่มีใครช่วยเหลือ หรือบางคนไม่กล้าที่จะนั่งรถหรือขับรถ เพราะครั้งแรกที่มีอาการแพนิคเป็นตอนที่นั่งรถหรือขับรถอยู่พอดี เป็นต้น

วิธีป้องกัน

โรคแพนิคเป็นปัญหาสุขภาพทางจิตที่ป้องกันให้เกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดอาการแพนิคหรือป่วยเป็นโรคนี้สามารถดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดมากขึ้น และเกิดอาการแพนิคน้อยลงได้ ดังนี้

* งดหรือลดดื่มเครืองดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โคล่า หรือช็อกโกแลต

* ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาหรือสมุนไพรรักษาอาการป่วยต่าง ๆ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีส่วนประกอบที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้

* ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วน

* นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดอาการง่วงเซื่องซึมระหว่างวัน

* เข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งฝึกรับมือกับความเครียด เช่น ฝึกหายใจลึก ๆ หรือเล่นโยคะ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น

* ฝึกคิดหรือมองโลกในแง่บวก ลองนึกถึงสถานที่หรือเหตุการณ์ที่ทำให้จิตใจสงบหรือผ่อนคลาย และเพ่งความสนใจไปที่ความคิดดังกล่าว วิธีนี้จะช่วยลดความฟุ้งซ่านและอาการวิตกกังวลต่าง ๆ ของผู้ป่วย รวมทั้งช่วยปรับความคิดของผู้ป่วยที่มีต่อตนเองและสิ่งรอบข้างให้ดีขึ้น

* ควรยอมรับว่าตัวเองรับมือกับอาการแพนิคได้ยาก เนื่องจากการกดดันตัวเองและพยายามระงับอาการแพนิคนั้นจะทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิม ทั้งนี้ ควรทำความเข้าใจว่าอาการแพนิคไม่ได้ร้ายแรงถึงชีวิต แต่เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นและหายไปได้

* เผชิญหน้ากับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น โดยลองหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว

* เมื่อเกิดอาการแพนิคขึ้นมา ควรพยายามตั้งสติ พุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย รวมทั้งหายใจให้ช้าลง โดยนับหนึ่งถึงสามเมื่อหายใจเข้าหรือออกแต่ละครั้ง เนื่องจากการหายใจเร็วจะทำให้อาการแพนิคกำเริบมากขึ้น

 

สื่อกิจกรรมบำบัดที่ใช้ในการรักษา

- Cognitive Behavior Therapy (CBT) เป็นการรักษาที่ใช้การผสมผสานระหว่างเทคนิคการปรับความคิดและการปรับพฤติกรรม โดยถ้าคนเรามีความคิดที่บิดเบือนไปจากคสามเป็นจริงจะทำให้เกิดผลกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรม ซึ่งในการบำบัดโดยวิธีนี้ผู้บำบัดจะทำหน้าที่ชี้แนะให้ผู้ป่วยได้เข้าใจรูปแบบต่าง ๆ ของความคิดที่เบี่ยงเบนและพฤติกรรมที่ผิดปกติ

โดยการนำมาปรับใช้เพื่อรักษาโรคแพนิคซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ว่าอาการแพนิคที่เกิดขึ้นไม่ได้อันตรายแต่อย่างใด การบำบัดความคิดและพฤติกรรมจะปรับวิธีคิด พฤติกรรม และการตอบสนองต่อความรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกที่เกิดขึ้น มีวิธีการดังนี้

1. พูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อประเมินปัญหาและตั้งเป้าหมายในการรักษาร่วมกัน

2. ปรับวิธีการคิดผ่านวิธีการตั้งคำถามให้ผู้ป่วยได้คิดผ่านมุมมองอื่นๆโดยการสอบถามว่าผู้ป่วยตอบสนองและรู้สึกอย่างไรเมื่อเกิดอาการแพนิคเพื่อช่วยในการบำบัด เป็นการปรับความคิดที่บิดเบือนไปจากความจริง เพื่อให้รับรู้ความเป็นจริงและมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่บวกเมื่อเกิดอาการแพนิคอย่างไม่มีสาเหตุ

3. ปรับพฤติกรรมให้สามารถเผชิญหน้าต่อความกลัวหรือความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น แล้วลองทำกิจกรรมที่เคยหลีกเลี่ยง โดยเริ่มทำทีละน้อยแต่สม่ำเสมอ และให้เรียนรู้ทักษะการจัดการปัญหาที่เหมาะสม

Relaxation technique เป็นวิธีการที่ช่วยคลายความตึงเครียดทั้งร่างกาย จิตใจและอารมณ์ ลดความเมื่อยล้า และการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ คลายความกลัว และความวิตกกังวลลงได้ เนื่องจากเมื่อร่างกายผ่อนคลาย จะทำให้อัตราการเผาผลาญในร่างกายลดลง มีการใช้ออกซิเจนลดลง มีการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง สมองส่วนที่มีการตอบสนองต่อระบบประสาทอัตโนมัติทำงานลดลง ทำให้การหายใจช้าลง หัวใจเต้นช้าลง แต่มีการไหลเวียนโลหิตในกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น และผิวหนังมีความต้านทานขึ้น เทคนิคการผ่อนคลายก็มีหลายวิธีได้แก่

          วิธีที่ 1 ฝึกการหายใจแบบสงบ เป็นการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกระบังลมและกล้ามเนื้อหน้าท้องช่วยทำให้ประสิทธิภาพการหายใจดีขึ้น ให้จัดท่าที่เหมาะสม เป็นท่านอนหงายราบ ท่านั่งหรือท่าศีรษะสูง หลังจากนั้นวางมือหนึ่งบนบริเวณท้องใต้ลิ้นปี่ และวางอีกมือหนึ่งบริเวณตรงกลางหน้าอก เริ่มหายใจเข้าช้า ๆ และลึก ๆ ทางจมูก โดยให้สังเกตว่าบริเวณหน้าท้องจะโป่งออก จนรู้สึกว่ามือข้างที่วางบนบริเวณท้องเคลื่อนสูงขึ้น ขณะที่มือที่วางบนหน้าอกจะเคลื่อนน้อยมาก หลังจากนั้นให้หายใจออกช้า ๆ ทางปากคล้ายผิวปาก การฝึกหายใจแบบสงบจะช่วยลดความวิตกกังวลลงได้ โดยควรทำครั้งละ 15-20 วันละ 1-2 ครั้ง

          วิธีที่ 2 ฝึกการออกกำลังกาย โดยเลือกวิธีการออกกำลังกายที่กระทำได้ง่าย ไม่หักโหม และทำการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ผ่อนคลาย และเพิ่มการไหลเวียนโลหิต

          วิธีที่ 3 ฝึกการคลายกล้ามเนื้อโดยการออกคำสั่ง คล้ายกับการสะกดจิตตนเองให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทีละส่วน เช่น คลายมือ กำมือ ยืดแขน งอแขน เป็นต้น

          วิธีที่ 4 ฝึกการสร้างสมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อทำให้จิตใจสงบจะช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ สามารถที่จะช่วยบรรเทาความกดดันและความตรึงเครียดได้

          วิธีที่ 5 ฝึกการนวด หรือการสัมผัสเพื่อลดความวิตกกังวล สามารถทำได้ด้วยตนเองหรือให้ผู้อื่นทำให้โดยเริ่มต้นจากการ จับมือ จับแขน จับไหล่ การลูบ หรือการตบเบา ๆ เป็นต้น ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงการสัมผัสนั้นเป็นกระแสประสาทสัมผัสผ่านไขสันหลัง ไปยังก้านสมองเข้าสู่สมอง แล้วส่งกระแสประสาท ทำให้ผู้ป่วยรับรู้ถึงความคิด ความเห็นอกเห็นใจจากผู้สัมผัส มีความรู้สึกอบอุ่นใจ มีกำลังใจ มีความสุขสบาย ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพิ่มความเข้มแข็งและความมั่นใจ ช่วยให้สามารถเผชิญกับภาวะเครียด และหาวิธีจัดการกับความเครียดนั้นได้ ทำให้ความวิตกกังวลลดลง แต่ผู้ที่สัมผัสต้องมีความรู้สึกสุขสบาย มีความมั่นใจ และเต็มใจ ที่จะถ่ายทอดความรู้สึกที่ดี และความรู้สึกที่สบายไปยังผู้อื่น โดยใช้เวลาสัมผัสประมาณ 10 - 15 นาที ตำแหน่งที่ถูกสัมผัสบ่อยที่สุดได้แก่ ข้อมือ มือ ไหล่ ซึ่งจะแตกต่างกันตามสังคมและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามการสัมผัสต้องกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยแรงในการสัมผัสควรจะมีทั้งแรงและเบา จะส่งผลให้เกิดความมั่นคงและความเป็นตัวของตัวเอง

อ้างอิง
ผศ.วชิราภรณ์ สุมนวงศ์. กังวลมากไป กำลังใจหายหมด ต้องสงบและผ่อนคลาย[อินเทอร์เน็ต]. 2555 [เข้าถึงเมื่อ 2563 มีนาคม 23]. เข้าถึงได้จากhttp://www.uniserv.buu.ac.th/f...

โรคแพนิค (Panic disorder) อาการ สาเหตุ การรักษาโรคแพนิค 9 วิธี[อินเทอร์เน็ต]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 2563 มีนาคม 23]. เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/โรคแพนิค/

Panic Disorder [อินเทอร์เน็ต]. 2554 [เข้าถึงเมื่อ 2563 มีนาคม 23 ]. เข้าถึงได้จาก https://www.pobpad.com/โรคแพนิค

ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร. อีกทางเลือกปัญหาสุขภาพจิต : CBT การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม[อินเทอร์เน็ต]. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 2563 มีนาคม 23]. เข้าถึงได้จาก https://www.the101.world/cogni...

หมายเลขบันทึก: 676274เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2020 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2020 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท