ชีวิตที่พอเพียง 3585. การพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม



เช้าวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ผมไปร่วมประชุมกลุ่มสามพราน    ซึ่งวันนี้คุยกันเรื่องภารกิจของ สช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ)    ที่มีเลขาธิการท่านใหม่ คือ นพ. ประทีป ธนะกิจเจริญ

อาจารย์หมอประเวศ กล่าวนำว่า ในประเทศไทย นโยบายสาธารณะตกอยู่ใต้อิทธิพลของ ความไม่รู้ และ ผลประโยชน์มิชอบมากเกินไป    เรื่องผลประโยชน์มิชอบเห็นชัดเจนกรณีสารเคมีอันตราย ๓ ตัว   

นพ. ประทีป บอกที่ประชุมว่า สังคมไทย พลังภาครัฐ และภาคธุรกิจ เข้มแข็ง    แต่ภาคประชาชนอ่อนแอ    สช. มุ่งสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน    ท่านเสนอสถานการณ์ภาพใหญ่และความท้าทาย ๕ ด้านคือ

  1. 1. ความเหลื่อมล้ำ (เศรษฐกิจ สังคม อำนาจรัฐ) เพิ่มมากขึ้น
  2. 2. ความขัดแย้ง ในการเข้าถึงทรัพยากรและความเป็นธรรม รุนแรงมากขึ้น
  3. 3. นโยบายรัฐมุ่งการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่ามิติอื่น
  4. 4. สังคมสูงวัย แรงงานอพยพ
  5. 5. Disruptive World 

สภาพที่เกิดขึ้นคือ สช. ทำงานยากขึ้น    เพราะโดนราชการล้อมกรอบ ทำให้การทำงานขาดความยืดหยุ่น    แนวทางที่ นพ. ประทีปคิดจะริเริ่มคือ หาทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมรับผิดชอบมากขึ้น    และริเริ่มสมัชชาสุขภาพตำบล    จากเครื่องมือเดิมที่มีอยู่แล้วคือ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ  สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น  สมัชชาสุขภาพจังหวัด   และธรรมนูญสุขภาพ    เน้น governance by partnership    

   นพ. อำพล จินดาวัฒนะ อดีตเลขาธิการ สช.    ที่เวลานี้เป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้ความเห็นหลักๆ ๓ ประการคือ

  1. 1. สช. เกิดจาก Ottawa Charter for Health Promotion    ทำหน้าที่จัดการนโยบายเพื่อสุขภาวะ  มองสุขภาพในมุมมองที่ครอบคลุม บูรณาการ    เป็นกลไกดึงคนทางสุขภาพไปทำงานในวงกว้าง เพื่อสุขภาวะของสังคม    เป็นการขับเคลื่อนกระบวนทัศน์ว่าด้วยสุขภาพในสังคม
  2. 2.  สช. เป็นกลไกสานพลัง
  3. 3. สช. ยังอ่อนแอด้านการสร้างการยอมรับ  และการรับผิดรับชอบ 

มีการพูดกันว่า กลไกของ สช. เป็น soft power   ต่างจาก hard power    ผมจึงเสนอให้ใช้ พลังปัญญา โดย สช. ร่วมกับ สวรส. และกลไกสนับสนุนการวิจัยอื่นๆ สนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างปัญญา ผมยกตัวอย่างการวิจัย Future Thailand 10 ด้าน ที่ สวช. กำลังสนับสนุน    และผลงานวิจัย Best Buys, Wasted Buys and Contested Buys in NCD Prevention ที่ นพ. ยศ. รวมทีมดำเนินการ เป็นตัวอย่าง    

นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เสนอให้จัด Virtual Health Assembly ทางออนไลน์    เชิญชวนให้ผู้คนลงทะเบียนเข้าแสดงความคิดเห็น มี moderator  คอยสรุปและตั้งคำถามต่อ    รวมทั้งเสนอวิธีทำงานแบบมี ambassador ทำหน้าที่เผยแพร่ความคิด  

อ. หมอประเวศ เล่าเรื่อง Time 100 Health Summit[VP1] ที่ สช. อาจพิจารณา นำมาเป็นตัวอย่างวิธีทำงานขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพแบบใหม่ๆ   

วิจารณ์ พานิช

 ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒



หมายเลขบันทึก: 673704เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2019 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2019 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท