หลักการสหกรณ์สากลมีความจำเป็นกับการทำสหกรณ์จริงหรือ


ในสภาวะปัจจุบัน มีหลายคนกล่าวว่าการทำสหกรณ์นั้นไม่ยาก  ขอให้รวมคนที่คิดจะตั้งสหกรณ์ให้ได้ไม่น้อยกว่าสิบคน แล้วจองชื่อขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ หลังจากนั้นช่วยกันระดมทุนจากสมาชิกสหกรณ์ ถ้าไม่ได้ตามเป้า ก็ยังมีทางราชการที่ดูแลส่งเสริมสหกรณ์ ก็มีกองทุนให้กู้ยืมไปลงทุนทำธุรกิจเบื้องต้น ขอให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการทำธุรกิจเก่งหน่อย สหกรณ์ก็จะมีรายได้และกำไรเลี้ยงตัวเองได้อย่างสบาย แต่ก็ไม่วายมีผู้บริหารสหกรณ์บางคนถามว่า แล้วหลักการสหกรณ์นั้นเอาไปใช้ตอนไหนในการดำเนินการสหกรณ์ เห็นเวลาทำธุรกิจไม่มีใครกล่าวถึงหลักการสหกรณ์เลย แล้วหลักการสหกรณ์สำคัญจริงหรือ  สิ่งนี้ถ้าคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นก็มีความสำคัญ แต่ถ้าไม่สนใจก็ผ่านไปทำธุรกิจให้เก่งสหกรณ์ก็อยู่ได้แล้ว เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าสหกรณ์เป็นได้แค่เพียงองค์กรธุรกิจ ถ้าคิดได้เท่านี้ ก็จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจและผลกำไร ประสิทธิภาพประสิทธิผลให้องค์กรสหกรณ์ อยู่ได้ก็พอแล้ว แต่ถ้าเป็นสหกรณ์ตามแนวคิดทางเศรษฐกิจและสังคมในมิติของลัทธิหนึ่ง ที่เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย  ที่เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ เจ็บปวดจากการถูกเอาลัดเอาเปรียบหรือเป็นผู้แพ้ทางเศรษฐกิจกระแสหลักของโลก แล้วละก็  การนำหลักการสหกรณ์มาใช้ในการทำสหกรณ์นั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก   เพราะหลังจากที่สหกรณ์อุบัติขึ้นในโลกใบนี้ และแพร่กระจายเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อร้อยปีก่อน  แรกเริ่มเดิมทีการให้ความรู้เรื่องอุดมการณ์สหกรณ์ หลักการสหกรณ์และวิธีการสหกรณ์ เป็นไปอย่างเข้มข้น แล้วค่อย ๆ จางลงเมื่อเวลาและสภาพโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป  สาเหตุจากการถูกเขย่าด้วยผลประโยชน์ของเศรษฐกิจกระแสหลักของโลก ที่เป็นลัทธิบูชาวัตถุและบริโภคนิยมมาแรงมาก   โดยธรรมชาติแล้ว องค์กรที่ตั้งขึ้นเป็นสหกรณ์ ก็จะยึดแนวคิดความเชื่อที่เป็นอุดมการณ์สหกรณ์และใช้วิธีการสหกรณ์ในการดำเนินการ และต่อมามีองค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ  (I.C.A.: International Co-operative Alliance) ประสบปัญหาในการพิจาณารับองค์กรสหกรณ์เข้าเป็นสมาชิก ว่าองค์กรประเภทไหนที่เป็นสหกรณ์กันแน่ เพราะแต่ละสหกรณ์จะมีการดำเนินการทีแตกต่างกันไปตามธุรกิจของตน จึงได้มีการประชุมใหญ่ ครั้งที่ 15 เมื่อ ปี พ.ศ.2480 ณ กรุงปารีสได้พิจาณาเรื่องหลักการสหกรณ์ที่ควรจะมีอะไรบ้าง เพื่อเกิดมาตรฐาน หรือมาตรวัดความเป็นสหกรณ์ ขององค์กรที่ยื่นสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของ ไอ. ซี. เอ. เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างธุรกิจสหกรณ์กับธุรกิจทั่วไป และเพื่อไม่ให้ความเป็นสหกรณ์กลายพันธุ์ไปได้ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อขบวนการสหกรณ์และอุดมการณ์สหกรณ์โดยส่วนรวม และเห็นว่าสหกรณ์ส่วนใหญ่ทั่วโลกจะนำเอาหลักการสหกรณ์ของร้านสหกรณ์รอชเดล มาเป็นหลักปฏิบัติ   และคณะกรรมาธิการพิเศษ ของ ไอ ซี เอ ได้สรุปและมีมติ กำหนดให้หลักการสหกรณ์สากลที่ทุกสหกรณ์จะต้องปฏิบัติ  มีทั้งสิ้น 7 ประการ มีหลักการสหกรณ์มูลฐาน 4 ประการ อันได้แก่ การเปิดรับสมาชิกโดยทั่วไป  การควบคุมตามหลักประชาธิปไตย การแบ่งเงินปันผลให้แก่สมาชิกตามส่วนแห่งธุรกิจที่ได้กระทำกับสหกรณ์ และการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ทุนเรือนหุ้นในอัตราที่จำกัด  และหลักการสหกรณ์ประกอบอีก 3 ประการ คือ การส่งเสริมการศึกษา การเป็นกลางทางการเมืองและศาสนา และการค้าด้วยวิธีการเงินสด

โดยให้ถือว่าองค์กรที่มีความเป็นสหกรณ์นั้น จะต้องมีการปฏิบัติตามหลักการสหกรณ์มูลฐานเป็นสำคัญและทุกสหกรณ์จำเป็นต้องมี  ส่วนหลักการสหกรณ์ประกอบไม่บังคับว่าต้องมีแต่ถ้าสหกรณ์ใดมีการนำมาปฏิบัติก็จะถือว่าดี   ตั้งแต่นั้นมาก็ทำให้สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นทั่วโลกจึงมีมาตรฐานการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันโดยยึดถือปฏิบัติตามหลักการสหกรณ์เป็นตัววัดความเป็นสหกรณ์   ต่อมาก็มีการทบทวนหลักการสหกรณ์ใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.2509 ในที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 23  ของ องค์การ ไอ. ซี. เอ. ณ กรุงเวียนนา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์   และได้ประกาศหลักการสหกรณ์ใหม่ขึ้น และให้ทุกหลักการมีความสำคัญเท่ากันหมด  และที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบและให้ประกาศใช่ หลักการสหกรณ์ใหม่ คือ  การเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจ กับ การไม่กีดหันการที่จะเป็นสมาชิก,    การควบคุมตามหลักประชาธิปไตย และการดำเนินการโดยอิสระ,   การจำกัดดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่ทุนเรือนหุ้น หากมีการแบ่งเงินปันผลให้,  ผลทางเศรษฐกิจ ให้อุทิศแก่การพัฒนาสหกรณ์ แก่การจัดบริการเพื่อส่วนรวม หรือเพื่อแบ่งปันแก่สมาชิกตามส่วนแห่งธุรกิจซึ่งสมาชิกได้กระทำกับสหกรณ์, มีมาตรการจัดให้การศึกษาอบรม และการร่วมมือระหว่างสหกรณ์ทั้งหลายทุกระดับ   เมื่อหลักการสหกรณ์ได้ถูกสังคายนาให้มีความครอบคลุมมากขึ้น จึงมีรายละเอียดปฏิบัติที่ซับซ้อนมากขึ้นที่สหกรณ์ต่าง ๆ ต้องศึกษาและนำมาปฏิบัติ  หลักการสหกรณ์จึงกลายเป็นกฎสามัญลักษณะของชาวสหกรณ์ทั่วโลกที่จะต้องมี และทุกหลักการมีความสำคัญเท่ากันหมด ไม่สามารถเลือกนำมาปฏิบัติได้เหมือนหลักการสหกรณ์เดิม    เมื่อเวลาเปลี่ยนไปสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป  ประกอบกับความรุนแรงของการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น จากการพัฒนาของการศึกษา  วิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี  โดยเฉพาะนำการเอาระบบคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ และนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้  ทำให้มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของสหกรณ์  และสหกรณ์เริ่มละเลยหลักการสหกรณ์ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ถึงขั้นกลายพันธุ์บ้าง หรือบางท่านบอกว่าสหกรณ์เพี้ยนไป  มีการแบ่งสหกรณ์เป็นค่ายต่าง ๆ เป็นสหกรณ์แท้บ้าง สหกรณ์เทียมบ้าง ลุถึงปี พ.ศ.2538  ไอ.ซี.เอ. จึงได้มีการทบทวนหลักการสหกรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้งเพื่อ ให้องค์กรสหกรณ์รักษาความเป็นสหกรณ์ไว้ ได้ โดยไม่กลายพันธุ์ไปมากกว่าที่คิดไว้  เพื่อให้ทันกับยุคสมัยของโลกาภิวัตน์ และเนื่องในโอกาสองค์กร ไอ.ซี.เอ. มีอายุครบ 100 ปี ในปี พ.ศ.2538 จึงได้มีการปรับปรุงหลักการสหกรณ์สากลอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2538 ณ นครแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ  ให้หลักการสหกรณ์มีความสำคัญเท่ากันทุกหลักการและเป็นเอกลักษณ์ของสหกรณ์ทั่วโลก ประกอบด้วย 7 หลักการ คือ การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง, การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย,การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก, การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ, การให้การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ, การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ และ ความสัมพันธ์เอาใจใส่เอื้ออาทรต่อชุมชน  และในเวลาเดียวกันนี้ องค์การ ไอ.ซี.เอ.ยังได้ออกแถลงการณ์ ให้สหกรณ์ทั่วโลก ร่วมมือกันปฏิบัติตามค่านิยมสหกรณ์ 10 ประการควบคู่ไปกับหลักการสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์ทั้งหลายได้บรรลุถึงซึ่งอุดมการณ์สหกรณ์ที่หวังไว้   อันได้แก่  ค่านิยมสหกรณ์พื้นฐาน 6 ประการ อันได้แก่การช่วยตนเอง, มีความรับผิดชอบต่อตนเอง, เป็นประชาธิปไตย,  มีความเสมอภาค, มีความเที่ยงธรรม และเป็นเอกภาพ  กับค่านิยมจริยธรรม อีก 4 ประการ คือ มีความสุจริต, มีใจกว้าง, มีความรับผิดชอบต่อสังคม และเอาใจใส่ต่อผู้อื่น   ค่านิยมสหกรณ์ไม่ใช่เรื่องที่องค์การ ไอ.ซี.เอ คิดขึ้นมาใหม่แต่เป็นการค้นหาจากพฤติกรรมที่ชาวสหกรณ์ในโลกนี้ได้ประพฤติเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาพร้อม ๆ กับหลักการสหกรณ์ ตั้งแต่ผู้ริเริ่มการสหกรณ์  หลาย ๆ สหกรณ์ที่ไม่เข้าใจความเป็นมาและความสำคัญของหลักการสหกรณ์สากลที่เป็นสามัญลักษณ์ บ่งบอกถึง อัตลักษณ์ ตัวตนของสหกรณ์ที่แท้จริง  มักจะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้  บางสหกรณ์มุ่งเน้นแต่การทำธุรกิจเพื่อการอยู่รอดแข่งขันกับธุรกิจทั่วไปจนละเลยหลักการสหกรณ์ ทำให้สหกรณ์นั้นขาดความเป็นสหกรณ์ไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  เพราะชาวสหกรณ์ส่วนใหญ่มองหลักการสหกรณ์เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติที่จะนำมาประยุกต์ใช้ ตามที่เข้าใจกันตื้น ๆ แบบบุคคลทั่วไป  แท้จริงแล้วหลักการสหกรณ์สากลนั้น หาได้เป็นแนวทางปฏิบัติที่จะปฏิบัติก็ได้ หรือเลือกมาปฏิบัติบางช่วงบางตอนก็ได้ ดังที่เข้าใจ  หลักการสหกรณ์ที่แท้จริงนั้นเป็น กฎทั่วไป   ข้อตกลง หรือความจริง ที่ทุกสหกรณ์จะต้องปฏิบัติเหมือนกันทุกสหกรณ์ ไม่ว่าสหกรณ์นั้นจะเกิดขึ้น ณ ที่แห่งหนใดในโลกใบนี้  ที่จะช่วยให้สหกรณ์ประสบผลสำเร็จ เป็นสหกรณ์ที่แท้จริง  ตามเป้าหมายสูงสุดในอุดมการณ์สหกรณ์ 

คำสำคัญ (Tags): #หลักการสหกรณ์
หมายเลขบันทึก: 674572เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2020 18:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2020 18:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท