๑,๐๘๔ ปล่อย.....


ถ้าเรามีหลัก..หรือจับหลักได้ ไม่มีอะไรยากเลย เพียงแค่รู้จักใช้จังหวะชีวิต คือรู้จักกาละเทศะและรู้จักคนด้วย รู้เวลาและสถานที่ ว่าเราควรจะพูด คิดและทำ มากน้อยแค่ไหนจึงจะเหมาะสม

        ชีวิตระคน มีหลายเรื่องราวปะปนกันไป ในชีวิตประจำวัน สุขบ้างทุกข์บ้าง สมใจนึกอยู่ดีๆ บางทีความผิดหวังก็เข้ามาสอดแทรกอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว..

    การทำใจไว้บ้าง เพื่อการตั้งรับแบบที่ไม่ขาดสติ ไม่ต้องคาดหวังแต่ระมัดระวังกายและใจ มิให้ประมาท มีหลักคิดในการดำเนินชีวิตไว้บ้าง จึงเป็นหนทางที่ถูกต้อง

        อย่างไรก็ตาม..ศิลปะแห่งชีวิต..ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ภูมิคุ้มกันจึงแตกต่างกันไป ที่พบเห็นอยู่บ่อยครั้งที่คนบางคน มีความอดทนและอดกลั้น ยิ้มได้เมื่อภัยมา

        แต่บางคนก็อดทนไม่พอและก็รอไม่เป็น จะให้ได้ดั่งใจไปเสียทุกอย่าง..ปฏิเสธการให้อย่างสิ้นเชิง สะกดคำว่าเสียสละไม่เป็นเลยจริงๆ

        สังคมปัจจุบันจึงไม่เหมือนเมื่อก่อน..ทุกอย่างสะดวกง่ายดายและสื่อสารกันได้รวดเร็ว เราจึงพบความหลากหลายในด้านผู้คน สถานที่และกิจกรรม..

        แต่ก่อนนี้มีแต่ความเรียบง่าย ทั้งผู้คนและชุมชน..เราจึงพบความสงบสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ สัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่ดีงาม และได้รู้จักผู้คนที่มีจิตใจใฝ่ธรรม มีเมตตากรุณา

        เมื่อสังคมโลกเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าคนเราก็ต้องปรับตัว มิใช่เพื่อการเอาตัวรอด แต่เป็นทางเลือกที่จะช่วยให้เราไปต่อได้ โดยที่ไม่มีใครต้องเดือดร้อน

        อาจจะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าต้องทำอะไร? อย่างไร? กลยุทธ์ที่แต่ละคนใช้ในองค์กร สำหรับการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ความรู้สึกนึกคิดที่เราใช้ ย่อมเข้าใจกันดีอยู่แล้ว บางคนใช้จิตวิทยา ซึ่งบางคนอาจใช้มนุษยสัมพันธ์ ก็เป็นทัศนคติของแต่ละคน

        แต่บางครั้ง..จังหวะชีวิตก็ควบคุมยาก หรือถ้าเป็นดนตรีก็ถือว่าเล่นยากในบางจังหวะ มีเรื่องราวถาโถมเข้ามาอย่างหลากหลาย ทำให้เราจนมุม รู้สึกชุลมุนวุ่นวายใจ จนสุดที่ทานทน ลืมความอดทนที่เคยท่องเอาไว้..

        แรงเสียดทานของชีวิตในบางวัน..บางครั้งเราก็ควบคุมมันยากจริงๆ เพราะเราอยู่ในสังคม ต้องอยู่ร่วมกับคน ที่มีทั้งคิดคล้อยตามและมีความเห็นที่แตกต่าง..

        แต่ถ้าเรามีหลัก..หรือจับหลักได้ ไม่มีอะไรยากเลย เพียงแค่รู้จักใช้จังหวะชีวิต คือรู้จักกาละเทศะและรู้จักคนด้วย รู้เวลาและสถานที่ ว่าเราควรจะพูด คิดและทำ มากน้อยแค่ไหนจึงจะเหมาะสม

        เมื่อทำดีที่สุดแล้ว..ยังพบความเครียด..แบบว่ามีระเบิดลงในบางวัน ข้อแนะนำคือต้อง...ปล่อย..แล้วนำชีวิตให้ถอยห่างออก เพื่อไปเข้าใกล้ที่สุดกับสิ่งที่เราชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง หรือฟังเทศน์ฟังธรรมก็ได้..

        บางคนอาจใช้การท่องเที่ยว เพื่อลืมความทุกข์หรือความเครียดไปชั่วขณะ บางคนอาจเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา ไปบริจาคเลือด ก็เป็นการปล่อยกายใจให้สบายๆได้เหมือนกัน ได้ผ่อนคลายและเป็นบุญเป็นกุศลด้วย

        ชีวิต..จึงเหมือนลูกโป่ง เมื่อถูกเป่าลมเข้าไปมากๆ จนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตอนแรกก็ดูสวยงามดี แต่ถ้าเราเผลอเป่าลมใส่มากไป ลูกโป่งก็จะแตกได้ง่าย เหมือนชีวิตคนเราที่มีเรื่องราววิ่งเข้ามาหา แบบที่ตั้งตัวไม่ทัน จนร่างกายและจิตใจแทบจะระเบิดเป็นเสี่ยงๆ

        ที่สุด..ก็ต้องปล่อย ด้วยการระบายออกมาบ้าง เช่นเดียวกันลูกโป่งที่เราเป่า เราจะรู้ความต้องการว่าจะให้ลูกใหญ่แค่ไหน ใช้ลมมากเพียงใด เราจึงใช้จังหวะในการเป่า ว่าจะให้มากหรือน้อยแค่ไหน? จะเป่าต่อเมื่อใดหรือจะหยุด..ถ้ารู้สึกมากไปเราก็ปล่อยลมออกมาบ้าง..ก็เท่านั้น

        คนเราก็เช่นเดียวกัน ต้องรู้ว่าจังหวะไหน..ที่ไหน..วิธีใด..และกับใคร?..ที่เราควร “ปล่อยอารมณ์และปล่อยวาง”

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๐  มกราคม  ๒๕๖๓


หมายเลขบันทึก: 674577เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2020 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2020 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท