หนุนเสริมการเรียนรู้ของโรงเรียน และของครู



วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ผมไปประชุมที่ กสศ. เรื่องการใช้ต้นฉบับหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง empower โรงเรียนและครูในโครงการ โรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเอง โดยเราได้แนวคิดมาจากการจัดทำหนังสือ สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน    ที่มีการนำสาระในต้นฉบับของหนังสือไปใช้ในโรงเรียนเพลินพัฒนา และโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี (อ. แม่ฟ้าหลวง  จังหวัดเชียงราย)    แล้วให้ครูเขียนเรื่องเล่าจากห้องเรียน    เพื่อคัดเลือกนำมาลงหนังสือ    ทำให้หนังสือ สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน มีสาระทั้งมิติเชิงทฤษฎี และมิติภาคปฏิบัติในบริบทของโรงเรียนไทย

หนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง ฉบับพิมพ์จะออกปลายปี ๒๕๖๓ นะครับ    ที่เล่านี้เป็นกระบวนการใช้ต้นฉบับที่ผมเขียนเสร็จตั้งแต่ตอนปิดยาวปีใหม่ ในการ empower โรงเรียนที่สมัครเข้ามาลองใช้วิธีการในต้นฉบับ

ต้นฉบับที่ใช้จะมีทั้งข้อความในต้นฉบับที่ผมเขียน และที่ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ สะท้อนคิดตีความเพิ่มเติม 

ตกลงกันว่า กสศ. จะลงทุนใช้กลไก/เครื่องมือ “PLC ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง” ในการหนุน (empower)  โรงเรียนในโครงการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเองที่สมัครและได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนแกนนำ     กับโรงเรียนในโครงการนำร่องพื้นที่นวัตกรรมที่สมัครและได้รับการคัดเลือก    ร่วมกับโรงเรียนเพลินพัฒนาและโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี    ให้เป็นโรงเรียนที่มีกระบวนการเรียนรู้เพื่อยกระดับ learning outcome ของนักเรียน    แล้วให้ครูเล่า  “เรื่องเล่าจากห้องเรียน” สะท้อนกิจกรรมการเรียนที่ประยุกต์วิธีการจากต้นฉบับหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง     และสะท้อนผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน และการเรียนรู้ของครู   

มูลนิธิสยามกัมมาจล (SCBF) รับจัดการโครงการนี้    โดย กสศ. สนับสนุนค่าใช้จ่าย   

เราปรึกษาหารือวิธีการจัดการที่สะท้อนภาพโรงเรียนนำร่องที่สมัครและได้รับเลือกเป็นเจ้าของกิจกรรม    กสศ. และ SCBF เป็นหน่วยหนุน กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งแบบ offline  และ online    เพื่อให้ผู้บริหารและครูแกนนำในโรงเรียนเข้าใจทฤษฎีที่อยู่ในต้นฉบับ ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง     และตีความสู่ภาคปฏิบัติในห้องเรียน หรือสู่การเรียนรู้ของนักเรียน ได้     และมีการวัดสมรรถนะตามเป้าหมายการเรียนรู้ ทั้ง before  และ after ในเทอมแรกของปีการศึกษา ๒๕๖๓ (พฤษภาคม - กันยายน ๒๕๖๓) เอาเฉพาะที่ได้ effect size เกิน 0.40 มาเลือกเป็นเรื่องเล่าจากห้องเรียนบรรจุไว้ในหนังสือ

หนังสือเป็นเพียงกุศโลบาย   เรื่องเล่าจากห้องเรียน และคลิปวีดิทัศน์จากห้องเรียนจะอยู่บน cyber space ให้โรงเรียนในโครงการ โรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเอง เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้    โรงเรียน/ครูที่แสดงตัวตนและการเรียนรู้เข้มข้น แม้ไม่อยู่ในกลุ่มโรงเรียนในโครงการทดลอง ก็จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้ต่อเนื่องทั้ง online และ offline

กิจกรรม PLC ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยงจะดำเนินการไปตลอดปีการศึกษา ๒๕๖๓   หลังจากนั้นจะคลี่คลายไปอย่างไร หรือดำเนินการต่อเนื่องอย่างไร เป็นเรื่องของอนาคต    ขึ้นอยู่กับผลการทดลองดำเนินการในปีการศึกษา ๒๕๖๓

 เราหวังว่า โครงการเล็กๆ นี้ จะช่วยหนุนเสริมการพัฒนาตัวตนของโรงเรียนและครู    ให้เป็นโรงเรียนเรียนรู้ ครูผู้เรียนรู้    ที่เรียนรู้จากการทำหน้าที่ของตนเอง     เรียนรู้วิธียกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) ของนักเรียน    ให้เป็นการเรียนรู้ในระดับ “รู้เชื่อมโยง” (transfer)    ตามที่ระบุในต้นฉบับหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง   

PLC ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง คือเวทีเรียนรู้จากการปฏิบัติ  ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด    เราหวังว่า กิจกรรมนำร่องนี้ จะจุดประกายหลักการและวิธีปฏิบัติที่โรงเรียนและครูเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองจากการปฏิบัติหน้าที่ประจำนั้นเอง

พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติของโรงเรียน และของครู    กองเชียร์ทั้งหลายเข้าไปหนุน (empower)  ไม่ใช่เข้าไปสั่ง (command)    นั่นคือความเชื่อของผม ว่าเป็นวิถีเดียวที่จะฟื้นคุณภาพการศึกษาไทยได้   

วิจารณ์ พานิช

๕ ก.พ. ๖๓

  

หมายเลขบันทึก: 676140เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2020 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2020 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท