๑,๐๓๙ สิ่งเล็กๆ..ที่เรียกว่า..รัก


ก่อนนักเรียนจะลงมือปลูก..ผมแอบไปศึกษากับผู้รู้เรื่องการปลูกมะพร้าว เขาบอกให้วางต้นกล้าเฉียงๆ ปลายยอด หันไปทางทิศตะวันออก กลบดินครึ่งเดียว ที่เหลือคลุมด้วยหญ้าหรือฟางเพื่อสร้างความชุ่มชื้นในเวลารดน้ำ

        ผมมาอยู่โรงเรียนหลังเล็กที่ชื่อ “บ้านหนองผือ” ในปี ๒๕๔๙ ตอนนั้นมีนักเรียน ๔๙ คน รู้สึกว่ามากพอแล้ว กับครูที่มีอยู่เพียง ๓ คน เท่านั้น..

    สำหรับจำนวนนักเรียนไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการเลือก แต่ผมมองความน่าสนใจไปที่ต้นไม้และสระน้ำของโรงเรียนมากกว่า

        ต้นไม้..เป็นสิ่งแวดล้อมที่สะดุดตาเหลือเกิน มีอยู่หลายต้นที่ยืนต้นอยู่ได้ในสภาพที่ร้อนและแห้งแล้ง แสดงถึงการดูแลรักษาของคนที่อยู่มาก่อนผม

        สระน้ำขนาดใหญ่ ๒ สระที่มีน้ำอยู่เต็มเปี่ยม เพียงพอแน่นอนถ้าจะใช้ประโยชน์เพื่อปรับปรุงพื้นที่เกษตรกรรมของโรงเรียน..ส่วนเรื่อง “น้ำใจ”ของผู้ปกครอง ตอนนั้นผมยังไม่รู้ ก็ต้องรอดูกันต่อไป..

        ๓ ปีแรกต้องยอมรับว่าเหนื่อยมาก เพราะต้องทำสองสามอย่างพร้อมกัน คือสอนหนังสือ..ประชุม และบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดความเห็นใจจากผู้ปกครอง ให้ยอมรับและเข้ามามีส่วนร่วม..

        การปลูกป่าในใจคน..ในศาสตร์พระราชากับการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..ใช้ได้ผลในเวลาเพียงไม่นานนัก..ทำให้มีผู้คนมาศึกษาดูงานกับรางวัลต่างๆที่ไหลมาเทมา ก็รู้สึกดี..แต่ก็มั่นใจ ณ ตอนนั้นว่า..โรงเรียนไม่พร้อมเลย..

        วันนี้..โรงเรียนเปลี่ยนไปในสายตาของใครๆหลายคน พร้อมกว่าที่เคยเป็น ทั้งจำนวนนักเรียน จำนวนครู สถานที่และสิ่งแวดล้อม มองเห็นเป็นโรงเรียนมากขึ้น

        สัมผัสได้ถึงการเจริญเติบโต ด้วยสมองและสองมือก็พยายามยิ่งขึ้นไม่หยุดยั้ง เพื่อให้โรงเรียนขับเคลื่อน มีความก้าวหน้าแม้ว่าขนาดของโรงเรียน..ยังทำให้พบปัญหาอุปสรรคอยู่บ่อยครั้ง...บอกตนเองเสมอว่า..ไม่เป็นไร..เพราะเลือกมาเอง

        ยอมรับและให้คุณค่ากับตัวเอง..ว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่มีความรู้ไม่มากแต่เชื่อมั่นตัวเองเสมอถึงการเรียนรู้..ไม่มีวันสิ้นสุด รวมทั้งสังเกตศึกษาและขอคำแนะนำจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ

        เพื่อนครูทักท้วงเรื่องดินดานอย่าได้ปลูกอะไรให้มากเรื่องมากความเลย ผมจึงทำดินใช้เองจากปุ๋ยหมักใบไม้บ้าง ผักตบชวาบ้าง..วันนี้สภาพดินมิใช่อุปสรรคอีกแล้ว

        เลาขวัญแห้งแล้งแค่ไหน..แต่น้ำในสระยังช่วยหล่อเลี้ยงต้นไม้และพืชผักสวนครัวมาอย่างยาวนานหลายปี..ช่วยให้ต้นไม้ยืนต้นมีชีวิตชีวา..ไม้ประดับยังคงอยู่รอดต่อไป

        น้ำในสระลดลงไปอย่างน่าใจหาย ผู้ปกครองก็ใจดีถ่ายโอนน้ำจากสระใหญ่มาลงสระเล็ก เพื่อโครงการปลูกผักปลอดสารพิษได้มั่นคงและยั่งยืน.

        ปีการศึกษานี้..เพื่อนผู้หวังดีแนะนำให้ปลูกผักหลากหลาย ให้เติบโตสลับกันไปในแต่ละสัปดาห์ แบบว่าเด็กนักเรียนได้รับประทานอย่างต่อเนื่อง ไม่ทิ้งระยะห่างมาก

        ผมจึงทำแปลงเสริมเพิ่มเติมพื้นที่เพาะปลูก..หลายจุด เมื่อน้ำไม่ขาดแคลน สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการบริหารจัดการ..ทำอย่างไร”ครัวหนองผือ” จึงจะมีเมนูผักอยู่เสมอ

        โครงการอันเนื่องมาจากดินและน้ำที่ผมภูมิใจ คือให้เด็ก ป.๖ ปลูกไม้ยืนต้นเป็นที่ระลึกก่อนจบการศึกษา ปลูกคนละ ๑ ต้น ในเดือนมีนาคมของทุกปี

        ปีนี้..ปลูกวันนี้เลย เพราะถ้าปลูกในวันที่เรียนจบ จะไม่มีใครดูแล ต้นไม้อาจไม่รอดเนื่องจากทนแล้งไม่ไหว วันนี้ผมให้ปลูกบนโคกสูงแต่อยู่ใกล้สระน้ำมากที่สุด

        ผมเลือกต้นมะพร้าวกับต้นขนุน..ให้นักเรียนปลูกและลุ้นกันเอง บอกนักเรียนว่าเราจะปลูกเป็นที่ระลึกเนื่องในวันสำคัญที่จะมาถึง คือ ๕ ธันวาคม “วันพ่อแห่งชาติ”

        ก่อนนักเรียนจะลงมือปลูก..ผมแอบไปศึกษากับผู้รู้เรื่องการปลูกมะพร้าว เขาบอกให้วางต้นกล้าเฉียงๆ ปลายยอด หันไปทางทิศตะวันออก กลบดินครึ่งเดียว ที่เหลือคลุมด้วยหญ้าหรือฟางเพื่อสร้างความชุ่มชื้นในเวลารดน้ำ

        กิจกรรมการปลูกไม้ผลเสร็จสิ้น..ผมเริ่มรู้สึกว่าได้ทำกิจกรรมเล็กๆ ในแหล่งเรียนรู้เล็กๆบ่อยมากๆ..ทำอย่างสะสมมาเรื่อยๆจนมองเห็นผลที่ยิ่งใหญ่ในสายตาตนเอง

        มันอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย ที่ใครๆเขาก็ทำกัน..แต่ที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น ตรงที่เป็นปัจจุบันมากกว่า ที่สำคัญกว่านั้น มันสร้างความสุขและความรักในการทำงานให้แก่ผม..

        แล้วแบบนี้..คนที่ไม่เคยมาช่วยผมเลยแม้แต่น้อย คอยแต่จะมายุบควบรวมโรงเรียนที่เป็นของทุกคนในชุมชน..มันยุติธรรมแล้วหรือ?

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๘  พฤศจิกายน  ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 673450เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2019 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2019 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท