“โครงสร้างครอบครัว บทบาทผู้หญิงและการมีส่วนร่วมของผู้ชายคือเงื่อนไขสำคัญในการปรุงอาหารปลอดภัยสำหรับลูก”


วานนี้ (9 ธ.ค.62) ผมมีโอกาสร่วมเวทีกับพี่สุพจน์และทีมงานในการขับเคลื่อนโภชนาการและอาหารปลอดภัยในชุมชนชาติพันธุ์ที่ตำบลสบป่อง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจะเริ่มที่ศูนย์เด็กเล็กเป็นหลักแต่ก็จะทำแบบมีส่วนร่วมในระดับครอบครัว และชุมชนไปพร้อมๆกัน

โภชนาการและอาหารสำหรับเด็กนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นจุดคานงัด เป็นเหมือน Hub ที่จะไปเชื่อมต่อกับอีกหลายเรื่องเลยทีเดียว ที่ผ่านมาผมยังไมเห็นใครมาขยับเรื่องนี้เท่าไร ก็รอๆอยู่ จนวันนี้ที่มีโครงการนี้เข้ามา แถมยังนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ นี่โดนใจมาก เหมือนฟ้าบันดาลให้หน่วยงานต่างๆในพื้นที่เอาด้วย ก็ดีใจและขอบคุณครับ

วันนี้ มีแกนนำสตรีมาร่วมกันพร้อมพรักเลยโดยเฉพาะในส่วนผู้ดูแลเด็ก (ผดด.)ในศูนย์เด็กเล็ก มีนักโภชนาการจากโรงพยาบาลปางมะผ้า มีนักวิชาการสาธารณสุข ส่วนนายอำเภอ นายก อบต. ผอ.โรงพยาบาล ก็มาร่วมกันแป๊บๆเพราะงานรัดตัวกันมาก


ถึงชื่อเวทีจะเป็นการอบรมแต่เหลักๆเป็นการสร้างความเข้าใจและมีการแลกเปลี่ยนและสะท้อนความเห็นกันค่อนข้างมากครับ มีอยู่สองสามเรื่องที่ผมได้แลกเปลี่ยนในเวทีที่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยความที่ว่ากลัวจะลืมและเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อแวดวงคนทำงานเลยเอามาลงในเฟสนี้ไว้ เป็นมุมมองเรื่องบทบาททางเพศสภาพ (Gender) ในการทำงานน่ะครับ

คืออย่างนี้ครับ ในศูนย์เด็กเล็กที่มี อบต.เป็นเจ้าภาพนี่ผมไม่ห่วงเท่าไรเพราะมีระบบจัดการมีงบมีอะไรๆค่อนข้างชัด นายอำเภอ พชอ. ก็เอาด้วยเรียกว่าพอสั่งได้ หากแต่ระดับครอบครัวนี่ต่างหากที่เรามุ่งหวังมากกว่า เพราะนี่เป็นความยั่งยืน และเด็กเองก็กินอาหารที่บ้านมากกว่าศูนย์เด็กเล็ก โภชนาการ ความปลอดภัยในอาหารการกินจึงมาจากบ้านมาจากครอบครัวเป็นหลัก แต๋โอเคล่ะเราทำกับศูนย์เด็กเล็กเป็นหน่วยตั้งต้นก็ไม่ผิดอะไร แต่ก็ทำเพื่อเชื่อมกับครอบครัวอันนี้ต้องไม่หลุดซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าพี่สุพจน์กับทีมงานมองออกอยู่แล้ว

เวลาพูดถึงอาหารปลอดภัยในครอบครัว ภาพในหัวเราก็มักจะนึกถึงภาพตายตัวที่ผู้หญิงเป็นคนหุงหาอาหาร นั่นก็ใช่ครับ แต่ปัจจุบันนี้มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นซะทั้งหมดผู้หญิงชาติพันธุ์จำนวนไม่น้อยปัจจุบันอาจจะมีเงื่อนไขหลายประการที่ทำให้ยากต่อการกลับไปปรุงอาหารอย่างปราณีตอย่างใส่ใจในเรื่องโภชนาการและสารตกค้างแก่ลูกๆ เช่น…. เงื่อนไขด้านแรงงาน เวลา สถานที่ และอาชีพการงาน ที่พวกเธอต้องทำงานหนักในงานไร่งานสวน บางคนเป็นบุคลากรของรัฐ ต้องไปประชุมไกลๆไม่ทันกลับบ้าน บางคนเป็นพนักงานเข้ากะ บางคนทำงานอยู่ต่างจังหวัด วันธรรมดาก็ไม่ได้อยู่กับลูก ฯลฯ

เงื่อนไขด้านโครงสร้างครอบครัว ที่ผู้หญิงชาติพันธุ์หลายคนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือถูกผู้ชายทิ้งร้าง หรือเธอต้องดูแลผู้สูงอายุในบ้าน คนพิการ อีกหลายคนในวงศ์ตระกูล จนไม่มีเวลามากพอ บางบ้านอาจเป็นครอบครัวแหว่งกลาง คือ มีแต่คนเฒ่าคนแก่ กับเด็ก แล้วคนแก่จะมีเวลา มีแรงอะไรมากพอที่จะทำอาหารตรงนี้แค่ไหน นี่ก็คงต้องวิเคราะห์


อีกเรื่องคือเงื่อนไขด้านความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่หลายบ้าน ผู้ชายยังเอาเปรียบและผลักภาระงานมากมายให้ผู้หญิง หรือผู้ชายที่เป็นใหญ่ในบ้านไม่สนใจเรื่องโภชนาการและอาหารปลอดภัยหากแต่มุ่งกินอาหารตามใจ อันนี้แม่บ้านเองจะขัดใจก็อาจถูกดุด่าชวนทะเลาะ อันนี้เป็นเรื่องทัศนคติหรือวิธีคิดของผู้ชายที่มีมาแต่เดิมด้วย

การส่งเสริมครัวโภชนาการ อาหารปลอดภัย จึงไม่ใช่เรื่องเหตุผลทางสาธารณสุขอย่างเดียว แต่ต้องมีข้อมูลบริบททางอำนาจในมิติต่างๆที่แวดล้อมการตัดสินใจของผู้หญิง และผู้ชายในการเข้าถึงการปรุงอาหารแบบนี้

ผมพูดจบ ก็สบตาก็บรรดาสตรีที่มาร่วมเวที…เหมือนพวกเธอผงกศรีษะพร้อมรอยยิ้มแทนคำขอบคุณ

หันกลับมามองที่ตัวเอง ก็สอนตัวเองเงียบๆในใจครับว่า คนทำงานอย่างตัวเราเองก็ต้องเปิดใจกว้างๆ ใช้ศรัทธา ความรัก ความเมตตา เพราะมีอะไรที่เรายังไม่รู้ และอาจจะรู้มาผิดๆอีกมากๆความต่อเนื่อง เอาใจใส่ ในการเพาะต้นกล้าแห่งโภชนาการอาหารปลอดภัยแบบมีส่วนร่วมนี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาหากต้นกล้าพอเป็นต้นไม้ใหญ่ ย่อมออกดอกผลใบเป็นที่พึ่งพาอาศัยแก่สรรพสิ่งมากมายเหลือคณา

หมายเลขบันทึก: 673678เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2019 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ธันวาคม 2019 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท