วิเคราะห์ความตายผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) สิมอีสานวัดยางทวงวราราม


วิเคราะห์ความตายผ่านจิตรกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) สิมอีสานวัดยางทวงวราราม
ตำบลบัวมาศ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม
โดย....สิทธิชัย ระหาญนอก



บทคัดย่อ

               บทความวิเคราะห์ความตายผ่านจิตรกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) สิมอีสานวัดยางทวงวราราม บ้านยาง ตำบลบัวมาศ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เป็นงานเขียนเชิงพรรณนาวิเคราะห์ โดยบทความนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เรื่องราวเกี่ยวกับความตายผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนัง เพื่อถอดสัญญะหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่แฝงอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนัง และเพื่ออธิบายขยายความเป็นสื่อสะท้อนให้ผู้อ่านพิจารณาจัดการชีวิตของตนแบบ “ตายก่อนตาย” จากการศึกษาพบว่าจิตกรรมฝาผนัง วัดยางทวงวราราม 1) สะท้อนความตายอันเป็นสิ่งเสมอกัน 2) สะท้อนคติธรรมทางพุทธศาสนาที่แฝงอยู่ในพิธีศพ 3) สะท้อนคติความเชื่อทาง พุทธศาสนาและคติความเชื่อในเรื่องแถน ต่อการจัดการศพครั้งที่สองของคนในอุษาคเนย์ และ 4) สะท้อนชีวิตหลังความตายอันเกี่ยวเนื่องกับบาปบุญคุณโทษ

บทนำ

               จิตรกรรมฝาผนังในท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของพุทธศาสนาในบริบท ของวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างโดดเด่นและหลากหลาย โดยภาพจิตรกรรมฝาผนังได้ช่วยเก็บรักษาเรื่องเล่า แนวคิด หลักธรรมคําสอนทางพุทธศาสนาผ่านระบบภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้ในแต่ละท้องถิ่นก็ได้สะท้อนแนวคิดวิถีชีวิต ตลอดจนคติความเชื่อของตนเองลงไปผสมผสานกับงานจิตรกรรมเหล่านั้นได้อย่างลงตัว โดยจิตรกรรม ฝาผนังที่พบในวัดวาอารามต่าง ๆ ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา และเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของชุมชน นับว่าเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนา ที่เข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่อดีต โดยได้ทิ้งร่องรอยซึ่งไม่ได้มีเฉพาะแต่หลักธรรมคำสอนตามพระไตรปิฎก แต่คติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาได้เข้ามาปะทะและผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่นเดิม ทำให้เรื่องราวของพุทธศาสนา ถูกถ่ายทอดผ่านวัฒนธรรมแบบท้องถิ่นแขนงต่าง ๆ ที่เกิดจากการรับรู้ สั่งสมและถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังที่สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้กล่าวว่า พุทธศาสนาในปัจจุบันนั้นเป็นศาสนาที่มีการผสมผสานกับคติ ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่น จนทำให้พุทธศาสนายิ่งมีความแตกต่างไปจากเดิมมาก ซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่า “พุทธศาสนาแบบชาวบ้าน” (Popular Buddhism) และ “พุทธศาสนาแบบไทย” (Thai Buddhism) (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2560 : ออนไลน์)

               พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของ “จิตรกรรม” ว่า หมายถึงศิลปะประเภทหนึ่งในทัศนศิลป์ เกี่ยวกับการเขียนภาพวาดหรือรูปภาพที่เขียนหรือวาดขึ้น (ราชบัณฑิตยสถาน, 2556 : 312-313) “ฮูปแต้ม” เป็นคำเรียกจิตรกรรมฝาผนังในภาษาลาว โดยใช้คำว่า “ฮูป” ก็คือรูป ส่วนคำว่า “แต้ม” คือ การวาดการระบายสี ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังในภาคอีสานหรือในวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรล้านช้าง ในช่วงหลังวัฒนธรรมล้านช้างก็ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ แต่ก็มีรูปแบบบางอย่างเฉพาะของตนเองทั้งในแง่ของเนื้อหา การจัดองค์ประกอบ การใช้สี หรือรูปแบบปลีกย่อย (ประภัสสร์ ชูวิเชียร, 2557 : 83) งานเหล่านี้มักเขียนอยู่ตามฝาผนังของศาสนสถาน เช่น “สิม” หรือโบสถ์ “หอแจก” หรือวิหาร และอาคารขนาดเล็กทางศาสนาอื่น ๆ เช่น หอไตร เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันงานจิตรกรรมรุ่นเก่าที่ได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรล้านช้างมีไม่มากนัก เท่าที่พบมีอายุเก่าสุดเป็นงานที่เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์             

              สำหรับเรื่องราวที่ปรากฏในงานจิตรกรรมฝาผนังในบริบทวัฒนธรรมท้องถิ่นในพื้นที่อีสาน รวมถึงพื้นที่ประเทศลาว โดยทั่วไปในวัฒนธรรมอีสานเรียกจิตกรรมเหล่านี้ว่า “ฮูปแต้ม” (ประภัสสร์ ชูวิเชียร, 2557 : 83) ซึ่งเป็นฝีมือของช่างเขียนภาพท้องถิ่น การใช้สี การจัดภาพ รวมทั้งลีลาของลายเส้น ไม่ได้รับอิทธิพลจากสกุลช่างภาคกลาง ศักดิ์ชัย สายสิงห์ กล่าวว่า จิตรกรรมฝาผนังที่เรียกว่าเป็นแบบพื้นบ้านก็คือผลงานของช่างในท้องถิ่นที่เรียบง่าย ทั้งรูปแบบและเทคนิคการเขียน ซึ่งพบได้ตามศิลป์ทั่วไปในลาวและ ภาคอีสานของไทย (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2555 : 264) สำหรับเรื่องที่นำมาเขียน ได้แก่ พุทธประวัติ ทศชาติชาดก และนิทานพื้นบ้าน โดยนิยมเขียนเรื่องภาพพุทธประวัติมากกว่า และมักเขียนเฉพาะตอนสำคัญสำคัญ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยเขียนแบบสั้นและเรียบง่าย ไม่มีฉากประกอบเรื่อง เช่น ตอนประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และตอนปรินิพพาน เป็นต้น

               เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2562 ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ศึกษาสิม และฮูปแต้ม ในรายวิชาพุทธศาสนาในบริบทวัฒนธรรมท้องถิ่น หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาศาสนาและภูมิปัญญาเพื่อการพัฒนา) ณ วัดยางทวงวราราม หรือวัดบ้านยาง ตำบลบัวมาศ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งวัดบ้านยาง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2339 หรือเมื่อ 220 ปีก่อน ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดยางทวงวราราม มีโบราณสถานสำคัญคือ สิมอีสาน จดทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2525 สิมหรืออุโบสถแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2465 มีอายุได้ 94 ปี สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สิมแห่งนี้มีลักษณะผสมระหว่างโครงสร้างไม้เนื้อแข็งกับปูนพื้นบ้านและไม้ ส่วนอิฐที่ใช้ก่อทำจากดินเหนียวที่ได้จากเนินดินที่เป็นจอมปลวก นำมาบดเข้าพิมพ์ตากแห้งและเผา และการขัดแต่งผนังโบสถ์รอบสุดท้าย ใช้กระดูกขาและกระดูกซี่โครงวัว-ควาย เป็นไม้ขัด โดยจะขัดให้เกลี้ยงเพื่อรองรับการเขียนภาพ สำหรับลักษณะรูปแบบจิตรกรรมฝาผนังเน้นนำเสนอเกี่ยวกับชาดก เช่น พระเวสสันดรชาดก พระมาลัย รวมทั้งไตรภูมิ อันสะท้อนให้เห็นคติความเชื่อของวัฒนธรรมท้องถิ่นในเรื่องของนรก-สวรรค์ หรือเรื่องบุญและบาป

               สิมวัดยางทวงวราราม นอกจากพบจิตรกรรมฝาผนัง หรือฮูปแต้มที่มีการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติตอนสำคัญแล้ว ยังปรากฏเรื่องราวเกี่ยวข้องกับความตาย ชีวิตหลังความตาย บาปบุญคุณโทษ ซึ่งผู้เขียนมองว่าฮูปแต้มดังกล่าวเป็นสื่อสะท้อนให้พุทธศาสนิกชนหรือผู้ได้มาชมจิตรกรรมฝาผนัง ได้ศึกษาเพื่อเป็นการเตรียมตัวตายแบบ “ตายก่อนตาย” ผู้เขียนจึงต้องการวิเคราะห์ในเรื่องความตาย ผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูปแต้ม โดยอาศัยการตีความและอธิบายเพื่อถอดสัญญะของช่างพื้นบ้าน ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “พุทธศาสนากับความตาย” เอาไว้บนสิมแห่งนี้

               อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน (2562 : 37 – 38) ได้กล่าวถึงท่าทีของพุทธศาสนาต่อความตาย ว่า การสิ้นชีวิตหรือตายของมนุษย์ถูกมองโดยพุทธศาสนา ดังนี้ 1) เป็นทุกข์ เพราะการจะต้องตายและพลัดพรากจากญาติพี่น้องในโลกนี้ไปอย่างถาวร และเป็นอนัตตา เพราะมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในแบบไม่เป็นไป ในอำนาจของบุคคล 2) เป็นของยั่งยืน เที่ยงแท้แน่นอน เพราะเกิดกับตายเป็นของคู่กัน เมื่อมีการเกิดจึงต้องมีการตาย เป็นของยั่งยืนเที่ยงแท้ ในวันหนึ่งวันใดข้างหน้าแน่นอน 3) เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลบเลี่ยงและหลีกหนีพ้นได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นใครและหนีไปอยู่ที่ไหน ความตายก็จะตามมาทันและเผชิญอย่างมิอาจหลบเลี่ยง และหลีกหนีไปได้พ้นเลย 4) เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตมนุษย์ เพราะชีวิตมนุษย์มีการต้องตายเป็นที่สุด เป็นธรรมดา ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าบุคคลจะตายช้าหรือตายเร็ว ตายตอนเด็กหรือตายตอนแก่เท่านั้น และ 5) มิใช่ที่สิ้นสุดของการมีชีวิต เพราะความตายเป็นเพียงจุดจบของชีวิตทางร่างกายในปัจจุบันเท่านั้น ตราบใดยังมิใช่อรหันต์ หมดสิ้นซึ่งกิเลสตัณหาอุปาทานแล้ว ก็ยังมีเยื่อใยของชีวิตต่อไปมิได้จบสิ้น ดังนั้นพุทธศาสนาจึงสอนให้มีท่าทีต่อความตายของบุคคล ก็เพื่อให้บุคคลพิจารณาจัดการชีวิตของตนแบบ “ตายก่อนตาย” มิให้ประมาทมัวเมาในชีวิตและวัย เร่งขวนขวายทำความดีไว้ก่อนตายให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งนี้เพื่อให้มีชีวิตใหม่ในโลกใหม่ที่เป็นคติดี ถ้าบุคคลที่จะต้องตายนั้นยังต้องเกี่ยวข้องกับการเกิดและการตายตามคติความเชื่อของพุทธศาสนาอยู่อีกต่อไป บทความเรื่อง “วิเคราะห์ความตาย ผ่านจิตรกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) สิมอีสานวัดยางทวงวราราม บ้านยาง ตำบลบัวมาศ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม” ถูกเขียนขึ้นโดยมีมีวัตถุประสงค์อย่างน้อย 3 ประการ คือ 1) เพื่อวิเคราะห์เรื่องราวเกี่ยวกับความตาย ผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนัง 2) เพื่อถอดสัญญะหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่แฝงอยู่ใน ภาพจิตรกรรมฝาผนัง และ 3) เพื่อเป็นสื่อสะท้อนให้ผู้อ่านพิจารณาจัดการชีวิตของตนแบบ “ตายก่อนตาย”

ความตายในทางพุทธศาสนา

                ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า “ตาย” ถูกนิยามว่า ภาวะที่บุคคลสิ้นใจ สิ้นชีวิต ไม่เป็นอยู่ต่อไป สิ้นสภาพของการมีชีวิต (ราชบัณฑิตยสถาน, 2556 : 495) ซึ่งมีความหมายตรงกับภาษาบาลีที่เราพบบ่อย เช่น “มรณ.” “มต.” “อนฺตกิริยา” (พระมหาโพธิ วงศาจารย์, 2559 : 258) ความตายในทัศนะของโสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ นักวิชาการด้านปรัชญา ถือว่า ความตายเป็นสิ่งลึกลับแปลกประหลาดสำหรับคนทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากว่าบุคคลขณะยังมีชีวิตอยู่ต่างก็ไม่เคยประสบพบกับความตายมาด้วยกันทั้งสิ้น แต่กระนั้นก็รู้กันดีว่าไม่มีใครคนใดในโลกนี้สามารถหลีกหนีสภาวะแห่งความตายนี้ไปได้เลยสักคนเดียว และโดยได้เห็น ได้ยิน หรือได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับความตายไม่เว้นในแต่ละวัน จึงทำให้เกิดความกลัว หรือความรู้สึกแปลกประหลาดหวาดหวั่นใจขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะความไม่รู้เกี่ยวกับประสบการณ์ของความตายจริงของตน ไม่มีใครเลยสักคนเดียวที่ได้ตายไปแล้วเคยกลับมาบอกเล่าประสบการณ์หลังตายให้รับฟัง จึงทำให้เรื่องของความตายนี้ดูยังเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน และมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับจิตวิญญาณอยู่ (โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์, 2549 : 1-2)

               พุทธศาสนามองชีวิตของมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ว่าเป็นการประกอบรวมกันของขันธ์ 5 คือ รูปเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ด้วยเหตุนี้ความตายในมโนทัศน์พุทธศาสนาจึงมุ่งหมายถึงการเสื่อมสลายไปของขันธ์ 5 ตามนัยยะแห่งข้อความในมัชฌิมนิกายกล่าวไว้ว่า “ผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ ทั้งกายสังขารหรือลมหายใจเข้าออกก็ดับไป วจีสังขาร ได้แก่ วิตก วิจารหรือความตรึกความตรองก็ดับไป และจิตสังขาร คือ สัญญาและเวทนาหรือความกำหนดได้ความรู้และความรู้สึกก็หมดไป อายุก็สิ้นไป ไออุ่น คือ ไฟที่เกิดแต่กรรมก็สงบ อินทรีย์ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็แตกทำลายไป” (ประกายธรรม, 2542 : 18)

               การตายของบุคคลทั่วไป ควรเป็นการ “ตายดี” และการตายดีของบุคคลในทัศนะของพุทธศาสนา ก็จะหมายถึง การตายอย่างมีสติสัมปชัญญะ กล่าวคือ ปราศจากความกระวนกระวาย และความรู้สึกของจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศลจิตใด ๆ โดยทำหรือพัฒนาให้เป็นจิตที่เป็นกุศลหรือกุศลจิต เพื่อให้จิตของบุคคลมีอารมณ์ผ่องใส โดยเฉพาะจุติจิต อันจะส่งผลต่อไปยังปฏิสนธิจิตในภูมิถัดไป ดังมีพุทธพจน์รับรองว่า “เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง คือผ่องใสสุคติเป็นอันหวังได้” (สุชญา สิริธัญภร, 2552 : 208) โดยพุทธศาสนา มีหลักการว่า คนทำกรรมดีย่อมไปสู่สุคติภูมิ คนทำกรรมชั่วย่อมไปสู่ทุคติภูมิ ดังนั้นบุคคลทั่วไปจึงควรหมั่นประกอบกรรมดี และหมั่นฝึกสติสัมปชัญญะ เตรียมพร้อมรับความตายของตนอยู่เสมอ ซึ่งอภิญวัฒน์ โพธิ์สาน เรียกว่าการจัดการชีวิต “แบบตายก่อนตาย” (อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน, 2562 : 15)

ความตายผ่านจิตรกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) สิมอีสานวัดยางทวงวราราม

               จิตรกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) สิมวัดยางทวงวราราม บ้านยาง ตำบลบัวมาศ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวข้องกับความตาย ชีวิตหลังความตาย บาปบุญคุณโทษ โดยผู้เขียนพบจิตรกรรมฝาผนังจำนวน 6 ภาพ ได้แก่ 1) ภาพจิตรกรรมฝาผนังพิธีถวายพระเพลิงพุทธสรีระ 2) ภาพจิตรกรรมฝาผนังการบวชจูงศพ การโปรยข้าวตอกนำหน้าศพ 3) ภาพจิตรกรรมฝาผนังการตัดตราสังก่อน เผาศพ 4) ภาพจิตรกรรมฝาผนังธาตุเจดีย์ใส่อัฐิ 5) ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระมาลัยโปรดสวรรค์ และ 6) ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระมาลัยโปรดนรก ภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ ล้วนเป็นสื่อสะท้อนให้ท่านทั้งหลาย ได้ศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับความตาย โลกหลังความตาย อันพึงตระหนักเพื่อจัดการชีวิต “แบบตายก่อนตาย” ดังที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์และนำเสนอ ดังนี้

 
1. ภาพจิตกรรมฝาผนังพิธีถวายพระเพลิงพุทธสรีระ

               เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว 8 วัน มัลละกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราพร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวาย พระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ แห่งเมืองกุสินารา เมื่อวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเรียกกันว่า “วันอัฏฐมีบูชา” โดยพวกเจ้ามัลละกษัตริย์จัดบูชาพุทธสรีระด้วยของหอม ดอกไม้ และประโคมเครื่องดนตรีตลอด 7 วัน แล้วให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า 8 คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพุทธสรีระไปทางทิศตะวันออกของพระนครเพื่อถวายพระเพลิง พวกเจ้ามัลละถามถึงวิธีปฏิบัติต่อพุทธสรีระกับพระอานนท์ แล้วจึงทำตามคำของพระอานนท์นั้นคือ ห่อพุทธสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า 500 คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ พร้อมกับของหอมทุกชนิด จากพวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า 4 คน สระสรงเกล้า และนุ่งห่มผ้าใหม่ พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอนแต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้ จึงสอบถามสาเหตุกับพระอนุรุทธะ ซึ่งพระอนุรุทธะแจ้งว่า “เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ 500 รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟถึงจะลุกไหม้” เหตุเพราะเทวดาเหล่านั้น เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระมหากัสสปะและพระสาวกหมู่ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี และเมื่อภิกษุหมู่ 500 รูปโดยมี พระมหากัสสปะเป็นประธานเดินทางมาพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระแล้ว ไฟจึงลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2539 : 173-175)

               จากความสำคัญของวันอัฏฐมีบูชานั้น นอกจากจะเป็นวันที่แสดงความระลึกถึงองค์ พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ในอีกแง่มุมหนึ่งก็ยังเป็นการสร้างความตระหนักให้แก่บุคคลที่ยังคงมีชีวิตอยู่ให้ดำรงชีวิตโดยตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ดังปัจฉิมโอวาทของพระพุทธองค์ที่ได้ตรัสไว้ก่อนเสด็จปรินิพพานว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด” (พระธรรมปิฎก, 2546 : 243) เนื่องด้วยทุกสรรพสิ่งนั้นมิได้มีความเที่ยงแท้ สามารถกำเนิดเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และสูญสลายไป ในที่สุด เฉกเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าที่พระพุทธสรีระของพระองค์ก็มีวันเสื่อมสูญ ภาพจิตกรรมฝาผนังนี้จึงเป็นสื่อสะท้อนให้เห็นธรรมสังเวช ว่าความตายเป็นสิ่งที่เสมอกัน เท่าเทียมกัน อันที่เราท่านทั้งหลายพึงระลึกถึงพระพุทธคุณให้สำเร็จเป็นพุทธานุสติอยู่ทุกเมื่อ 

2. ภาพจิตกรรมฝาผนังการบวชจูงศพ และการโปรยข้าวตอกนำหน้าศพ

             

                 ในสมัยโบราณยังไม่มีการสร้างเมรุเผาศพ จึงนิยมนำศพไปเผาที่ป่าช้า ก่อนที่จะมีการเคลื่อนศพ หรือคนอีสานเรียกว่า “ไปป่า” นั้น ญาติของผู้ตายมักนิยมหาคนที่เป็นลูกหลานเพื่อ “บวชหน้าไฟ” อีกนัยหนึ่งคือการบวชเพื่อ “จูงศพ” ในทางพุทธศาสนาถือว่าผู้ตายและผู้บวชจะได้บุญเพราะเป็นการบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศล อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีของลูกหลานต่อผู้ตาย นอกจากจะเห็นภาพพระสงฆ์และสามเณรบวชหน้าไฟกำลังจูงศพแล้ว ยังพบภาพญาติของผู้ตายกำลังโปรยข้าวตอกนำขบวนแห่ศพ ซึ่งอภิญวัฒน์ โพธิ์สาน ได้กล่าวถึงการโปรยข้าวตอกหรือข้าวสาร หรือดอกไม้นำขบวนแห่ศพ ว่า เป็นนัยเพื่อ ไล่ผีให้ไปผุดไปเกิด มิให้ย้อนกลับมารบกวนคนเป็นอีก นอกจากนั้นยังเป็นปริศนาธรรมในแง่ว่า ข้าวตอกเป็นข้าวเปลือกที่ถูกคั่วจนแตกเป็นดอก ๆ ไม่อาจจะงอกเป็นต้นข้าวได้อีก แม้จะหว่านลงบนดินที่ดีและมีน้ำเพียงพออย่างไรก็จะไม่มีวันงอกขึ้นมาได้เลย ก็เปรียบเหมือนคนเราที่บำเพ็ญธรรมจนหมดกิเลสโดยเด็ดขาดแล้วย่อมไม่เกิดในภพใหม่อีก เพราะไม่มีเชื้อ คือ กิเลส ตัณหา อุปาทานอีกแล้ว ดังเช่นข้าวตอกที่โปรยไป ไม่มีเชื้อที่จะงอกขึ้นได้อีกแล้วฉะนั้น ตรงข้ามกับข้าวเปลือกที่ยังไม่คั่วเป็นข้าวตอก หรือสีเป็นข้าวสาร ก็เปรียบเหมือนคนที่ยังมีกิเลสอยู่ ถ้าหว่านลงในดินดีและมีน้ำเพียงพอ ก็จะงอกเป็นต้นข้าวอย่างแน่นอน (อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน, 2562 : 102) ภาพจิตกรรมฝาผนังนี้ จึงเป็นสื่อสะท้อนให้เห็นคติความเชื่อ ที่ผูกโยงกับการบวชอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับผู้ตาย เราจึงมักได้ยินผู้คนกล่าวกันทั่วไปว่า “เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์” ซึ่งการบวชมีอานิสงส์มาก ยังประโยชน์ให้กับผู้ตายที่ละโลกไปแล้ว อีกทั้งเรื่องการโปรยข้าวตอกก็นับว่าเป็นปรัชญาให้ผู้ยังมีชีวิตอยู่ได้เจริญซึ่งมรณานุสติ ให้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อันเป็นปริศนาธรรมที่แฝงอยู่ในพิธีศพอีกด้วย


3. ภาพจิตกรรมฝาผนังการตัดตราสังก่อนเผาศพ


               ห่วงบุตร ห่วงภรรยา-สามี ห่วงทรัพย์สมบัติ คำผญาอีสานพูดกันว่า “ฮักลูกคือฝ้ายผูกคอ ฮักผัว-ฮักเมียคือปอผูกศอก ฮักข้าวของเงินทองคือปลอกสุบตีน” (พระราชศีลโสภิต, 2562 : สัมภาษณ์) ผญาอีสานบทนี้แปลเป็นนัยว่า ลูกเปรียบเหมือน “เชือกผูกคอ” จะไปไหนมาไหนก็เหมือนว่าเชือกผูกคอแขวนคออยู่อย่างนั้น ธรรมดาของคนเป็นพ่อแม่ย่อมคิดถึงและเป็นห่วงลูกเหมือนด้ายผูกคอไว้ ไปไหนก็ต้องกลับมา ส่วน “ปอผูกศอก” นี้ก็คือคู่ภรรยา - สามี บางคู่นั้นจิตใจไม่ตรงกัน เช่น สามีนั้นมีศรัทธาอยากจะบริจาคทาน แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่พร้อมก็บริจาคไม่ได้ คือฝ่ายภรรยาไม่พร้อมก็บริจาคไม่ได้ ความผูกพันระหว่างคู่ ภรรยา - สามี จึงมีความห่วงความหวงซึ่งกันและกัน ความห่วงนี้ไม่สามารถตัดได้ถ้ายังเป็นปุถุชนคนมืดมนอนธการอยู่ และ “ปลอกสุบตีน” นั้นก็คือ ความห่วงทรัพย์สมบัติที่แสวงหาจนได้มา ก็เพื่อปากท้อง เพื่อครอบครัว เพื่อลูกหลานหรือเพื่ออนาคต จึงต้องแสวงหาทรัพย์ ครั้นมีทรัพย์สมบัติแล้ว จะไปไหนมาไหน ก็ห่วงกลัวเสียหาย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มาบวชเป็นพระ เสียสละเวลามาบวช ทำงานราชการลาบวชได้เพียง 7 วัน 15 วัน แล้วก็ห่วงงาน ห่วงเงิน ห่วงในที่นี้ก็คือห่วงทรัพย์ บวชได้ไม่นานเพราะห่วงอันนี้มันเป็นธรรมดาของจิตใจปุถุชนของเรายังแสวงหาทรัพย์สมบัติ ก็ยังห่วงทรัพย์สมบัติ เมื่อมีทรัพย์สมบัติแล้วก็ต้องห่วง ความห่วงทั้งหมดทั้งมวลนี้ จึงเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายข้องอยู่ในวัฏสงสาร คือ เวียนว่ายตายเกิด จะต้องทนทุกขเวทนา หรือว่าต้องแสวงหาอยู่อย่างนี้ ต้องติดอยู่กับโลกอย่างนี้ ถ้าจิตใจของเราไม่ตัดห่วงทั้ง 3 นี้ไปได้ ก็เรียกว่า “วัฏฏวน” คือ วนไป วนมา วนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในงานศพเรามักจะพบสับปะเหร่อ “มัดตราสัง” คือการมัดคอ มัดศอก และมัดเท้าของศพ ก่อนที่จะนำศพลงโลง ครั้นก่อนจะทำพิธีเผาศพก็จะมีการ “ตัดตราสัง” เป็นนัยว่าผู้ตายได้ปลดเปลื้องพันธนาการ กล่าวคือตัดจากห่วงทั้งสามที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น ภาพจิตกรรมฝาผนังนี้ จึงเป็นสื่อสะท้อนให้เห็นถึงการต้องพรัดพรากจากสิ่งที่รัก สิ่งที่พอใจ แม้จะห่วงหาอาทร จะรักษาไว้ดีแค่ไหน ตายไปแล้วก็ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ จะมีก็แต่คุณงามความดี ที่ประกอบในโลกนี้ อันจะเกื้อกูลประโยชน์ไปยังโลกหน้า

4. ภาพจิตกรรมฝาผนังธาตุเจดีย์ใส่อัฐิ

               ชาวพุทธเชื่อว่า “พระบรมสารีริกธาตุ” เป็นวัตถุแทนองค์พระบรมศาสดาที่ทรงคุณค่าสูงสุดในศาสนาพุทธ (มูลนิธิพระบรมธาตุในพระสังฆราชูปถัมภ์, 2546 : 5) กล่าวคือก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มีพระพุทธประสงค์ให้พระพุทธสรีระของพระองค์แตกกระจายไปจำนวนมากดังพุทธพจน์ที่ว่า “โย จ ปูเชยฺย สมฺพุทฺธํ ติฏฺนฺตํ โลกนายกํ ธาตุ สาสปมตฺตมฺปิ นิพฺพุตสฺสาปิ ปูชเยฯ สเม จิตฺตปฺปสาทมฺหิ สมํ ปุญฺ มหคฺคตํ ตสฺมา ถูปํ กริตฺวาน ปูเชหิ ชินธาตุโย” หมายถึง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอธิษฐานพระธาตุให้กระจาย ว่าเราอยู่ได้ไม่นานก็จะปรินิพพาน ศาสนาของเรายังไม่แพร่หลายไป ในที่ทั้งปวงก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อเราแม้ปรินิพพานแล้ว มหาชนถือเอาพระธาตุแม้ขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด ทำเจดีย์ในที่อยู่ของตน ปรนนิบัติจงมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้าเถิด 

               ในทางพระพุทธศาสนา จึงนิยมกระทำการบูชาองค์พระบรมสารีริกธาตุโดยประการต่าง ๆ เช่น การสร้างสถูปเจดีย์ เพื่อประดิษฐานพระธาตุไว้สักการะ โดยเชื่อว่ามีอานิสงส์ประดุจได้กระทำการบูชา แด่พระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ ดังนั้นเมื่ออิทธิพลของพุทธศาสนาเข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ จึงเริ่มมีการสร้างเจดีย์ หรือสถูป เป็นเครื่องสักการะแทนองค์พระพุทธเจ้า เช่น พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม พระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นต้น จากคติการสร้างพระธาตุเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า หรือพระธาตุของพระสาวกองค์ต่าง ๆ ก็เริ่มมีพัฒนาการในการสร้างธาตุ สถูปหรือ เจดีย์ใส่อัฐิ (กระดูก) ของบุคคลอันเป็นที่เคารพสักการะ ทัศนะของผู้เขียนมองว่า คติในการสร้างสถูปหรือเจดีย์ใส่อัฐิของบุคคลทั่วไปในปัจจุบัน ก็ย่อมหนีไม่พ้นอิทธิพลความเชื่อทางพุทธศาสนา โดยชาวพุทธเชื่อว่า ผู้ละโลกไปแล้วย่อมไปอยู่ใกล้ชิด พุทธศาสนา ดังที่เรามักอธิษฐานกันอยู่เนือง ๆ ว่า “ขอให้พบเมืองแก้ว ขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้พบศาสนาพระศรีอาริย์ ในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญ” ความเชื่อที่เอากระดูกของผู้ตายไปเก็บรักษาไว้ในสถานที่ ซึ่งประกอบบุญกุศล อันจะส่งผลให้ดวงวิญญาณไปสู่สุคติ ดังที่เราปรากฏเห็นหลังจากพิธีเผาศพ ก็จะมีการเก็บอัฐิใส่ไว้ในโกศ การบรรจุอัฐิไว้ตามกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ การสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิในบริเวณวัด ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นศูนย์กลางของการจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนา อันเป็นสื่อสะท้อนให้เห็นถึงบริบทของพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อการจัดการความตายหลังพิธีศพอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับชลธิรา สัตยาวัฒนา กล่าวว่า กลุ่มคนไทยจัดการกับซากบรรพชนผู้ล่วงลับสองครั้ง ครั้งแรกด้วย “การเผา” ครั้งที่สองด้วยการ “เก็บกระดูกใส่ลูก” คือการนำกระดูกใส่หม้อ ใส่ไห ใส่ผอบ ใส่โกศ แล้วนำไปเซ่นสรวงบูชาไว้ในตำแหน่งแห่งที่เหมาะสม เมื่อรับพุทธศาสนามาแล้ว ก็ต่อยอดจารีตประเพณีด้วยการสร้างสถูป เจดีย์ กำแพงวัด เพื่อฝากกระดูกไว้ในที่ ๆ เหมาะสม (ชลธิรา สัตยาวัฒนา, 2561 : 427)

               ในคติความเชื่อท้องถิ่น จากงานเขียนอุษาคเนย์เห่กล่อม ว่าด้วยการกำเนิดโลกมนุษย์กับการตีความ “น้ำเต้าปุ้ง” ครั้งใหม่ ของจินตรัย กล่าวไว้ว่า ในสมัยก่อนนั้นฟ้ากับดินยังอยู่ติดกัน ผีและคนจึงไปมาหาสู่กันได้ บนฟากฟ้าจะมี “แถน” เป็นใหญ่ในเมืองบน และบนแผ่นดินก็จะมีขุนผู้เป็นใหญ่ อยู่ 3 คน คือปู่ลางเชิง ขุนเด็ก และขุนคาน ปลูกบ้านสร้างเมืองในเมืองลุ่ม ในครั้งนั้นแถนมีคำสั่งแก่ขุนทั้งสามในเมืองลุ่มว่า ให้บอกกล่าวแก่ผู้คนทั้งหลาย หากจะทำกิจการอันใดก็ต้องมีการบอกกล่าวแก่แถน “กินอะไรให้บอกให้หมาย กินแลงกินงายให้บอกแก่แถน ได้กินชิ้นให้ส่งขา ได้กินปลาให้ส่งให้แก่แถน” แต่พอมาถึงยุคสมัยหนึ่งผู้คนในเมืองลุ่มกลับไม่เชื่อฟังคำสั่งของแถน และไม่ยอมปฏิบัติตามดังที่แถนเคยบอกสั่งเอาไว้ แถนจึงโกรธแค้นให้ กับพวกมนุษย์ พร้อมดลบันดาลให้น้ำท่วมบ้านท่วมเมืองเพื่อเป็นการลงโทษ ภายหลังจากน้ำลด แถนจึงส่ง “ควายเขาลู่” ลงมายังเมืองลุ่ม เพื่อช่วยคนในเมืองลุ่มไถนาปลูกข้าว ควายเขาลู่อยู่ได้เพียงสามปี ก็ได้ตายไป ไม่นานนักก็ได้เกิดเครือเถาน้ำเต้า งอกออกมาจากรูจมูกของซากควายเขาลู่นั้น ถึงสามลูกใหญ่ และได้มีผู้คนมากมายเกิดออกมาจาก “ผลน้ำเต้าปุ้ง” ปู่ลางเชิงผู้เป็นหนึ่งในขุนทั้งสามหยิบเอาเหล็กเผาไฟแดงไปซีหรือเจาะผลน้ำเต้าทั้งสามผล ปรากฏว่า มีคนหลั่งไหลออกมาแบบเบียดเสียดกัน ขุนคานเห็นดังนั้น จึงเอาสิ่วไปเจาะให้เป็นรูใหญ่กว้างขึ้น ส่งผลให้มีผู้คนหลั่งไหลออกมาจากน้ำเต้าถึงสามวันสามคืน ผู้คนทั้งหลายได้ มีการแต่งงาน สืบเชื้อสายมีลูกหลานออกมามากมาย แถนเห็นว่าเพื่อป้องกันความวุ่นวายในเมืองลุ่ม จึงได้ส่ง “ขุนบรม” ผู้ได้รับอาณัติแถนลงมาปกครองเมืองลุ่ม ขุนบรมได้ปกครองจนบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง และแถนได้สั่งว่าหากเกิดปัญหาต่าง ๆ ในเมืองลุ่ม ก็ให้มนุษย์จัดการแก้ไขปัญหาเอง ไม่อนุญาตให้มนุษย์ขึ้นไปเมืองบน ได้อีก (จินตรัย, 2555 : 54-58)

               จากตำนานดังกล่าว ก่อให้เกิดคติความเชื่อของคนในอุษาคเนย์ ที่เชื่อว่า “มนุษย์เกิดจากผลน้ำเต้า” สอดคล้องกับทัศนะของอภิญวัฒน์ โพธิ์สาน ได้วิเคราะห์ว่า น้ำเต้าปุ้งที่งอกจาก รูจมูกควายเขาลู่นั้นได้ก่อให้เกิด “วัฒนธรรมน้ำเต้า” ขึ้นในโลกมนุษย์ ซึ่งเชื่อกันว่า ตนมีบรรพบุรุษออกมาจากผลน้ำเต้าปุ้งทั้งสามผล กล่าวคือ ก่อให้เกิด 1) การบูชาผลน้ำเต้า โดยน้ำเต้าถูกเคารพบูชาว่าเป็นแม่ เป็นครรภ์ของแม่ผู้ให้กำเนิดมนุษย์ขึ้นในโลก 2) การถือ “คะลำ” หรือข้อห้ามไม่กินผลน้ำเต้า เพราะน้ำเต้าเป็นที่มา ของมนุษย์ ในตำนานแห่งคติความเชื่อการกินน้ำเต้าจึงเท่ากับการกินแม่ของตน หรือไม่เคารพแม่ผู้ให้กำเนิดบรรพบุรุษของตน และ 3) การทำพิธีศพครั้งที่สอง โดยใส่ไว้ในภาชนะหรือวัตถุที่มีรูปร่างคล้ายกับ “รูปทรงน้ำเต้าปุ้ง” นั้นซึ่งเปรียบเสมือนครรภ์มารดา เป็นสื่อสัญญะเพื่อมุ่งหมายให้คนที่ตายผ่านพิธีเผาศพแล้ว นำกระดูกมาฝัง หรือใส่ไว้ในภาชนะหรือวัตถุรูปทรงน้ำเต้าปุ้งได้ไปเกิดใหม่ เฉกเช่นบรรพบุรุษที่เกิดในน้ำเต้าปุ้งมาก่อนแล้ว (อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน, 2562 : ออนไลน์) ในขณะที่สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้กล่าวว่า การเก็บกระดูกใส่ไห ใส่หม้อ ใส่โกศ เป็นประเพณีเก่าแก่เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว กล่าวคือการเก็บกระดูกคนตาย ปัจจุบันเรียก “เก็บอัฐิ” ใส่ภาชนะต่าง ๆ เป็นพิธีกรรมสืบเนื่องจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรียกได้ว่าประเพณี “ฝังศพครั้งที่สอง” มีเหมือนกันทั่วทั้งอุษาคเนย์ ตั้งแต่ตอนใต้ของจีนลงไปถึงหมู่เกาะ ต้นเหตุของการฝังศพ สองครั้งเพราะยุคดึกดำบรรพ์เชื่อว่า คนที่นอนไม่พูด ไม่หายใจนั้น เนื่องจาก “ขวัญ” ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เรียกกันภายหลังถึงปัจจุบันว่า “ขวัญหาย” “ขวัญเสีย” หรือ “เสียขวัญ” ต้องร่วมกันทำพิธีเป่าปี่ ตีฆ้อง ร้องป่าว ร้องรำทำเพลงอึกทึกครึกโครมที่สุด เพื่อให้ขวัญได้ยิน จะได้รู้ว่าร่างอยู่ที่ไหนแล้วกลับเข้าร่าง เป็นต้นแบบมาถึงทุกวันนี้ ที่มีปี่พาทย์ประโคมงานศพ และมหรสพต่าง ๆ เล่นหน้าศพ เช่น โขน ละคร ลิเก รำวง เป็นต้น เมื่อขวัญไม่กลับมาแน่แล้ว จึงเอาศพไปฝังพร้อมเครื่องมือเครื่องใช้ โดยหวังว่าขวัญจะกลับคืน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง นานเป็นปีหรืออาจหลายปี ในกรณีบุคคลสำคัญ เช่น หัวหน้าเผ่า พ่อมด หมอผี เนื้อหนังเริ่มเน่าเปื่อยหมดแล้ว ต้องขุดขึ้นมาล้างน้ำ ใส่หม้อไห ภาชนะฝังอีกครั้งหนึ่ง หลังรับศาสนาจากอินเดีย ยังต้องเก็บกระดูกไว้ในที่สำคัญ ตามความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับขวัญ ตอนเก็บกระดูกต้องทำสามหาบ คือญาติมิตรหา ข้าวของเครื่องใช้พร้อมตะโกนว่า “มาทางนี้” เรื่อยไปด้วย อันเป็นร่องรอยดึกดำบรรพ์ ของการตะโกนเรียกขวัญให้คืนร่าง (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2559 : ออนไลน์) 

               ภาพจิตกรรมฝาผนังนี้ จึงเป็นสื่อสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาที่เข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ ก่อให้เกิดคติการสร้างสถูป เจดีย์ บรรจุสิ่งอันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า จนมีพัฒนาการมาเป็นการสร้างสถูป เจดีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับคนที่เคารพ ซึ่งคติทางพุทธศาสนานี้ก็ได้มีการผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว อันมีคติเกี่ยวกับการเกิดบรรพบุรุษของมนุษย์ที่มาจากแถน โดยอุปมา “ธาตุใส่อัฐิ” เปรียบเสมือน “น้ำเต้าปุ้ง” หรือ “ครรภ์มารดา” เพื่อให้ผู้ตายรอเวลากลับมาเกิดยังโลกมนุษย์อีกครั้ง นอกจากนั้นธาตุ สถูปเจดีย์ต่าง ๆ ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการเคารพสักการะ หรือความผูกพัน ที่คนยังมีชีวิตอยู่มีโอกาสได้มาเยี่ยมยามคนที่ละโลกนี้ไปแล้ว ดังที่เราจะพบเห็นวัฒนธรรมการ “สรงดูก” หรือ “สรงธาตุ” ของบรรพบุรุษที่ล่วงลับในฮีตเดือนห้า (วันสงกรานต์) และการนำอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ห่อ ด้วยใบตองไปวางไว้ตามกำแพงวัด ต้นไม้ใหญ่ หรือธาตุใส่อัฐิ ในฮีตเดือนเก้า (ข้าวประดับดิน) เพื่อเป็นการอุทิศให้กับบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว อันสะท้อนให้เห็น “วัฒนธรรม” ความสัมพันธ์ระหว่างฮีตคองประเพณีกับผู้ตาย หรือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับผีอีกด้วย

5. ภาพจิตกรรมฝาผนังพระมาลัยโปรดสวรรค์             

               “พระมาลัย” เป็นชื่อพระอรหันต์สาวกองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา มีเรื่องราวปรากฎอยู่ใน “มาลัยสูตร” อันเป็นพระสูตรนอกพระไตรปิฎก (ธนิต อยู่โพธิ์, 2534 : 12) แต่งขึ้นเป็นนิทานที่แฝงไปด้วยอรรถและธรรม เพื่อเป็นคติในการสอนพุทธศาสนา ตำนานเล่าว่า ท่านเป็นผู้ทรงฤทธิ์ สามารถเดินทางท่องไปยังภพภูมิหลังการตาย ทำให้ได้เห็นสภาพความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ระหว่างนรกและสวรรค์ ซึ่งใครจะไปอยู่ใน ภพภูมิใด ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำความดีหรือความชั่วของผู้นั้นเอง เรื่องพระมาลัยได้ซึมซับอยู่ในสังคมไทย มาเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดประเพณีความเชื่อในสังคมมากมาย เช่น ความเกรงกลัวต่อบาป ความเชื่อผลของกรรมดีกรรมชั่ว นรกสวรรค์ การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ การเทศน์มหาชาติ การสวดศพ การทำบุญเพื่อไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังปรากฏในรูปของงานศิลปกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม (วัฒนา ณ นคร, 2526 : 145) กระจายอยู่ตามวัดวาอารามต่าง ๆ อีกทั้งในวัฒนธรรมท้องถิ่น บางแห่งมีการ “สวดพระมาลัย” ซึ่งนิยมสวดกันในงานศพอีกด้วย

               รูปพระมาลัยที่นิยมทำขึ้นแบบหนึ่งคือ พระมาลัยนั่งยกมือขึ้นชี้ออกไปด้านข้าง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของพระมาลัย ท่าชี้ของพระมาลัย หมายถึงอะไร ? เด่นดาว ศิลปานนท์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร อธิบายว่าท่า “ชี้” ของพระมาลัย ทำขึ้นเพื่อสื่อถึงเหตุการณ์ตอนพระมาลัยขึ้นไปโปรดสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อสักการะพระเจดีย์จุฬามณี และมุ่งหมายที่จะพบกับพระศรีอาริยเมตไตรย โดยพระมาลัยได้ชี้ถามพระอินทร์ว่า เทวดาองค์ต่าง ๆ ที่เหาะมาสักการะพระเจดีย์จุฬามณีนั้น คือพระศรีอาริยเมตไตรยใช่หรือไม่ ? พระอินทร์จึงได้ตอบพระมาลัย แล้วอธิบายถึงกรรมดีของเทวดาเหล่านั้นที่ส่งผลให้จุติมาอยู่บนสวรรค์ได้ ถือกันว่าเหตุการณ์ในตอนนี้เป็นตอนสำคัญอันเป็น “แก่นปรัชญา” ของเรื่องพระมาลัย ที่แสดงถึงผลของกรรมดี ภาพเหตุการณ์ตอนนี้จึงนิยมทำขึ้นทั่วไป โดยเฉพาะในภาพจิตรกรรม ฝาผนัง ซึ่งมักวาดเป็นรูปพระมาลัยนั่งยกมือขึ้นชี้ไปทางเหล่าเทวดาที่เหาะมาเคียงคู่อยู่กับพระอินทร์ บนลานหน้าพระเจดีย์จุฬามณี (เด่นดาว ศิลปานนท์, 2549 : 68) 


               ภาพจิตกรรมฝาผนังนี้ จึงเป็นสื่อสัญญะให้มนุษย์สั่งสมคุณงามความดี ก่อนความตายจะมาถึง ในทางพุทธศาสนามีหลักการว่าคนทำกรรมดีย่อมไปสู่สุคติภูมิ ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย” แปลว่า การสั่งสมบุญนำสุขมาให้ คำว่า “บุญ” หมายถึง เครื่องชำระสันดาน ความดี กุศล ความสุข ความประพฤติชอบทางกาย วาจาและใจ หรือเรียกว่า “กุศลธรรม” (พระธรรมปิฎก, 2546 : 204) ส่วนคำว่า “บุญกิริยาวัตถุ” หมายถึง สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ได้แก่ “ทานมัย” บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน “ศีลมัย” บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล และ “ภาวนามัย” บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา การสั่งสมบุญ จึงเป็นการ ทำคุณงามความดีอันเป็นเครื่องชำระสันดาน การบำเพ็ญกุศล การประพฤติชอบทางกาย วาจา และใจ รวมตลอดถึงการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา การกระทำคุณงามความดีเหล่านี้ แม้ทีละเล็ก ทีละน้อย ย่อมนำความสุขความเจริญมาให้แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ ประดุจน้ำฝนซึ่งตกลงมาทีละหยด ๆ เมื่อตกนาน ๆเข้าย่อมยังภาชนะ คือ ตุ่ม ไห เป็นต้น ที่หงายตั้งเอาไว้กลางแจ้งให้เต็มได้ บุญกุศลคือความดีที่บุคคล สั่งสมไว้ก็เช่นเดียวกัน แม้ทำไว้ทีละน้อย ๆ บุญกุศลก็เพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับ และก่อให้เกิดความสุขใจว่า “บุญนี้อันเราทำไว้แล้ว และบุญนั้นเราก็ได้ทำไว้” ดังนี้บุคคลผู้หมั่นสร้างสมคุณงามความดี แม้ทีละเล็กที ละน้อย ย่อมมีความรู้สึกอิ่มเอิบใจ มีผิวพรรณผ่องใส จิตใจสดชื่น สะอาด ปราศจากสิ่งรบกวนจิตใจ ไม่หงุดหงิดง่าย มีความทรงจำที่ดี จิตใจเป็นสมาธิ จะเรียนเขียนอ่าน หรือคิดการณ์ใด ๆ ย่อมสำเร็จตามที่ มุ่งหมาย มีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่กับตัวอยู่ตลอดเวลา แม้ตายไปจิตก็ไม่เศร้าหมอง เมื่อจิตไม่เศร้าหมองก็ จะนำดวงวิญญาณไปสู่สุคติภูมิ ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา” แปลว่า เมื่อจิตไม่เศร้าหมองสุคติเป็นที่ไป

6. ภาพจิตกรรมฝาผนังพระมาลัยโปรดนรก



                    “ไตรภูมิ” เป็นคติเกี่ยวกับโลกสัณฐานตามความเชื่อในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ไตรภูมิประกอบด้วย กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ (ฉลอง พันธ์จันทร์, 2562 : 156) สัตว์โลกทั้งหลายก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในไตรภูมินี้ จนกว่าจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ จากความเชื่อดังกล่าว “นรกภูมิ” เป็นหนึ่งในกามภูมิ คือดินแดนอันเป็นสถานที่จองจำผู้ที่กระทำบาปสถานหนัก ต้องชดใช้บาปจากเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ โดยอาศัยร่างที่เป็นกายหยาบรับโทษ เช่น ถูกเลื่อยกาย ถูกหั่นร่างเป็นชิ้น ๆ ถูกไฟครอก ถูกตำด้วยสาก ถูกของมีคมทิ่มแทง ถูกโยนใส่กระทะน้ำเดือด ปีนต้นงิ้ว เป็นต้น “นรก” เป็นคำแปลของศัพท์ว่า “นิรยะ” ซึ่งแปลว่าภูมิคือภพที่ ไร้ความสำราญ ไร้ความยินดี หรือไร้ความเจริญไร้ความสุข (พระมหาโพธิวงศาจารย์,2559 : 329) กล่าวโดยเนื้อความก็คือ ภูมิภพที่ไม่มีสิ่งอันเป็นที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ถ้าเป็นรูปก็เป็นรูปที่ไม่พึงปรารถนา ถ้าเป็นเสียงก็เป็นเสียงที่น่าสะพรึงกลัว ถ้าเป็นกลิ่นก็เป็นกลิ่นที่เหม็นพึงรังเกียจ ถ้าเป็นรสก็เป็นรสที่เป็นพิษแรงร้าย ถ้าเป็นสิ่งที่กายต้องก็เป็นสิ่งที่ทำให้เจ็บปวดรวดร้าว ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่พึงยินดี ไม่เป็นสิ่งที่สำราญตา สำราญหู เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์แต่ส่วนเดียว 


                     จากการนิยามนรกภูมิ ดินแดนอันเป็นสถานที่จองจำ ผู้ที่กระทำบาปสถานหนัก ต้องชดใช้บาปจากเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ในทางพุทธศาสนา “บาป” หมายถึง ความชั่วร้าย (พระธรรมปิฎก, 2546 : 105) ได้แก่ “อกุศลกรรม” ทั้งหลาย ทางแห่งอกุศลกรรม เรียกว่า “อกุศลกรรมบถ” มี 10 ประการ ได้แก่ แบ่งเป็น กายกรรม 3 วจีกรรม 4 และมโนกรรม 3 ดังนี้ กายกรรม ได้แก่ 1) “ปาณาติบาต” หมายถึง การฆ่า 2) “อทินนาทาน” หมายถึง การเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ 3) “กาเมสุมิจฉาจาร” หมายถึง การประพฤติผิด ในกาม วจีกรรม ได้แก่ 1) “มุสาวาท” หมายถึง คำโกหก 2) “ปิสุณาวาจา” หมายถึง คำส่อเสียด 3) “ผรุสวาจา” หมายถึง คำหยาบ 4) “สัมผัปปลาปะ” หมายถึง คำพูดเพ้อเจ้อ มโนกรรม ได้แก่ 1) “อภิชฌา” หมายถึง การเพ่งเล็งอยากได้ของเขา 2) “พยาบาท” หมายถึง การคิดร้ายผู้อื่น 3) “มิจฉาทิฏฐิ” หมายถึง ความเห็นผิด เมื่อได้กระทำกรรมใดกรรมหนึ่งในสิบอกุศลกรรมแล้ว ข้างต้นจึงถูกจัดว่าเป็นบาป หลักธรรมที่พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสไว้ว่าให้มี “หิริ - โอตัปปะ” เพื่อเป็นการเตือนสติมนุษย์ให้ยั้งคิด ให้ไตร่ตรองก่อนการกระทำใด ๆ ให้วิเคราะห์ว่าสิ่งที่ตนกำลังกระทำนั้นเป็นสิ่งดีงามหรือสิ่งชั่วช้า เป็นบุญหรือเป็นบาป ถ้าเป็นสิ่งชั่วช้าก็ให้นึกละอายที่จะกระทำเช่นนั้น และให้นึกเกรงกลัวผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตน ซึ่งถือเป็น “หลักธรรมคุ้มครองโลก”
                    ภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้ จึงเป็นสื่อสัญญะให้มนุษย์เกรงกลัวต่อการกระทำบาปทั้งปวง ผ่านเรื่องราวของพระมาลัยลงไปโปรดสัตว์ในนรก ได้เห็นถึงความทุกขเวทนาของสัตว์นรก ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นมนุษย์ได้ก่อกรรมทำชั่วเอาไว้ แม้ตายไปจิตก็เศร้าหมอง เมื่อจิตเศร้าหมองก็จะนำดวงวิญญาณไปสู่ทุคติภูมิ ดังพุทธศาสนสุภิตที่ว่า “จิตฺเต สงฺกิลิฏเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา” แปลว่า “เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอัน ต้องหวัง” และได้รับผลแห่งกรรมนั้น


สรุป


               จิตกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) บนสิมวัดยางทวงวราราม ได้ถ่ายทอดและสะท้อนเรื่องราวเกี่ยวข้องกับความตายเอาไว้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้ 1) สะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับความตายเป็นสิ่งเสมอกัน ผ่านฮูปแต้มตอนถวายพระเพลิงพุทธสรีระ อันเป็นเครื่องเตือนสติว่าพระพุทธองค์ทรงสอนให้มนุษย์มองความตายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ในชนชั้น หรือสถานะไหน ก็ไม่สามารถหลีกเร้นหนีความตายไปได้ แม้กระทั่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ห่างไกลจากกิเลส ผู้เป็นศาสดาก็ยังมีความตายเป็นท้ายที่สุด ดังปัจฉิมโอวาทที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเตือนสติเราท่านทั้งหลายให้พิจารณาว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด” 2) สะท้อนคติธรรมทางพุทธศาสนาที่แฝงอยู่ในพิธีศพ ให้เราท่านทั้งหลายเข้าใจตามกฎไตรลักษณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกย่อมเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น ดำรงอยู่ในท่ามกลาง และดับสูญไป ในที่สุด ยามเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่เราอาจจะมั่งมีเพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ บริวาร แต่พอความตายมาถึง เราก็ไม่สามารถเอาอะไรติดตัวไปได้เลย ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ มีแต่บุญ หรือ บาป เท่านั้น ที่จะติดตัวไปและส่งผลให้ในภพชาติหน้า 3) สะท้อนเรื่องราวคติความเชื่อทางพุทธศาสนา และคติความเชื่อดั้งเดิมในเรื่องแถน ต่อการจัดการศพครั้งที่สองของคนในอุษาคเนย์ นัยหนึ่งสะท้อนผ่านคติทางพุทธศาสนา กล่าวคือ การสร้างสถูปหรือเจดีย์ ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย จากการสร้างสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า มีพัฒนาการมาสู่การสร้างสถูป หรือเจดีย์บรรจุอัฐิบุคคลซึ่งเป็นที่เคารพ โดยชาวพุทธมีความเชื่อว่า ผู้ละโลกไปแล้วย่อมไปอยู่ใกล้ชิดพุทธศาสนา อยู่ใกล้สถานที่ซึ่งประกอบบุญกุศล เช่น หลังจากการเผาศพก็จะมีการเก็บกระดูกผู้ตายไปบรรจุไว้ตามกำแพงแก้ว หรือสร้างสถูปเจดีย์ไว้ในวัด เป็นต้น นัยหนึ่งสะท้อนคติความเชื่อดั้งเดิมในเรื่องแถน ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดแต่แถน แถนเป็นผู้สร้างบรรพบุรุษของมนุษย์ขึ้นมา และเมื่อมนุษย์ตายไปก็ต้องกลับไปอยู่ภายใต้อาณัติของแถน เพื่อรอวันที่แถนอนุญาตให้ลงมาเกิดอีกครั้ง ซึ่งเป็นมโนทัศน์ความเชื่อดั้งเดิมของท้องถิ่น ซึ่งใกล้เคียงกับแนวคิดแบบเทวนิยม ท้ายที่สุดก็ปะทะปะปนกับ คติความเชื่อทางพุทธศาสนาที่เข้ามามีอิทธิพลภายหลัง ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ผ่านฮีตคอง หรือบุญประเพณีระหว่างคนกับผีขึ้น 4) สะท้อนเรื่องราวชีวิตหลังความตายอันเกี่ยวเนื่องกับบาปบุญคุณโทษ ผ่านไตรภูมิ ซึ่งเป็นคติความเชื่อในพุทธศาสนา อันเป็นสิ่งที่เตือนสติมนุษย์ทั้งหลายว่า “ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว” แม้ภายหลังจะถูกท้าทายด้วยความคิดที่ว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” แต่ท้ายที่สุดแล้ว “กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ” สัตว์โลกทั้งหลายย่อมมีกรรมเป็นของ ๆตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล ใครกระทำกรรมสิ่งใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป ย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้นเสมอ

               ในทัศนะของผู้เขียนมองว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 6 ภาพ ที่ได้นำเสนอในบทความนี้ ล้วนเป็นปรัชญาที่ถูกซ่อนไว้บนงานศิลปะของจิตรกร (ช่างพื้นบ้าน) ผู้รังสรรค์จิตกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) โดยนำหลักธรรมทางพุทธศาสนาและความผสมผสานกับเชื่อดั้งเดิมก่อเกิด “งานศิลปะเชิงปรัชญา” ขึ้น โดยมีเป้าหมายในการสร้าง “มรณานุสติ” ให้พุทธศาสนิกชนหรือผู้ได้มาชมจิตรกรรมฝาผนังในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ได้ศึกษา เรียนรู้ เพื่อจัดการชีวิตของตน “แบบตายก่อนตาย” ซึ่งถือเป็น “แก่นปรัชญา” ในการพิจารณาจัดการชีวิตของตนเองก่อนที่ความตาย จะมาถึง เราทุกคนมีความตายอยู่เบื้องหน้าเฉกเช่นเดียวกัน คุณละครับพร้อมที่จะเผชิญกับความตายหรือยัง ?

บรรณานุกรม


หนังสือทั่วไป

ชลธิรา สัตยาวัฒนา. (2561). ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท สาวรกรากต้นตอ คนไท ชุมชนไท-ลาว และความเป็นไท/ ไต/ไทย/สยาม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ทางอีศาน.
ธนิต อยู่โพธิ์. (2534). ตำนานเทศน์มหาชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.
ประกายธรรม. (2542). ความตายที่ท่านยังไม่รู้จัก. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา.
ประภัสสร์ ชูวิเชียร. (2557). ศิลปะลาว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) . (2546). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
พระมหาโพธิวงศาจารย์. (2559). พจนานุกรมไทย-บาลี. กรุงเทพฯ : บริษัทจำกัด ปัญญมิตร การพิมพ์.
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เล่มที่ 10. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
มูลนิธิพระบรมธาตุในพระสังฆราชูปถัมภ์. (2546). พระบรมสารีริกธาตุ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. กรุงเทพมหานคร : นานมีบุคส์ พับลิเคชั่นส์.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2555). เจดีย์ พระพุทธรูป ฮูปแต้ม สิม ศิลปะลาวและอีสาน. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส.
สุชญา ศิริธัญภร. (2552). คู่มือตายดี. กรุงเทพฯ : คุณา.
โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์. (2549). ความตายกับการตาย : มุมมองจากศาสนาและวิทยาศาสตร์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพันดารา.
อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน. (2562). พุทธศาสนากับความตาย. มหาสารคาม : หจก. อภิชาตการพิมพ์.

วิทยานิพนธ์

เด่นดาว ศิลปานนท์. (2549). จิตกรรมฝาผนังเรื่องพระมาลัยในภาคกลางของประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสิลปากร.
วัฒนา ณ นคร. (2526). ลักษณะร่วมของพระมาลัยในวรรณกรรมพื้นบ้าน. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วารสาร

จินตรัย. อุษาคเนย์เห่กล่อม : “การกำเนิดโลกและมนุษย์กับการตีความน้ำเต้าปุงครั้งใหม่,” ทางอีศาน. ปีที่ 1 (ฉบับที่ 1) : 54-58 ; 1 พฤษภาคม, 2555.

เว็บไซต์

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2559). เก็บกระดูกใส่ไห ใส่หม้อ ใส่โกศ ประเพณีเก่าแก่โคตรๆ 2,500 ปีมาแล้ว. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.matichon.co.th/ent… [สืบค้นเมื่อ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562].
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2560). ไทย นับถือศาสนาผี พุทธ พราหมณ์. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.matichon .co.th/columnists/news_598271 [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562].
อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน. (2562). น้ำเต้าปุ้ง : ตำนานเรื่องเล่าสะท้อนรากเหง้าภูมิปัญญาท้องถิ่น. [ออนไลน์]. ได้ จาก: https://web.facebook.com/profi… [สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2562].
บทความ/เอกสารประกอบการสอน
ฉลอง พันธ์จันทร์. (2562). การดำรงอยู่ของพุทธศาสนามองผ่านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาพุทธศาสนาในบริบทวัฒนธรรมท้องถิ่น, มหาสารคาม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

สัมภาษณ์

พระราชศีลโสภิต (หนูอินทร์ กิตฺติสาโร) เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, สิทธิชัย ระหาญนอก เป็นผู้สัมภาษณ์, ที่วัดป่าพุทธมงคล ตำบลหลุบ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562.




หมายเลขบันทึก: 672954เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2019 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2019 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท