บันทึกที่ 3 ของ "ชายนิรนาม" : ความสุขของนักเรียนไทย หายากเหลือเกิน !!!


สวัสดีทุกท่านครับ

วันนี้ผมพยายามคิดเรื่องอื่นที่จะช่วยให้หายจากเรื่องเครียด (หลายเรื่อง) ที่เกิดขึ้นในใจ โดยย้อนคิดถึงการเขียน Blog ฉบับที่แล้ว ว่า “นักเรียนที่เรียนด้วยความสุข” นั้น คืออะไร โดยมีประเด็นที่ชวนคิดว่าสิ่งใดที่เป็นความสุขแท้ และสิ่งใดที่เป็นความสุขเทียมของนักเรียน และทำให้ได้ข้อสรุปประการหนึ่งว่า ความสุขของนักเรียนนั้น น่าจะเทียบเคียงได้กับ Basic Needs ตามแนวคิดของ Maslow

ดังนั้น ผมจึงได้ข้อสรุปว่า “ความสุขของนักเรียน” น่าจะเริ่มต้นจากการที่นักเรียนรู้สึกมีความปลอดภัย ปราศจากซึ่งความกลัวต่าง ๆ อันเป็นสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ ซึ่งความกลัวของนักเรียนนั้นผมคิดว่าน่าจะเกิดจากคนรอบข้างทั้งสิ้นที่ทำให้นักเรียนขาดความสุขในการเรียน และผลที่ตามมาของการขาดความสุขในการเรียนก็คือ ความเครียดซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของการเรียนการสอน

ที่กล่าวว่าคนรอบข้างคือผู้สร้างความเครียดให้แก่นักเรียนนั้น เป็นเพราะช่วง 2-3 อาทิตย์นี้ ผมมีโอกาสประสบกับเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่น่าจะเป็นต้นเหตุทำให้นักเรียนไม่มีความสุข ดังนี้

เหตุการณ์ที่หนึ่ง เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา มีน้องเจ้าหน้าที่ที่ทำงานมาขอให้ผมลงนามในหนังสือขอความอนุเคราะห์ผู้บริหารสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ช่วยพิจารณารับลูกของเขาเข้าเรียนชั้นอนุบาล 2 โปรแกรมที่เน้นคณิต-ภาษาอังกฤษ ผมจึงได้ถามน้องคนนั้นไปว่าเพราะเหตุใดจึงต้องเอาลูกซึ่งยังเป็นเด็กเล็ก ๆ อยู่ ไปเรียนโปรแกรมคณิต-อังกฤษ คำตอบที่ได้คืออะไรท่านพอจะเดาได้ไหมครับ

น้องเขาตอบว่าเห็นลูกคนอื่นพูดภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ จึงอยากให้ลูกตัวเองพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง คำตอบนี้ ทำให้ผมมานั่งคิดว่า เราอาจจะตกยุคไปแล้วหรือ ???? เพราะความรู้ ความเข้าใจ และความเชื่อที่มีอยู่คือ เด็กระดับอนุบาล เราจัดกิจกรรมเพื่อเตรียมให้เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ และการที่ผู้ปกครองคาดหวังจะให้ลูกหลานตัวเล็ก ๆ ของตนเองทำอย่างโน้นอย่างนี้ได้นั้นเกิดจากสาเหตุใด เกิดจากความหวังดี (ประสงค์ร้ายโดยไม่คาดคิด) ของผู้ปกครองหรือไม่ หรือผู้ปกครองไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของ

เด็ก ๆ หรือสถานศึกษาต่าง ๆ พยายามหาจุดขายของตนเองเพื่อที่จะสร้าง Image ของโรงเรียนว่าเป็นโรงเรียนที่ทันสมัย มีนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โรงเรียน (เพื่อที่จะได้เก็บค่าเล่าเรียนให้สูงขึ้น) และหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา/นักการศึกษาของประเทศไทยไม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้

คำถามที่ค้างคาในใจผม คือ 

1) ทำไมเด็กตัวเล็ก ๆ ซึ่งเป็นวัยที่กำลังร่าเริง สดใส ต้องมาเรียนรู้ในสิ่งที่ผู้ใหญ่ (ผู้ปกครอง และสถานศึกษา) ยัดเยียดให้หรือไม่ มีความจำเป็นหรือไม่ที่สถานศึกษาจะต้องจัดโปรแกรมการเรียนแบบนี้ตั้งแต่ระดับอนุบาล 

2) ทำไมโรงเรียนจึงต้องสรรหาโปรแกรมการเรียนแปลก ๆ มานำเสนอต่อผู้ปกครอง โดยที่โรงเรียนได้ศึกษาปรัชญาของการจัดการศึกษาระดับอนุบาลหรือไม่ 

3) นักการศึกษาของไทย (ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีจำนวนเท่าไหร่) มีความเห็นอย่างไรกับปรากฏการณ์ทางการศึกษาเช่นนี้ของประเทศ

สิ่งหนึ่งที่ผมรับรู้และเชื่อมาโดยตลอดว่าเด็กเล็ก ๆ ยังไม่ต้องเรียนเนื้อหาสาระอะไรมากมายนัก และในอดีตมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง (นานมาแล้ว และจำชื่องานวิจัยไม่ได้) ได้ข้อสรุปว่า เด็กจะเรียนภาษาที่สองได้ดีก็ต่อเมื่อภาษาแม่แข็งแรง และการที่เด็กถูกบังคับให้เรียนมาก ๆ โตขึ้นจะเกิดภาวะความล้าในการเรียน สิ่งเหล่านี้ “ใคร ???” จะเป็นผู้ช่วยให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ปกครอง หรือจะปล่อยให้ผู้ปกครองแสวงหาสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดของการศึกษาให้แก่บุตรหลานของตนเอง รวมทั้งใครจะเป็นผู้จัดการโรงเรียนทั้งหลายให้จัดการศึกษาไปในแนวทางที่ถูกที่ควร

เมื่อพิจารณาจากหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ของกระทรวงศึกษาธิการแห่งประเทศไทย พบว่า มีกำหนดปรัชญาการศึกษาปฐมวัย ว่า “การศึกษาปฐมวัย เป็นการพัฒนาเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์ อย่างเป็นองค์รวม บนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริม กระบวนการเรียน รู้ที่สนองต่อธรรมชาติ และพัฒนาการตามวัยของเด็กแต่ละคน ให้เต็มตามศักยภาพ ภายใต้บริบทสังคมและวัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และความเข้าใจของทุกคน เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เกิดคุณค่าต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ” และเมื่อผมได้ไปอ่านองค์ประกอบอื่น ๆ ในหลักสูตรฉบับนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ หลักการ จุดหมาย ตลอดจนคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ก็ไม่พบว่าเด็กปฐมวัยต้องเรียนในโปรแกรมที่เน้นคณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษแต่อย่างใด

แล้วอย่างนี้โรงเรียนจะจัดการศึกษาเพื่อให้เด็กมีความสุขได้จริงหรือไม่

เหตุการณ์ที่สอง เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้มีการสอบ O-Net ประจำปีการศึกษา 2562 วิชาคณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นข้อสอบที่ยากเกินไปหรือไม่ และออกยากไปเพื่ออะไร และเมื่อนักเรียนทำไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีการเดา และถ้าเดาถูกหรือเดาผิด คะแนนที่นักเรียนได้จะบอกอะไรกับผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดการศึกษา ???

คำถามของผมสำหรับเหตุการณ์ที่สองคือ การทดสอบต่าง ๆ ที่หน่วยงานทางการศึกษาของประเทศไทยดำเนินการนั้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักเรียนไทยเกิดความสุขในการเรียนรู้หรือไม่ ผมเองมีความเห็นด้วยกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าข้อสอบ O-Net ยากเกินความสามารถของเด็กไทยจริง และไม่น่าจะมีเหตุผลที่ว่าการที่นักเรียนทำข้อสอบยาก ๆ ได้นั้น จะประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต การออกข้อสอบที่ลึกลับซับซ้อนแสดงถึงคุณค่าอะไรในการจัดการศึกษา ??? คำถามนี้ผมคิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาทั้งหลายควรจะต้องมาคิดทบทวนเพื่อให้ตกผลึกทางความคิด

ผมเองก็เคยมีประสบการณ์บ้างในออกข้อสอบ โดยสิ่งหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับตัวเองเสมอคือ ผมจะดีใจมากถ้าผู้เรียนของผมทำข้อสอบไม่ได้ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไม่ดี ไม่ถูกต้องเลย เวลาที่ออกข้อสอบโมหะจริตมักจะเข้ามาครอบงำผม ทำให้เกิดความคิดว่าออกข้อสอบแบบนี้มันจะง่ายเกินไปไหม ผู้เรียนน่าจะทำได้ง่าย เลยพยายามสรรหาวิธีการสร้างข้อสอบให้มันยาก ๆ (5555555) ผมเลยไม่แน่ใจว่าคนที่ออกข้อสอบ O-Net จะมีจริตเหมือนที่ผมมีหรือไม่ และที่สำคัญผลที่ตามมาจากการสอบ O-Net ในแต่ละปี มีใคร หรือหน่วยงานใด เอาไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง ยกเว้นโรงเรียนเอาไว้ติวนักเรียนก่อนสอบ ผมเคยได้เรียนรู้มาอย่างหนึ่งว่า “สอนอย่างไรให้สอบอย่างนั้น” ปัจจุบันคงต้องเปลี่ยนความเชื่อใหม่เป็นว่า “สอนอย่างไร (คง) ไม่ได้สอบแบบนั้น” อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นคือ ก่อนจะมีการสอบ O-Net โรงเรียนส่วนใหญ่จะมีการติว บางโรงเรียนมีการสอบ Pre O-Net เลยทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมต้องมีการติว และถ้าติวเพื่อสอบเราไม่ต้องสอนดีไหม ??? รวมทั้งข้อสงสัยที่ว่าการทดสอบต่าง ๆ นั้นสามารถวัดความสามารถแท้ของนักเรียนได้จริงหรือไม่ ????

จากเหตุการณ์ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้น ผมคิดว่า ความสุขของนักเรียนยากแท้ที่จะเกิดขึ้นจากการจัดการศึกษาของบ้านเมืองเรา หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาของประเทศตระหนักถึงปัญหา ข้อจำกัดเหล่านี้หรือไม่ ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา คิดอ่านประการใด มองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาต่อการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพของประเทศไทยหรือไม่ ทำอย่างไรที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้ปกครอง นักการศึกษาของไทยมีความเห็นอย่างไร ?????

จนแล้วจนรอดผมก็ยังไม่ได้เล่าสู่กันฟังว่า ทำไมประเทศฟินแลนด์จึงจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีความสุขได้ (5555555) เอาไว้ฉบับหน้า ผมน่าจะหาคำตอบมาเล่าให้ท่านฟังได้

ขอบคุณครับ

..

.........................................................................

จากผู้ช่วย "ชายนิรนาม"

เขาบอกว่า ยุคนี้ คือ ยุคสมัยใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีอันทันสมัย
แต่ "การศึกษาไทย" ไม่แน่ใจว่า สมัยใหม่จริงหรือเปล่า

บุญรักษา ทุกท่าน

.........................................................................

ป.ล. บทความนี้ หากนำไปใช้ กรุณาอ้างอิงให้ถูกต้องด้วยนะครับ

หมายเลขบันทึก: 675711เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2020 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2020 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียน อาจารย์

๑. ให้ดอกไม้รัวๆค่ะ อาจารย์ไม่ได้ทำบาปกับเด็กๆของเรา ในสถานภาพความเป็นอาจารย์ และพยายามให้สติกับผู้รับผิดชอบที่ยังหลงผิดๆ

๒. มีอาจารย์ที่มีมุมมองเช่นเดียวกันนี้ จำนวนไม่น้อย พลังเสียงนั้น ไม่มีผลใดๆ กับ การลงแขกทำร้ายเด็กๆของเรา (โดยผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ ครูอาจารย์ ฯลฯ) มาเนิ่นนานเลย เช่นนั้นหรือ?

๓. วัยเด็กเล็กๆ ถ้ามีโอกาสได้เล่น อย่างมีความสุข และรับความอบอุ่นจากพ่อแม่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ไร้สารพิษ เป็นการพัฒนาทักษะทางอารมณ์ และพื้นฐานสุขภาพจิต สุขภาพกาย ฯลฯ

๔. ประเทศจีน เกาหลี ทำละครสอดแทรกสาระความรู้ เรื่องเด็กๆ ที่เติบโตแบบถูกยัดเยียดตำรา ครอบครัวขาดอบอุ่น รับประทานอาหารขยะ ใช้ชีวิตด้วยเงิน (ส่วนมากเป็นชุมชนเมือง) ล้วนแต่เติบโต กลายเป็น ผู้มีปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต ต้องเจอคนที่มีครอบครัวอบอุ่น ดำเนินชีวิตแบบชนบทมาช่วยเยียวยา…มีโอกาสได้ระบาย รักษาอาการทางจิต นอกจากพบจิตแพทย์

๕. ไม่ต้องสงสัย เรื่อง การฆ่าตัวตายอย่างไร้เหตุ การก่ออาชญากรรมที่คาดเดาไม่ถึง ฯลฯ เพราะคนในปัจจุบัน และอนาคต ขาดสิ่งยึดเหนี่ยวจากพื้นฐานการสร้างความเป็นคนหรือมนุษย์ ไม่ต้องพูดถึง การที่เขาจะรู้จักการพึ่งพาจิตใจทางศาสนา

หากท่านผู้ใดเกี่ยวข้องกับวงจรทำร้ายคนแนวทางแบบนี้ โปรดหยุดเถิด…

ขอแสดงความนับถือคุณลิขิต

รับคำขอบคุณแทน “ชายนิรนาม”..ด้วยความยินดียิ่งครับ..ไม่รู้เมื่อไหร่การศึกษาไทยจะตื่น (รู้) นะครับ ;)…

เรียน อาจารย์

การแสดงความคิดเห็น ของเหล่าอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา สื่อมวลชน ผู้ปกครอง เจ้าของธุรกิจ ฯลฯ ในมุมที่ตนเองพบปัญหา และพยายามแก้ไขตามสถานภาพที่ตนเองพอทำได้ เป็นสัญญาณว่า
การศึกษาเริ่มถึงจุดเปลี่ยนแปลงแล้วค่ะ
แม้เหล่าคณาจารย์ ที่เกษียณแล้ว อนาคตไม่แน่ว่า เด็กๆต้องตามไปเรียนกับท่านที่บ้าน

ขอแสดงความนับถือ

คุณลิขิต

รับทราบครับ ท่านอาจารย์ลิขิต

เมื่อการศึกษาไทยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกสักรอบ ;)…

ขอบคุณมากครับ

เรียนก่อนวัยก็เหมือน ล้มเหลวก่อนวัย เพราะคนเราต้นทุนต่างกัน ปรัชญาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เหมือนตั้งมา แต่ก็ใช้ไม่ได้ในหลายๆ ที่ และหลายๆ ครั้ง ครับ

ใช่ครับ ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หมายถึง มอบกิจกรรมตามถนัดของนักเรียนให้ แต่ไม่เหมือนกัน

แต่ไม่ใช่หมายความว่า เรียนต้องใช้กิจกรรมเดียวไปทั้งห้องครับ

ขอบคุณ คุณแผ่นดินครับ

โอกาสมี จักได้พบกันครับ ;)…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท