ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง ๓. ปูพื้นฐานสู่ผลการเรียนระดับสูง


  บันทึกชุด ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง  ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Visible Learning for Literacy, Grades K-12 : Implementing the Practices That Work Best to Accelerate Student Learning (2016)    เขียนโดย Douglas Fisher, Nancy Frey, และ John Hattie    ซึ่งเป็นหนังสือที่นำเอาหลักการ Visible Learning ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องโดย John Hattie ในช่วงเวลาเกือบ ๔๐ ปี สู่ภาคปฏิบัติ   

บันทึกชุดนี้ต้องการสื่อความและสื่อวิธีการเรียนรู้ที่ประจักษ์ชัดในสองมุม    คือมุมนักเรียนที่เรียนอย่างชัดเจนในเป้าหมาย  ในความก้าวหน้าของตน ทั้งในการเรียนวิชาและวิธีเรียน    และมุมของครู ที่สอนอย่างประจักษ์ในผลที่เกิดขึ้นต่อนักเรียน  และโดยใช้การกระตุ้นสายตาของนักเรียนด้วยเป้าหมายการเรียน    เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา   

บันทึกที่ ๓ ปูพื้นฐานสู่ผลการเรียนระดับสูงนี้ ตีความจากบทที่ 1  Laying the Groundwork for Visible Learning for Literacy    ส่วนหัวข้อย่อย General Literacy Learning Practices  หน้า ๒๑ - ๓๔    

สาระสำคัญของบันทึกนี้ คือ ๓ ปัจจัยหลักสู่การเรียนรู้    ได้แก่  (๑) ความท้าทาย  (๒) บรรลุเป้าหมายด้วยตนเอง  (๓) มีเป้าหมายการเรียนรู้ โดยมีเกณฑ์บอกความสำเร็จ     สามปัจจัยนี้มีผลต่อการเรียนรู้ในเด็กทุกวัย

ความท้าทาย (Challenge)

เด็กมีธรรมชาติชอบความท้าทาย    และยินดีทำงานหนักเพื่อความสำเร็จในการเรียน  ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต    โดยความท้าทายนั้นต้องพอดี    ไม่ง่ายเกินไปจนน่าเบื่อ  และไม่ยากเกินไปจนท้อถอย    ในประเด็นยากนี้ ผมมีความเห็นต่าง ว่านักเรียนต้องได้รับโจทย์ที่ยากมากเป็นครั้งคราว    เพื่อฝึกให้เป็นคนสู้สิ่งยาก ไม่ท้อถอยง่าย    โดยครูต้องคอยหนุน ให้กำลังใจให้ฟันฝ่า (High Expectation, High Support)    ประสบการณ์เผชิญความยากลำบากจนจวนเจียนจะถอดใจ  แล้วครูเข้าไปหนุนไม่ให้ถอดใจ มีการฟันฝ่า สู้จนสำเร็จ เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าในชีวิต    ช่วยฝึกความมุ่งมั่นและมุมานะ    ซึ่งเป็นการพัฒนา อิทธิบาท ๔   ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า grit เป็นคุณลักษณะสำหรับชีวิตที่ประสบความสำเร็จสูง 

ครูต้องจัดการความท้าทายเป็น    โดยต้องปรับตามบริบทและตามแต่ละสถานการณ์      

หน้าที่หลักของครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑ คือ ช่วยให้นักเรียนรู้สึกสนุกกับความท้าทายในการเรียน  ไม่ใช่ท้อถอย สาระในหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องนี้ทั้งสิ้น    แต่ในตอนนี้จะว่าด้วยเป้าหมายระดับของการเรียนรู้   


เป้าหมายระดับของการเรียนรู้ : ผิวๆ,  ลึก,  และนำไปใช้ในบริบทอื่นได้    

ครูต้องรู้ว่า ในขณะนั้นต้องจัดการเรียนรู้ในระดับผิว,  ลึก, หรือนำไปใช้ในต่างบริบทได้ (transfer)  ในสัดส่วน หรือส่วนผสมอย่างไร    และต้องให้นักเรียนทราบเป้าหมายนั้น    โดย

  • ให้นักเรียนทำความรู้จักชิ้นงาน ก, ข, ค    และทำความเข้าใจว่าชิ้นงานทั้งสามแตกต่างกันอย่างไร   
  • ให้นักเรียนทำความรู้จักตารางให้คะแนนแบบ rubrics
  • ให้นักเรียนได้เห็นผลงาน และคะแนนของนักเรียนรุ่นก่อนที่เรียนวิชาเดียวกัน    เพื่อให้นักเรียนเข้าใจว่าระดับคุณภาพของผลงานเป็นอย่างไร
  • สร้าง concept map ของวิชาที่จะเรียนร่วมกับนักเรียน  เพื่อทำความเข้าใจชิ้นส่วนย่อย หรือองค์ประกอบของบทเรียนนั้นๆ      

ทั้งหมดนั้น ก็เพื่อให้นักเรียนเข้าใจว่าผลงานที่ดีเพียงพอเป็นอย่างไร    ความสำเร็จในการเรียนเป็นอย่างไร   รู้ได้อย่างไรว่าบรรลุแล้ว   


ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน

นักเรียนควรได้รับการส่งเสริมให้เล่นด้วยกัน คุยกัน และทำงานร่วมกัน  เพราะปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนก่อให้เกิดการเรียนรู้    ซึ่งธรรมชาติของนักเรียนก็ต้องการมีเพื่อนอยู่แล้ว    โรงเรียนควรจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์เชิงบวก

ปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ส่งเสริมการใช้ภาษา ทั้งด้านการพูด การฟัง อ่าน และเขียน    เครื่องมือสำคัญคือการจัดให้มีการเรียน หรือทำงานเป็นทีม มีการร่วมมือกัน (collaboration) และทำตามข้อตกลง (cooperation)    ซึ่งเป็นการเรียนที่ซับซ้อน นำไปสู่การเรียนรู้ระดับลึก (deep learning)    ครูต้องทำความชัดเจนในเป้าหมายการเรียนรู้ของแต่ละกิจกรรม  และวางกติกาในการทำงานร่วมกัน   

การที่นักเรียนเรียนแบบร่วมมือกัน นำไปสู่การที่นักเรียนสอนกันเอง (peer tutoring, ES = 0.55)    การทำงานแบบร่วมมือกัน (cooperative learning) มี ES = 0.42     


คำแนะนำป้อนกลับ (feedback)

เมื่อให้นักเรียนทำกิจกรรมที่ท้าทาย  นักเรียนจะต้องการได้รับคำแนะนำป้อนกลับโดยปริยาย    การสร้างนิสัย ตั้งเป้าความมุ่งมั่น ลงมือทำ  และแสวงหาคำแนะนำป้อนกลับ สำหรับใช้ปรับปรุงกิจกรรมและเป้าหมายของตน  เป็นการสร้างทักษะการเรียนรู้ (learning skills)  และสร้างนิสัยความเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning)      

หลักการของการให้คำแนะนำป้อนกลับคือ    คำแนะนำป้อนกลับต่อสิ่งที่นักเรียนรู้อยู่แล้วมีคุณค่าน้อย     คำแนะนำป้อนกลับที่มีคุณค่าสูงโฟกัสที่สิ่งที่นักเรียนทำผิดพลาด    โดยการให้คำแนะนำป้อนกลับที่ดีเป็นการคุยกับเด็กแบบสุนทรียสนทนา (dialogue)    เพื่อให้เด็กจับหลักการในเรื่องที่ตนทำผิดพลาดได้    ไม่ใช่แค่เพื่อให้เด็กแก้สิ่งที่ทำผิดเป็นทำได้ถูกต้องเท่านั้น             


ปัจจัยที่ทำให้งานเป็นสิ่งท้าทาย

ครูต้องแยกแยะระหว่าง งานหนักหรือมากหรือยาก (difficulty)  กับงานที่ซับซ้อน (complexity)    อย่าให้นักเรียนทำงานหนักโดยไม่จำเป็น    เช่นให้การบ้านมากข้อ ในระดับความยากและในประเด็นเรียนรู้เดียวกัน    ซึ่งจะไม่ท้าทาย หรือทำให้น่าเบื่อ    ควรจัดให้เด็กได้ทำงานหรือแก้ปัญหาจากง่ายไปยาก  ซึ่งก็คือจากซับซ้อนน้อยไปสู่ซับซ้อนมาก    เด็กก็จะรู้สึกว่าถูกกระตุ้นด้วยความท้าทายที่มีระดับพอดีๆ อยู่ตลอดเวลา   

งานที่ซับซ้อน หมายถึงงานที่ต้องใช้ความคิดหลายขั้นตอน และต้องใช้ความคิดเชิงนามธรรม     กลยุทธสำคัญของครูคือ ต้องจัดบทเรียนให้นักเรียนได้เริ่มทำกิจกรรมที่นักเรียนรู้สึกว่าทั้งง่ายและซับซ้อนน้อย     ไปสู่กิจกรรมที่นักเรียนเผชิญความซับซ้อนแต่ทำได้ง่าย    แล้วจึงไปสู่ขั้นตอนที่ทั้งยากและซับซ้อนต่อนักเรียน   

ผมขอเสนอว่า รายละเอียดของขั้นตอนกิจกรรม ที่สลับระหว่าง ง่าย-ซับซ้อนน้อย    ง่าย-ซับซ้อนมาก    ยาก (งานมาก)-ซับซ้อนน้อย    และยาก-ซับซ้อนมาก    ก่อผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียนแตกต่างกันอย่างไร    มีความแตกต่างกันในนักเรียนที่มีคุณลักษณะแตกต่างกัน อย่างไร    เป็นประเด็นวิจัยชั้นเรียนที่น่าสนใจมาก    โดยอาจทำเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกได้        


บรรลุเป้าหมายได้ด้วยตนเอง (self-efficacy)

เพื่อบรรลุผลสำเร็จในการเรียน นักเรียนต้องมีความคิด และความเชื่อ ว่าตนเองสามารถบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ได้ ฟันฝ่าความยากลำบากสู่ความสำเร็จได้    โดยปัจจัยสำคัญที่สุดคือตนเอง    โรงเรียนและครูต้องหล่อหลอมปลูกฝังความเชื่อหรืออุดมการณ์นี้ขึ้นในนักเรียน    ซึ่งจะเป็นคุณต่อตัวเด็กไปตลอดชีวิต   

นักเรียนที่มีคุณสมบัตินี้มีลักษณะ

  • มองกิจกรรมหรืองานที่ซับซ้อนเป็นความท้าทายให้เอาชนะ   ไม่ใช่คอยหลีกเลี่ยงสิ่งยาก    คำสั้นๆ ที่ริเริ่มขึ้นโดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ ปยุตฺโต) คือ “สู้สิ่งยาก”
  • มองความล้มเหลวเป็นโอกาสเรียนรู้    โดยที่อาจต้องใช้ความพยายาม  การแสวงหาข้อมูล  การแสวงหาความช่วยเหลือ  เวลา และอื่นๆ เป็นตัวช่วย    ครูต้องรู้จังหวะและวิธีเข้าไปหนุน  
  • ฟื้นความมั่นใจตนเองอย่างรวดเร็ว  ภายหลังความล้มเหลว

นักเรียนจะกล้าสู้สิ่งยาก หากมั่นใจว่ามีคนคอยเตรียมช่วย   มีความปลอดภัยทางสังคม ไม่ถูกดูหมิ่นดูแคลนเยาะเย้ย หากล้มเหลว    นั่นคือหน้าที่ของครูในการจัดบรรยากาศในโรงเรียน และในชั้นเรียน

วิธีการที่ครูใช้หล่อหลอมมีดังต่อไปนี้

  • สอนวิชาความรู้ โดยมีตัวอย่างที่ชัดเจนและตรงกับบริบทวิถีชีวิตของนักเรียน
  • เริ่มต้นชั้นเรียนหรือบทเรียนที่มีพลังส่งเสริมความมั่นใจฮึกเหิมให้สู้
  • ให้คำแนะนำป้อนกลับที่เน้นตรงความมานะพยายามของตัวนักเรียน
  • ช่วยให้นักเรียนเข้าใจปัญหาหรือโจทย์ชัดเจน  และแนะนำเทคนิคสำหรับแก้ปัญหานั้น
  • แนะนำเทคนิคในการแก้ปัญหา หรือโจทย์ที่นักเรียนตั้งเอง
  • สร้างความน่าเชื่อถือต่อครู โดยแสดงความเอาใจใส่นักเรียนอย่างเท่าเทียมกัน
  • ให้นักเรียนมั่นใจว่าครูพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้นักเรียนบรรลุเป้าหมาย
  • สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระดับสูงระหว่างครูกับนักเรียน  และระหว่างนักเรียนกับนักเรียน
  • ทำตัวเป็นตัวอย่าง ว่าให้คุณค่าต่อความผิดพลาดล้มเหลว เพื่อใช้เป็นโอกาสในการเรียนรู้  

ครูที่ดี คือครูที่มุ่งมั่นเปลี่ยนตัวตนของนักเรียน ให้มีความมั่นใจว่าตนเองบรรลุผลสำเร็จในการเรียนรู้ได้

 


เป้าหมายการเรียนรู้ (Learning Intention) ที่มีเกณฑ์บอกความสำเร็จ (Success Criteria)

ความกระจ่างชัดของครู ในเรื่องเป้าหมายการเรียนรู้  และวิธีวัดเป้าหมายนั้น มี Effect Size ต่อผลลัพธ์การเรียนรู้เท่ากับ 0.75    ความกระจ่างชัด ต้องถ่ายทอดไปยังนักเรียนด้วย     โดยนักเรียนต้องตอบสามคำถามต่อไปนี้ได้

  1. 1. วันนี้ฉันกำลังจะเรียนอะไร
  2. 2. ทำไมฉันจึงเรียนสิ่งนี้
  3. 3. ฉันจะรู้ได้อย่างไร ว่าฉันเรียนรู้แล้ว 

การมีถ้อยคำระบุเป้าหมายการเรียนรู้ มี ES = 0.50    เป้าหมายการเรียนรู้ที่ดีเขียนด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย     เป็นเป้าหมายของวิชาหรือโมดุลการเรียนรู้    ไม่ใช่ของทั้งหลักสูตร และไม่ใช่เป็นการลอกมาตรฐานหลักสูตร     การเขียนเป้าหมายการเรียนรู้บนกระดานหน้าชั้น แล้วให้นักเรียนอ่านออกเสียงดังๆ พร้อมกันจะช่วย  

จากเป้าหมายการเรียนรู้ ของวิชาหรือโมดุล ครูนำมาทอนเป็นเป้าหมายของการเรียนรู้แต่ละวันหรือแต่ละชั่วโมง       

เป้าหมายการเรียนรู้ นำไปสู่เกณฑ์ของความสำเร็จในการเรียน    โดยต้องเป็นเกณฑ์ที่สูงอย่างเหมาะสม     ในการทำกิจกรรมการเรียนรู้หนึ่ง อาจช่วยการบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้หลายเป้า     และในทำนองเดียวกัน เป้าหมายการเรียนรู้หนึ่งจะบรรลุได้อาจต้องทำหลายกิจกรรม   

เป้าหมายและเกณฑ์ความสำเร็จนำไปสู่การให้ข้อมูลสะท้อนกลับ (feedback) โดยครู    ซึ่งจะช่วยการบรรลุเป้าหมายการเรียนของนักเรียน    

ครูควรให้นักเรียนร่วมกันกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ รวมทั้งเกณฑ์บอกความสำเร็จในการเรียนรู้นั้น   โดยอาจมีกุศโลบายในการดำเนินการได้หลากหลายวิธี     เช่นครูยกร่างโดยจงใจร่างให้ไม่ชัดเจน    ให้นักเรียนช่วยกันต่อเติมแก้ไขให้ชัดเจนเข้าใจง่าย เมื่อมองจากมุมของนักเรียน    เป้าหมายและเกณฑ์บอกความสำเร็จก็จะชัดเจนแจ่มแจ้งต่อนักเรียน    และที่สำคัญยิ่งกว่า คือ นักเรียนเป็นเจ้าของเป้าหมายการเรียนรู้     รวมทั้งนักเรียนประเมินความสำเร็จหรือไม่สำเร็จของตนได้

                                                          

                           รูปที่ ๓.๑  ตาราง 2x2  แสดงความยากง่าย และความซับซ้อน  

เครื่องมือช่วยการประเมินอย่างง่ายๆ มี ๒ อย่างคือ

  1. 1. ตาราง 2x2 ด้านความยากง่าย และความซับซ้อนมากซับซ้อนน้อย    (ดูรูปที่ ๓.๑)
  2. 2. Rubrics แสดงประเด็นเป้าหมายการเรียนรู้ และลักษณะของการบรรลุเป้าหมายระดับต่ำไปจนถึงสูง

ตาราง 2x2 บอกความยากง่ายและความซับซ้อนของบทเรียน มีประโยชน์หลายด้าน     หากวาดรูปตารางไว้ที่กระดานหน้าชั้น  หรือบน flip chart    เมื่อจบคาบเรียน ให้นักเรียนเขียนบอกสภาพการเรียนรู้ของตนลงบนกระดาษหลังเหนียว นำไปแปะที่ช่องใดช่องหนึ่งที่ตรงกับสภาพของตน    จะช่วยให้ครูและนักเรียนรู้ว่าจะเข้าไปช่วยเหลือนักเรียนคนไหน    นำไปสู่การเรียนแบบ peer tutoring, collaborative learning และ student-centered teaching     

เมื่อมีการระบุเกณฑ์ของความสำเร็จอย่างชัดเจน    ก็จะช่วยให้เห็นความผิดพลาดได้ชัดเจนขึ้นด้วย    ครูต้องบอกให้นักเรียนช่วยกันหาข้อผิดพลาดเพื่อนำมาเป็นขุมทองของการเรียนรู้    คือต้องไม่ให้นักเรียนที่ทำผิดพลาดรู้สึกอับอายหรือเสียหน้า     ให้ถือว่าการทำผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา    เป็นขั้นตอนสู่การเรียนรู้    เมื่อเห็นข้อผิดพลาดชัดเจน การให้คำแนะนำป้อนกลับของครูก็จะยิ่งมีพลังต่อการเรียนรู้    การให้คำแนะนำป้อนกลับที่ดีมี ES = 0.75 

การให้คำแนะนำป้อนกลับที่ดีต้องถูกกาละ จำเพาะต่อนักเรียนแต่ละคน และถูกบริบทที่จะช่วยให้ก่อผลดีมากที่สุด    คำแนะนำป้อนกลับต้องเหมาะสมในด้าน กาละ  ปริมาณ  วิธีการ และผู้รับ     ดังแสดงในตารางที่ ๓.๑

ตารางที่ ๓.๑   ลักษณะของคำแนะนำป้อนกลับที่ดี 

สรุปได้ว่า นักเรียนจะเกิดการเรียนรู้ระดับสูง ต้องไต่ระดับการเรียนรู้จากเรียนผิวเผิน สู่เรียนลึก และเรียนเอาไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ได้    โดยการเรียนการสอนต้องมีความท้าทาย   ช่วยให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายด้วยตนเอง   และมีเป้าหมายการเรียนรู้ โดยมีเกณฑ์บอกความสำเร็จ    ปัจจัยพื้นฐานทั้งสามนำไปสู่การเรียนการสอนที่ดีประการอื่นๆ

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๖๒



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท