๑,๐๔๗ ยุบกับควบรวม..เขียนต่างกันแต่ความหมายเหมือนกัน


ผู้บริหารและนักการศึกษาบางคน ไม่เข้าใจเรื่องการศึกษายุคใหม่ คิดแต่ว่าไม่ควรยุบและไม่ต้องมาพูดเรื่องคุณภาพ...คงลืมไปว่า เด็กเขามีหัวใจและมีผู้ปกครองที่คาดหวังในอนาคตของลูกเหมือนกัน...

         ผู้ปกครองนักเรียนของผมทราบดี ว่าผมไม่มีความวิตกกังวลในเรื่องการควบรวมโรงเรียนเลยแม้แต่น้อย ยังทำงานได้อย่างสนุกสุขสำราญเป็นปกติ

    ก่อนหน้านี้ ได้ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองไปแล้วด้วยว่า..การยุบหรือควบรวมเป็นเรื่องเดียวกัน..คือเมื่อดำเนินการแล้วจะไม่มีโรงเรียนหลงเหลืออยู่

    นำเด็กและครูไปเรียนรวมกันที่โรงเรียนใหญ่หรือโรงเรียนหลักที่เขากำหนดไว้ หรือตามที่โรงเรียนหลังเล็กมีความประสงค์..ก็มีทางเป็นไปได้

        ผมเชื่อมั่นว่า ๔ ปีที่เหลือผมยังอยู่ที่เดิม หลังจากนี้โรงเรียนที่มีครูและนักเรียนก็ยังอยู่ที่เดิมเพราะ..โรงเรียนบ้านหนองผือเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องศาสตร์พระราชา

        เพราะมีครูครบชั้น..เงินค่าตอบแทนครูพิเศษ มิได้ใช้เงินงบประมาณของ สพฐ.แต่ใช้จ่ายจากเงินรายได้สถานศึกษา ที่ภาคเอกชนสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทุกปี

        จึงเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก..พิเศษ..ที่ใครก็ไม่กล้าแตะ..แต่ผมก็ไม่เคยประมาท

        และที่สำคัญ..ผู้บริหารอย่างผมขยันหมั่นเพียร เรียนรู้ทั้งงานสอนและงานบริหาร ประสานงานได้รอบด้าน เพื่อลดปัญหาโรงเรียนและสนับสนุนการทำงานของครู

        ทำจนรู้ว่านวัตกรรมตัวใดที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กอยู่รอด จึงไม่เห็นด้วยที่กระทรวงศึกษาธิการ..จะใช้จำนวนเด็กเป็นบรรทัดฐานในการยุบควบรวม

        จากที่เคยมีแผนฯสั่งการลงมา ปีนี้ปีนั้น จะยุบร้อยละเท่านี้เท่านั้น..เลิกคิดเถอะ เพราะมันเป็นลักษณะของคนทำงานไม่เป็น อีกทั้งค้านกันเองในข้อกฎหมายมากมาย

        จริงอยู่..รัฐมนตรีประกาศแล้วว่า..จะไม่พูดถึงเรื่องนี้ แต่ในทางกลับกันจะสนับสนุนช่วยเหลือให้โรงเรียนขนาดเล็กเกิด “คุณภาพ”ให้จงได้

        คำพูดแบบนี้อย่าได้ไว้ใจ หมายความว่า..เขาได้ให้สำนักงานปลัดกระทรวงฯทำงานต่อในเรื่องนี้..เท่าที่จะทำได้ โดยร่วมมือกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด...

        เรื่องที่ตลกมากก็ตรงที่..โรงเรียนอยู่ในสังกัดเขตพื้นที่ฯ ขึ้นตรงสพฐ. แต่ยังต้องทำงานตอบสนอง สศจ. ผมคิดว่าหาก สศจ.ทำงานตอบสนองนาย ถึงอย่างไรก็ยุบโรงเรียนได้ไม่มาก ไม่น่าเกินร้อยละ ๕..ด้วยซ้ำ

        เพราะบางโรงเรียนที่จ่อยุบ..เขาไปไม่ไหวจริงๆ ด้วยประการทั้งปวง แต่ถ้าผู้บริหารเขาพร้อมครูเขาพร้อม ทั้งกายและใจ เด็กไม่ถึง ๕๐ คนก็ไปยุบเขาไม่ได้

        แต่ก็นั่นแหละ อย่าประมาทหรือย่ามใจ ในคำพูดของรัฐมนตรีที่บอกว่าจะไม่แตะต้อง ถ้าเขาไม่มองเรื่องขาดทุนกำไร แล้วหันมาเล่นเรื่อง “คุณภาพ”ล่ะ เราพร้อมไหม?

        ผู้บริหารและนักการศึกษาบางคน ไม่เข้าใจเรื่องการศึกษายุคใหม่ คิดแต่ว่าไม่ควรยุบและไม่ต้องมาพูดเรื่องคุณภาพ...คงลืมไปว่า เด็กเขามีหัวใจและมีผู้ปกครองที่คาดหวังในอนาคตของลูกเหมือนกัน...

        คิดกันให้ดี..ไม่มีใครหนีพ้นเรื่องการวัดและประเมินผล ไม่มีโรงเรียนไหนที่ไม่อ่านหนังสือ และเมื่อโรงเรียนยังอยู่ จึงไม่มีโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนใดที่ไม่มีครู...

        จงเอา “คุณภาพ”ไปสู้และไปต่อรองกับเขาอย่างกล้าหาญ..อย่าเรียกร้องและอย่าทำงานตามยถากรรม เพราะครูเก่าหลายท่าน ลงทุนลงแรงช่วยเรามากเหลือเกิน ขอยกตัวอย่าง

         “สมัยที่ยังรับราชการครู ทราบดีว่า การที่ภาครัฐนำหลักการคุ้มค่าทางต้นทุนที่เป็นตัวเงินมาเป็นตัวชี้วัดว่าคุ้มทุนหรือไม่ที่จะให้มีโรงเรียนขนาดเล็ก  ซึ่งหลักการนี้แค่คิดก็ผิดแล้ว การมอบแสงสว่างทางปัญญาให้ผู้ด้อยโอกาส การคุ้มทุนที่มีเงินเป็นตัวแปรใช้ไม่ได้กับงานสร้างคนที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดของประเทศ”

         “มีหลายวิธีที่จะดำรงโรงเรียนขนาดเล็กไว้โดยไม่กระทบกับคำว่าคุณภาพทางการศึกษา  ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการสิ้นไร้หนทางแล้วจริงหรือ หรือว่ามองการศึกษาเป็นการลงทุนแบบโรงงานอุตสาหกรรม”

         “แสงสว่างทางปัญญาของเด็กได้ถูกริดรอนลงแล้ว อย่าบอกว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็กไม่มีผลกระทบ ลองมาเกิดเป็นเด็กด้อยโอกาสดูบ้างจะรู้ว่า นโยบายมักง่ายได้ทำลายโอกาสของเด็กไทยหลายชีวิต อย่ามองแค่ว่ามีสิ่งทดแทนให้แล้วโดยลืมมองวิถีชีวิตของพวกเขาที่ต้องเปลี่ยนไป เท่านี้ก็สอบไม่ผ่านแล้ว สมควรยุบกระทรวงศึกษาธิการเพราะเน่าเกินเยียวยา”

        ข้อคิดความเห็นของครูเก่าที่ปัจจุบันท่านเป็นนักปราชญ์แห่งแผ่นดินไทย ท่านชื่อ ครูนภาลัย  สุวรรณธาดาครับ..

        ครับ..ยุบกับควบรวม..เขียนต่างกันแต่ความหมายเหมือนกัน จึงอย่าได้วางใจและกราบขอบพระคุณผู้บริหารและครูทุกท่าน..ที่มาให้กำลังใจ ช่วยส่งเสริมสนับสนุนและเห็นความสำคัญของโรงเรียนขนาดเล็ก..อย่างชัดเจนเช่นนี้

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๑  ธันวาคม  ๒๕๖๒


หมายเลขบันทึก: 673702เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2019 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2019 07:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท