บันทึกแรกของ "ชายนิรนาม" : เพียงรำพันถึง "การจัดการศึกษาของประเทศไทย"


..

วันนี้เป็นวันแรกที่ผมได้ทะลายข้อจำกัดของความขี้เกียจ และข้ออ้าง (ว่าไม่มีเวลา) ออกไปได้ เพื่อที่อยากจะเขียน อยากจะพิมพ์ความรู้สึก ความคิด และประสบการณ์บางส่วนเสี้ยวของชีวิต โดยคิดว่าเมื่อเขียนแล้วจะรบกวนน้องร่วมงานนำไปเผยแพร่ใน Blog ของเขา ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่

ผมเองมีความคับข้องใจหลายประการ (เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของประเทศไทย) ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับการจัดการศึกษาของไทย ผมเองมีประสบการณ์ตั้งแต่การเป็นนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ เป็นครูประถมศึกษาในพื้นที่ห่างไกล (ทำการสอนนักเรียนชาติพันธ์ุในช่วงเวลาสั้น ๆ) เป็นศึกษานิเทศก์ เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตครูที่จะต้องออกไปรับใช้การจัดการศึกษาให้แก่สังคม

ผมเองมักจะได้ยินมาตลอดช่วงเวลากว่า 20 ปี ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปการศึกษา เพราะคุณภาพการศึกษาของบ้านเราไม่เป็นที่น่าพอใจ เท่าที่พอจะจำได้ผมคิดว่าบรรดาผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาทั้งหลายต่างมีความพยายามที่จะหาแนวทาง วิธีการที่ดีมาใช้เพื่อจัดการศึกษาในบ้านเรา มีการเดินทางไปศึกษา ดูงานเกือบทั่วโลก ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป ฯลฯ เมื่อมีข่าวว่าการจัดการศึกษาของประเทศใดดีเราเองก็ส่งคนไปดูงานทุกที่ พอมีคนบอกว่าออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษา ประเทศไทยไม่พลาดโอกาสที่จะไปศึกษาดูงานจากประเทศเหล่านั้น ผมคาดการณ์ว่าอีกไม่นานเราอาจจะต้องไปศึกษา ดูงานการจัดการศึกษาจากประเทศเพื่อบ้านที่อยู่รอบ ๆ บ้านเรา

เมื่อซักสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมเองก็เคยได้ยินว่าประเทศฟินแลนด์ เป็นประเทศที่มีผลการจัดการศึกษาดี (น่าจะดีในระดับโลก เมื่อพิจารณาจากผลการสอบ PISA) ช่วงนี้เองนักการศึกษาของไทย ผู้บริหารการศึกษาของไทยก็เริ่มให้ความสนใจและไปศึกษาดูงานการจัดการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ สิ่งที่ผมเป็นกังวลอยู่ในใจมาโดยตลอดคือ เราไปศึกษา ดูงานอย่างจริงจัง (คือไปแค่ศึกษา ดูงาน แต่ไม่นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ) ดังนั้น ในอนาคตถ้าประเทศใดประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาก็คงไม่พ้นการไปศึกษา ดูงานของประเทศไทยเช่นเคย
วันนี้ ที่ผมเริ่มต้นเขียน เริ่มต้นพิมพ์ เกิดจากผมต้องนั่งรถจากในเมืองไปทำงานที่แม่ริม และก่อนที่ผมจะขึ้นรถได้หยิบหนังสือเล่มหนึ่ง (ซึ่งได้รับแจกจากการเข้าร่วมประชุมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ชื่อหนังสือ คือ สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์ : Teach like Finland ซึ่งเขียนโดย Timothy D. Walker และแปลโดย ทิพย์นภา หวนสุริยา วันนี้ผมอ่านได้แค่ 42 หน้า แต่ก็ถือได้ว่าเป็นแรงกระตุ้นให้ผมได้เริ่มต้นขีดเขียนอย่างเป็นเรื่อง เป็นราวครั้งแรกในชีวิต

ผมขอย้อนกลับไปถึงวันที่ผมได้รับแจกหนังสือเล่มนี้ คือ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ผมได้ไปร่วมการประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เรื่อง ‘การพัฒนาคุณภาพครูและโรงเรียน: บทเรียนจากประเทศฟินแลนด์’ และได้รับฟังการบรรยายจากวิทยากรชื่อ “ไคซา” รายละเอียดการบรรยายผมจะไม่ลงรายละเอียด แต่สาระสำคัญที่ผมจับความได้ก็คือ “ทำอย่างไรให้การเรียนมีความสุข” ประจวบกับสาระของหนังสือที่ผมอ่านได้บางส่วนก็สอดคล้องกัน โดยครูและนักเรียนของประเทศฟินแลนด์นั้นมีความสุขในการเรียน การสอน ในการสัมมนา วันนั้น ตอนช่วงท้ายของกิจกรรม มีการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสะท้อน แสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่ในที่ประชุมล้วนแล้วแต่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาของประเทศไทย (เป็นการคิดทางบวก ซึ่งสอดคล้องกับหลักการจัดการศึกษาหนึ่งที่ประเทศฟินแลนด์ยึดถือปฏิบัติ) แต่ผมมีคำถามที่ค้างในใจ 2 ประการ คือ 1. คนส่วนใหญ่เห็นว่าต้องมีการปฏิรูปการศึกษา 2. แล้วใครเป็นคนพาการจัดการศึกษามาถึงจุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาทุกระดับจะทำอย่างไรที่จะมีอิสระจากแนวคิด นโยบายที่หลากหลายและแปรเปลี่ยนได้ (เกือบจะตลอดเวลา) ของประเทศไทย

เมื่อผมได้ฟัง “ไคซา” และได้อ่านหนังสือดังกล่าวไปบางส่วน ผมมีความเห็นว่า ประเทศไทยน่าจะสามารถจัดการเรียนการสอนได้ประสบความสำเร็จไม่น้อยกว่าประเทศฟินแลนด์ เพียงแต่ “ขอให้ทำอย่างจริงจัง และให้เวลา” เหตุที่ผมมีความเชื่อเช่นนี้ คือ การจัดการศึกษาที่ประสบความสำเร็จของประเทศฟินแลนด์ เริ่มต้นจากการที่ “ครู” มีความสุข และนำความสุขไปจัดบรรยากาศในการเรียนการสอนของนักเรียน ซึ่งถ้าเราวิเคราะห์จากพฤติกรรม และลักษณะของคนไทยแล้ว คนไทยเป็นคนที่มีความสุข ทำให้ผมมีความเชื่อว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานแห่งความสำเร็จ แต่ที่ผ่านมาระบบการศึกษาของไทยเองต่างหากที่ลดความสุขของครูไทย (คำถาม คือ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร) ประเทศไทยควรหยุด (เหมือนคำสอนของพระพุทธองค์ที่ตรัสสอน องคุลิมาล ว่า “เราหยุดแล้ว...) หยุดเพื่อทบทวนว่าเราทำอะไรผิดพลาด เราสร้างความทุกข์อะไรบ้างให้แก่ครู ให้แก่นักเรียน เรามีอะไรดี เรามีปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา

วันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มเขียน ถ้าหากมีแรงจูงใจ (หลังจากการอ่านหนังสือ สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์ : Teach like Finland จบ) จะมาเล่าสู่กันฟังอีกครับ

สวัสดี

-- ชายนิรนาม --

..

............................................................................

..

หมายเหตุ ...

บทความนี้ได้รับการส่งต่อมาจาก "ชายนิรนาม" (เขาให้เรียกเขาแบบนี้)
"ชายนิรนาม" ผู้นี้มีประสบการณ์ในระบบการศึกษาไทยตั้งแต่ครูน้อยในโรงเรียนประชาบาล
จนมาถึงผู้บริหารของมหาวิทยาลัย มีกระบวนการคิดและมุมมองทุกอย่างเป็นของตัวเอง

ผมจึงขอมีส่วนร่วมในการนำเสนองานเขียนดังกล่าวลงไว้ในสมุด "บันทึกของชายนิรนาม (Anonymous Man)"
อนาคต เราอาจจะได้เห็นบทความต่อ ๆ มาได้มาลงให้ท่านอ่านในเว็บไซต์แห่งนี้ต่อไป

..

หมายเลขบันทึก: 674267เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2020 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2020 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

“ระบบการศึกษาของไทยเองต่างหากที่ลดความสุขของครูไทย (คำถาม คือ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร) ประเทศไทยควรหยุด (เหมือนคำสอนของพระพุทธองค์ที่ตรัสสอน องคุลิมาล ว่า “เราหยุดแล้ว…) หยุดเพื่อทบทวนว่าเราทำอะไรผิดพลาด เราสร้างความทุกข์อะไรบ้างให้แก่ครู ให้แก่นักเรียน เรามีอะไรดี เรามีปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา”

ขอบพระคุณ ท่าน ผอ.ชยันต์ แทนผู้เขียนบันทึกนี้ครับ ;)…

ในฐานะที่คุณมะเดื่อเป็น “ ครูผู้สอน” มาตลอดอายุราชการ เป็นครูที่ “ เชื่อมต่อ” ระหว่างยุคโลเทคโน ฯ…มาสู่ยุค ไ๋ฮเทคโน ฯ เริ่มต้นสอนที่หลักสูตร 2503 ผ่านการปฏิรูปการศึกษาเรื่อยมาจนถึง หลักสูตร 2551 (ขออภัยที่ต้องอ้างอิงยืดเยื้อ ) ก็พอจะพูดได้ว่า…การศึกษาไทย ไปไกลได้แค่…” หลักสูตร” แต่การนำเอาหลักสูตรมาใช้ ไม่ได้ขยับไปได้แค่ไหนเลย…หลักสูตรหรือระบบการจัดการศึกษาของไทยที่นำเอาแนวทางการจัดการศึกษาที่ประสบความสำเร็จจากต่างประเทศมาใช้นั้น…เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และชมเชยในความพยายามของผู้นำทางการศึกษา ที่จะสรรค์สร้างระบบการศึกษาของไทยให้ดีงามอย่างอนารยประเทศนั้น แต่…..ตลอดเวลา 40 กว่าปีที่คุณมะเดื่อทำหน้าที่ครูนั้น มีความรู้สึกว่า หากระบบการศึกษาที่นำมาจากต่างประเทศ มีการ “ ปรับ…ปรุง….เปลี่ยน…ประยุกต์” ให้เหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ของไทย แล้วส่งต่อให้ “ ผู้บริหาร “ และ “ ครู “ นำไปปฏิบัติอย่างแท้จริง ต่อเนื่อง เหมาะสมกับสภาพและบริบทของโรงเรียน / นักเรียนของตนแล้ว คำว่า “ พัฒนา “ ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และที่สำคัญ….การติดตามผลการดำเนินงานของผู้บังคับบัญชาทุก ๆ ระดับ ต้องจริงจังและต่อเนื่อง สม่ำเสมอ มิใช่ให้รายงาน ทางเอกสารอย่างทุกวันนี้….ฯลฯ

ตอนนี้มีหลาน 4 คน ก็คอยดูว่า ระบบการเรียน การสอน ที่ดีคืออย่างไร

ส่วนเราจะดูแลหลาน ให้เรียนอย่างมีความสุขอย่างไร จึงจะดำรงชีวิตในโลกสมัยใหม่อย่างไร

เช่นนั้นแล คุณมะเดื่อ ;)…

ขอบคุณ คุณแม่มด แทนผู้เขียนบันทึกครับ ;)…

คำถามที่พี่แก้วตั้งไว้ ผมจะส่งไปให้ผู้เขียนบันทึกครับ ;)…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท