ชีวิตที่พอเพียง 3625. เยี่ยมศูนย์การเรียนชาวไทยภูเขา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ (3) AAR - เรียนรู้อะไรบ้าง



เราไปทำความรู้จักสภาพการทำงานของ ครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์    และช่วยกันคิดว่า ที่ธนาคารไทยพาณิชย์เข้าไปหนุนครูของศูนย์การเรียนชาวไทยภูเขามา ๑๒ ปีแล้วนั้น    มีลู่ทางสร้างคุณค่าเพิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แก่เด็ก ได้อย่างไรบ้าง

AAR ครั้งนี้เขียนแบบ critical reflection    ผมจึงกราบขออภัยต่อท่านที่อยู่ในวงการศึกษาไว้ล่วงหน้า    ว่าผมมิได้มีเจตนาลบหลู่    แต่มีเจตนามองเข้าไปในระบบการศึกษาของประเทศเรา ในเชิงวิพากษ์อย่างลึก    เพื่อจะได้ข่วยกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ หรือสร้างระบบการศึกษาใหม่    เพื่อหาทางช่วยกันยกระดับคุณภาพการศึกษาของพลเมืองไทยในอนาคตให้จงได้     ภายใต้หลักการว่า ต้องสร้างระบบการศึกษาไทยขึ้นใหม่ ไม่ใช่ปะผุระบบเก่า    ดังรายละเอียดใน บันทึกนี้  

เรียนรู้วัฒนธรรมของกระทรวงศึกษาธิการ

ที่จริงกระทรวงศึกษาธิการก็เป็นส่วนหนึ่งของราชการไทย ที่มีลักษณะรวมศูนย์สุดๆ    นอกจากนั้นยังแยกส่วนด้วย    คือหน่วยงานในพื้นที่ที่สังกัดต่างหน่วยงานในกรุงเทพ ไม่มีการทำงานร่วมกัน    หรืออาจถือว่า “ไม่เหยียบเท้ากัน” ก็น่าจะได้    หรือมองเชิงบวกว่า แบ่งงานกันทำ    แต่มันทำให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์น้อย    เพราะปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับรัฐมักอยู่ในลักษณะ “ชาวบ้านร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ”    แทนที่จะเป็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปหนุนชาวบ้าน   

ในสภาพเช่นนี้ ชาวบ้านมีภาระต้องคอยต้อนรับเจ้าหน้าที่รัฐหลายคณะเกินไป   แต่ละคณะก็มาเพื่อภารกิจของตน    ในนามของผลประโยชน์ของชาวบ้าน  ซึ่งได้แบบผิวเผิน และไม่ต่อเนื่อง    ในหลายกรณีไม่ตรงความต้องการที่แท้จริง   

เรื่องแบบนี้ ผมอาจมีอคติ ในฐานะเด็กบ้านนอก    ที่พ่อแม่ไม่ศรัทธาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เข้าไปบงการหรือชักชวนชาวบ้านในเรื่องการทำมาหากิน    พ่อผมตอบคำถามผมสมัยเด็กว่าทำไมพ่อไม่ทำตามที่เจ้าหน้าที่เขาเข้ามาให้คำแนะนำ    พ่อบอกว่า “เขาไม่เข้าใจชีวิตของเราหรอกลูกเอ๋ย    หลงไปทำตามเขา ไม่เท่าไหร่ก็เจ๊ง”    แล้วคนที่ทำตามก็เจ๊งจริงๆ   ผมจึงมีอคติในการทำตัวแบบคิดนอกกรอบเสมอมาตลอดชีวิต    และการเขียนบันทึกนี้ก็ใช้วิญญาณนี้เขียน  

จากสภาพที่ไปเห็น    ผมคิดว่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาจะพัฒนาขึ้นยาก    จากระบบของภาครัฐที่เป็นส่วนเสี้ยว ทำงานแยกกัน (fragmented)    และที่ร้าย มีเป้าหมายลึกๆ ที่ผลงานของหน่วยงาน มากกว่าผลที่ชาวบ้านได้รับ   

เป้าหมายสำคัญที่สุดในการพัฒนาชาวบ้าน คือความมั่นใจตนเอง เคารพตนเอง (และเคารพผู้อื่น)     เป็นผู้ลุกขึ้นมากระทำ (เป็น agency) เพื่อชีวิตที่ดีของตนเอง และของชุมชน    ในสภาพของราชการที่เป็นอยู่ ไม่มีทางที่ชาวบ้านห่างไกลจะบรรลุเป้าหมายเช่นนั้นได้เลย     

เรียนรู้กระบวนทัศน์ด้านการศึกษาของไทย

ที่จริงที่เราไปเห็น เป็นผลงานที่น่าชื่นชม    แต่วิธีนำเสนอที่เราได้รับ สะท้อนวิธีการที่ครูและโรงเรียน (หรือศูนย์การเรียนรู้) นำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงที่กรุงเทพที่ไปเยี่ยม    คือนำเสนอผลงานปลายทาง  ไม่เสนอวิธีคิดว่าต้องการพัฒนานักเรียนในด้านใดบ้าง    และทำอย่างไรจึงจะพัฒนาได้     เป็นการนำเสนอแบบ “ผู้รู้”   ไม่ใช่แบบ “ผู้ขวนขวาย”     เป็นการนำเสนอแบบเน้นคำตอบ    ไม่ได้เน้นคำถาม   

นี่คือการตีความภาคปฏิบัติของการศึกษาไทย    จากประสบการณ์วันเดียวบนดอย     ผมจึงอาจตีความผิดหมดเลย ก็ได้  

การนำเสนอ เสนอปัญหาที่ความกันดาร ยากลำบาก ขาดแคลน    และปัญหาที่ตัวเด็ก     ไม่ได้เสนอปัญหาในเชิง pedagogy   ไม่ได้เสนอชัดๆ เรื่องการเรียนรู้องค์รวม (holistic learning)    ยิ่งเรื่องระดับของการเรียนรู้ ยิ่งไม่มีการเอ่ยถึงเลย     ท่านที่สนใจเรื่องระดับของการเรียนรู้ อ่านได้จากบันทึกชุด ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง     มีทั้งหมด ๙ ตอน ลงสัปดาห์ละตอน    ตอนแรกเริ่มลงเมื่อวานนี้

ผมมีความเชื่อว่า หากจะบรรลุสภาพประเทศรายได้สูง สังคมดี    ระบบการศึกษาของประเทศ   รวมทั้งระบบการปกครองประเทศ     ต้องมีการออกแบบและสร้างใหม่     ไม่ใช่ปะผุอย่างที่ทำกันอยู่    อย่างที่แนะนำในหนังสือ The Rebirth of Education : Schooling Ain’t Learning (2013)    และผมตีความเสนอไว้ในบันทึกชื่อ ต้องสร้างระบบการศึกษาใหม่ ไม่ใช่ปรับปรุงระบบเดิม     แต่การเสนอหลักการนั้นง่าย ส่วนการดำเนินการให้เกิดขึ้นจริงต้องทำอย่างเข้าใจความซับซ้อน     และเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันหลายฝ่าย     ผมตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่ขับเคลื่อนคุณภาพคน ในฐานะนักวิชาการภาคประชาสังคม     ถือเป็นการทำงานสาธารณะอย่างหนึ่ง   

ข้อเสนอเพื่อยกระดับคุณค่าของรางวัลเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 

ในเชิงทฤษฎี มีโอกาสใช้รางวัลนี้สร้างคุณค่าให้แก่พื้นที่    และสร้างคุณค่าให้แก่ระบบการศึกษาไทยในภาพใหญ่ ได้มากมาย    แต่ในทางปฏิบัติมีข้อจำกัด     ข้อเสนอนี้จึงเสนอในระดับกลางๆ    แต่ด้วยอคติของผม ข้อเสนอนี้คงจะเว่อร์อยู่ดี   

  • ความร่วมมือกับ กสศ. ในเรื่องทุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ    ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น    ทุนอาชีวศึกษา
  • การเชื่อมโยงให้บริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือคลื่นโทรศัพท์ จัดให้ทุกศูนย์การเรียนชาวไทยภูเขามีใช้    และการพัฒนาระบบใช้คลื่นเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน ครู และชาวบ้าน    สำหรับครู เพื่อใช้ e-PLC สร้างความเป็นชุมชนครูของอำเภอหรือเขตพื้นที่   
  • การจัดระบบการเรียนรู้ที่นักเรียนเป็น agency   หรือผู้ลงมือปฏิบัติ/กระทำ เพื่อการเรียนรู้ของตน และเพื่อประโยชน์ของชุมชน/ท้องถิ่น    ที่จะทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างเป็นองค์รวม  ลึก และเชื่อมโยง
  • การจัดระบบการเรียนรู้จากการปฏิบัติของครู (PLC)    เพื่อหนุนการเรียนรู้ของศิษย์     ที่ครูในโรงเรียนรวมตัวกันตั้งโจทย์  หารือวิธีบรรลุเป้า  ดำเนินการ  แล้วนำเอาผลที่เกิดขึ้นมาเรียนรู้ร่วมกัน
  • การใช้กระบวนการของรางวัลครูเจ้าฟ้า เป็นกระบวนการเรียนรู้ทั้งในระดับตัวบุคคล (ครู)  ระดับโรงเรียน และระดับพื้นที่    ทั้งในช่วงการหาข้อมูล  การเยี่ยมชมผลงาน  การตัดสินรางวัล  และการสนับสนุนหลังได้รับรางวัล
  • การทำให้กระบวนการรางวัลครูเจ้าฟ้าฯ ไม่ใช่แค่เน้นให้รางวัลและยกย่องตัวบุคคล     แต่ยกย่องโรงเรียน และหน่วยเหนือ ที่สร้างระบบที่เอื้อต่อการทำงานทุ่มเทเพื่อศิษย์    รวมทั้งมีการส่งเสริมให้ทำงานได้ผลดียิ่งขึ้น    และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการพัฒนานักเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ    ไม่ใช่แค่กลุ่มนักเรียนที่ครูเจ้าฟ้าฯ สอนเท่านั้น       

ในทางปฏิบัติ ต้องมีการนัดประชุมปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างฝ่ายต่างๆ  

ขอขอบคุณท่านประธานโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า  คุณลุงบุญธันว์ มหาวรรณ และทีมงาน ที่จัดการเดินทางเพื่อเรียนรู้ครั้งนี้    และกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๓๓ ที่กรุณาจัดเฮลิค็อปเตอร์อำนวยความสะดวกในการเดินทาง     

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ม.ค. ๖๓

สวนสามพราน


หมายเลขบันทึก: 675305เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2020 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2020 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

And the visit in ‘high rollers fashion’ (with helicopter flights and high official reception) that would raise the local’s experience of a far-away power - an alien beyond their world, would more likely create anxiety rather than welcome.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท