วันนี้มีการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางในการจัดการฝึกอบรม และจัดการเรียนการสอนผ่านเครือข่าย Intennet หรือที่เราจะคุ้นเคยกับคำว่า e-Learning หรือ e-Training บ้าง ประเด็นที่สำคัญในตอนนี้คือ มีการสร้างสื่อการเรียนรู้กันค่อนข้างมาก แล้วก็แขวนไว้ บน Internet ในรูปแบบต่างๆ ตามที่เราเรียกกัน เช่น WBI บ้าง WBT บ้าง e-Book บ้าง หรือสื่อในระบบ e-Learning แต่มีผู้ถามว่า รู้ไหมว่า สื่อที่เราทำไว้ในเครือข่าย Internet นั้น มีคนเข้ามาดูบ้างไหม เขาเข้ามาดูแล้ว ได้เรียนรู้อะไรจากสื่อของเราบ้าง และผลจากการเรียรู้นั้น เขาได้รู้อะไรบ้าง (เกิดองค์ความรู้อะไรขึ้นบ้าง) คำตอบสำหรับนัก ICT ก็คือ ไม่รู้เหมือนกัน เพราะตอนนี้สร้างเพียงอย่างเดียว คนที่มาเปิดดูเขาจะเรียนอย่างไร และได้อะไรไปบ้างก็เป็นเรื่องของเขา
คำตอบที่ได้นี้ เป็นคำตอบที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมากสำหรับการนำเอา ICT มาใช้เพื่อการเรียนการสอน เพื่อสร้างการเรียนรู้ เพราะเป็นการสื่อ เพื่อผู้ทำได้เรียนรู้ คือผู้ที่ทำสื่อนั่นแหละ ได้เรียนรู้ แต่ผู้ที่เข้ามาเรียนจริง ไม่แน่ใจว่า ได้เรียนรู้หรือไม่ และเมื่อย้อนมาคิดถึงประสบการณ์ที่เคยเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับ Constructionism ด้วยแล้ว ก็เลยเอามาเชื่อมโยงกันว่า สิ่งที่เราได้สร้างเป็นความรู้ หรือที่เรียกว่าสื่อเพื่อการเรียนรู้นั้น สามารถที่จะนำไปเป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตัวของเขาเองหรือไม่ หรือกระบวนการในการนำเสนอสื่อนั้น เป็นกระบวนการที่ยั่วยุ ที่เหมาะสมต่อกระบวนการเรียนรู้ตามแนวคิดของ Constructionism หรือไม่
เมื่อวันก่อน ได้เข้าไปใน website หนึง ได้พบคำสอนของศาสนาพุทธ เกี่ยวกับกาลามสูตร ได้เขียนไว้ว่า กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 หมายถึง วิธีปฎิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักความเชื่อ ที่ตรัสไว้ในกาลามสูตร
- อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา (มา อนุสฺสเวน)
- อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสีบๆกันมา (มา ปรมฺปราย)
- อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ (มา อิติกิราย)
- อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์ (มา ปิฏกสมฺปทาเนน)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก (มา ตกฺกเหตุ)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน (มา นยเหตุ)
- อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (มา อาการปริวิตกฺเกน)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว (มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ (มา ภพฺพรูปตาย)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)
ได้อ่านแล้ว ก็เอามาคิดต่อว่า สิ่งทั้งหลายที่เราได้อ่าน เราได้เห็น ได้เรียนรู้นั้น สิ่งที่เราได้ก็เป็นเพียงความจำเท่านั้น คือจำได้ว่าได้อ่านอะไรมาบ้าง ได้เห็นอะไรมาบ้าง ได้ยินอะไรมาบ้าง แต่การที่จะเกิดเป็นตัวความรู้หรือเราอาจจะเรียกว่า ปัญญา ในตัวขอเรานั้น ต้องเกิดขึ้นด้วยตัวของเราเองไม่ใช่ไปเชื่อที่เขาบอกมา แต่ขณะเดียวกัน ปัญญานั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ มันก็จะเกิดขึ้นมา จะต้องผ่านกระบวนการได้รู้ ได้ยิน ได้เห็นมาก่อน แล้วมาผ่านกระบวนการคิด จนเกิดเป็นปัญญาขึ้นมา ดังนั้น สื่อที่เราสร้างนั้น จะทำอย่างไรที่จะทำให้เขาได้เห็น ได้ยิน ได้เรียนรู้ แล้วยั่วยุให้เขานำไปเข้ารู้กระบวนการคิด กระบวนการทางสมอง จนเกิดเป็นปัญญาขึ้นมาในที่สุด
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ศรีเชาวน์ วิหคโต ใน ICT for education.
คำสำคัญ (Tags)#การเรียนรู้#กาลามสูตร
หมายเลขบันทึก: 67212, เขียน: 14 Dec 2006 @ 15:11 (), แก้ไข: 21 Jun 2012 @ 18:17 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 3, อ่าน: คลิก